×

จบจากโรงเรียนไหนมา ให้ดูกันที่คุณค่าความเป็นคน: ชวนคุยกับ ธอมัส บานยาร์ด และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ สองคุณครูจากสองภาคพื้นทวีปที่มีหัวใจดวงเดียวกัน [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
21.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • King’s College School โรงเรียนชื่อดังในระดับโลกจากวิมเบิลดัน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กำลังจะเปิดการเรียนการสอนที่เมืองไทย ในเมืองกรุง โดยจะเริ่มปีการศึกษาแรกในเดือนกันยายน 2563 
  • เป็นที่น่าสนใจว่า การจัดระบบการเรียนการสอนของ King’s College School นั้น ได้ถูกคิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาเด็กในระดับรากเหง้าทางความคิดและสติปัญญา โดยแบ่งหัวใจสำคัญออกเป็น 3 แกน ได้แก่ Academic Excellence หรือแกนของวิชาการความรู้, Co-Curricular Program หรือแกนของการทำกิจกรรม การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และ Pastoral Care หรือแกนของการปลุกคุณค่าในตนเอง และปลุกความเป็นคนให้แก่ส่วนรวม
  • แกนที่เป็นหัวใจดังกล่าว คือคำตอบที่ว่า ทำไม King’s College School, Wimbledon จึงประสบความสำเร็จในการสร้างคน และ ณ ตอนนี้ โรงเรียนแห่งการบ่มเพาะทางความคิด พร้อมแล้วที่จะแจกจ่ายอาวุธนั้นแก่เด็กไทย

ชีวิตประจำวันในช่วงเดือนกันยายน 2563 สำหรับใครหลายๆ คน อาจเป็นแค่วันธรรมดาวันหนึ่ง ที่ต้องตื่นไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ หรือมีกิจวัตรที่ต้องทำตามปกติของชีวิต แต่สำหรับทีมงานทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของ King’s College International School Bangkok (โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ หรือ King’s Bangkok) รวมถึงเด็กนักเรียน และผู้ปกครอง นั่นจะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ถูกบันทึกในความทรงจำของพวกเขา เพราะโดยเฉพาะในวันแรกที่โรงเรียนชื่อดังอายุอานามเกือบ 200 ปี จากวิมเบิลดัน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะได้เปิดทำการเรียนการสอนที่เมืองไทย ในเมืองกรุง

 

King’s College School, Wimbledon ดำรงสถานะในฐานะสถาบันการศึกษานามกระเดื่องของเมืองผู้ดีอังกฤษ สั่งสมชื่อเสียงมาแล้วเป็นเวลาเกือบสองร้อยปี ได้รับรางวัลมากมายในฐานะโรงเรียนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของสหราชอาณาจักร โดยที่ผ่านมาสามารถผลิตนักเรียนให้เติบโตไปเป็นนักศึกษาที่มีคุณภาพ ในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก เช่นเดียวกับการที่นักเรียนเหล่านั้นได้เติบโตไปเป็นบุคคลที่มีคุณค่าของสังคม ทั้งนี้ ต้องยกเครดิตให้ระบบการจัดการเรียนการสอนที่คิดอย่างเข้มข้นแล้วว่า จะเป็นระบบที่พัฒนาให้เด็กเกิดพัฒนาการเรียนรู้รอบด้าน เพื่อเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมในทุกมิติ เมื่อโรงเรียนระดับโลกเช่นนี้ ตัดสินใจปักหมุดในประเทศไทย จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ระบบการศึกษาจากอีกฟากฝั่งทวีปจะสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่สังคมไทย และช่วยเติมเต็มให้สังคมการศึกษาในบ้านเมืองเราเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ THE STANDARD ได้เข้าสัมภาษณ์พูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟ กับ มร.ธอมัส บานยาร์ด ครูใหญ่ King’s Bangkok และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ครูคนสำคัญผู้ริเริ่มให้เกิด King’s College School ขึ้นในเมืองไทย

 

 

“ขึ้นชื่อว่าพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติไหน อยู่ที่ใดบนโลก ก็ย่อมอยากให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี ได้รับสังคมที่ดี ยิ่งถ้าหากโรงเรียนนั้นจะช่วยเพาะบ่มทางความคิดให้แก่เด็กได้ ก็คงจะดีไม่น้อย ผมจะบอกแบบนี้ว่า การศึกษาแรกที่คุณได้รับจากโรงเรียน คือพื้นฐานที่ส่งผลทั้งเรื่องความคิด สติปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์ให้แก่คุณ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองกลุ่มนี้เขาจะมองไปข้างหน้า หรือแม้แต่ตัวเด็กเอง บางคนก็มีความใฝ่ฝันว่าอยากเก่งในระดับโลก อยากไปอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหราชอาณาจักร หรือสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าการศึกษามีส่วนสำคัญในการให้เด็กๆ ได้ไปต่อ แต่เหนืออื่นใดนั้น โรงเรียนต้องร่วมบ่มเพาะเด็กให้เป็นคนไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ส่วนรวม เมื่อทาง King’s College School ได้พบและพูดคุยกับทีมงานของ ดร.สาคร ก็รู้สึกว่า เราสามารถเติม 3 กุญแจสำคัญในการสร้างคน คือ Kindness, Openness และ Thoughtfulness ลงไปในสังคมไทยได้ ซึ่งในสังคมไทย ก็มีพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนที่เป็นคนยุคใหม่ คิดนอกระบบ พวกเขาก็จะส่งลูกมาเรียนกับเรา เพราะเรามีความตั้งใจที่จะช่วยพัฒนาเด็กๆ ทุกคนให้เติบโตไปเป็นคนที่มีคุณค่าของสังคม และมีความเก่งกาจในระดับโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ” นี่คือเหตุผลที่ มร.ธอมัส หรือครูทอม ให้ความเห็นถึงการที่ King’s College School เลือกมาปักหลักสร้างรากฐานทางความคิดให้แก่เด็กไทย ทั้งนี้ครูทอมได้ชวนให้คิดถึงประเด็นความคล้ายคลึงกันระหว่างวัฒนธรรมร่วมของอังกฤษและไทย ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเอื้ออำนวยให้ระบบการเรียนการสอนของ King’s Bangkok จะไปได้ดีในบ้านเมืองไทยยุคนี้ เช่นเดียวกับที่ ดร.สาคร ได้สำทับต่อว่า

 

“สังคมไทยเราเป็นสังคมที่เปิดกว้างและพร้อมเรียนรู้ ทีมงานทุกคนเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือเห็นว่าการพัฒนาเด็กไม่ได้แปลว่าแค่ทำให้เด็กเรียนเก่ง หรือเป็นเลิศด้านใดด้านหนึ่ง แต่เราต้องการให้เด็กเก่งครบถ้วนรอบด้าน เราเชื่อว่าเด็กคนหนึ่งจะโตขึ้นมาดีได้ ต้องมีทั้งการศึกษาที่ดี กิจกรรมเด่น ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องกีฬา มีจิตใจที่มีคุณภาพ ใส่ใจคนอื่นๆ เมื่อเรามีเป้าหมายเดียวกันเช่นนี้ แล้วจะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร นั่นล่ะคือสิ่งที่ King’s College School จะสรรค์สร้างหลักสูตรมาเติมเต็ม”

 

ในเรื่องหลักสูตรนั้น King’s College School ใช้ความเก๋าเกมที่คลุกคลีอยู่กับเด็กมานาน สร้างสรรค์แกนของระบบการศึกษาขึ้นมาทั้งหมด 3 แกน ประกอบด้วย

 

Academic Excellence – ด้วย Curriculum หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่แข็งแกร่ง ที่จะทำให้พวกเขามีมันสมองที่เก่งขึ้นในระดับสู้กับคนอื่นได้ ซึ่ง King’s College School ถือเครดิตในด้านนี้อยู่มาก ผลจากการสอบเข้า Oxford หรือ Cambridge ได้มากถึงประมาณ 25% และมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้อีกจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถแสดงผลเป็นที่ประจักษ์ได้แล้ว

 

Co-Curricular Program – หลักสูตรร่วมผสม ประกอบด้วย Club, Society และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กๆ สามารถเดินเข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่พวกเขาสนใจ ได้ทำกิจกรรมที่พวกเขาอยากเรียนรู้เพิ่มเติม เด็กก็จะมีประสบการณ์มากกว่าแค่เรื่องการเรียนการสอนทั่วไป เพราะที่ King’s College School มีความเชื่อว่าการที่เด็กคนหนึ่งจะพัฒนาเป็นคนเก่ง ไม่ได้เกิดจากแค่การอัดแต่วิชาการอย่างเดียว แต่ต้องถึงพร้อมในเรื่องอื่นๆ ด้วย ถึงจะเติบโตมาเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ และที่ต้องใช้คำว่า Co-Curricular ไม่ใช่ Extra-Curricular เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรและเกี่ยวข้องกับชีวิตนักเรียนจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เสริมเพิ่มเติมเหมือนการเรียนพิเศษ

 

Pastoral Care – คือการดูแลอย่างใส่ใจ กุญแจสำคัญของแกนนี้อยู่ที่ความใส่ใจในตัวเด็ก ซึ่งทำคู่กันไปทั้ง 2 ทางคือ Tutor System และ House System ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือการฝึกทำงานเป็นทีม ซึ่ง King’s College School เชื่อว่า วิธีนี้คือสิ่งที่มีประสิทธิผลในการฝึกให้เด็กได้มีเซนส์ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทำให้เด็กรู้สึกเหมือนโรงเรียนเป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง ไม่รู้สึกแปลกแยก

 

ครูทอมให้ความเห็นต่อแก่นของระบบการศึกษาทั้ง 3 ว่า ที่ King’s College School ไม่ได้ถ่ายเทน้ำหนักไปที่ด้านใดด้านหนึ่งให้แข็งแรงเพียงด้านเดียว แต่ให้ความสำคัญกับทุกๆ ด้าน เพราะมันก็คงเท่านั้นหากคุณเก่งวิชาการมากๆ แต่ขาดทักษะการใช้ชีวิต ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีเซนส์ของการเข้าสังคม ลองนึกถึงภาพของนักวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุด แท้จริงแล้วที่เขาวิ่งดี วิ่งเก่ง เป็นเพราะจิตใจของเขาบอกว่าเขาวิ่งได้ หรือเป็นเพราะว่าร่างกายของเขาถูกออกแบบมาว่าให้วิ่งอย่างนั้นได้ หรือเพราะว่าเขาถูกเทรนด์มาอย่างหนักมาก เพื่อให้วิ่งแบบนั้นได้ แน่นอน นักวิ่งมาราธอนคนนั้นอาจไม่ใช่นักวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุด หากโดนตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป ระบบการเรียนการสอนที่ King’s College School ก็เช่นเดียวกัน และถ้าจะให้มองถึงหัวใจของการศึกษาที่ King’s College School จริงๆ เขายกให้กับสิ่งมีชีวิตที่มีหัวใจ นั่นคือ ‘ครู’ และ ‘ทีมงานผู้สอน’ ทุกคน

 

 

“ส่วนที่เป็นหัวใจของ King’s College School คือเรื่องคน ครูของเราเป็นมากกว่าครู ไม่ใช่แค่สอนเก่ง แต่พวกเขาต้องใส่ใจในการพัฒนานักเรียนจริงๆ หากเห็นพรสวรรค์หรือความสนใจบางอย่างของเด็ก ครูต้องเข้าไปช่วยจุดไฟนั้นให้ลุกโชนขึ้น” ครูทอมกล่าวเสริม ในขณะเดียวกัน ดร.สาคร ก็ได้พาเราย้อนไปถึงวันระทึกใจที่ยังอยู่ในความระลึก คือวันที่ได้ตอบคำถามกับบอร์ดบริหารของ King’s College School ถึงเหตุผลที่อยากให้เมืองไทยต้องมีสถานศึกษาแห่งนี้

 

“มีคำถามหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการนำเสนอแผนการของ King’s College School ในเมืองไทย บอร์ดบริหารถามผมว่า คุณต้องการอะไรจาก King’s College School ผมก็บอกว่า เราต้องการ ‘อาจารย์’ อาจารย์ที่เป็นอาจารย์จริงๆ อาจารย์ที่พร้อมจะให้ลูกศิษย์อย่างเต็มหัวใจ การที่ King’s College School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เห็นคุณค่าของอาจารย์ได้มาอยู่ที่นี่ จะช่วยตอกย้ำความหมายได้ว่า ครูบาอาจารย์คือหน่วยเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ สามารถ Make a difference ได้” และคำตอบนี้อาจเป็นคำตอบมัดใจที่ King’s College School, Wimbledon ตัดสินใจมาเปิดที่เมืองไทยและทำงานร่วมกับ ดร.สาคร

 

ผู้คนไม่น้อย ชื่นชม King’s College School เพราะสถาบันแห่งนี้ สามารถส่งลูกศิษย์ให้ถึงฝั่งระดับมหาวิทยาลัยท็อปของโลกได้เป็นจำนวนมาก แต่ในฐานะครูของโรงเรียนแห่งนี้ มาตรวัดความสำเร็จของครูทอมกลับต่างไป

 

“จริงอยู่ที่ผู้ปกครองเลือก King’s College School เพราะไว้วางใจในหลักสูตรอันเข้มข้นของเรา แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจ ไม่ใช่แค่การส่งลูกศิษย์เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ แต่เป็นการที่พวกเขารู้ตัวว่าอยากไปทางไหน อยากทำอะไร ผมเคยเจอเด็กที่ปฏิเสธมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลก เพราะว่าที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นมีในสิ่งที่เขาอยากเรียนมากกว่า โดยส่วนตัวแล้วผมจะรู้สึกภูมิใจกับนักเรียนที่ตัดสินใจเช่นนี้ เพราะเขามีความคิดเป็นของตัวเอง เขานับถือตัวเอง ไม่คิดว่าจะต้องตามกระแส รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ และอีกอย่างหนึ่งคือการเป็นคนที่มีทัศนคติดี มีนิสัยเคารพนบนอบ ไม่โอ้อวด ในทางกลับกัน ต่อให้เป็นเด็กที่เรียนเก่งมากๆ สอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้ แต่หากไม่ถึงพร้อมด้วยกริยามารยาททางสังคมอันพึงมี ผมก็ไม่ถือว่าส่งศิษย์ขึ้นฝั่งจนสำเร็จ เพราะมาตรวัดที่ผมใช้คือ คุณค่าความเป็นคนดี”

 

ถัดจากนี้ไปอีก 3 ปี นับตั้งแต่วันเปิดปีการศึกษา เราเชื่อว่า King’s Bangkok จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองช่วยเปลี่ยนอนาคตของเด็กไทย อย่างที่ครูใหญ่โรงเรียนนี้บอกกับเราด้วยดวงตาเป็นประกายของความมุ่งมั่นว่าเขามีความตั้งใจที่จะทำให้โรงเรียนนี้ไม่ได้เป็นแค่โรงเรียนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังต้องคงความยอดเยี่ยมให้ได้ในระดับโลก เด็กหลายคนจะได้รับการพัฒนาจากระบบการเรียนการสอนที่คิดมาอย่างเข้มข้น ในทำนองเดียวกันกับที่ ดร.สาครได้บอกกับเราว่า

 

 

“การได้เห็นเหล่าเด็กชายเด็กหญิงเติบโตขึ้นด้วยความแตกต่างอย่างมีคุณค่า คือการเติมเต็มจิตวิญญาณของความเป็นครู”

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เว็บไซต์ของ King’s Bangkok หรือคลิก http://bit.ly/KingsTheStandard

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising