×

KFC ครองแชมป์ไก่ทอด! ยอดขาย 2.1 หมื่นล้าน ทิ้งห่างคู่แข่ง ฟาก CRG เล็งบุกสถานีรถไฟฟ้า เปิดโมเดล Grab & Go เจาะคนเดินทาง

04.07.2024
  • LOADING...

แม้จะมีทั้งแบรนด์ไทยและต่างชาติตบเท้าเข้าสู่สังเวียนไก่ทอดหมื่นล้าน แต่ที่สุดแล้วก็ยังไม่มีใครสามารถสู้เจ้าตลาดอย่าง KFC ที่กวาดยอดขายราว 2.1 หมื่นล้านบาท จากภาพรวมที่มีมูลค่าประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นเซ็กเมนต์ที่ใหญ่สุดในตลาด QSR หรืออาหารจานด่วนอันประกอบไปด้วย ไก่ทอด พิซซ่า และเบอร์เกอร์ ที่มีมูลค่ารวม 4.5 หมื่นล้านบาท

 

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะ “คนไทยชอบไก่ทอด เป็นเมนูที่ซื้อง่ายขายคล่อง โดยมีลูกค้าหลักส่วนใหญ่เป็นเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็กินได้เช่นกัน ซึ่งสามารถกินได้คนเดียว หรือสั่งมากินกับเพื่อได้” ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด อธิบาย

 

ในประเทศไทย KFC สาขาแรกก่อตั้งขึ้นในปี 2528 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ปัจจุบันมีร้าน KFC 1,100 สาขาทั่วประเทศ (ณ พฤษภาคม 2567) บริหารแบรนด์และแฟรนไชส์โดย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

 

และบริหารร้าน KFC โดยแฟรนไชส์ซีจำนวน 3 ราย ที่ประกอบด้วย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG), บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) และ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA)

 

เมื่อไม่นานมานี้ CRG รีโนเวตร้านสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ซึ่งเป็นการปรับปรุงใหญ่ในรอบ 10 ปี ด้วยการแต่งร้านในคอนเซปต์ Colonel’s Legacy ที่มาในสไตล์เรโทร ซึ่งเป็นที่นิยมในการแต่งร้านช่วงนั้น ตลอดจนถ่ายทอดบรรยากาศของย่านลาดพร้าวผ่านภาพกราฟิกต่างๆ

 

“KFC ถือเป็นร้านที่ทำรายได้หลักให้กับพอร์ตของ CRG โดยปีที่ผ่านมามียอดขายอยู่ราว 7,050 ล้านบาท” ปิยะพงศ์กล่าว “ภาพรวมในปีนี้เราต้องการเติบโต 11% ด้วยกัน”

 

การเติบโตจะมาจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งขยายสาขาใหม่ ตั้งเป้าเปิดสาขาจำนวน 23 สาขาในปี 2567 โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขา 338 สาขา (ข้อมูล ณ 31 พฤษภาคม 2567) รวมไปถึงการขยายสาขาร่วมกับบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล เช่น CPN และ CRC อย่างศูนย์การค้าเซ็นทรัล และโรบินสันไลฟ์สไตล์ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง

 

สิ่งที่น่าจับตามองคือการพัฒนาโมเดลใหม่ๆ อีกหลากหลายโมเดล เพื่อการเข้าถึงลูกค้าที่ง่ายขึ้น อาทิ เร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัว Grab & Go Model ร้านขนาดเล็กที่จะเน้นการจัดจำหน่ายในช่องทาง Takeaway เป็นหลัก และสามารถเปิดโอกาสให้ KFC สามารถขยายตัวเข้าไปอยู่ในที่ที่ไม่เคยเข้าไปได้ เช่น ในสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT เป็นต้น

 

“ปีนี้น่าจะได้เห็น 1 สาขาที่จะเปิดในช่วงครึ่งปีหลัง” ปิยะพงศ์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า “ด้วยความที่เป็นร้านขนาดเล็ก จึงทำให้ใช้งบลงทุนน้อยกว่าสาขาปกติราว 20% ด้วยกัน”

 

และอีกโมเดลที่ในปีนี้จะโฟกัสเป็นพิเศษคือ คีออสโมเดล (Kiosk Model) ที่จะเน้นการเปลี่ยนประสบการณ์ของลูกค้าจากที่ต้องสั่งอาหารที่หน้าเคาน์เตอร์ให้เป็นการสั่งผ่านตู้คีออสแทน ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าได้อย่างอิสระมากขึ้น โดยจะขยายเพิ่มอีก 35 สาขาในปีนี้ รวมถึงการเพิ่ม Digital Billboard ให้ครบ 70 สาขา ข้อดีคือการสามารถเปลี่ยนโปรโมชันตามช่วงเวลาได้

 

ในส่วนของภาพรวมเชนธุรกิจร้านอาหารในปี 2567 มีอัตราการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นในทุกปี และหากมองไปถึงกลุ่มเชนร้านอาหาร QSR ก็พบว่ายิ่งท้าทายมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ทำให้กระทบถึงราคาขายซึ่งขัดแย้งกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีกำลังบริโภคค่อนข้างหดตัว

 

ปิยะพงศ์ฉายภาพว่า สำหรับ KFC ภายใต้ CRG มียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 180-200 บาทต่อบิล ซึ่งเป็นตัวเลขที่แทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลยเพราะไม่ได้ปรับเพิ่มราคามากนัก แต่ส่วนใหญ่จะมาโฟกัสที่ยอด Transaction มากกว่า เพราะเมื่อไรที่น้อยลงแปลว่ายอดขายจะยอดลงตาม และจะส่งผลต่อธุรกิจในระยะยาว แต่ปัจจุบัน Transaction ของ CRG เติบโตประมาณ 6%

 

ด้านข่าวเรื่องการปรับค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน ปิยะพงศ์ระบุว่า กระทบนิดเดียวด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นราว 1% เท่านั้น และส่วนใหญ่ CRG จ่ายมากกว่าอัตราขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ความท้าทายในตอนนี้คือการขาด ‘แรงงาน’ ซึ่งตอนนี้อุตสาหกรรมร้านอาหารส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X