×

“ฉันไม่ดีพอ ฉันไม่เก่งพอ” Kim Ji-Young, Born 1982 ชีวิตผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ที่เราต่างเคยเจ็บปวด

20.12.2019
  • LOADING...
Kim Ji-Young Born 1982

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • Kim Ji-Young, Born 1982 คือภาพยนตร์ที่สะท้อนโครงสร้างปัญหาผ่านวัฒนธรรมที่เราเกิด เติบโต และสืบทอดกันมานับร้อยๆ ปี การมีอยู่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจว่าผู้หญิงบนโลกใบนี้ล้วนเจ็บปวดกับกรอบความคิดชายเป็นใหญ่ที่ฝังอยู่ในเนื้อตัวของเรา 
  • นี่คือหนึ่งความเคลื่อนไหวของสังคมที่บอกว่า ถึงเวลาที่เราควรยุติการแบ่งแยกเสียที โลกอนาคตเป็นโลกที่ไม่มีเพศ และเราไม่ควรเจ็บปวดกับการเกิดมาเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศสภาพใดๆ ก็ตาม
  • “ตัวหนังสือเองนำเสนอประเด็นถกเถียงสำหรับสังคม ซึ่งเป็นแรงกดดันว่าฉันจะทำมันได้ไหม ให้ออกมาเป็นภาพยนตร์ที่ยังคงคุณค่าของเรื่องราวต้นฉบับไว้ครบถ้วน แต่สุดท้ายฉันคิดได้ว่านี่คือเรื่องที่มีคุณค่าในการสื่อสารออกไป มันถึงเวลาแล้วที่ต้องพูดออกไป” – คิมโดยอน 

 

Kim Ji-Young Born 1982

 

คุณคิดว่าสังคมชายเป็นใหญ่หายไปแล้วจากโลกนี้? ไม่เลย แม้แต่ในโลกตะวันตกก็ยังมีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมจาก #MeToo ซึ่งปรากฏการณ์นี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก รวมถึงเกาหลีใต้ที่ประเด็นนี้อ่อนไหวและยากจะจุดให้ติด 

 

Kim Ji-Young, Born 1982 กลายเป็นดราม่าตั้งแต่ครั้งยังเป็นหนังสือ ที่หากไอดอลหญิงคนไหนอ่านก็จะมีการพิพากษาว่าพวกเธอไม่ควรอ่าน ต่างจากเหล่าไอดอลชายที่อ่านแล้วไม่มีใครว่าอะไร หรือกระทั่งนักแสดงนำของเรื่อง จองยูมี เองก็โดนดราม่าก่อนภาพยนตร์จะเข้าฉาย มีคนเข้าไปคอมเมนต์ในแอ็กเคานต์อินสตาแกรมของเธอมากมาย รวมทั้งยังมีการล่ารายชื่อเพื่อไม่ให้ภาพยนตร์เข้าฉายในเกาหลีใต้อีกด้วย แต่สุดท้าย Kim Ji-Young, Born 1982 ก็เข้าฉายในเกาหลีใต้ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จจนกลายเป็นภาพยนตร์กระแสแรงอีกเรื่องของปี 2019 ทำรายได้ไปแล้วมากกว่า 25.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 782 ล้านบาท)  

 

Kim Ji-Young Born 1982

 

Kim Ji-Young, Born 1982 คือภาพยนตร์สะท้อนโครงสร้างปัญหาผ่านวัฒนธรรมที่เราเกิด เติบโต และสืบทอดกันมานับร้อยๆ ปี การมีอยู่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจว่าผู้หญิงบนโลกใบนี้ล้วนต่างเจ็บปวดกับกรอบความคิดชายเป็นใหญ่ที่ฝังอยู่ในเนื้อตัวของเรา 

 

และนี่คือหนึ่งความเคลื่อนไหวของสังคมที่บอกว่า ถึงเวลาที่เราควรยุติการแบ่งแยกเสียที โลกอนาคตเป็นโลกที่ไม่มีเพศ และเราไม่ควรเจ็บปวดกับการเกิดมาเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศสภาพใดๆ ก็ตาม

 

Kim Ji-Young, Born 1982 เปิดเรื่องและปูพื้นอย่างรวดเร็ว สำหรับคนเกาหลีที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่คงจะมีส่วนร่วมได้ในทันที ส่วนผู้ชมนอกประเทศเกาหลีก็ได้ทำความรู้จักวิถีชีวิตและหน้าที่ของ ‘ลูกผู้หญิง’ ซึ่งเอาเข้าจริงประเทศในภูมิภาคเอเชียน่าจะมีพื้นฐานประสบการณ์ไม่ต่างกัน เพราะลำพังผู้เขียนที่เกิดและเติบโตห่างจาก ‘คิมจียอง’ นับเป็นพันๆ กิโลเมตรก็ยังคงมีประสบการณ์ร่วมในฐานะลูกสาวครอบครัวคนจีนที่ถือคติ ‘มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน’ หนทางเดียวที่เราจะเอาชนะคำดูถูกดูแคลนคือการ ‘ดีให้พอและเก่งให้พอ’ 

 

คิมจียอง คือชื่อที่คนเกาหลีนิยมตั้งให้ลูกสาวในช่วงยุค 80 คนดูจะเชื่อมโยงกับเรื่องราวหรือสวมทับความเป็นคิมจียองได้ไม่ยาก ตั้งแต่การเกิดมาในฐานะลูกสาวภายใต้กรอบวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ เติบโตจนเจอปัญหาในช่วงวัยเรียน สังคมการทำงานที่ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติราวกับตัวประกอบ ภรรยาที่ต้องดีพอสำหรับครอบครัวสามี ฐานะแม่ที่ต้องทิ้งทุกอย่างกระทั่งความฝันเพื่อทำหน้าที่เลี้ยงลูก ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการเล่นใหญ่หรือฟูมฟาย ภาพยนตร์ถ่ายทอดให้เห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง

 

คิมจียองมีชีวิตที่อยู่ในกรอบความคิดว่าเพราะเป็นหญิง เธอจึงไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ปรากฏอยู่ในหลายฉากหลายตอน กระทั่งสิ่งที่เธอไม่ได้ทำผิดก็ยังถูกโยนความผิดมาให้เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง หรือถึงจะเก่งแค่ไหน ดีแค่ไหน มันก็ยังไม่ดีพอในสายตาคนอื่น จนเมื่อถึงวันหนึ่งที่ทุกสิ่งเริ่มพังทลาย บาดแผลจึงโผล่พ้น ทำให้คิมจียองเกิดอาการผิดปกติจนคนใกล้ตัวสัมผัสได้ 

 

Kim Ji-Young Born 1982 Kim Ji-Young Born 1982

 

คิมโดยอน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผู้หญิงเช่นกัน เธอทำหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์เอง โดยถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นผู้หญิงทำงานที่ต้องเลี้ยงลูกเล็กๆ และทำหน้าที่เมียไม่ให้ขาดตกบกพร่อง “ฉันเป็นแม่ของลูกสองคน เป็นลูกสาว และเป็นคนที่อาศัยอยู่ในสังคมนี้ มีหลายส่วนของหนังสือที่ตรงกับชีวิตฉัน ตัวหนังสือเองนำเสนอประเด็นถกเถียงสำหรับสังคม ซึ่งเป็นแรงกดดันว่าฉันจะทำมันออกมาได้ไหม ให้ภาพยนตร์ยังคงคุณค่าของเรื่องราวต้นฉบับไว้ได้ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นงานกำกับเรื่องแรกของฉันด้วย สุดท้ายฉันคิดได้ว่านี่คือเรื่องที่มีคุณค่าในการสื่อสารออกไป มันถึงเวลาแล้วที่ต้องพูดออกไป”

 

นอกเหนือจากประเด็นวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ในส่วนของการแสดงต้องยอมรับว่าแคสต์มาได้สมบูรณ์แบบ จองยูมี นักแสดงสาวที่เกิดในปี 1983 รับบทคิมจียองได้งดงาม เป็นธรรมชาติ อารมณ์ที่ไม่ได้ฟูมฟายเรียกร้องความถูกต้องให้ตัวเอง การหยิบจับข้าวของในบ้าน ความพะรุงพะรังของแม่ลูกเล็ก สายตาของความกังวลที่ทำให้เราเชื่อเต็มร้อยในตัวละครที่แตกร้าวนี้ 

 

จองยูมีให้สัมภาษณ์ในวันแถลงข่าวว่า “ฉันยังไม่ได้แต่งงานและไม่เคยเลี้ยงเด็กด้วย แต่ฉันก็เชื่อมโยงตัวเองกับคิมจียองได้จากประสบการณ์ของคนรอบๆ ตัว ฉันเองเสียใจที่เคยหลีกหนีจากปัญหาของพวกเขาด้วยเหตุผลว่าตัวเองยุ่งเกินไป ถึงตอนนี้ฉันเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้คือการบอกเล่าและแสดงให้ผู้คนได้เห็นในประเด็นที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข”

 

ในขณะที่ กงยู ผู้รับบท จองแดฮยอน สามีของคิมจียอง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บทคิมจียองโดดเด่นขึ้นไปอีก ผู้กำกับคิมโดยอนให้สัมภาษณ์ว่ากงยูมีความเป็นจองแดฮยอนอยู่ในตัว ทั้งความเป็นคนตลก ใส่ใจความรู้สึกคนใกล้ตัว และแน่นอนว่าการรับบทสำคัญนี้ กงยูเหมาะสมที่สุดในการเป็นตัวแทนผู้ชายยุคใหม่ที่ยอมรับในปัญหา และรักผู้หญิงของเขามากพอที่จะยอมเสียสละ

 

ทุกฉากที่กงยูปรากฏตัวคงไม่มีใครปฏิเสธในเสน่ห์อันเหลือล้น เขาทำให้ตัวละครจองแดฮยอนมีมิติมากขึ้น รวมถึงการใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ ด้วยการพูดภาษาถิ่นปูซานตามพื้นเพตัวละคร ซึ่งตรงกับชีวิตจริงของเขาที่เกิดและเติบโตมาจากปูซานเช่นกัน

 

Kim Ji-Young Born 1982 Kim Ji-Young Born 1982

 

กงยูให้สัมภาษณ์ว่า “หลังจากที่อ่านบทจบ ผมคิดเยอะมากเกี่ยวกับครอบครัว ผมแทบไม่เคยร้องไห้ตอนที่อ่านบท แต่ผมก็ร้องไห้ตอนที่อ่านบทเรื่องนี้ ไม่บ่อยนะครับที่ผมจะรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ในเรื่องจริงๆ นั่นเพราะผมได้กลายเป็นตัวละครจองแดฮยอนและมีอารมณ์ร่วมมากๆ เมื่ออ่านบทจบผมรีบโทรศัพท์ไปหาแม่ เพราะอยากจะขอบคุณที่ท่านเลี้ยงผมมา และขอโทษที่ผมเป็นลูกชายที่ไม่ดีนัก แม่ก็ดูงงๆ ในตอนแรกนะครับ แต่ผมว่าท่านคงมีความสุข เพราะได้ยินแม่หัวเราะออกมา”

 

สำหรับลูกผู้ชาย เราหวังเพียงแค่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบแล้วเขาจะรู้สึกแบบเดียวกับที่กงยูให้สัมภาษณ์ไว้ สำหรับลูกผู้หญิง Kim Ji-Young, Born 1982 พาเราไปไกลกว่าคำว่า “ฉันไม่ดีพอ ฉันไม่เก่งพอ” ช่วงท้ายๆ ของภาพยนตร์ เราจะเริ่มมองเห็นโครงสร้างปัญหาที่ใหญ่ระดับสังคมและเห็นทางออกอันเลือนรางของมันได้ด้วยตัวเอง 

 

การได้เข้าใจว่าปัญหามีโครงสร้างอย่างไร แม้จะแก้ไขไม่ได้วันนี้พรุ่งนี้ แต่ความเข้าใจก็ช่วยให้เรามีชีวิตอยู่กับมันได้ดีขึ้น และหวังว่าสักวันอันไกลโพ้นจะไม่มีใครคนไหนเจ็บปวดกับความไม่เท่าเทียมอีกต่อไป

 

Kim Ji-Young Born 1982

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising