×

บันทึกการตามหา ‘Standard’ หนังสือพิมพ์ที่รัชกาลที่ 9 เคยทรงงานเป็นช่างภาพ (ตอนที่ 3 เส้นชัย)

16.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • วันที่ 12 ตุลาคม ถือวันเป็นครบรอบ 112 ปี วันคล้ายวันสถาปนาหอสมุดแห่งชาติ โดยทางหอสมุดได้เปิดให้ใช้บริการอย่างเต็มรูปแบบในวันเดียวกัน
  • การเดินทางตามหา Standard ได้พาเรากลับไปยังแหล่งบันทึกประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้ง ด้วยความหวังว่า Standard จะปรากฏขึ้นหลังจากที่ทุกอย่างถูกจัดระเบียบอย่างเต็มที่

     แดดส่องทะลุผ้าม่านมากระทบดวงตา ความรู้สึกแรกคือความคิดหงุดหงิดในหัวว่าทำไมเมื่อคืนถึงไม่ยอมปิดม่านให้สนิทก่อน ผู้เขียนหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเช็กว่าระหว่างที่ปิดเครื่องนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง

     หัวหน้าไลน์มาถามว่าวันนี้ทำอะไร เพื่อนไลน์มาถามว่าเย็นนี้เอายังไง กับ notification แจ้งเตือนว่าวันนี้ 12 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนาหอสมุดแห่งชาติ

     “ลองกลับมาดูวันที่ 12 นะ ทุกอย่างน่าจะเป็นระบบ และอาจจะหา Standard เจอ” เสียงของเจ้าหน้าที่หอสมุดดังขึ้นมาในหัว

     เสียงสตาร์ทรถดังขึ้นพร้อมกับเสียงฟ้าร้องอีกครั้ง วันนี้เป็นอีกวันที่ฟ้าปิด และผู้เขียนทำใจเตรียมร่มไว้ใช้สำหรับการเดินเข้าหอสมุดแห่งชาติอีกครั้ง แต่หลังข้ามสะพานกรุงธนบุรี มองเห็นบ้านของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อยู่ลิบๆ คิดอยู่ว่าถ้ามีโอกาสก็อยากแวะไปเยี่ยมชมบ้านของศาสตราจารย์สักครั้ง

     เสียงเบรกดังขึ้น สถานการณ์ฟ้าดูตรงกันข้ามกับตอนที่ออกจากบ้าน เพราะฟ้าเปิด เช่นเดียวกับประตูหน้าหอสมุดแห่งชาติที่ปิดซ่อมแซมมายาวนาน วันนี้ก็เปิดให้บริการ

 

 

     “ชั้น 4 ถึงแล้วค่ะ” เสียงตอบรับอัตโนมัติภายในลิฟต์แจ้งเตือน ขณะที่ใจผู้เขียนได้แต่ลุ้นว่าวันนี้จะพบเจอกับต้นฉบับหรือไม่

     เสียงเจ้าหน้าที่คนแรกที่ได้ยินภายในชั้น 4 ของอาคารที่ดูใหม่เอี่ยมนี้กลับเป็นเสียงที่คุ้นเคย เพราะเป็นเจ้าหน้าที่คนเดิมที่เคยช่วยเหลือเมื่อครั้งตามหา แสตนดาร์ด เยาวชน

     “Standard ใช่ไหม กรอกใบขออนุญาตให้พี่หน่อย แล้วรอแปบหนึ่ง”

     ดูเหมือนว่าคงไม่ใช่เหตุบังเอิญที่ฟ้าเปิดและอากาศสดใสที่สามเสนในวันนี้ เพราะดูเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมั่นใจว่าจะพบเจอเอกสารที่ตามหา หลังจากที่ทุกอย่างถูกจัดเป็นระบบระเบียบ

     ภายในชั้น 4 ของอาคารหอสมุดแห่งชาติเต็มไปด้วยเอกสารโบราณที่ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระบบ เหตุการณ์ในแต่ละวันของชาติไทยที่ถูกถ่ายทอดผ่านตัวอักษรลงกระดาษ ก่อนที่เวลาผ่านไปจะกลายสภาพเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งหมดถูกรวบรวมไว้ในห้องโถงขนาดใหญ่ที่บรรจุด้วยชั้นวางหนังสือเรียงกันเป็นแถว

     มองเข้าไปภายในห้องนี้ ผู้เขียนเห็นหนังสือเก่าสีน้ำตาลเขียนว่า ‘พิมพ์ไทย’ บนสันหนังสือ

     ด้วยชื่อหนังสือและความเก่าของกระดาษที่ใช้พิมพ์ช่างน่าค้นหายิ่งนัก และเหมือนมีพลังอะไรบางอย่างดึงดูดผู้เขียนให้ถลำลึกเข้าไปใกล้หนังสือเล่มนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่แล้วก็มีเสียงมาจากด้านหลังว่า

     “น้องห้องนี้เข้าไม่ได้ และห้ามถ่ายรูปนะ”

     เป็นเสียงของเจ้าหน้าที่อีกคนที่ทำให้ผู้เขียนต้องมานั่งรออยู่นิ่งๆ อย่างใจจดใจจ่อว่าจะพบเจอกับต้นฉบับ Standard หรือไม่

     ประตูกระจกบานใหญ่เปิดออกและมีรถเข็นเหล็กสีน้ำเงินเข็นออกมา แต่ครั้งนี้กลับเป็นความว่างเปล่า เจ้าหน้าที่เดินไปยื่นกระดาษที่มีชื่อ Standard ให้กับเจ้าหน้าที่อีกคนแล้วพูดคุยกันอยู่สักพัก

     “หมายความว่าอย่างไร ตกลงแล้วเราต้องออกไปหาที่อื่นแล้วใช่ไหม” ในใจรู้สึกกลัวขึ้นมา เพราะว่าที่ผ่านมาตามสถานที่อื่นๆ ดูจะไม่มีหวังเท่ากับหอสมุดแห่งชาติ

     เจ้าหน้าที่ทั้งสองคนพยักหน้าให้กันและเดินตรงมาหาผู้เขียน ก่อนที่จะเลี้ยวขวานำกระดาษแผ่นที่เขียนคำว่า Standard ไปสู่อีกฝั่งหนึ่งของพื้นที่จัดเก็บเอกสาร ซึ่งก็คือห้องเดียวกับที่เก็บหนังสือ ‘พิมพ์ไทย’

     ระหว่างที่นั่งรอ ผู้เขียนก็ได้เห็นคลิปในโลกออนไลน์เกี่ยวกับ 3D Printing พร้อมกับคอมเมนต์ที่บอกกันว่า “ดีเนอะ อีกหน่อยคงผลิตอะไรก็ได้” ผู้เขียนคิดในใจ ผลิตหนังสือพิมพ์ Standard พ.ศ. 2489 ให้สักฉบับได้ก็คงจะดีไม่น้อย

 

 

     ประตูกระจกอีกฝั่งหนึ่งเปิดออก คราวนี้เป็นหนังสือที่ดูเก่ากว่า 3 เล่มที่เราเห็นก่อนหน้านี้ โดยปกหนึ่งใน 5 เล่มนั้นเริ่มมีอาการผุพังตามกาลเวลา และที่สันหนังสือเล่มนั้นเขียนว่า

     ‘Standard Weekly Newspaper 1946’

     เจ้าหน้าที่แจ้งว่าควรหาหน้ากากมาใส่ เพราะเอกสารนี้ไม่ได้มีผู้เปิดดูมานานแล้ว

 

 

     เอกสารที่หายไปจากพื้นที่สื่อเป็นเวลานานเท่าไรคงไม่มีใครทราบ เพราะครั้งสุดท้ายที่ Standard ตีพิมพ์ ต้องย้อนไปถึงสมัยที่กำแพงเบอร์ลินยังตั้งตระหง่านท้าทายสันติภาพของมวลมนุษยชาติท่ามกลางสงครามเย็น ณ ใจกลางกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

     ทว่าบัดนี้หนังสือพิมพ์ที่เริ่มต้นเพียงคำบอกเล่าก็มาตั้งอยู่ตรงหน้าผู้เขียน

 

     กรุงเทพฯ วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 1946 (พ.ศ. 2489)

     ความรู้สึกของกระดาษเก่าที่ค่อยๆ สลายลงไปทุกครั้งที่สัมผัส เป็นความรู้สึกดีใจ แต่ก็แอบเสียใจว่าหาก 10-20 ปีต่อจากนี้ ถ้ามีคนต้องการตามหาต้นฉบับนี้ จะลงเอยที่ปลายทางในสภาพไหน  

     ร่องรอยของแมลงกัดกินกระดาษทะลุไปหลายหน้าพร้อมกับคำขีดเขียนในหน้าต่างๆ แสดงให้เห็นว่าต้นฉบับเหล่านี้ผ่านการใช้งานจริงมาอย่างยาวนาน หรือว่าจริงๆ แล้วเคยมีผู้ไล่ตามหาต้นฉบับนี้มาก่อนเราและค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจจึงได้ขีดเขียนลงบนต้นฉบับ

 

 

     ภายในหน้าแรกเต็มไปด้วยโฆษณาจากนายห้างต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนเป็นภาษาอังกฤษ​ ทั้ง Siam Commercial Bank หรือ SCB และบริษัท The East Asiatic Company, LTD. รวมถึงอีกหลายบริษัทเกือบ 20 แห่งที่ลงโฆษณาภายในฉบับแรก

 

 

สร้าง ‘A New Standard’ ให้กับวงการสื่อสารมวลชน

     จากประสบการณ์ก่อนหน้านี้ที่ได้สัมผัสกับ แสตนดาร์ด เยาวชน ซึ่งดูเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจ รวมถึงเปิดโอกาสให้ได้เขียนบทความและคำแนะนำว่าหนังสือพิมพ์ฉบับเยาวชนควรจะเป็นอย่างไร

     จากบทบรรณาธิการของหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา กล่าวไว้ว่า

 

     “แต่หนังสือเล่มนี้จะอยู่เป็นมิตรของหลานได้ก็เพราะหลานๆ ตอบลุงป้าหน่อยซิจ๊ะว่าหลานจะมีวิธีช่วยให้หนังสือของหลานๆ นี้เป็นที่พอใจหลานๆ ได้อย่างไร ตามความคิดเห็นตามอายุของหลาน”

 

     แต่ภายใน Standard เวอร์ชันแรกที่อยู่ในมือนี้ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพ โดยเห็นได้จากบทบรรณาธิการแรกภายในต้นฉบับ ซึ่งบันทึกไว้ว่าพวกเขามีความต้องการเพียงแค่จะสร้างหนังสือพิมพ์ที่ดีที่สุดภายในข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ในเวลานั้น เพื่อตอบสนองสังคมที่มีความรู้

     “เราไม่ใช่กระบอกเสียงของใคร ยกเว้นแต่เพียงเสียงของเหตุผลและความจริง ความจริงใจ และความมีศีลธรรมจรรยา”

     พร้อมกับปิดท้ายบท ‘A New Standard’ ไว้ว่า

     “หลังจากที่ได้บอกเป้าหมายและจุดประสงค์ของพวกเราแล้ว เราเชื่อว่าไม่มีทางที่จะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราต้องการที่จะให้หนังสือพิมพ์ Standard สื่อสารด้วยผลงาน และหวังว่าจะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการสื่อมวลชนในประเทศสยาม”

 

 

     จากการเปิดหนังสืมพิมพ์อย่างระมัดระวังในฉบับปฐมฤกษ์ ผู้เขียนยอมรับว่าภายในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เปี่ยมไปด้วยบทความที่น่าสนใจ ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งประดิษฐ์ สังคม กีฬา แฟชั่น ภาพยนตร์ และบทสัมภาษณ์พิเศษของบุคคลที่น่าสนใจ แต่หากจะให้ผู้เขียนบอกว่ามีคุณภาพสำหรับสมัยนั้นหรือเปล่าคงไม่สามารถบอกได้ แต่หากบทความต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ในปัจจุบันก็ยอมรับว่ามีคุณภาพมากเลยทีเดียว

     เช่น บทความ ‘Buddism and The Siamese People’ ของ Luang Suriyabongs M.D. ซึ่งเมื่อนำชื่อเข้าไปค้นหาในกูเกิลได้พบว่าเป็น M.D. Luang Suriyabongs. ซึ่งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธในประเทศไทยไว้หลายเล่มเลยทีเดียว

     บทความได้เล่าถึงความผูกพันระหว่างพุทธศาสนากับชาวสยาม โดยมีการใช้ Data Journalism ที่นำเอาข้อมูลชาวสยามในสมัยนั้นว่าพวกเขานำรายได้ร้อยละ 4-8 มาใช้ในการทำบุญ รวมถึงในปี 1937 สยามมีวัดทั้งหมด 17,408 วัด เท่ากับว่ามีหนึ่งวัดต่อประชากร 800 คน และมีจำนวนพระสงฆ์ทั้งหมด 150,213 รูป  

     หรือแม้กระทั่งบทความในฉบับที่ 2 ที่เขียนถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างจักรยานสองล้อ โดย Claud Golding เมื่อปี 1839 โดยชาวสกอตแลนด์  Kirkpatrick MacMillan ก็น่าสนใจไม่แพ้กันเลยทีเดียว

 

     เราเริ่มรู้สึกเข้าใกล้ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพบกับคอลัมน์ Mail Bag Pictures ภาพจากต่างประเทศ ที่มีทั้งภาพจากอังกฤษ อิตาลี และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภาพบรรยากาศของผู้คนที่ใช้ชีวิตทั่วไป

 

 

     ผ่านไปจนถึงฉบับที่ 4 เราก็ได้พบกับภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชชุดแรกภายใน Standard เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 1946

     โดยหน้าที่ 13 เป็นภาพเดียวกับที่เห็นในไมโครฟิล์มก่อนหน้านี้คือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 5 ภาพ ประกอบไปด้วย ภาพชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่สำเพ็ง พระนคร ทูลเกล้าฯ ถวายของขวัญพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล, ภาพวัดปากน้ำ, ภาพเรือใบที่ปากน้ำ, ภาพพระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง และภาพหอระฆัง วัดพระแก้ว

 

 

     จึงได้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นช่างภาพส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 โดยภาพส่วนใหญ่เป็นการรายงานพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

     โดยหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จะเป็นภาพภายในพระบรมมหาราชวังและการเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 1946 ซึ่ง Standard จัดพิมพ์ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์อยู่เป็นประจำ

 

 

     ความรู้สึกเมื่อได้สัมผัสภาพถ่ายผ่านหนังสือพิมพ์ที่มีอายุมากว่า 70 ปี ซึ่งเทียบกับอายุของคนก็คงเข้าสู่ช่วงบั้นปลายของชีวิต

     การที่มีโอกาสได้สัมผัสเรื่องราวที่ถูกบันทึกลงกระดาษตั้งแต่วันแรกก็ไม่ต่างกับการย้อนเวลาไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่เราเกิด

     คุณค่าของกระดาษเป็นสิ่งที่ผ่านการทดสอบของกาลเวลา โดยไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถบิดเบือนความจริงที่ถูกรายงานผ่าน Standard ในแต่ละสัปดาห์ได้ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกดีใจไม่น้อยที่ต้นฉบับยังอยู่กับเราในวันนี้

     โดยเฉพาะการมีโอกาสได้เห็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ออกมาเป็นรายสัปดาห์

 

 

     เชื่อว่าในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา มีเพียงน้อยคนที่จะมีโอกาสได้เห็นหรือสัมผัสภาพประวัติศาสตร์เหล่านี้

     เสียงกระดาษอายุ 70 ปีกระทบกันพร้อมกับละอองฝุ่นที่ลอยฟุ้ง ผู้เขียนได้พบกับภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในหนังสือพิมพ์ Standard ที่ตามหา ซึ่งตอนนี้ต้นฉบับทั้งหมดกำลังถูกจัดเรียงขึ้นบนรถเข็นเพื่อออกเดินทางกลับสู่ห้องเก็บเอกสารโบราณ และยังคงรอคอยใครสักคนเดินไปปลุกบันทึกโบราณให้เล่าเรื่องราวในอดีตกาลให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

 

     “หนึ่งปีแล้วสินะที่พระองค์จากเราไป”

     ผู้เขียนรำพึงกับตัวเองในเย็นวันที่ได้พบต้นฉบับหนังสือพิมพ์ Standard ระหว่างกำลังเปิดประตูบ้านต้อนรับมิตรสหายที่นัดกันกินข้าวเย็น ไฟหน้ารถของเพื่อนตัดให้เห็นหมอกบางๆ ที่เริ่มปกคลุมทั่วบริเวณ ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว

     แม้พระองค์จะจากเราไปเป็นเวลากว่าหนึ่งปีหลังจากที่บทความนี้ได้ถูกเผยแพร่ แต่ผู้เขียนก็รู้สึกดีใจไม่น้อยที่ได้เป็นหนึ่งในเสียงเล็กๆ ที่มีโอกาสตามหาข้อมูลจากคำบอกเล่าที่นำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับพระองค์ และได้พบกับผู้คนที่ทำหน้าที่รักษาความรู้เชิงประวัติศาสตร์จนผู้เขียนสามารถเรียบเรียงและนำเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกลับมาเล่าสู่กันฟัง และช่วยต่ออายุให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อีกครั้งหนึ่ง

     .

     .

     .

     .

     .

     .

     .

     .

     “เฮ้ย! พี่เพิ่งรู้ว่าที่หอสมุดนี้มี ‘…’ ยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก ทั้งที่หลายๆ คนลืมไปแล้วว่าเคยมีอยู่ พี่ว่าน้องต้องชอบ”

     รุ่นพี่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปะและเป็นหนึ่งในช่างฝีมือดีที่ได้รับการยอมรับในวงการ โทรหาผู้เขียน

     ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจไม่ต่างจากวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ภายในงาน วารสารฉบับ ‘ปฐมฤกษ์’ สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงปัจจุบันฯ

     จากนั้นผู้เขียนก็ตอบกลับไปสั้นๆ ว่า

     “เรานัดเจอกันเมื่อไรดีพี่”

 

อ่านตอนก่อนหน้า 

 

อ้างอิง:

  • มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร
  • หอสมุดแห่งชาติ
  • ห้องสมุดต้นฉบับ
  • หออัครศิลปิน
  • หนังสือ จิตงามเหมือนชื่อคือหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร: ชีวประวัติและผลงาน 2458-2526 โดย ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร
  • หนังสือ งามจิตต์ A Princess with a Heart of Gold โดย มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร
  • ทุกคนที่ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือตลอดการเดินทางตามหาต้นฉบับ Standard
FYI
  • หอสมุดแห่งชาติ เปิดให้บริการสำหรับหนังสือหายากและเอกสารโบราณ ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น.
  • พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยการเข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้า โทร. 0 2669 7124-6 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
  • ห้องสมุดต้นฉบับ เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาค้นคว้าได้ โดยห้องสมุดตั้งอยู่ภายในซอยงามวงศ์วาน 23 จังหวัดนนทบุรี
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X