×

‘กษัตริย์นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่’ ในความทรงจำของชายผู้สานต่องานโครงการหลวงมากว่า 20 ปี

07.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เปิดใจเชฟนอร์เบิร์ต คอสต์เนอร์ (Norbert Kostner) ชายชาวอิตาเลียนผู้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะที่ปรึกษาโครงการหลวงมาตลอดหลายทศวรรษ กับเรื่องราวจากเม็ดดินสู่พื้นที่สีเขียวที่เปลี่ยนชีวิตคนมหาศาล และชีวิตในเมืองไทยที่อยู่อย่างร่มเย็นใต้ร่มเงาพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

     ครั้งหนึ่งเด็กหนุ่มวัย 20 กว่าๆ จากเมืองเล็กๆ ในออร์ติเซ (Ortisei) ชนบททางตอนเหนือของอิตาลี จับพลัดจับผลูออกเดินทางตามหาฝัน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาสู่สยามประเทศในยุค 70’s 40 กว่าปีนับจากวันนั้น เขากลายมาเป็นบุคคลที่คนครัวนับถือมากที่สุดคนหนึ่งในวงการอาหารของไทย ‘นอร์เบิร์ต คอสต์เนอร์’ (Norbert Kostner) เป็นมากกว่าพ่อครัวต่างชาติมือฉมังที่บังเอิญตกหลุมรักประเทศไทยหมดใจ หากแต่เขาคือชายผู้ถูกขนานนามว่า ‘นำไฟน์ไดนิ่งมาสู่ประเทศไทย’ และช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนโฉมหน้าวงการอาหารของไทยมาจนที่เห็นทุกวันนี้ นอกจากนั้นเขานี่เองที่ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในการเป็นที่ปรึกษาโครงการหลวง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผืนดินว่างเปล่าจากการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย กลายเป็นฟาร์มเกษตรสีเขียวขนาดใหญ่ที่ส่งตรงถึงจานข้าวคนทั้งประเทศ

     เชฟนอร์เบิร์ต คอสต์เนอร์ ในวัย 72 ปี เล่าให้ THE STANDARD ฟังถึงโครงการหลวง และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในความทรงจำของเขา

 

 

เชฟจากเมืองชนบทเล็กๆ ในอิตาลี กลายมาเป็นที่ปรึกษาของโครงการหลวงได้อย่างไร

     “ถือเป็นเรื่องบังเอิญ เมื่อ 20 ปีที่แล้วผมได้มีโอกาสขึ้นไปที่ตำบลหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่กับท่านภี (หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง) ตอนที่ขึ้นไปมีผักไม่กี่อย่างคือ ต้นหอมญี่ปุ่น แครอต ด้วยความที่ผมเป็นพ่อครัว เลยทูลถามหม่อมว่า ทำไมไม่มีอันนั้นอันนี้ ท่านภีเลยบอกว่าคุณรู้เรื่องเยอะนี่ ทำไมไม่มาเป็นที่ปรึกษาของโครงการล่ะ ผมปรึกษากับทางโรงแรม แล้วจากนั้นผมก็ตกปากรับคำ ขอน้อมฯ รับใช้ทำงานโครงการหลวงเรื่อยมา โดยเป็นที่ปรึกษาและริเริ่มคัดเลือกสายพันธุ์ผักต่างๆ จากต่างประเทศมาปลูก จากความรู้ในสายอาชีพคนครัวทำให้รู้ถึงความต้องการของตลาด ว่าพืชผักเมืองหนาวชนิดใดที่สามารถจำหน่ายได้ในเมืองไทยบ้าง”

 

ตอนขึ้นไปดูพื้นที่โครงการหลวงครั้งแรกเป็นอย่างไร

     “มันแทบจะว่างเปล่า มีผักเพียงไม่กี่อย่าง หลังจากขึ้นไปที่หนองหอยกับท่านภี ฤดูร้อนนั้นผมกลับบ้านที่อิตาลี ดิ่งเข้าร้านค้าเพื่อหาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกที่นั่น พอคนขายรู้ว่าผมจะเอาไปช่วยชาวเขาในประเทศไทยให้เลิกปลูกฝิ่น เขาบอกอยากเอาอะไรก็เลือกไปเลย ไม่ต้องจ่าย พอมาถึงประเทศไทยก็ใช่ว่าจะเวิร์ก เพราะบางเมล็ดก็โตบ้าง ไม่โตบ้าง แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้น จากวันนั้นมาก็กว่า 20 ปีแล้ว”

 

 

คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนนับจากตอนเริ่ม

     “ลองดูสถานีเกษตรหลวงอ่างขางสิ ท่านทรงเปลี่ยนมันไปมาก ตอนแรกชาวเขามีแต่ดิน เริ่มด้วยการปลูกสาลี่ ตอนนี้มีโรงเรียน มีหมอ ชาวเขาพูดภาษาไทย และยิ่งคนรู้จักโครงการนี้มากขึ้น ทุกคนก็ช่วยเต็มที่สุดใจ จนกลายเป็นสวรรค์ของพ่อครัว

     “ตอนนี้โครงการหลวงนอกจากพืช ผัก ผลไม้แล้ว ยังมีปลาเทราต์จากฟินแลนด์ เยอรมนี โปแลนด์ และมีหลายพันธุ์ด้วย เพราะภาคเหนืออากาศเย็นและมีออกซิเจนที่ดี อุดมสมบูรณ์จริงๆ ตอนแรกก็เลี้ยงยาก แต่พอรุ่นต่อๆ มาก็ดูแลง่ายขึ้นเพราะว่าถูกกับอากาศมากขึ้น ถึงจะไขมันน้อยกว่าที่มาจากยุโรป แต่คุณภาพของปลาเทราต์ก็ออกมาดี ส่วนพืชผักตอนแรกที่ไม่ค่อยโตเพราะเพลี้ยลงบ้าง แต่ด้วยความช่วยเหลือของอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญหลายท่านที่มาช่วยกันดูแล เดี๋ยวนี้เลยดีขึ้นมาก และปลูกได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงด้วย

     “ผมขึ้นมาดูผลิตผลเกือบแทบทุกเดือน เพราะตอนแรกชาวเขายังไม่ค่อยสันทัดการปลูกพืชผักต่างถิ่น เขายังไม่ทราบว่าซูกินีไม่ควรปลูกนาน เพราะมันจะใหญ่เกินไป และพวกพ่อครัวไม่ได้ต้องการใหญ่ขนาดนั้น ด้วยความที่ผมปลูกเองไม่เป็น แต่ผมสามารถบอกเขาได้ถึงความต้องการของพ่อครัวและตลาด

     “นอกจากนั้นเมื่อก่อนองุ่นไร้เมล็ดที่ตอนแรกมีแค่ไม่กี่ต้น แต่ตอนนี้ปลูกกันทั้งดอย และยังมีสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน ต้นโทงเทงฝรั่งที่มาจากเปรู ซึ่งเป็นต้นที่ขึ้นชื่อว่าหอมหวานยวนใจ เป็นต้นที่ผมมองว่าที่ไหนก็ปลูกได้ ทำไมเมืองไทยพื้นที่อากาศเย็นๆ จะปลูกไม่ได้?

     “ตอนนี้ยังมีไก่พันธุ์ Bresse ที่มาจากฝรั่งเศส ซึ่งคนฝรั่งเศสหวงพันธุ์ไก่นี้มาก แต่พอให้ดูวิดีโอโครงการนี้ของพระองค์ พวกคณะกรรมการประทับใจมากในสิ่งที่พระองค์ทำให้กับชาวเขา เขาเลยให้ไข่ 300 ฟองส่งมาที่แม่โจ้ แต่ไม่สำเร็จ เลยส่งลูกเจี๊ยบมาที่ลียง ส่งไปปารีส มากรุงเทพฯ แล้วต่อที่เชียงใหม่ มาจบที่ดอยอ่างขางนี่เอง แต่ก็ใช่ว่าทุกตัวจะรอดตลอดการเดินทางหรอกนะ”

 

คุณรู้สึกอย่างไรที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

     “แม้ผมจะไม่เคยได้ถวายงานโดยตรงให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการในพระราชดำริของพระองค์”

 

 

เล่าถึงความประทับใจในการทำงานในโครงการหลวงให้เราฟังได้ไหม

     “ที่ผมจำได้ดีที่สุดคือตอนที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของโครงการ และได้เห็นโครงการในพระราชดำริเติบโต สร้างการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่โล่งๆ ที่เคยปลูกฝิ่น จนมาเป็นพื้นที่การเกษตรอันสมบูรณ์แบบทุกวันนี้ ผมดีใจที่ผมได้ทำอะไรให้กับชุมชนในประเทศที่ผมมาอาศัยอยู่”

 

ในฐานะที่เป็นเชฟที่คนครัวยกย่องและนับถือที่สุดคนหนึ่งของไทย อะไรคือสิ่งที่คุณภูมิใจที่สุดในการเป็นพ่อครัว

     “ช่วงเวลาที่ผมภูมิใจที่สุดและถือเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคือการได้ถวายงานเตรียมพระกระยาหารแด่พระราชอาคันตุกะทั้ง 42 พระองค์ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มันเป็นเกียรติอันสูงสุด ถึงแม้จะปนไปด้วยความตื่นเต้นก็ตาม เพราะคุณต้องเสิร์ฟอาหารทั้งหมด 400 จานเรียงๆ กัน อีกเรื่องที่เป็นความภาคภูมิใจของผม คือการได้อาศัยอยู่ใต้ร่มพระบารมีอย่างร่มเย็นเป็นสุขมากว่า 40 ปี จนมีครอบครัวที่น่ารักอย่างทุกวันนี้”

 

โครงการหลวงประสบความสำเร็จมากแค่ไหนในมุมมองของคุณ

     “เรียกว่ากวาดล้างการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยของภาคเหนือเลยก็ว่าได้ ทั้งยังยกระดับคุณภาพชีวิตของคนบนดอยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก มอบการศึกษา การเข้าถึงด้านสาธารณสุข สร้างงานและต่อยอดไปอีกมหาศาล นี่เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะเปลี่ยนชีวิตผู้คนมากมาย ไม่ใช่แค่ชาวเขา แต่รวมถึงคนไทย จนต่างประเทศมองเป็นกรณีศึกษา ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์”

 

 

คุณได้บทเรียนอะไรจากการถวายงานและศึกษางานจากพระองค์บ้าง

     “การทำงานนี้สอนผมให้เข้าใจถึงวิถีความสุขอันเรียบง่าย นั่นคือการอยู่อย่างพอเพียง ไม่ดิ้นรนเดือดร้อนกับสิ่งที่เราไม่มี”

 

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ใกล้เข้ามาแล้ว ในฐานะผู้สานต่อแนวพระราชดำริของท่าน คุณอยากกล่าวอะไรเป็นครั้งสุดท้ายก่อนกราบถวายบังคมบ้างไหม

     “ถ้าเป็นไปได้ผมอยากพูดว่า พระองค์ไม่เพียงแต่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้รู้ แต่ยังทรงเป็นนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ผู้มีพระอัจริยภาพ และทรงเป็นแบบอย่างให้กับโลกทั้งใบ ที่หากผู้คนได้เดินตามรอยพระบาท ผมว่าโลกใบนี้คงน่าอยู่ขึ้นมาก”

 

Photo: Mandarin Oriental

อ้างอิง

FYI
  • นอร์เบิร์ต คอสต์เนอร์ เชฟชาวอิตาเลียนวัย 72 ปี ดำรงตำแหน่งเอ็กซ์คลูซีฟเชฟ ดูแลห้องอาหาร 9 ร้านในโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ มากว่า 40 ปี ปัจจุบันเขาทำหน้าที่เป็น Culinary Director หรือที่ผู้อำนวยการด้านอาหารของเครือโรงแรมแมนดาริน และเคยรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะที่ปรึกษาหลักของโครงการหลวง และเขายังไม่มีแผนที่จะรีไทร์เร็วๆ นี้
  • โครงการหลวง (The Royal Project) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นโครงการเพื่อพัฒนาเกษตรที่สูงในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย มุ่งส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาว ลดการปลูกพืชเสพติด และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชประสงค์จะช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาในท้องถิ่นทุรกันดารให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising