×

บันทึกการตามหา ‘Standard’ หนังสือพิมพ์ที่รัชกาลที่ 9 เคยทรงงานเป็นช่างภาพ (ตอนที่ 1 เบาะแส)

11.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ภายในงานเสวนา ‘วารสารฉบับ ‘ปฐมฤกษ์’ สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงปัจจุบันฯ’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ได้มีผู้กล่าวถึงหนังสือพิมพ์ แสตนดาร์ด เยาวชน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยทรงงานเป็นผู้สื่อข่าว
  • หนึ่งในหลักฐานสำคัญคือพระราชดำรัสของพระองค์ที่เคยตรัสด้วยพระอารมณ์ขันแก่ผู้ใกล้ชิดถึงการเป็นช่างภาพอาชีพของพระองค์ว่า “ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนๆ ละ 100 บาทตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนสักที เขาก็คงถวายเดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา”
  • จากการตามหา แสตนดาร์ด เยาวชน ได้นำเราไปสู่ห้องสมุดต้นฉบับ หอสมุดแห่งชาติ และแหล่งข้อมูลออนไลน์ต่างๆ ที่นำเราใกล้เข้าสู่เอกสารต้นฉบับมากขึ้น

     ครั้งแรกที่ได้ยินเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ Standard ฉบับภาษาอังกฤษ ที่จัดทำขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ 9 หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 คือความบังเอิญที่เกิดขึ้นภายในงานเสวนา ‘วารสารฉบับ ‘ปฐมฤกษ์’ สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงปัจจุบัน: ความเป็น ความตาย และแรงปรารถนาในโลกหนังสือ’ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560

     โดยภายในงานเสวนาได้มีปูชนียบุคคลของวงการหนังสือเก่า ตั้งแต่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนรุ่นอาวุโส, ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นักค้นคว้าและนักสะสมหนังสือต้นฉบับของประเทศไทย, เอนก นาวิกมูล เจ้าของบ้านพิพิธภัณฑ์, จำนงค์ ศรีนวล หนึ่งในผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการฝ่ายศิลป์คนแรกของนิตยสาร สารคดี และอีกหลายบุคลากรคนสำคัญของวงการหนังสือที่ได้รวมตัวกันเพื่อเสวนาหาทางออกให้กับวัฒนธรรมการอ่านและการเก็บรักษานิตยสารฉบับปฐมฤกษ์ให้คงอยู่กับสังคมไทยต่อไป

 

 

     แต่ในระหว่างที่ THE STANDARD ได้เข้าไปพูดคุยแนะนำตัวกับธงชัยและเอนกถึงวิวัฒนาการของนิตยสาร ก็มีคนพูดขึ้นมาว่า

     “Standard เหรอ คุณกำลังพูดถึง แสตนดาร์ด เยาวชน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยเป็นผู้สื่อข่าวหรือเปล่า”

     คนที่พูดขึ้นมาคือ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการประวัติศาสตร์ที่ได้เดินทางมาร่วมงานเสวนาเชิงประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

     โดยหลังจากทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าหนังสือพิมพ์ฉบับที่ว่านั้นเป็นหนังสือพิมพ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จัดพิมพ์รายสัปดาห์เป็นภาษาอังกฤษ จัดทำโดย หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา ชายาในศาสตราจารย์พิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร พระโอรสในพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน บิดาแห่งการรถไฟไทย ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2489-2490 โดยเชื่อว่าฉบับที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นผู้สื่อข่าวคือ พ.ศ. 2489

     หลักฐานการมีอยู่ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้คือพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่เคยตรัสถึงการเป็นผู้สื่อข่าวให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้

     จากคำบอกเล่าในวันนั้น ตัวนักเขียนเองก็มีความตื่นเต้นและเชื่อว่ากำลังเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้รื้อฟื้นประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมเลือนไปนาน โดยเฉพาะในส่วนที่ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยทรงงานเป็นผู้สื่อข่าว

 

     จากการเริ่มต้นค้นคว้าหาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้พบว่ามีนักวิชาการท่านหนึ่งที่มีต้นฉบับอยู่ในมือ แต่ก็ไม่มีความประสงค์จะเปิดเผยต้นฉบับแต่อย่างใด ทำให้มีความหวังว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังมีผู้ที่เก็บสะสมไว้อยู่จริง แต่ก็ยังมีความลังเลว่าอาจจะไม่มีทางหาต้นฉบับได้เจอ หรือแม้กระทั่งเรื่องเล่าที่ได้ยินเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมนั้นเป็นความจริงหรือไม่ ก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ในใจของตัวนักเขียนเอง

 

หลักฐานแรก

 

ภาพ: เว็บไซต์มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร

 

     จากความไม่มั่นใจถึงหลักฐานที่ผ่านมา เนื่องจากมีเพียงคำบอกเล่าจากที่ต่างๆ ทำให้ผู้เขียนมีความกังวลไม่น้อยว่าปลายทางของถนนเส้นนี้อาจจะเป็นทางตัน และไม่ได้ค้นพบสิ่งที่ต้องการหาตั้งแต่ตัดสินใจเดินทางออกมา

     แต่แล้วหลังจากค้นหาชื่อหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา ก็ได้พบเว็บไซต์ ‘มูลนิธิหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร’ และเมื่อเข้าไปที่ Biography เลื่อนไปถึงกิจกรรมสื่อสารมวลชนของหม่อมงามจิตต์ ก็พบว่าในระหว่างปี 1946-1968 หม่อมงามจิตต์ได้เป็นบรรณาธิการ (Editor) ของหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อว่า Standard

     ทั้งนี้ Standard เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับแรกของประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีจุดประสงค์ที่จะโปรโมตประเทศไทยด้วยภาพลักษณ์ที่ถูกต้องในสายตาชาวโลก

 

เริ่มต้นการเดินทางสำรวจหา Standard

     “หนังสือพิมพ์เหรอ โอ๊ย ยากมาก จะไปหาที่ไหน มีสักกี่คนกันที่เก็บ” เป็นคำแรกที่ได้ยินเมื่อโทรไปปรึกษารุ่นพี่ในวงการหนังสือเก่าคนหนึ่ง แต่ในความท้อแท้ก็ได้คำแนะนำให้ ‘ดำน้ำ’ โดยเปรียบเปรยว่าอาจจะไม่พบอะไร แต่การดำน้ำครั้งนี้อาจพบเจออะไรที่น่าสนใจระหว่างทาง

     รุ่นพี่คนนี้ชี้เป้าว่าผู้เขียนควรไปดำน้ำที่…

  1. หอสมุดแห่งชาติ
  2. สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หอสมุดกลาง)
  3. หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     โดยไม่ได้การันตีว่าการค้นหาครั้งนี้จะประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

 

 

     แต่ก่อนที่จะออกเดินทางสู่ห้องสมุดต่างๆ เสียงตามสายที่บอกเล่าว่าการตามหาหนังสือพิมพ์นี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ ได้นำทางผู้เขียนไปสู่สำนักพิมพ์ต้นฉบับของธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ที่จังหวัดนนทบุรี

     “อ๋อ Standard เหรอ ลองหาในกอง The Leader ดูสิ”

     The Leader ที่ว่านี้คือนิตยสารในสมัยเดียวกับ Standard โดยกองอยู่บนชั้นวางหนังสือที่มีฝุ่นจับ ตั้งอยู่ข้าง ‘ดรุณสาร’ อีกหนึ่งนิตยสารที่น่าสนใจมากเช่นกัน

     การค้นหาสิ่งที่ต้องการในกองนิตยสารที่มีอายุมากกว่าคนเจเนอเรชันเอ็กซ์ต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ แต่เมื่อค้นฉบับแล้วฉบับเล่าก็ยังไม่พบเจอคำที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘มาตรฐาน’ ในภาษาอังกฤษ จนสุดท้ายก็ยอมรับความจริงว่าในกองนิตยสารประวัติศาสตร์นี้อาจยังไม่มีประวัติศาสตร์หน้าที่ต้องการ

     จะทำอย่างไรในการหาเอกสารหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีปรากฏอยู่ในอินเทอร์เน็ตหรือตามร้านหนังสือทั่วไป คือคำถามที่เกิดขึ้นในใจ

     สุดท้าย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ผู้คร่ำหวอดในวงการเอกสารและนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์ได้ให้คำแนะนำที่สำคัญ ซึ่งเป็นกำลังใจในการ ‘ดำน้ำ’ หา Standard ต่อไป

     “คุณต้องอยากรู้มากๆ พอมีความอยากรู้ก็จะทำให้คุณพยายามทำทุกอย่างจนหาหนทางที่นำไปสู่จุดหมาย”

 

Line Apps ที่ไม่คิดว่าจะเป็นทางพบเจอ Standard

     ระหว่างที่กำลังค้นหา Standard ผ่านทางโลกออนไลน์ซึ่งมีข้อมูลมหาศาล แชตไลน์ในมือถือก็เด้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน พร้อมกับข้อความจากรุ่นพี่คนหนึ่งใน THE STANDARD ที่พบพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพลงหนังสือพิมพ์ Standard เป็นบทความจากหออัครศิลปิน ภายใต้หัวข้อ พระอัจฉริยภาพด้านทัศนศิลป์ (การถ่ายภาพ)

     ด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดการถ่ายภาพ และทรงถ่ายภาพต่างๆ อยู่เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เคยปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อราวปี พ.ศ. 2483 รวมถึงในหนังสือพิมพ์ Standard ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร โดยพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสด้วยพระอารมณ์ขันแก่ผู้ใกล้ชิดถึงการเป็นช่างภาพอาชีพของพระองค์ว่า “ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนๆ ละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนสักที เขาก็คงถวายเดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา”

 

ภาพ: หออัครศิลปิน

 

     มาถึงวันนี้ ความรู้สึกแปลกใจที่ได้รับคือความรู้สึกดีใจที่ได้เห็นคำว่า ‘หนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด’ เป็นครั้งที่ 2 ต่อจากประวัติย่อของหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร จากเว็บไซต์มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ซึ่งเป็นการพิสูจน์หลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้นว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีอยู่จริง และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นผู้สื่อข่าวและทรงถ่ายภาพลง Standard ตามคำบอกเล่าจริง

     การค้นพบครั้งนี้เหมือนเป็นการแวะเติมน้ำมันระหว่างทาง ให้ความรู้สึกเหมือนเข็มในถังน้ำมันถูกปริมาณน้ำมันดันจนไปถึงตัว ‘F’ ที่แปลว่า Full อีกครั้ง

     และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปสู่เป้าหมาย ‘หอสมุดแห่งชาติ’

 

 

     วันที่ 4 ตุลาคม เป็นอีกวันที่ฝนโปรยลงมาที่หอสมุดแห่งชาติ ทำให้ผู้เขียนติดอยู่ในรถ แต่เวลาก็ไม่เสียเปล่า เพราะมีเพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน ซึ่งขับร้องโดยเสียงอันทรงพลังของเชอร์รี่ เศวตนันทน์ ลูกครึ่งไทย-เดนมาร์ก หรือที่รู้จักกันในนาม สวลี ผกาพันธุ์ ที่ไพเราะและเหมาะกับบรรยากาศยิ่งนัก

     พอจบเพลงพระราชนิพนธ์ ชุด สายฝน ของ Various Artists จึงสามารถก้าวออกจากรถได้ และเมื่อมองขึ้นไปเห็นอาคารสูงใหญ่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคลังข้อมูลที่รวบรวมประวัติศาสตร์สำคัญของชาติไทยด้วยความคาดหวังในใจว่า ถ้าหากหอสมุดแห่งชาติยังไม่มีต้นฉบับ Standard การค้นหาครั้งนี้อาจต้องจบลงที่คำบอกเล่าและหลักฐานจากเอกสารอ้างอิง

     ด้วยประสบการณ์การขุดค้นประวัติศาสตร์ที่ยังมีน้อยพอๆ กับข้อมูลในการค้นหา Standard ได้นำผู้เขียนเดินเข้าไปที่อาคารด้านหลัง ซึ่งเขียนว่า ‘หอจดหมายเหตุ’ หลังจากลงทะเบียนสมัครสมาชิกและรับบัตรประจำตัวตามขั้นตอนทั้งหมดเรียบร้อยแล้วก็ได้แจ้งความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุทราบ

     “อ๋อ ถ้านิตยสาร เอกสาร และหนังสือ ไม่ใช่ที่นี่นะคะ ต้องหอสมุดแห่งชาติ ด้านหน้าเลยค่ะ”

 

หอสมุดแห่งชาติ ความหวังสุดท้าย

     ที่ต้องใช้คำว่า ‘ความหวังสุดท้าย’ เพราะว่าเอกสารสำคัญ ข้อมูล รูปภาพต่างๆ มักจะจบลงที่การพบเจอในที่แห่งนี้ จึงถือเป็นความคาดหวังสูงสุดว่า ต้นฉบับ Standard จะจมอยู่ในกองหนังสือสักแห่งในอาคารขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนถนนสามเสนแห่งนี้

     “มีหนังสือพิมพ์ชื่อ Standard ไหมครับ ที่เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา น่ะครับ”

     คำตอบแรกที่ได้คือ ที่นี่แทบไม่มีเอกสารหรือหนังสือพิมพ์เก่าที่เป็นภาษาอังกฤษ

     ความหวังเริ่มดับวูบลงพร้อมการให้กำลังใจจากเจ้าหน้าที่ว่า “ไว้รอหอสมุดเปิดเต็มตัววันที่ 12 ตุลาคม แล้วค่อยกลับมาหาใหม่นะคะ อาจจะมี”

     แต่ด้วยความหวังที่มี ผู้เขียนจึงถามไปว่า พอจะมีบันทึกเกี่ยวกับ ‘Standard’ บ้างไหม

     เจ้าหน้าที่ดึงสมุดเล่มสีชมพูที่เป็นสมุดจดบันทึกเอกสารทุกอย่างที่มีอยู่ในคลังของหอสมุดแห่งชาติ โดยเปิดไล่ตั้งแต่ ก ข …….. ว ศ ษ และกระดาษหน้าสีขาวก็หยุดลงที่ ส

     “สารคดี, สุภาพบุรุษ ของ ศรีบูรพา กุหลาบ สายประดิษฐ์ …………….แสตนดาร์ด… แสตนดาร์ด อ๋อ นี่ไง ใช่ แสตนดาร์ด เยาวชน หรือเปล่าคะ”

     เวลาผ่านไป 15 นาที เจ้าหน้าที่ก็เดินลงมาพร้อมกับรถเข็นเหล็กสีเทา โดยขั้นบนสุดมีหนังสือเก่าขนาดใหญ่ 3 เล่ม

บนสันหนังสือมีคำอธิบายเขียนว่า ‘แสตนดาร์ด เยาวชน’

 

     อ่านต่อ บันทึกการตามหา ‘Standard’ หนังสือพิมพ์ที่รัชกาลที่ 9 เคยทรงงานเป็นช่างภาพ (ตอนที่ 2)

 

อ้างอิง:

  • มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร
  • หอสมุดแห่งชาติ
  • ห้องสมุดต้นฉบับ
  • หออัครศิลปิน
  • หนังสือ จิตงามเหมือนชื่อคือหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร: ชีวประวัติและผลงาน 2458-2526 โดย ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร
  • หนังสือ งามจิตต์ A Princess with a Heart of Gold โดย มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร
  • ทุกคนที่ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือตลอดการเดินทางตามหาต้นฉบับ Standard
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising