×

KKP Research ชี้ไทยอ่วมหนักหากไม่ร่วม CPTPP ส่งออกทรุด-ต่างชาติย้ายฐานผลิตหนี แนะรัฐเร่งเจรจาผู้ได้รับผลกระทบ จ่ายเยียวยาอย่างเหมาะสม

14.06.2021
  • LOADING...
CPTPP

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบมหาศาล หากพลาดการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ภาคส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 
  • นักลงทุนต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น อาจย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ที่ต้นทุนค่าแรงถูกกว่าและได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากข้อตกลง
  • ทางออกระยะสั้นคือ การเจรจายืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎเกณฑ์ใน CPTPP เพื่อชะลอผลกระทบและเตรียมความพร้อม
  • ภาครัฐต้องเร่งประเมินผลกระทบ สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีนโยบายชดเชยเยียวยากับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์เรื่อง ‘ผลกระทบจากการ (ไม่) เข้าร่วมข้อตกลง CPTPP’ โดยระบุว่า ไทยไม่ควรรีบปฏิเสธข้อตกลง Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP เพราะอาจก่อให้เกิดต้นทุนมหาศาลและกระทบการแข่งขันด้านส่งออก 

 

บทวิเคราะห์ดังกล่าวชี้ว่า การไม่เข้าร่วม CPTPP อาจก่อให้เกิดต้นทุนมหาศาลกับไทย คือ ผลกระทบต่อการแข่งขันด้านการส่งออก โดยเฉพาะหากสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ซื้อคนสำคัญของโลกกลับเข้าร่วมข้อตกลงนี้อีกครั้ง ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพราะข้อตกลง CPTPP จะถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือกีดกันการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคในสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ  

 

และเมื่อถึงวันนั้น หากไทยต้องการเข้าร่วมข้อตกลงอาจไม่มีโอกาสในการกลับไปเจรจา รวมทั้งกฎเกณฑ์หลายอย่างจะเข้มงวดกว่าเดิมมากตามแนวนโยบายของสหรัฐฯ โดย KKP Research ประเมินว่า ในอีกประมาณ 2 ปีหลังจากนี้ เป็นเวลาที่ โจ ไบเดน อาจตัดสินใจกลับเข้าร่วม CPTPP อีกครั้ง 

 

ความเสี่ยงอีกประการที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ การย้ายฐานการผลิตของประเทศที่อยู่ในข้อตกลง CPTPP อย่างญี่ปุ่นที่อาจมีการย้ายออกจากไทย และไปตั้งฐานการผลิตที่เวียดนาม ซึ่งมีข้อได้เปรียบทั้งค่าแรงที่ถูกกว่า เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีกว่า และสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการเข้าถึงตลาดใหญ่ๆ จากการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงสำคัญและสร้างผลกระทบมหาศาล เพราะญี่ปุ่นมีการลงทุนทางตรงในไทยกว่า 33% ของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศทั้งหมด และ 40% ของจำนวนการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดเป็นภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีความสำคัญมากในฐานะสินค้าส่งออกของไทยไม่แพ้ภาคเกษตร 

 

 

นอกจากนี้ ภาคการผลิตอื่นๆ ก็จะเจอความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งจำนวนแรงงานภาคการผลิตของไทยมีจำนวนแรงงานสูงถึง 6 ล้านคน (คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของภาคเกษตร) คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญกับความเสี่ยงในแง่ผลกระทบต่อรายได้และการจ้างงานมหาศาลเช่นกัน 

 

 

บทวิเคราะห์ของ KKP Research ระบุว่า ญี่ปุ่น แคนาดา หรือสิงคโปร์ ตัดสินใจเข้าร่วมข้อตกลงนี้จากสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก รวมไปถึงการปฏิรูปและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่สากล โดยเฉพาะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน การสนับสนุนการแข่งขัน และการต่อต้านการคอร์รัปชัน หากไทยจะเจรจาข้อตกลงการค้าอื่นๆ ก็จะต้องยอมรับกฎเกณฑ์ลักษณะที่คล้ายคลึงกับ CPTPP อยู่ดี การปฏิเสธข้อตกลงทางการค้าใหม่ๆ หรือการทำได้อย่างล่าช้า จะทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่ง 

 

ทั้งนี้ หลังปี 2007 ไทยมีการทำข้อตกลงการค้า (FTA) เพิ่มเพียง 1 ฉบับเท่านั้น ในขณะที่เวียดนามมีการทำเพิ่มไปแล้วถึง 6 ฉบับ ดังนั้น หากประเทศไทยยังหวังจะพึ่งพาการส่งออก แทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงการค้าใหม่ๆ ที่มีกฎเกณฑ์ที่ถูกคัดค้านในปัจจุบัน

 

 

โดยมองว่าโอกาสที่เกิดขึ้นจากหลักการของกฎระเบียบใหม่ๆ ยังจะทำให้ไทยได้รับการยอมรับจากประเทศพัฒนาแล้ว และจะเป็นกลไกที่เพิ่มประสิทธิภาพของตลาดให้ดีขึ้น เช่น ข้อตกลง UPOV1991 ที่ให้ความคุ้มครองในการพัฒนาพันธุ์พืช ข้อตกลง TRIPS Plus ที่ให้ความคุ้มครองยา ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดสินค้าใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเป็นที่มาของการเติบโตระยะยาว  

 

สำหรับปัญหาและความเสี่ยงจากการเข้าร่วม CPTPP ของไทย เช่น ธุรกิจบางส่วนอาจไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติได้ KKP Research มองว่า ทางออกระยะสั้นสำหรับเรื่องนี้คือการเจรจายืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎเกณฑ์ใน CPTPP เพื่อชะลอผลกระทบและเตรียมความพร้อม แต่ท้ายที่สุดการแก้ปัญหาระยะยาวจะต้องมาจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหมาะสมจากภาครัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภาพ หรือพัฒนาความสามารถของเกษตรกร  

 

KKP Research ระบุว่า ปัจจุบันการเจรจา CPTPP ของไทยยังอยู่ในเพียงขั้นการขอเข้าร่วมเจรจาเท่านั้น ไม่ควรรีบปฏิเสธข้อตกลง CPTPP ในวันนี้ แต่ควรศึกษาประโยชน์และผลเสียให้ครบถ้วนรอบด้าน ศึกษาหาทางเลือกในการปรับตัว และเตรียมความพร้อมที่จะทำให้เราได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือเปลี่ยนข้อจำกัดเหล่านั้นให้กลายเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

 

ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบ สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และมีนโยบายลดผลกระทบ เตรียมความพร้อม และชดเชยเยียวยากับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม เนื่องจากกระแสต่อต้าน CPTPP ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาครัฐที่อยู่ในระดับต่ำ และการสื่อสารนโยบายที่ไม่เพียงพอ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising