×

แสดงความรัก vs. ละเมิด ‘สิทธิเด็ก’ เส้นแบ่งที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน

โดย THE STANDARD TEAM
27.10.2021
  • LOADING...
สิทธิเด็ก

จากประเด็นที่ทางสังคมกำลังให้ความสนใจ เมื่อนักดนตรีและโปรดิวเซอร์เพลงชื่อดังโพสต์ภาพขณะกำลังหยอกล้อกับลูกสาว โดยมีกิริยาทั้งจับก้น จับหน้าท้องเด็ก ซึ่งทำให้คนที่ได้เห็นโพสต์ดังกล่าวตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เนื่องจากเด็กอยู่ในวัยกำลังโตและไม่ใช่เด็กเล็กอีกต่อไปแล้ว นำมาสู่การพูดคุยกันในโซเชียลมีเดียเรื่องสิทธิในการปกป้องร่างกายตัวเองของเด็ก ทั้งจากผู้ใหญ่ในบ้านและผู้ใหญ่นอกบ้าน

 

  • เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา นักดนตรีชื่อดังได้โพสต์คลิปลงในแอปพลิเคชัน TikTok โดยมีลักษณะให้ลูกนั่งตักและพ่อล้วงมือไปในเสื้อผ้า ทำให้คนที่เข้ามาเห็นคลิปตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่าคนเป็นพ่อควรแสดงออกเช่นนี้กับลูกสาวที่กำลังโตหรือไม่ โดยหลังจากนั้นได้มีการนำภาพและคลิปวิดีโอเก่าๆ ที่นักดนตรีลงคู่กับลูก โดยมีลักษณะเอามือล้วงไปในเสื้อผ้ามาโพสต์เป็นจำนวนมาด ยิ่งทำให้มีคนตั้งคำถามมากมายตามมาและทำให้แฮชแท็กที่พูดถึงประเด็นดังกล่าวมียอดผู้กล่าวถึงในคืนเดียวถึงหนึ่งล้านทวิตและติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์ตลอดทั้งวัน

 

  • ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมากว่าพฤติกรรมระหว่างพ่อกับลูกสาวดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากเด็กกำลังโต การปล่อยให้ผู้ใหญ่เข้ามาแตะเนื้อต้องตัว ทั้งในจุดที่เปราะบางและไม่เปราะบางนั้นถือเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้เด็กเข้าใจไปว่าเป็นวิธีการแสดงความรักของผู้ใหญ่ จนยอมให้ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ทั้งที่รู้จักและแปลกหน้าแตะตัวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนพูดถึงประเด็นการเคารพสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ภาพหรือคลิปวิดีโอ ซึ่งควรขออนุญาตเด็กเสียก่อน

 

  • อย่างไรก็ตาม มีผู้แสดงความเห็นแย้งมากมายว่าเป็นปกติของพ่อ ก็ต้องเอ็นดูและใกล้ชิดกับลูก บางคนระบุว่าตนเองโตมาในครอบครัวที่ใกล้ชิดกันแบบนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร หรือบางคนก็เล่าว่าเอ็นดูลูกมากจนแม้แต่ลูกโตจนอายุเข้าวัยรุ่นก็ยังสามารถใช้มือจับอวัยวะทุกส่วนของลูกได้ตามใจ เพราะเป็นการแสดงออกถึงความรัก หรือแสดงความเห็นว่าลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ ทำไมพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมาอย่างดีจะจับเนื้อตัวหรือโพสต์ภาพลูกไม่ได้

 

  • ในเวลาต่อมาของวันเดียวกัน นักดนตรีชื่อดังได้โพสต์ภาพและข้อความวงในเฟซบุ๊กสาธารณะ ชี้ว่าขอบคุณและขอโทษที่ทำให้เป็นห่วง เป็นเรื่องปกติอยู่เองที่เรื่องเหล่านี้จะมองกันคนละมุม โดยจะระมัดระวังการแสดงออกความรักกับลูกให้เหมาะสมมากกว่านี้ และขอสนับสนุนการแสดงออกถึงความรักในครอบครัวให้อยู่ในขอบเขตและการเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน ขณะที่ภรรยาของนักดนตรี ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเป็นคนถ่ายคลิปวิดีโอดังกล่าวของสามีและลูกสาวเอง โดยที่บ้านก็กอดและหอมกันเป็นปกติอยู่แล้ว ย้ำว่าสามีไม่มีเจตนาอื่นและไม่โทษคนคิดต่างเพราะทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้

 

  • การถกเถียงดังกล่าวกลายเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจในทันที โดยมีการพยายามย้ำเตือนกันว่าไม่ควรให้เด็ก ’ชินชา’ กับการถูกผู้ใหญ่แตะเนื้อต้องตัว เช่น เมื่อพ่อแม่ยอมยื่นลูกให้คนอื่นหอมแก้มด้วยความเอ็นดู และในทางกลับกันก็ไม่ควรบอกให้เด็กเป็นฝ่ายไปหอมแก้มผู้ใหญ่ เพราะจะทำให้เด็กเข้าใจไปว่าการถูกจับตัว หอมแก้มโดยคนแปลกหน้านั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายในภายภาคหน้าได้ ทั้งนี้เด็กส่วนใหญ่ไม่ปฏิเสธเพราะไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น หรือไม่ก็รู้สึกว่าตนไม่ควรปฏิเสธเมื่อพ่อแม่หรือผู้ใหญ่สั่ง

 

  • ประเด็นดังกล่าวนี้ ดร.ดีโบราห์ กิลบัว ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กเคยให้สัมภาษณ์กับรายการข่าว Today ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2017 ว่า “การสัมผัสทางร่างกายนั้นไม่ควรมาจากการบังคับ เพราะมันจะทำให้เด็กๆ สับสนอย่างมาก เพราะพวกเขารู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นของเขา เป็นส่วนตัว แต่ผู้ใหญ่กลับบังคับให้เด็กๆ ไปกอดหรือให้คนอื่นมาหอมเนื้อตัวร่างกายของพวกเขา” และโดยทั่วไปเด็กจะรับฟัง ‘คำสั่ง’ จากผู้ใหญ่และไม่กล้าขัดใจ จึงยอมให้ผู้ใหญ่คนอื่นๆ หอมหรือกอดโดยไม่กล้าปฏิเสธ ดังนั้น ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า ห้ามยอมให้ใครมาแตะต้องเนื้อตัวโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากตัวเด็กก่อนเด็ดขาด “มันคือเรื่องของการมีสิทธิเหนือร่างกายตัวเองและการยินยอม (Consent) เด็กๆ ต้องเรียนรู้ที่จะพูดคำว่า ‘ไม่’ ซึ่งมันไม่เป็นไรเลยที่เด็กๆ จะปฏิเสธ และเด็กก็คาดหวังด้วยว่าคนรอบๆ ตัวจะรับฟังเมื่อพวกเขาพูดคำว่าไม่” กิลบัว กล่าว

 

  • ด้าน คาเรน เดย์ส ประธานศูนย์ดูแลครอบครัวแห่งโรงพยาบาลเด็ก ชี้ว่า ผู้ใหญ่มักจะเตือนให้เด็กๆ ระวัง “อันตรายอื่นๆ” เช่น รถชน แต่กลับไม่พยายามสอนให้เด็กเข้าใจว่า ไม่ควรให้คนเข้ามาแตะเนื้อต้องตัวเราได้หากเราไม่ชอบใจและไม่ยินยอม ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กไม่ค่อยเล่าว่าถูกล่วงละเมิดใดๆ มาบ้างเพราะพวกเขาไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการ ‘ละเมิด’ หรือไม่ “ผู้ปกครองควรทำให้เด็กเข้าใจให้ได้ว่าหากมีคนมาทำอะไรให้เด็กๆ รู้สึกอึดอัดใจ ก็ต้องห้ามไม่ให้พวกเขาทำ” เดย์สกล่าว “แม้ว่าคนคนนั้นจะเป็นคุณย่าหรือคุณลุงหรือญาติคนอื่นๆ ก็ตาม”

 

  • แม้ว่าผู้ใหญ่หลายคนจะมีเจตนาที่ดีในการหอม กอดหรือจูบเด็ก ด้วยเชื่อว่าเป็นการแสดงความรัก แต่พ่อแม่และผู้ปกครองเด็กก็ไม่ควรให้เด็กต้องรับมือกับการถูกสัมผัสเนื้อตัวโดยที่ตัวเด็กเองไม่ยินยอม เพราะกลัวจะไปทำร้ายความรู้สึกผู้ใหญ่ “ผู้ปกครองน่ะควรเป็นคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้สิ อย่าไปบังคับเด็ก (ให้รักษาน้ำใจผู้ใหญ่คนอื่น)” เดย์สระบุ

 

  • วันนี้ (27 ตุลาคม) ทางนักดนตรีดังก็แถลงในรายการ โหนกระแส ทางช่อง 3 ว่าการหอมกันในครอบครัวตนนั้นเป็นการพยายามสร้างความรักให้เด็กได้เห็นว่า นี่คือความรักของครอบครัว แต่อาจเป็นมุมมองของแต่ละคน ซึ่งก็ต้องขอบคุณทุกการชี้แนะที่ทุกคนแสดงความเห็นกัน ทำให้ตนได้เห็นมุมมองอีกด้านและจะนำมาปรับใช้ในครอบครัว

 

  • ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผอ.ศูนย์คุณธรรม ได้ให้ความเห็นไว้ในรายการดังกล่าวว่า ผู้ปกครองมีหน้าที่ต้องสอนลูกให้เคารพสิทธิของตัวเองและเคารพสิทธิคนอื่นด้วย วิธีสอนนั้นไม่ต้องจับให้ดู แต่เป็นวิธีการคือไม่จับและทำให้เห็น ด้วยเหตุผลคือเคารพสิทธิของเด็ก โดยการแสดงความรักนั้นทำได้ ถ้าไม่ได้เป็นจุดที่เปราะบางหรืออ่อนไหวต่างๆ” อย่างไรก็ดี รายการ โหนกระแส เทปนี้จะไม่มีการนำมาฉายซ้ำหรือนำไปลง YouTube เพื่อที่ตัวเด็กในประเด็นดังกล่าวจะได้ไม่ต้องโตมาดู

 

  • นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่แสดงความเป็นห่วงเด็ก เนื่องจากแหล่งข่าวหรือผู้คนในอินเทอร์เน็ตลงรูปเด็กโดยไม่เซ็นเซอร์หน้า จึงเตือนกันเรื่องการละเมิดสิทธิเด็กผ่านการโพสต์ภาพ โดยมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กระบุว่า “การถ่ายภาพเด็ก การใช้ภาพถ่าย การบันทึกเสียง การรายงานข่าวทั้งในสถานการณ์ปกติและฉุกเฉิน การสัมภาษณ์เพื่องานวิจัย และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผู้ที่นำเสนอควรทำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิของเด็ก โดยการบันทึกภาพและใช้ภาพเด็กควรได้รับอนุญาตจากเด็กและผู้ปกครองทุกครั้ง โดยให้แจ้งวัตถุประสงค์ของการ ถ่ายภาพหรือใช้รูปภาพให้ทราบ หากเห็นว่าการบันทึกภาพหรือใช้ภาพอาจมีความเสี่ยงต่อเด็กที่ทําให้เด็กได้รับ อันตรายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ควรมีมาตรการป้องกันการละเมิดต่อเด็ก มีเจ้าหน้าที่คอยให้คําแนะนําต่อเด็กตลอดกระบวนการ”

 

  • อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวนี้ยังมีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก โดยมีการตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมไทยที่พ่อแม่รู้สึกว่าลูกเป็นสมบัติของตน จะกอดจะหอมอย่างไรก็ได้ หรือการตั้งคำถามต่อ Digital Footprint ที่อาจทำร้ายความรู้สึกของเด็กในประเด็นหากโตขึ้น ดังนั้นจึงมีการย้ำเตือนและแนะนำผู้ใช้อินเทอร์เน็ตว่าให้ระมัดระวังการกระจายและเผยแพร่ประเด็นดังกล่าวนี้ด้วย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising