×

เอดส์กับเอชไอวี คนละเรื่อง…ยา PrEP และ PEP คืออะไร เรียนรู้เพื่ออยู่ห่างไกลเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์

21.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • มุมมองเรื่อง ‘เชื้อเอชไอวี’ หรือ ‘โรคเอดส์’ ในความเข้าใจเดิมๆ ของคนไทยคือการพบเชื้อเอชไอวีหมายความว่าคุณเป็นโรคเอดส์และจะต้องตายเท่านั้น ซึ่งเป็นความคิดที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว
  • เชื้อเอชไอวีหรือ Human Immunodeficiency Virus นั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นไวรัสที่จะเข้าไปกัดกินทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนโรคเอดส์หรือ Acquired Immune Deficiency Syndrome คืออาการระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกเชื้อไวรัสทำลายจนร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคทั้งหลายที่เข้าสู่ร่างกายได้อีกต่อไป
  • การติดเชื้อเอชไอวีอาจจะไม่พัฒนาไปสู่การเป็นโรคเอดส์เสมอไปหากดูแลรักษาสุขภาพอย่างดี และถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการทางการแพทย์ใดๆ ที่จะสามารถรักษาเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ให้หายขาดได้ แต่ผู้ที่ติดเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขด้วย ‘วิธีการรักษาด้วยการรับยาต้าน’ (Antiretroviral Therapy)
  • PrEP และ PEP เป็นยาต้านไวรัสในกลุ่ม Antiretroviral Drugs (ARV) ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า 25 ชนิดที่ได้การรับรองให้นำมารักษาเชื้อเอชไอวีได้ และเจ้ายาชื่อห้วนๆ สองตัวนี้ต่างมีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อที่แตกต่างกัน รวมถึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนที่มีผลเลือดลบหรือผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ
  • ยา PEP (เพ็พ) ตัวนี้คือทางออกของคุณซึ่งมันมีชื่อเต็มๆ ว่า Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาต้านไวรัสที่จ่ายให้สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีที่เพิ่งมีการเสี่ยงหรือสัมผัสเชื้อเอชไอวี ซึ่งโดยมากมักเป็นกรณีฉุกเฉิน และต้องได้รับทันทีภายใน 72 ชั่วโมง เป็นยาที่มีคนรู้จักน้อยขนาดที่แพทย์ยังการันตีเลยว่าคนกรุงเทพฯ เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่รู้ว่ายาต้านฉุกเฉินคืออะไร

ในโอกาสที่เดือนมิถุนายนนี้เป็นเดือนของความภาคภูมิใจหรือ Pride Month ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ทั่วโลกต่างเฉลิมฉลองให้กับความสุขและการได้มีพื้นที่เป็นตัวของตัวเอง ผ่านการต่อสู้ที่ยาวนานอันได้มาซึ่งความภาคภูมิใจ (รู้จักจุดเริ่มต้นและความหมายของ LGBT Pride ได้ที่นี่) แต่เรื่องหนึ่งที่เราอยากหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในเดือนนี้อย่างตั้งใจ เพื่อเป็นข้อมูลและรับทราบเพื่อตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยร่วมกัน นั่นคือสถานการณ์ของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ (HIV/AIDS) ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดคือกลุ่มเกย์และกลุ่มข้ามเพศเป็นส่วนใหญ่

 

 

คุณอาจจะยังเข้าใจอยู่ว่าเอชไอวีและเอดส์เป็นเรื่องเดียวกัน ติดเชื้อแล้วต้องตายอย่างเดียวเท่านั้น (หรอ?) ซึ่งครั้งนี้ THE STANDARD ตั้งใจพาคุณไปทำความเข้าใจแบบง่ายๆ ถึงพื้นฐานของเรื่องเอชไอวีและเอดส์ และพาคุณไปทำความรู้จักกับ ‘PrEP’ (เพร็พ) และ ‘PEP’ (เพ็พ) ยาสองชนิดที่คุณอาจจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง โอเค ถึงแม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ ไม่ใช่ทุกคนที่รู้จักสถานการณ์นี้หรือเข้าใจมันจริงๆ และไม่ใช่ทุกคนเช่นกันที่จะมองเห็นว่าสถานการณ์ HIV/AIDS สำคัญอย่างไรในปัจจุบัน

 

HIV/AIDS เอชไอวี กับ เอดส์ คนละเรื่องเดียวกัน

หากเราจะพูดถึงคอนเซปต์ของ ‘เชื้อเอชไอวี’ หรือ ‘โรคเอดส์’ ในความเข้าใจของคนไทยไม่น้อย เราไม่แปลกใจเลยหากคำตอบจะออกมาในท่าทีเช่น เมื่อตรวจพบเชื้อเอชไอวีหมายความว่าคุณเป็นโรคเอดส์และจะต้องตายเท่านั้น และที่เป็นเช่นนี้เพราะคุณเป็นคนสำส่อน เปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้า หรือการเป็นเอดส์จะทำให้คุณทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยอย่างหนัก คุณจะถูกสังคมรังเกียจ หรือจริงๆ แล้วพอพูดถึงเอดส์บางคนอาจจะนึกถึงแค่เพียงวัดพระบาทน้ำพุด้วยซ้ำ

 

แต่ในความจริงแล้วสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือความเข้าใจที่ ‘ผิด’ และ ‘ล้าสมัย’ ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ ‘ถูกทำให้เข้าใจเช่นนั้น’ ในวันที่วิวัฒนาการทางการแพทย์ยังไม่ก้าวไกลเท่าไรนัก และสิ่งที่คุณควรรู้ไว้เดี๋ยวนี้ตอนนี้ คือการตรวจพบเชื้อเอชไอวีในเลือดของคุณ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นเอดส์เสมอไป และการเป็นเอดส์ก็ไม่ได้มีปลายทางเป็นความตายเพียงอย่างเดียวเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว

 

“สถานการณ์เปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะจากเมื่อ 20-30 ปีก่อนแล้ว ตั้งแต่เอชไอวีและเอดส์เริ่มแพร่เข้ามาในประเทศไทย ตอนนี้คนที่ติดเชื้อรายใหม่ที่เราคาดประมาณในแต่ละปี มีจำนวนอยู่ไม่ถึง 10,000 คน ซึ่งลดลงจากสมัยก่อนที่เราคาดการณ์ไว้ว่าปีหนึ่งอาจจะมีคนติดเชื้อเป็นแสนคน แต่สิ่งที่ยังน่ากังวลอยู่คล้ายคลึงกันในทุกๆประเทศคือ เมื่อก่อนนี้เอชไอวีจะติดกันระหว่างหญิงชาย หรือในผู้ที่ใช้สารเสพติดแบบฉีดที่ใช้เข็มร่วมกัน แต่ตอนนี้กลายเป็นกลุ่มชายรักชาย และสาวประเภทสองเป็นหลัก ซึ่งทางรัฐเองก็พยายามปรับตัวในเรื่องการทำงานให้ถูกกลุ่มมากขึ้น

 

“ส่วนสิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่องหนึ่งถึงแม้ผู้ติดเชื้อที่เราประมาณไว้จะลดลง แต่ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเอชไอวียังไม่ลดลงเลย โดยแต่ละปีในเมืองไทยมีคนเสียชีวิตจากโรคเอดส์ประมาณ 12,000 คน น่าแปลกใจตรงที่ผู้ติดเชื้อนั้นสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ทันทีแล้วในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจำนวนผู้เสียชีวิตควรที่จะน้อยลงเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่เลย ซึ่งนี้คือสัญญาณที่ทำให้เห็นว่า คนที่เข้ามาตรวจเอชไอวีพอรู้ว่าตัวเองติดเชื้อก็ลุกลามไปถึงขั้นป่วยเสียแล้ว เพราะฉะนั้นใครที่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยง ออกมาตรวจเลือดกันเถอะค่ะ” คำกล่าวของแพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าหน่วยพรีเวนชัน ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้ให้ความรู้เบื้องตันเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของ HIV/AIDS ในประเทศไทย

 

สิ่งนี้ยังคงแสดงให้เห็นว่า การที่ผู้ป่วยมีปริมาณลดลง แต่มีผู้เสียชีวิตในจำนวนมากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะพวกเขาอาจไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง หรืออาจเมินเฉยกับอาการของตน ซึ่งจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในปัจจุบัน ในปี 2560 นั้นมีจำนวนเพียง 6,000 รายเท่านั้น ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ในยุค 90’s หรือช่วงปี 2535 ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 150,000 คน ในเมื่อเชื้อเอชไอวีไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องควรเฝ้าระวังคือจำนวนของผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละปี

แต่ละปีในเมืองไทยมีคนเสียชีวิตจากโรคเอดส์ประมาณ 12,000 คน น่าแปลกใจตรงที่ผู้ติดเชื้อนั้นสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้แล้วในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจำนวนผู้เสียชีวิตควรที่จะน้อยลงเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่เลย นี่คือสัญญาณที่ทำให้เห็นว่าคนที่เข้ามาตรวจเอชไอวีพอรู้ว่าตัวเองติดเชื้อก็ลุกลามไปถึงขั้นป่วยเสียแล้ว เพราะฉะนั้นใครที่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยง ออกมาตรวจเลือดกันเถอะค่ะ

– แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าหน่วยพรีเวนชัน ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

นอกเหนือจากนั้นเรายังควรต้องเริ่มทำความเข้าใจกันใหม่ทั้งหมดก่อนว่า เชื้อเอชไอวี กับ โรคเอดส์ เป็นคนละเรื่องเดียวกัน เพราะเชื้อเอชไอวีหรือ Human Immunodeficiency Virus นั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นไวรัสที่จะเข้าไปกัดกินทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนโรคเอดส์หรือ Acquired Immune Deficiency Syndrome คืออาการระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกเชื้อไวรัสทำลายจนร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคทั้งหลายที่เข้าสู่ร่างกายได้อีกต่อไป

 

ดังนั้นการติดเชื้อเอชไอวีอาจจะไม่พัฒนาไปสู่การเป็นโรคเอดส์เสมอไปหากดูแลรักษาสุขภาพอย่างดี และอย่างที่ทราบกันว่าในปัจจุบันเองยังไม่มีวิธีการทางการแพทย์ใดๆ ที่จะสามารถรักษาเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ให้หายขาดได้ แต่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขด้วย ‘วิธีการรักษาด้วยการรับยาต้าน’ (Antiretroviral Therapy)

 

และหลังจากการรับยาต้านอย่างต่อเนื่อง ยาต้านจะทำหน้าที่ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคสู่คนอื่นๆ ได้จนทำให้จำนวนของเชื้อไวรัสในเลือดลดลงจนเหลือเพียงจำนวนที่ต่ำมากจนไม่อาจส่องเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งภาวะเช่นนี้หมายความว่ามีจำนวนไวรัสเอชไอวี ‘ที่ไม่สามารถพบได้’ (Undetectable Viral Load) และหมายความว่าบุคคลนั้นจะไม่มีอาการเจ็บป่วยจากเชื้อเอชไอวี และสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ ทั้งยังจะไม่ถ่ายทอดโรคนี้ให้กับผู้อื่นด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ชีวิตของคนคนนั้น รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายเป็นประจำ หรือการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีในการจัดการกับความเครียดเช่นกัน

ดังนั้น การมีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย ไม่จำเป็นต้องเป็นเอดส์เสมอไป และเชื้อเอชไอวีนั้นสามารถยับยั้งให้ไม่แพร่กระจายได้ด้วยยาต้าน คุณจะมีชีวิตยาวนานเท่าที่คุณต้องการ ตราบใดที่คุณกินยาต้านอย่างต่อเนื่องและดูแลตัวเองอย่างดี จดไว้เลย

ยาต้าน PrEP กับ PEP คืออะไร

แล้ว PrEP กับ PEP คืออะไร และสองสิ่งนี้อยู่ตรงไหนของจักรวาลเรื่อง HIV/AIDS กันล่ะ? ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทั้ง PrEP และ PEP นั้นเป็นยาต้านไวรัสในกลุ่ม Antiretroviral Drugs (ARV) เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันได้การรับรองให้นำมารักษาเชื้อเอชไอวีได้ และเจ้ายาชื่อห้วนๆ สองตัวนี้ต่างมีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อที่แตกต่างกัน รวมถึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนที่มีผลเลือดลบหรือผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ

 

PrEP ป้องกันก่อนเสี่ยง

หากรู้ว่าตัวเองเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีรสนิยมไม่พึงปรารถนาการใช้ถุงยางอนามัย หรือประกอบอาชีพที่ไม่ได้อยู่ในสถานะที่สามารถป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ทุกครั้ง สิ่งนี้คือคำตอบที่น่าสนใจ เพราะ PrEP (เพร็พ) หรือในชื่อเต็มๆ ว่า Pre-Exposure Prophylaxis คือตัวยาที่ช่วยสร้างเกราะป้องกันให้คุณก่อนที่จะไปเสี่ยงกับเชื้อเอชไอวี โดยคุณสามารถรับยา PrEP นี้เป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง โดยจะต้องมีผลเลือดลบ และต้องเข้ามารับการตรวจเลือดเพื่อติดตามประสิทธิภาพของยาดังกล่าวทุกๆ 3 เดือนอีกด้วย

 

“ยา PrEP มันเหมือนการที่คุณไม่รู้ว่าตัวเองจะเสี่ยงเมื่อไร แต่คุณสามารถป้องกันไว้ก่อน เฉพาะแค่เชื้อเอชไอวีเท่านั้นนะคะ ยานี้ไม่ได้ป้องกันให้คุณรอดพ้นจากโรคทางเพศอื่นๆ เช่น หนองใน หนองในเทียม หรือซิฟิลิส บางคนอาจจะรู้สึกว่าถุงยางไม่ใช่คำตอบ และอาจจะไม่ป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การรับ PrEP มาเสริมก็อาจทำให้คลายกังวลได้

 

“ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนที่รับยาชนิดนี้ประมาณ 6,000 กว่าคน ซึ่งเป็นคนต่างชาติประมาณ 2,000 คน เพราะในบ้านเราคนเข้าถึงยาตัวนี้ได้ง่ายดายมาก เพราะในเมืองนอกราคาค่อนข้างสูง เดือนหนึ่งก็ต้องเสียหลายหมื่น แต่คนไทยเองสามารถรับยานี้ได้ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงเดือนละ 900 บาทเท่านั้นเอง” แพทย์หญิงนิตยากล่าว

 

ซึ่งก่อให้เกิดคำถามขึ้นตามมาว่า ดังนั้นการมี PrEP ให้ทานป้องกันก่อนเสี่ยง การมีเซ็กซ์ที่ปลอดภัยจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกเพิกเฉยหรือเปล่า? และถุงยางอนามัยจะตกกระป๋องไปเลยหรือ?

 

คำตอบคือสิ่งนี้เป็นเพียงอีกหนึ่ง ‘ทางเลือก’ ให้กับประชาชนทั่วไป เพราะในกลุ่มของคนที่สามารถใช้ถุงยางอนามัยก็มี เพียงแต่ยา PrEP นี้จะดึงดูดกลุ่มคนที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยหรือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมาเข้ารับบริการมากกว่า แต่แน่นอนว่าเกิดผลพวงตามมาอื่นๆ อยู่บ้าง เช่นจำนวนของผู้ป่วยในโรคทางเพศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น หรือในกรณีของชาย-หญิงที่อาจจะเกิดโอกาสการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์

 

PEP เสี่ยงแบบฉุกเฉิน

ในกรณีที่เกิดไปมีเพศสัมพันธ์แบบ ‘เสร็จใน’ อย่างไม่ตั้งใจ ทั้งจากอาการเมา หรือถุงยางหลุด ถุงยางแตก มีเลือด มีแผล ขณะมีเพศสัมพันธ์ และไม่รู้ว่าคนที่คุณไปมีอะไรด้วยนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงอะไรบ้าง ลองยกนาฬิกาขึ้นมาดูแล้วนับถอยหลัง หลังจากเสร็จกิจไปอีก 72 ชั่วโมงสิ ตอนนี้คุณเหลือเวลาเท่าไร และอย่าเพิ่งตกใจไป

 

สถานการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกกรณีไม่ว่าตัวคุณเองจะยินยอม หรือโดนบังคับขืนใจ หากตัวคุณหรือคนรอบตัวคุณพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ยา PEP (เพ็พ) ตัวนี้คือทางออกของคุณซึ่งมันมีชื่อเต็มๆ ว่า Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาต้านไวรัสที่จ่ายให้สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีที่เพิ่งมีการเสี่ยงหรือสัมผัสเชื้อเอชไอวีมา อย่างไม่ตั้งใจก็ดีหรือไม่รู้ก็ดี ล้วนมักเป็นกรณีฉุกเฉิน

 

เพราะฉะนั้นชื่อเล่นที่จำได้ง่ายมากของยา PEP คือ ‘ยาต้านฉุกเฉิน’ และคุณจะต้องได้รับทันทีภายใน 72 ชั่วโมง และต้องรับยาเป็นเวลาติดต่อกันราว 28 วัน เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันที่เต็มที่ จากการให้สัมภาษณ์ของแพทย์หญิงนิตยา เธอบอกกับเราว่าเจ้ายานี้มีคนรู้จักน้อยมาก และคุณหมอยังการันตีเลยว่าคนกรุงเทพฯ เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่รู้ว่ายาต้านฉุกเฉินนี้คืออะไร! เพราะฉะนั้นหากเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมา รีบไปตรวจเลือดและรับยาทันทีนะ เราเป็นห่วง

 

ออกมาตรวจเลือดกันเถอะ เจ็บนิดเดียว

ไม่มีหนทางไหนที่จะยุติการแพร่ระบาดของ HIV/AIDS ได้ดีที่สุดเท่ากับการที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยออกมาตรวจเลือดกันอย่างเป็นกิจ และไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกลุ่มขายบริการทางเพศ หรือกลุ่มคนที่ไม่ชื่นชอบการใช้ถุงยางอนามัย แต่เราหมายถึงทุกคนในสังคมนี้ และการตรวจหาเชื้อเอชไอวีคือหัวใจสำคัญในการจะหยุดปัญหาโรคเอดส์ได้จริงๆ ดังนั้นการตรวจผลเลือดทุกปีถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่งของคนทุกคนไม่ว่าจะเพศใด

 

และโปรดรู้เถิดว่าพวกเราโชคดีมากเหลือเกินที่เกิดมาในประเทศนี้ (อย่างน้อยที่สุดก็เรื่องการเข้าถึงยารักษาโรค ไม่นับเรื่องอื่นๆ นะ…) เพราะประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่เมื่อตรวจเจอเชื้อเอชไอวีปุ๊บ สามารถรับยาต้านได้เลย และเข้าสู่กระบวนการการรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในเรื่องราวของ HIV/AIDS ไม่ใช่ตัวเชื้อหรืออาการของโรคอีกต่อไปแล้ว แต่มันคือ ‘ความไม่รู้’ และ ‘ความกลัว’ ที่ฝังอยู่ในความรู้สึกของพวกเราทุกคนมากกว่า

 

โลกหมุนไปไกลมากแล้ว การที่คุณติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นเอดส์เสมอไปหรือต้องตายเช่นภาพจำที่เคยมี

 

เพียงแค่ลุกขึ้นมาตรวจเลือด และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี จะหายใจใช้ชีวิตอยู่ไปอีกกี่ร้อยปีคุณก็ทำได้!

 

ภาพประกอบ: Chatchai Choeichit

FYI
  • หลังจากเกิดการระบาดของโรค HIV ในบ้านเราเมื่อต้นปี 1990 ภาครัฐและเอกชนต่างร่วมใจกันทำแคมเปญรณรงค์โรคนี้จนประสบความสำเร็จสูงสุด อันเป็นเหตุผลที่ตกมาสู่คนยุคปัจจุบันที่ยังคงหวาดกลัว มองว่าเป็นโรคร้ายอันดับต้นๆ และคิดว่าชีวิตจบสิ้นเมื่อติดเชื้อเอชไอวี ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจาก 140,000 ในปี 1990 เหลือเพียง 6,500 คนในปี 2016 และผู้ป่วยโรคเอดส์ลดลงถึง 1 ใน 3 ในไทย
  • สามารถเข้ารับการบริการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีได้ในคลินิกของทางภาครัฐ เอกชน หรือองค์กรต่างๆ ได้ ทั้งที่รู้จักกันดีอย่าง ‘คลินิกนิรนาม’ ของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เปิดให้บริการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 7.30-16.00 น. และวันเสาร์เปิดให้บริการ เวลา 7.30-15.00 น.
  • นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการตรวจเลือด ทั้ง สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ที่จัดตั้งศูนย์สุขภาพฟ้าสีรุ้ง รามคำแหง (ซ.รามคำแหง 97/2) เปิดบริการวันจันทร์, วันพฤหัสบดีและวันศุกร์ เวลา 15.00-20.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-17.00 น. ปิดทำการทุกวันอังคารและวันพุธ
  • หรือง่ายที่สุดคุณสามารถตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีที่โรงพยาบาลใกล้บ้านคุณได้ทุกแห่ง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories