“เจอแล้ว!”
เป็นความรู้สึกของผู้เขียนหลังเห็นคำว่า ‘แสตนดาร์ด เยาวชน’ บนสันหนังสือในรถเข็นเหล็กสีเทาของเจ้าหน้าที่หอสมุด
การเปิดหน้าแรกเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพราะไม่อยากขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ทำลายเอกสารชิ้นสำคัญของหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่จัดพิมพ์เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว
สิ่งที่พบคือ แสตนดาร์ด เยาวชน ฉบับปฐมฤกษ์ มีหน้าปกสีฟ้า พร้อมกับคำโปรย ‘แสตนดาร์ด ฉบับเยาวชน เพื่ออนาคตของชาติ’
หน้าที่ของคนหนังสือพิมพ์กับหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินนั้นมีลักษณะอย่างเดียวกัน คือทำให้เกิดความเข้าใจอันดีและถูกต้องขึ้นในมวลชน ข้าพเจ้าเองก็พยายามทำหน้าที่เช่นนั้น ชั่วแต่ว่าเราต้องทำด้วยพิธีรีตองและยศอย่างมากไปหน่อยตามธรรมเนียม
เปิดมาหน้าแรกจะพบกับจดหมายจากบรรณาธิการ ซึ่งเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา และศาสตราจารย์พิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร
ในหนังสือพิมพ์ แสตนดาร์ด เยาวชน รายปักษ์ฉบับนี้เต็มไปด้วยบทความน่าสนใจที่ได้รับการผลิตจากกองบรรณาธิการ ซึ่งประกอบไปด้วยบันเทิง สารคดี เรื่องน่ารู้ คอลัมน์ปกิณกะ ภาพ และการ์ตูนที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการรายงานบรรยากาศต่างๆ ในยุคสมัยนั้น
และที่สำคัญคือมีการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เขียนบทความของตัวเอง โดยมีรางวัลเป็นทุนที่สนับสนุนโดยหนังสือพิมพ์ Standard
แต่สิ่งที่ตั้งใจหาที่สุดคือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีเบาะแสจากพระราชดำรัสของพระองค์ที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพลงหนังสือพิมพ์ Standard ในบทความจากหออัครศิลปิน ภายใต้หัวข้อ พระอัจฉริยภาพด้านทัศนศิลป์ (การถ่ายภาพ)
“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนๆ ละ 100 บาทตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนสักที เขาก็คงถวายเดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา”
แต่เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง บทความสู่บทความ แม้จะมีความน่าสนใจในตัวข้อมูล แต่ทุกภาพกลับมีการให้เครดิตชัดเจนว่ามาจากสำนักพิมพ์ไทยและต่างประเทศ ไม่สามารถพบเจอภาพใดที่ขึ้นเครดิตภาพจากฝีพระหัตถ์แต่อย่างใด มีเพียงบางภาพที่ไม่ขึ้นเครดิตว่าใครเป็นผู้ถ่าย
สุดท้ายเราก็ได้พบกับคำอธิบายที่บอกว่า แสตนดาร์ด เยาวชน ที่เราจับอยู่ในมือนี้ไม่ใช่เส้นชัย แต่เป็นเพียงแค่อีกหนึ่งทางผ่าน โดย อภัย จันทวิมล อธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้เขียนแสดงความยินดีกับ แสตนดาร์ด ที่ทำฉบับเยาวชนภาษาไทยขึ้น หลังจากที่คณะผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ Standard ได้จัดทำหนังสือภาษาอังกฤษมาแล้วเป็นเวลา ‘16 ปี’ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2504
เราจึงได้ทราบว่า แสตนดาร์ด ที่ว่านี้ยังมีฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งตรงกับข้อมูลทางเว็บไซต์ของมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ที่ได้บันทึกไว้ว่า ได้จัดทำ หนังสือพิมพ์รายปักษ์เป็นภาษาอังกฤษฉบับแรกของประเทศไทยไว้เมื่อ พ.ศ. 2489-2511 ซึ่งจากคำบอกเล่าคือมีการคาดการณ์ว่าภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นอยู่ในฉบับราว พ.ศ. 2489-2490
พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย
เสียงไฟฟ้าในอาคารชาตรีโสภณพนิชเปิดขึ้นพร้อมกับคำกล่าวของเจ้าหน้าที่
“วันหลังจะมาให้แจ้งทางเพจก่อนนะคะ เพราะต้องใช้เวลาเปิดระบบ”
เป็นความผิดพลาดของผู้เขียนที่ไม่ติดต่อสื่อสารให้ชัดเจนก่อนเดินทางมาเข้าชม แต่วันนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็ใจดีพอที่จะอนุญาตและต้อนรับ พร้อมกับสอบถามวัตถุประสงค์หลักที่นำมาสู่พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยแห่งนี้
“Standard เหรอ ยังไม่เคยได้ยินนะ แต่ลองดูก่อน ที่นี่มีการบันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ไทยค่อนข้างเยอะ ถ้าอยากได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม น้องอาจจะต้องติดต่ออาจารย์พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ”
ใช่แล้วครับ อาจารย์พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นคนแรกที่จุดประกายให้ผู้เขียนเริ่มต้นค้นหาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ หลังจากอาจารย์กล่าวภายในงานเสวนา ‘วารสารฉบับ ‘ปฐมฤกษ์’ สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงปัจจุบัน: ความเป็น ความตาย และแรงปรารถนาในโลกหนังสือ’ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ว่า
“Standard เหรอ คุณกำลังพูดถึง แสตนดาร์ด เยาวชน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยเป็นผู้สื่อข่าวหรือเปล่า”
แต่หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ว่าโลกที่เราอยู่นั้นเล็กและกลมมากขนาดไหน ทั้งคู่จึงแยกย้ายไปทำภารกิจของตนเอง
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ของอดีตนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังมากมาย ตั้งแต่หมอบรัดเลย์ หรือแดน บีช แบรดลีย์ บิดาการพิมพ์ไทย ผู้ให้กำเนิดหนังสือจดหมายเหตุ หรือ The Bangkok Recorder เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเล่มแรก จนถึง ‘ศรีบูรพา’ หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์เจ้าของวาทะ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”
แต่ไฮไลต์สำคัญคงหนีไม่พ้นเอกสารเก่าฉบับหนึ่งภายในตู้ด้านข้างพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้ทรงเล่าถึงการเดินทางจากประเทศไทยถึงสวิตเซอร์แลนด์เมื่อ พ.ศ. 2489 ซึ่งตรงกับปีที่เราได้ทราบว่าท่านทรงถ่ายภาพลงหนังสือพิมพ์ Standard จากคำบอกเล่า
จากนาทีเป็นชั่วโมง การสำรวจเป็นไปอย่างน่าตื่นเต้น แต่สุดท้ายสิ่งที่พบว่าทรงคุณค่าและตรงกับสายการทำงานมากที่สุดคือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัมภาษณ์แก่กลุ่มนักหนังสือพิมพ์ในกรุงวอชิงตัน เมื่อคราวเสด็จประพาสประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2510
“หน้าที่ของคนหนังสือพิมพ์กับหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินนั้นมีลักษณะอย่างเดียวกัน คือทำให้เกิดความเข้าใจอันดีและถูกต้องขึ้นในมวลชน ข้าพเจ้าเองก็พยายามทำหน้าที่เช่นนั้น ชั่วแต่ว่าเราต้องทำด้วยพิธีรีตองและยศอย่างมากไปหน่อยตามธรรมเนียม”
แม้สุดท้ายที่แห่งนี้จะไม่สามารถนำไปสู่เส้นทางต่อไปในการค้นหา แต่ก็รู้สึกภูมิใจไม่ใช่น้อยที่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย พร้อมกับความสำคัญของการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน
“น้องๆ หมายถึงอันนี้หรือเปล่า หนังสือพิมพ์ Standard”
เจ้าหน้าที่ได้พูดขึ้นไล่หลังระหว่างที่กำลังเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ “เนี่ย พี่เจอในเว็บไซต์ของมูลนิธิ พี่ว่าน้องไม่น่าพลาดจุดนี้นะ”
และนั่นก็คือครั้งแรกที่เราได้เห็นภาพหน้าปกของ Standard เวอร์ชันภาษาอังกฤษ และรู้ทันทีว่าความหวังสุดท้ายอยู่ที่ มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกตึกชัยภายในมูลนิธิที่ตึกมหิดล
มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร
15 นาทีผ่านไป เสียงเตือนการถอยรถดังถี่ขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะดังค้างเป็นสัญญาณว่าได้มาถึงสุดทางที่เราจะถอยมาได้แล้ว นั่นคือกลับมาสู่จุดเริ่มต้น มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ซึ่งอยู่บนชั้น 4 ของตึกมหิดล
คำแรกที่ได้ยินไม่ต่างกับครั้งแรกที่ได้โทรมาสอบถามรายละเอียดเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า Standard ต้นฉบับไม่น่าจะมีในที่แห่งนี้ และข้อมูลต่างๆ ที่มีคาดว่าน่าจะอยู่บนเว็บไซต์หมดแล้ว
แต่ความโชคดีในครั้งนี้คือการที่ได้พบเจอเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิที่พร้อมช่วยเหลือในการตามหาข้อมูล จนสุดท้ายก็ได้พบกับเรื่องราวที่มาของภาพถ่ายฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 9 ว่ามาอยู่บนหนังสือพิมพ์ Standard ภาษาอังกฤษได้อย่างไร
จากบันทึกในหนังสือ 100 ปี หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ‘งามจิตต์ A Princess with a Heart of Gold’ ในบทเกี่ยวกับหน้าที่สื่อสารมวลชนของหม่อมงามจิตต์มีการระบุถึงการเป็นบรรณาธิการ (สตรีไทยรุ่นแรก) ของหนังสือพิมพ์ Standard หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของประเทศไทยเป็นระยะเวลาทั้งหมด 21 ปี
พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร และหม่อมงามจิตต์ ก่อตั้ง Standard ขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเผยแพร่ประเทศไทยไปยังนานาประเทศ และให้นานาชาติเข้าใจวัฒนธรรมและทราบข่าวสารเหตุการณ์ภายในประเทศไทยอย่างถูกต้อง โดยต้องการให้ Standard เป็นหนังสือพิมพ์วารสารและสารคดีเชิงข่าวระดับชาติที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้อ่านทั้งคนไทยและต่างชาติ ก่อนที่จะออกฉบับ แสตนดาร์ด เยาวชน เมื่อ พ.ศ. 2504 เพื่อมุ่งส่งเสริมเยาวชนให้เป็นนักอ่านในประเทศไทย รวมถึงยังเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนได้แสดงฝีมือการเขียนเรื่องแต่งหรือเล่าประสบการณ์อีกด้วย
สุดท้ายคือไฮไลต์ของการเดินทางครั้งนี้ แม้จะไม่พบเจอกับต้นฉบับ แต่สิ่งที่ได้มาคือสาเหตุที่ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 9 มาอยู่บนหนังสือพิมพ์ Standard ในฐานะผู้สื่อข่าว โดยภายในหนังสือ 100 ปี หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ‘งามจิตต์ A Princess with a Heart of Gold’ หน้า 288 ระบุว่า
“ในระยะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช โปรดการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ได้ขอพระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ลงหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานภาพที่ทรงถ่ายมาเป็นระยะๆ หนังสือพิมพ์สแตนดาร์ดจึงมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์อยู่เสมอ เมื่อเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติและทรงราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และมีพระราชธิดาคือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถามผ่านทางหนังสือพิมพ์สแตนดาร์ดว่าประชาชนต้องการพระฉายาลักษณ์ใดบ้าง เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วก็พระราชทานพระฉายาลักษณ์ให้ ดังหนังสือพิมพ์สแตนดาร์ดจึงมีภาพฝีพระหัตถ์ และมีพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ขณะที่บรรทมบนพระยี่ภู่”
เวลาทั้งหมดร่วม 2 สัปดาห์ของภารกิจการตามหา Standard ทำให้ได้พบว่ารัชกาลที่ 9 ให้ความสำคัญต่อภารกิจและหน้าที่ของอาชีพสื่อสารมวลชนขนาดไหน ตามที่พระราชทานสัมภาษณ์แก่กลุ่มนักหนังสือพิมพ์ในกรุงวอชิงตัน เมื่อคราวเสด็จประพาสประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2510 ภายในพิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย รวมถึงทรงเคยเป็นผู้สื่อข่าวและทรงถ่ายภาพลงหนังสือพิมพ์มาแล้ว
และหลักฐานที่เราได้พบซึ่งใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุดคือไมโครฟิล์มจากมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ซึ่งขอมาจากหอสมุดแห่งชาติ
แต่สุดท้ายนี้เราก็ยังไม่ล้มเลิกเป้าหมายที่ต้องการจะหาต้นฉบับ ซึ่งหากทาง THE STANDARD พบเจอเมื่อใด เราจะกลับมาพบกับคุณผู้อ่านในบทความตอนต่อไป
อ่านตอนก่อนหน้า บันทึกการตามหา ‘Standard’ หนังสือพิมพ์ที่รัชกาลที่ 9 เคยทรงงานเป็นช่างภาพ (ตอนที่ 1 เบาะแส)
อ้างอิง:
- มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร
- หอสมุดแห่งชาติ
- ห้องสมุดต้นฉบับ
- หออัครศิลปิน
- หนังสือ จิตงามเหมือนชื่อคือหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร: ชีวประวัติและผลงาน 2458-2526 โดย ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์
- อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร
- หนังสือ งามจิตต์ A Princess with a Heart of Gold โดย มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร
- ทุกคนที่ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือตลอดการเดินทางตามหาต้นฉบับ Standard
- หอสมุดแห่งชาติ เปิดให้บริการสำหรับหนังสือหายากและเอกสารโบราณ ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น.
- พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยการเข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้า โทร. 0 2669 7124-6 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
- ห้องสมุดต้นฉบับ เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาค้นคว้าได้ โดยห้องสมุดตั้งอยู่ภายในซอยงามวงศ์วาน 23 จังหวัดนนทบุรี