×

KNU ขอบคุณไทยส่งความช่วยเหลือมนุษยธรรม มองความช่วยเหลือผ่านกาชาดเมียนมาสะท้อนความไม่สนใจวิกฤตที่เกิดจากรัฐบาลทหาร

01.04.2024
  • LOADING...
KNU

วานนี้ (31 มีนาคม) สำนักข่าว Mizzima ของเมียนมา รายงานว่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU ) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่รัฐบาลไทยส่งมอบให้แก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบและพลัดถิ่นจากสถานการณ์สู้รบ โดยสภากาชาดไทยได้ส่งมอบสิ่งของช่วยเหลือผ่านสภากาชาดเมียนมา (MRCS) ที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ขบวนรถบรรทุกจะนำสิ่งของช่วยเหลือไปแจกจ่าย

 

แถลงการณ์ระบุว่า สิ่งของช่วยเหลือที่ประกอบด้วยถุงยังชีพจำนวน 4,000 ถุง ซึ่งบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และของอุปโภคบริโภคอื่นๆ ถูกแจกจ่ายให้กับชาวเมียนมาจำนวน 20,000 คนที่หลบหนีการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ของกองทัพเมียนมาเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านนาบู (Nabu), หมู่บ้านไป้โจ่ง (Paingkyon) และหมู่บ้านตามันยะ (Tha Ma Nya) ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง

 

โดยกองกำลังรักษาชายแดนกะเหรี่ยง (BGF) ได้ขนส่งสิ่งของช่วยเหลือผ่านเมืองเมียวดี โดยมีเจ้าหน้าที่กองทัพบกของไทยร่วมติดตามการส่งมอบความช่วยเหลือ

 

ถุงยังชีพจำนวน 3,874 ถุง ถูกมอบแก่เจ้าหน้าที่ในหมู่บ้านนาบูและส่งมอบให้กับคณะกรรมการเพื่อชาวกะเหรี่ยงผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Committee for Internally Displaced Karen People) และผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและดูแลผู้พลัดถิ่น

 

ขณะที่การส่งมอบสิ่งของช่วยเหลือในหมู่บ้านไป้โจ่ง มีเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลทหารและสภากาชาดเมียนมาเข้าร่วมในการส่งมอบความช่วยเหลือ

 

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ยืนยันว่า สิ่งของช่วยเหลือทั้งหมดถูกแจกจ่ายเสร็จสิ้นแม้จะมีความท้าทายอยู่บ้าง พร้อมขอบคุณต่อรัฐบาลไทยสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และระบุถึงจุดยืนของ KNU เกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ดังนี้

 

  1. วิกฤตด้านมนุษยธรรมในเมียนมา เป็นวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งมีต้นเหตุมาจากสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่จงใจพุ่งเป้าโจมตีไปที่พลเรือน

 

  1. SAC แสวงหาหนทางที่จะใช้ประโยชน์จากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่เสมอ และสภากาชาดเมียนมา (MRCS) ก็เป็นกองกำลังสำรองทางทหาร และเป็นองค์กรที่สนับสนุน SAC การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่าน MRCS แสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจต่อความทุกข์ทรมานของประชาชนเมียนมา เนื่องจาก MRCS ทำงานให้กับ SAC ที่จงใจพุ่งเป้าโจมตีประชาชนของตนเอง

 

  1. ในวันที่ 26 มีนาคม ขณะกำลังส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในหมู่บ้านไป้โจ่ง เครื่องบินรบของ SAC ได้บินอยู่เหนือเมืองในเวลา 12.15 น. ซึ่งทำให้ผู้พลัดถิ่นพากันหลบหนีด้วยความหวาดกลัว เราเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อกลุ่มผู้พลัดถิ่นเหล่านั้น

 

  1. แม้ว่าการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นในเมียนมา จะสามารถพัฒนาความไว้วางใจระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด แต่ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการปรึกษาหารือระหว่างทุกฝ่าย ถือเป็นสิ่งสำคัญ และการดำเนินการที่ทำลายความไว้วางใจระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีแต่จะทำให้ปัญหาลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

  1. KNU ได้ส่งแนวคิดที่เสนอเกี่ยวกับการส่งมอบความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมของเมียนมา ไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนและรัฐบาลไทย

 

  1. เนื่องจากเกือบทั้งประเทศมีความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนในช่วงเวลานี้ เราจึงร้องขอให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายหลังเสร็จสิ้นการแบ่งปันข้อมูลและปรึกษาหารือจากทุกฝ่าย รวมถึงในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ด้วยความโปร่งใสและความรับผิดชอบ

 

ภาพ: Mizzima

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising