ก่อนหน้านี้ประชาชนชาวไทยมีโอกาสได้ชื่นชมภาพวาดฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะชน โดยเฉพาะนิทรรศการซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2525 ที่พระองค์มีพระบรมราชานุญาตให้นำภาพวาดฝีพระหัตถ์จำนวน 47 ภาพมาจัดแสดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพวาดบุคคลสีสันสดใส ทรงใช้สีน้ำมัน และเป็นผลงานที่มีกลิ่นอายของศิลปะในยุค Expressionism และ Abstractionism ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าจะสร้างความประทับใจให้กับใครก็ตามที่ได้ชม อีกทั้งศิลปินที่ทำงานอยู่ในวงการศิลปะและประชาชนทั่วไปที่อาจจะอยากค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับงานศิลปะให้มากขึ้น
วันนี้ THE STANDARD นำเสนอลัทธิทางศิลปะทั้งหมด 4 ยุคที่สามารถเห็นได้จากงานจิตรกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งแบ่งออกเป็น ลัทธิบรรพกาลนิยม (Primitivism), ลัทธิเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism), ภาพแบบเหมือนจริง (Realistic) และศิลปะแบบนามธรรม (Abstractionism)
ภาพวาดฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
(ไม่ปรากฏชื่อ ไม่ปรากฏปีที่สร้าง)
ภาพวาดโดย Pablo Picasso
จากซ้ายไปขวา: Les Demoiselles d’Avignon (1907), A Driade (Nude in the Forest) (1908), Trois femmes (Three Women) (1908)
1.Primitivism
หากค้นหาความหมายของ Primitivism จริงๆ แล้ว จะพบว่าเป็นลัทธิศิลปะในตะวันตกที่ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อม หรือบุคคลที่นอกเหนือจากฝั่งตะวันตก ให้ลองนึกถึงผลงานจาก ‘Pablo Picasso’ เป็นศิลปินที่อยู่ในแนวนิยมใกล้เคียงคนแรกๆ และยังเป็นศิลปินที่ลอยเข้ามาในหัวทุกครั้งที่เราเห็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยสไตล์ศิลปะย่อยของเขาในช่วง Primitivist ปี 1906 ที่ได้แรงบันดาลใจจากหน้ากากชนเผ่าแบบแอฟริกัน จึงเกิดเป็นฟอร์มที่ถูกตัดทอนให้เหลือคล้ายรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิ Cubism ในเวลาต่อมาด้วย จะเห็นว่างานจิตรกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีการใช้รูปทรงตัดทอนแบบเรขาคณิตในงานอย่างชัดเจน และมีการใช้สีที่สดใสแบบ 2 มิติ
ภาพวาดฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จากซ้ายไปขวา: ไม่ปรากฏชื่อ (๒๕๐๖), ไม่ปรากฏชื่อ (๒๕๐๖), ไม่ปรากฏชื่อ (๒๕๐๓)
ภาพวาดโดย Henri Matisse
จากซ้ายไปขวา: Dance II (1910), Portrait of Madame Matisse (Green Stripe) (1905), Calla Lilies, Irises and Mimosas (1913)
2. Expressionism
นอกจาก Pablo Picasso แล้ว Henri Matisse นับเป็นศิลปินชาวฝรั่งเศสในยุค Expressionism ที่โดดเด่นเรื่องการใช้สีสันสดใส การใช้พู่กันอย่างมั่นใจ และมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เขามักวาดภาพพอร์เทรตของสตรีด้วยลายเส้นแบบแนวนิยม Abstract Expressionism ไม่มีการเบลนด์สีให้เข้ากันเสมือนแสงเงาจริง แต่ลงสีและทิ้งขอบที่ตัดกันชัดเจนเอาไว้ มีการใช้คู่สีร้อนเย็นตัดกันอยู่เสมอ จนทำให้ Henri Matisse ถือว่าเป็นศิลปิน ‘นักใช้สี’ แห่งยุคศตวรรษที่ 20 ภายหลังเขายังต่อยอดงานศิลปะของเขามาสู่การตัดกระดาษสี นำมาคอลลาจโดยใช้รูปทรง cut-out แบบเรขาคณิต และยังคงไว้ซึ่งการใช้สีสันสดใสในงานเสมอ
ในด้านการใช้สีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็โดดเด่นเช่นเดียวกัน พระองค์ใช้สีที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความเป็นไทยอยู่สูง เช่นการที่พระองค์ไม่ลังเลที่จะใช้แม่สีสีสันสดใสตัดกับสีทุติยภูมิอย่างเขียวและส้ม คล้ายกับการใช้สีในการตกแต่งวัดของไทย ที่สื่อให้เห็นถึงความกล้าในการใช้สีเพื่อสร้างความน่าสนใจ
ภาพวาดฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จากซ้ายไปขวา: สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 (๒๕๐๓), สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 (๒๕๐๕), ม.ล. บัว กิติยากร (๒๕๐๔)
ภาพวาดโดย Paul Gauguin
จากซ้ายไปขวา: Woman with a Flower (1981), Eu Haere Ia Oe (Woman Holding a Fruit) (1893), Self-Portrait with Palette (1894)
3. ภาพแบบเหมือนจริง (Realistic)
หากค้นหาภาพวาดฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เราก็มักจะเจอภาพบุคคลแนวเหมือนจริง การลงสีผิวของมนุษย์ให้เหมือนจริง เน้นแสงและเงา อาจเพราะความสนพระทัยในการถ่ายภาพ รวมทั้งการใช้สีพื้นหลังที่ตัดกับบุคคลซึ่งเป็น subject matter ของภาพ ภาพเขียนแบบเหมือนจริงที่ทรงเขียนส่วนใหญ่จะเป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังเป็นภาพเหมือนจริงที่ผสมความเป็นลัทธิ Primitivism อยู่ เช่นเดียวกับผลงานของ Paul Gauguin ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่โด่งดังจากภาพบุคคลเช่นเดียวกัน เขาเริ่มจากการเล่าเรียนศิลปะในยุค Impressionism แต่กลับหลงใหลในสีสันสดใสและการใช้ symbolism เขาจึงเป็นหนึ่งในศิลปินที่ส่งผลต่อลัทธิ Primitivism ในเวลาต่อมา
การลงสีผิวเหมือนจริงในภาพวาดฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ย้อนนึกถึงผลงานภาพพอร์เทรตของ Paul Guaguin ชุดที่นำเสนอชีวิตของชาวบ้านและสตรีในตาฮิติ ซึ่งเป็นภาพเหมือนของบุคคลที่เน้นหนักเรื่องสีผิว และเรื่องราวของบุคคลในภาพที่แปลกใหม่กว่าศิลปินคนอื่นในยุคนั้น
ภาพวาดฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จากซ้ายไปขวา: ไม่ปรากฏชื่อ ไม่ปรากฏปีที่สร้าง, ไม่ปรากฏชื่อ (๒๕๐๔), ภาพเหมือน ไม่ปรากฏปีที่สร้าง
ภาพวาดโดย Gerhard Richter
จากซ้ายไปขวา: St John (1988), Abstraktes Bild 809-2 (1994), Abstraktes Bild 432-4 (1978)
4. Abstractionism
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงสนพระทัยงานเขียนในลักษณะที่เน้นความนามธรรม ปราศจากรูปทรงที่ชัดเจน แต่บอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกภายในผ่านฝีแปรงที่ดูหยาบและมั่นใจ และเรียกได้ว่าเป็นผลงานในลัทธิ Abstractionism เช่นเดียวกับงานสีน้ำมันของศิลปินชาวเยอรมันยุค Post Modern อย่าง Gerhard Richter เขามักทำให้ subject matter ในภาพไร้รูปร่าง ดูไม่ออกว่าเป็นภาพของอะไรด้วยฝีแปรงและการปาดสีซ้อนทับกันหลายชั้น เพราะเขาเริ่มต้นจากการถ่ายภาพ และมีความสนใจในงานจิตรกรรม โดยเขาเชื่อว่าการสื่อสารผ่านสื่อทั้ง 2 แบบไม่สามารถแสดงข้อเท็จจริงของสิ่งนั้นๆ ได้ทุกประการ การทำให้ตัวเอกของภาพดูไร้รูปร่างที่แน่นอน เปรียบเสมือนการยืนยันว่าผู้ชมงานจะไม่มีทางรู้ และเข้าใจเนื้อหาของภาพภาพหนึ่งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่ๆ ด้วยการที่เขาปรับสไตล์และวิธีการทำงานอยู่เสมอ Gerhard Richter ยังคงแสดงผลงานอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
ปัจจุบันยังมีภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่ยังไม่เคยเผยแพร่อีกประมาณ 60 ภาพ โดยมีเว็บไซต์ของมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 (www.supremeartist.org/supreme.html) ที่รวบรวมผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ ผลงานด้านดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ สาขาภาพถ่าย ไปจนถึงผลงานด้านนฤมิตศิลป์หรือการออกแบบ และพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ชมอย่างละเอียด
พระองค์ทรงสนพระทัยในงานศิลปะตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 10 พรรษา ทรงเดินทางไปศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีวิชาศิลปะเป็นหนึ่งในวิชาบังคับ และอาจส่งผลให้พระองค์ทรงฝึกวาดภาพด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งทรงศึกษาสไตล์จากศิลปินที่หลากหลาย จนกระทั่งปี 2503 พระองค์ทรงเริ่มวาดรูปอย่างจริงจัง ทรงใช้ผ้าใบแคนวาสขนาดกลางและสีน้ำมันเป็นหลัก พระองค์ทรงใช้เวลาเย็นหรือช่วงกลางคืนในการวาดภาพ และมักวาดภาพจากความรู้สึกมากกว่าสิ่งที่พระองค์เห็น
John Hoskin นักศิลปะชาวอังกฤษ ได้เขียนไว้ในหนังสือ The King of Thailand in World Focus, 2010 เกี่ยวกับงานด้านจิตรกรรมในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่าผลงานของพระองค์มีความเป็นศิลปะฝั่งตะวันตก แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่สอดแทรกอยู่ในผลงานได้อย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างมาก ประชาชนชาวไทยต่างทราบดีว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชภารกิจที่เราต่างชื่นชมมากมาย แต่พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของพระองค์ก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มีโอกาสได้เห็นเช่นเดียวกัน