×

กาแฟจากน้ำพระราชหฤทัย ต้นกาแฟประวัติศาสตร์ของโครงการหลวง

01.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • พ.ศ. 2517 พะโย่ ตาโร ชายชราชาวเผ่าปกาเกอะญอ วัย 76 ปี นำเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะทางกว่า 7 กิโลเมตรเพื่อไปพบกับต้นกาแฟ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการสนับสนุนให้ชาวเขาปลูกกาแฟแทนฝิ่นผ่านโครงการหลวง
  • ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงมีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้าในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 24 ศูนย์ รวมทั้งหมด 9,491 ไร่ เกษตรกร 2,602 ราย เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตผ่านโครงการหลวงปีละประมาณ 400-500 ตัน

     คนส่วนใหญ่น่าจะพอทราบกันดีว่าโครงการหลวง (มูลนิธิโครงการหลวง: Royal Project) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 นั้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มุ่งส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขาเพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น โดยมีเป้าประสงค์คือช่วยเหลือให้ชาวเขามีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่โครงการหลวงสนับสนุนให้ปลูกก็คือกาแฟอาราบิก้า ซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจอันแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นที่ควรบันทึกเอาไว้ดังนี้

 

อันเนื่องมาจากกาแฟ 2-3 ต้น

“เมื่อทรงตั้งโครงการหลวงแล้วไม่นาน เวลาเสด็จประพาสต้นบนดอยก็ประกอบด้วยการปีนป่ายเขามาก ในเรื่องนี้ผมถูกพวกในวังที่ต้องเดินตามเสด็จฯ นินทามากมายว่านำเสด็จฯ ด้วยพระบาทไปเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้ทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง 2-3 ต้น ซึ่งก็จริงอยู่ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งเองว่า การที่เสด็จฯ ไปนั้นทำให้ชาวเขาเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจที่จะปลูก บัดนี้กาแฟบนดอยมีมากมาย แล้วก็เริ่มต้นจาก 2-3 ต้นนั่นเอง”

 

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เขียนเล่าในหนังสือ ‘โครงการหลวง’

 

ภาพในวัยหนุ่มของคุณลุงพะโย่ ตาโร ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระสหายบนดอยของรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. ​2517

 

     “สมัยก่อนความเป็นอยู่ลำบากมาก บ้านมุงหญ้าคา ชาวเขาบ้านเรามีเสื้อผ้าชุดเดียว ถ้าเปียกก็ต้องเอาผิงไฟตากให้แห้ง รองเท้าก็ไม่มีใส่ ตอนรู้ว่าในหลวงจะมาตื่นเต้นดีใจมาก อยากคุยกับในหลวง สมัยนั้นชาวเขาปลูกและติดฝิ่นกันเยอะ เลี้ยงวัว หมู ไก่ ไม่มีราคา ไม่พอกิน ในหลวงเอาวัวมาให้ 2 ตัว ผ้าห่มด้วย หมอ หยูกยา”

     แม้น้ำเสียงที่เล่าจะฟังดูแหบแห้งและเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยสังขารที่ร่วงโรยขึ้นตามวัยและโรคประจำตัวที่รุมเร้า แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าต้นกาแฟประวัติศาสตร์แห่งแรงบันดาลใจต้นนี้ ชายชราวัย 76 ปี ชาวเผ่าปกาเกอะญอ คุณลุงพะโย่ ตาโร ก็ยังมีท่าทีกระตือรือร้นที่จะเล่าถึงเรื่องราวแต่หนหลังให้ผู้มาเยือนอย่างเราได้ฟังถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวเขาในสมัยที่ย้อนกลับไปมากกว่า 43 ปีก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังมิได้เสด็จพระราชดำเนินมายัง ‘บ้านหนองหล่ม’ หมู่ที่ 22 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ และยังคงถูกปกคลุมไปด้วยฝิ่น ซึ่งหลายคนก็คงจะทราบกันถึงภัยร้ายของพืชอันเป็นสิ่งเสพติดชนิดนี้กันดี

     “ช่วงก่อนหน้านั้นมีมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนา และมี UN (องค์การสหประชาชาติ) เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่น ทางโครงการหลวงจึงคาดว่าต้นกาแฟนี้น่าจะเข้ามาพร้อมๆ กัน” จักรพันธุ์ จันทราสี เจ้าหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนงาน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง สันนิษฐานถึงที่มาของต้นกาแฟประวัติศาสตร์ ด้านลุงพะโย่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม “พ่อตาของลุงได้กาแฟต้นนี้มาจากตัวเมืองอำเภอจอมทอง ซึ่งมีเศรษฐีรายหนึ่งแนะนำให้ปลูก”

     เมื่อถามถึงวันนั้นที่มีโอกาสได้รับเสด็จฯ เป็นครั้งแรก ลุงพะโย่เล่าภาพความทรงจำให้ฟังว่า ขณะนั้นตนเองอายุ 30 ปี ชาวเขารุ่นก่อนหน้ายังพูดภาษาไทยกันไม่ได้ แต่เนื่องจากตนเป็นคนหนุ่มที่พอจะพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่วกว่าคนอื่น และมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ลุงพะโย่จึงได้รับมอบหมายให้คอยรับเสด็จฯ และมีโอกาสเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 9 อย่างใกล้ชิด ครั้นได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารและทรงทราบว่ามีการปลูกต้นกาแฟบนดอยจึงรู้สึกสนพระทัย และบอกให้ลุงพะโย่ช่วยนำเสด็จฯ​ ไปทอดพระเนตร โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต้องดำเนินพระบาทลัดข้ามเขาเป็นระยะทางกว่า 7 กิโลเมตร เนื่องด้วยสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทางสะดวกสบายตัดผ่านเหมือนอย่างสมัยนี้

 

ลุงพะโย่ ในวัย 76 ปี  

กับต้นกาแฟประวัติศาสตร์แห่งแรงบันดาลใจที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

 

     เมื่อลุงพะโย่นำเมล็ดกาแฟทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทอดพระเนตรเห็นว่าเมล็ดกาแฟมีความสมบูรณ์ดีและปลูกในพื้นที่ได้ จึงพระราชทานเมล็ดกาแฟคืนให้กับชาวบ้าน และบอกให้ชาวเขาหันมาปลูกกาแฟแทนฝิ่น โดยพระราชทานสัญญาว่าจะช่วยเหลือในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น นอกเหนือจากมีรับสั่งให้สนับสนุนการปลูกกาแฟแล้วยังเสด็จฯ กลับมายังบ้านหนองหล่มแห่งนี้และในละแวกใกล้เคียงอีกหลายครั้ง โดยในแต่ละครั้งก็จะนำความช่วยเหลือ เช่น พ่อพันธุ์แม่พันธุ์สัตว์อย่างหมูและไก่ พร้อมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปด้วย และสำหรับการเสด็จฯ กลับไปเยือนซำ้ในพื้นที่ดังกล่าวหลายครั้งนั้นมีพระราชดำรัสอยู่ตอนหนึ่งซึ่งอธิบายถึงเหตุผลเอาไว้ว่า

 

“แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เราไปพูดจาชี้แจง ชักชวนให้เขามาลองปลูกกาแฟแทน กะเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อน ยังดีที่กาแฟไม่ตายเสียหมด แต่ยังเหลืออยู่หนึ่งต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าสำหรับกะเหรี่ยง จึงต้องเสด็จฯ ไปทอดพระเนตร จะได้แนะนำเขาต่อไปว่า ทำอย่างไรกาแฟจึงจะเหลืออยู่มากกว่าหนึ่งต้น”

 

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

     นี่จึงเป็นที่มาให้โครงการหลวงได้เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมการปลูกกาแฟของชาวเขา โดยในช่วง พ.ศ. 2517-2522 ได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อหาพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่สามารถต้านทานโรคราสนิมที่ระบาดในแหล่งปลูกภาคเหนือของไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทอดพระเนตรแปลงกาแฟที่ขุนวาง (ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ในปัจจุบัน) และทรงมีพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่เหมาะสมกับสภาพที่สูงของประเทศไทยเพื่อปลูกทดแทนฝิ่นบนพื้นที่สูง

 

เมล็ดกาแฟกะลาที่ชาวเขาบน 38 ดอยผลิตส่งให้กับโครงการหลวงมีปริมาณหลายร้อยตันต่อปี ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและรอยยิ้ม

 

 

     ปัจจุบันนี้ชาวเขามีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยการปลูกกาแฟส่งให้กับโครงการหลวง จากสมัยก่อนที่เคยขายกาแฟกะลา (เมล็ดกาแฟที่ยังไม่คั่ว) ได้ราคาเพียงแค่ไม่กี่บาท แต่สมัยนี้ขายได้ราคาถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม เฉพาะผลผลิตของทั้งหมู่บ้านหนองหล่มรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่าปีละ 3 ตัน โดยโครงการหลวงจะรับซื้อกาแฟจากชาวเขาเป็นจำนวนมากปีละหลายร้อยตัน นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อดำเนินการขายกาแฟให้กับทั้งโครงการหลวงและแบรนด์กาแฟชื่อดังอื่นๆ อีก

     ปัจจุบันนี้การปลูกกาแฟแพร่หลายในหลายพื้นที่ทางตอนเหนือของไทย เพียงแค่เฉพาะของโครงการหลวงก็ 38 ดอยเข้าไปแล้ว นอกเสียจากพืชผักผลไม้ของโครงการหลวงก็มีกาแฟอีกอย่างนี่แหละที่สร้างรายได้และช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น

     ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิได้ทอดพระเนตรเห็นต้นกาแฟประวัติศาสตร์แห่งแรงบันดาลใจของลุงพะโย่ต้นนี้ในวันนั้น และด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลกับน้ำพระราชหฤทัยซึ่งคิดทำเพื่อพสกนิกรของพระองค์อยู่เสมอนั่นเอง

 

FYI
  • ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงมีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้าในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 24 ศูนย์ รวมทั้งหมด 9,491 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 2,602 ราย จำหน่ายผลผลิตผ่านโครงการหลวงปีละประมาณ 400-500 ตันกาแฟกะลา ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงได้เป็นอย่างดี
  • ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันมากล้น ศูนย์การค้าสยามพารากอนจึงร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง น้อมนำเรื่องราว ‘อาหารจากแผ่นดิน’ เป็นธีมหลักในการจัดงาน ‘รอยัล โปรเจกต์ มาร์เก็ต แอท สยามพารากอน’ ระหว่างวันที่ 23-29 พฤศจิกายนนี้ โดยมีไฮไลต์ของเรื่องราวของผลผลิต 9 ชนิดที่บรรจุความทรงจำเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรวมอยู่ด้วย และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘กาแฟ’ นี่เอง
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X