ทันทีที่รู้ตัวว่าจะต้องเดินทางไปยัง ‘เกาะยาวน้อย’ เราก็ต้องบอกตรงๆ ว่าความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของเราที่มีต่อสถานที่นั้นเป็นศูนย์ รู้เพียงแค่ว่าเป็นเกาะที่อยู่เหลื่อมๆ ระหว่างพังงากับภูเก็ต และมีเกาะพี่น้องอีกเกาะชื่อ ‘เกาะยาวใหญ่’ ที่อ่านชื่อแล้วพูดตรงๆ ว่าคิดลงใต้สะดือตลอด
ครั้งนี้เราได้มาร่วมเข้าแคมป์แห่งความสร้างสรรค์กับ Cape Kudu Hotel โรงแรมขนาดกะทัดรัดที่เกาะยาวน้อย และแน่นอนว่ากิจกรรมที่เขาจัดให้พวกเราทำนั้นสนุกสนาน ทั้งยังได้เห็นมิตรภาพที่ดีระหว่างกลุ่มธุรกิจและชุมชนที่เกื้อกูลกันอย่างน่ารัก ไม่ใช่เพียงแค่การพามาพักผ่อนนอนกลิ้งไปกลิ้งมาในโรงแรมเพียงอย่างเดียว ถึงแม้นั่นจะเป็นสิ่งที่เราอยากทำมากที่สุด เพราะด้วยบรรยากาศความ Hideaway เวิ้งว้างกลางท้องทะเล ฝนพรำไม่ขาดสาย มันน่านอนหลับจริงๆ!
แต่ไม่ได้ เราต้องออกไปสัมผัสบรรยากาศข้างนอกสิ!
ที่เกาะยาวน้อยมีอะไร
พื้นที่เพียง 137 ตารางกิโลเมตร รูปร่างทรงเรียวยาว ตั้งอยู่บนท้องทะเลอันดามันในพื้นที่ของจังหวังพังงา ที่นี่มีประชากรเบาบางเพียงประมาณ 5,000 คน และส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นมุสลิม ฉะนั้นคุณอย่าไปคาดหวังแสงสีความสนุกสนานที่นี่เลย เพราะเขาอยู่อย่างสงบ เต็มไปด้วยธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ ท้องทะเลสีสวยราวกับใส่ฟิลเตอร์ผ่านแอปฯ VSCO มาแล้ว ยิ่งทำให้ที่นี่ควรค่าแก่การมาพักผ่อนอย่างแท้จริง โดยคุณสามารถเดินทางด้วยสปีดโบ๊ตจากท่าเรือบางโรงมาลงที่เกาะได้ในเวลาประมาณ 30 นาที (1 ชั่วโมงสำหรับเรือธรรมดา)
Photo: @bewachi
ความอุดมสมบูรณ์ของการทำมาหากิน
สิ่งหนึ่งที่เรามีโอกาสได้ออกไปทำกิจกรรมกับแคมป์ครั้งนี้คือการไปลุยจับ ‘หอยพง’ คุณรู้จักไหมนะ หอยพง หรือหอยกะพง คือหนึ่งในวัตถุดิบเด็ดของชาวพังงาที่พวกเขาจับมาเพื่อเป็นอาหารและนำไปขาย ซึ่งเราต้องนั่งเรือออกไปไม่ใกล้ไม่ไกลจากฝั่งมากนักก็จะพบกลุ่มเรือประมงจอดทอดสมอกันอยู่ และชาวบ้านจำนวนหนึ่งก็ยืนอยู่เหนือน้ำตื้นเพียงแค่เข่า ก้มๆ เงยๆ อุ้มเอาก้อนสีเทาๆ ขนาดใหญ่ขึ้นมาใส่ตาข่ายแล้วเขย่าๆ สิ่งที่เขาอุ้มขึ้นมานั้นคือกลุ่มหอยกะพงที่เกาะตัวกันอยู่ และการเขย่าในตาข่ายก็เพื่อแยกหอยออกจากทราย เราแอบตื่นเต้นจริงๆ เพราะดูจะเป็นความรู้สึกใหม่ที่ได้เห็นวัตถุดิบที่เราจะได้กินจริงๆ แบบต่อหน้าต่อตา และเราเป็นคนจับมันขึ้นมาเอง โดยชาวประมงที่นี่จับหอยกะพงไปขายในตลาดกิโลกรัมละ 50-60 บาท ซึ่งบางวันก็อาจหาได้ถึง 50 กิโลกรัม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะมีช่วงเวลางมหอยแค่ในช่วงน้ำลดเท่านั้น
อาจารย์วิทยา ดำสมุทร หัวเรี่ยวหัวแรงในเรื่อง Zero Waste ของโรงเรียนเกาะยาววิทยา / Photo: @bewachi
ความสัมพันธ์ที่อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล
ความประทับใจของเราที่เกิดขึ้นที่นี่ นอกเหนือจากการได้ใช้ชีวิตอยู่เหนือเข็มนาทีแบบไม่แคร์วันเวลาและการได้ออกเรือประมงไปงมหอย คือการได้เข้าร่วมรับฟังถ้อยแถลงซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ Cape Kudu Hotel และชุมชนเกาะยาวน้อยที่กำลังจะมุ่งไปสู่การเป็น Zero Waste Island ที่แท้จริง ซึ่งเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่เราคาดว่ามันจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับชุมชนและสร้างพื้นฐานที่ดีแก่ชุมชนได้ในอนาคต คุณลองทายสิว่าที่ไหน ใช่ โรงเรียนไง ทั้งเกาะยาวน้อยจะมีโรงเรียนประจำเกาะอยู่หนึ่งโรงเรียนที่เป็นจุดใหญ่ ซึ่งมีการจัดการขยะร่วมกับ อบต.เกาะยาวน้อย อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
น้องแพะประจำโรงเรียนเกาะยาววิทยา
โรงเรียนเกาะยาววิทยา คือโรงเรียนขนาดกลางที่สอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งสถานที่เล็กๆ น่าอบอุ่นแห่งนี้นี่ล่ะที่เป็นสถานที่ในการเริ่มต้นไอเดียของสิ่งที่เรียกว่า Zero Waste โดยมี อาจารย์วิทยา ดำสมุทร ครูงานสิ่งแวดล้อมเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ที่เขาบอกว่าการจะเริ่มต้นไอเดียเช่นนี้กับชุมชนต้องทำกันตั้งแต่ยังเด็กๆ เพื่ออนาคตที่ดีของพวกเขาเอง ทั้งยังส่งต่อไอเดียเหล่านี้ไปยังครอบครัวของพวกเขาด้วย และตัวเลขของปริมาณขยะที่จัดการจาก 100% พวกเขาสามารถจัดการไปได้ถึง 89.93% นะคุณ! โดยขยะสองรูปแบบที่พวกเขาจะไม่ให้มีเกิดขึ้นเลยบนเกาะคือขยะจากพลาสติกและโฟม ซึ่งพวกเขาก็ใช้วิธีการรณรงค์ให้นักเรียนทุกคนพกขวดน้ำรียูสและกระเป๋าผ้าเป็นของตัวเอง นำขยะจากบ้านมาทิ้งที่โรงเรียน และนำขยะเหลือใช้ไปดัดแปลงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือนำใช้ประโยชน์อื่นๆ
แผนผังแสดงกระบวนการการจัดการขยะและผลิตภัณฑ์ของโรงเรียน
พวกเขาเริ่มต้นง่ายๆ จากการเริ่มระบบการคัดแยกขยะ แยกเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล ขยะพลาสติก ซึ่งในระยะเวลาการเริ่มต้นทำสิ่งนี้มาราว 2 ปีพบว่าปริมาณพลาสติกลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยขยะส่วนหนึ่งก็นำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อแจกจ่ายแก่เกษตรกรอีกทอด แต่ยังมีขยะที่ไม่สามารถกำจัดได้เหลืออยู่ก็คือขยะที่เกิดจากใบไม้แห้งที่ปลิดปลิว และขวดแก้วจากเครื่องดื่มหลากชนิดที่ทำได้เพียงแค่เก็บไว้เป็นที่เป็นทาง ซึ่งทาง Cape Kudu Hotel เองก็มีส่วนร่วมในเรื่องของความสร้างสรรค์ที่กำลังจะเข้ามาร่วมพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของเด็กนักเรียนที่อาจต่อยอดไปถึงการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ในโรงแรมในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย
Photo: @bewachi
ห่วงโซ่ของความสุขทั้งชุมชนและภาคธุรกิจ
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกันคือการมองเห็นประโยชน์ของการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแค่การมาพักผ่อน เพราะทางโรงแรมเองก็ยังทำงานร่วมกับชุมชนโดยตรง ทั้งกับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรท่าเขาที่ร่วมกันทำผ้าบาติกสนุกๆ ให้แขกผู้มาเข้าพักได้สัมผัสถึงบรรยากาศการทำงานของคนในชุมชน ทั้งยังได้รังสรรค์ความสนุกบนผืนผ้าในลวดลายของตัวเองอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเล็กๆ ของคนในชุมชนที่ปรับตัวสร้างธุรกิจในรูปแบบง่ายๆ เช่น สวนมะพร้าวของป๊ะบ่าว หรือลุงอุสันและภรรยาที่ปลูกสวนมะพร้าวขนาดย่อมไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว เสมือนไปเยี่ยมบ้านญาติผู้ใหญ่แล้วเขาก็เฉาะมะพร้าวให้เราซดน้ำสดๆ ชื่นใจมาก!
Photo: @bewachi
ไม่ใช่แค่ความสุขที่เกิดขึ้นในการพักผ่อน แต่การได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนก็ทำให้เราได้รู้จักวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของชาวเกาะยาวน้อยอย่างแท้จริง ที่ไม่ใช่แค่การออกไปชม ไปถ่ายภาพ แต่ยังได้ลงมือทำจริงๆ รวมไปถึงยังเห็นความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและภาคธุรกิจที่อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล จนทำให้ชุมชนเกิดรายได้ ทั้งยังน่ามาเที่ยว น่ามาใช้ชีวิตอยู่สักช่วงเวลาหนึ่งจริงๆ
Photo: @peduckk
What You Should Know
- ทริปนี้เราได้ร่วมเดินทางมากับช่างภาพคนเก่งที่มีมุมมองหลากหลายทั้ง @peduckk และ @guppug สองช่างภาพที่มีฟอลโลเวอร์ในอินสตาแกรมมากมาย ฉะนั้นเราจึงได้ภาพที่สวยงามมาประกอบบทความ ทั้งยังได้ชื่นชมมุมมองที่แตกต่างระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันที่นี่
- เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ คืออีกหนึ่งผู้ร่วมทริป หลังจากที่เธอมาร่วมงาน THE STANDARD POP TALK กับเรา ครั้งนี้เธอออกไปเสาะหาวัตถุดิบท้องถิ่นมาทำกับข้าวให้พวกเรากิน และเมนูกุ้งผัดสะตอพิวเร (ซอสสะตอ) ก็ทำให้เราประทับใจไม่รู้ลืมจริงๆ!
- นอกจากนี้ บีบี-เอกนรี วชิรบรรจง ลูกสาวคนเก่งของ อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ก็มาร่วมทริปนี้กับเราด้วย แถมเธอยังแสดงมุมมองที่น่าจดจำในฐานะนักศึกษาช่างภาพสารคดี ที่ต้องยอมรับว่ามุมมองของเธอนั้นเท่ไม่แพ้ตัวเธอเองเลย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- Cape Kudu Hotel เป็นโรงแรมขนาดย่อมบนเกาะยาวน้อย โดยกลุ่ม Cape & Kantary ที่ตั้งอยู่บนโค้งทะเลที่สวยงาม ทั้งยังมีบรรยากาศที่เป็นส่วนตัวมากๆ ด้วยโซนห้องพักทั้งรูปแบบตึกและวิลล่าที่แยกสัดส่วนอย่างชัดเจน รวมถึงบริการรอบด้านทั้งสปา ร้านอาหารที่ครบเครื่องความอร่อย โดยคุณสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ capekuduhotel.com/