×

เลือกตั้ง 2566 : ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภา ก้าวไกล-เพื่อไทย

โดย THE STANDARD TEAM
26.05.2023
  • LOADING...
Key Messages ประธานสภา ก้าวไกล เพื่อไทย

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาหลังเซ็น MOU ร่วมรัฐบาลเพียงไม่กี่วัน เกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้กระบวนการเลือกจะเกิดขึ้นหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 15 วัน แต่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยออกมาตอบโต้กันจนเรียกได้ว่าเกิดสงครามสาดกันไปมาระหว่างพรรคร่วม เมื่อ ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความ 

 

“ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด และ “การประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกล จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส. พรรคอื่น โดยทั่วไปประธานสภาผู้แทนราษฎรก็มาจาก ส.ส. ของพรรคอันดับที่หนึ่งอยู่แล้ว” 

 

เพื่อไทยเดือด ก้าวไกลเหมาทุกตำแหน่ง

 

ด้านพรรคเพื่อไทยออกมาประสานเสียงตอบโต้รัวๆ เริ่มตั้งแต่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ความเห็นของปิยบุตรเป็นการแสดงความคิดเห็นของคนที่เรียกได้ว่าเป็นคนทั่วไป

 

ตามมาด้วย อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความระบุว่า เรื่องตำแหน่งประธานสภาเป็นคนละประเด็น ไม่ควรเหมารวม เมื่อยอมให้พรรคอันดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว พรรคร่วมอื่นๆ ต้องก้มหน้ายอมรับในทุกเงื่อนไข 

 

และตอกย้ำเสียงที่สาม อดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า 152 เสียง ยังไม่เกินครึ่ง ถ้าอยากได้ทุกตำแหน่งต้องทำให้ได้แบบพรรคไทยรักไทย 377 เสียง ที่จะชี้เป็นชี้ตายเอาตำแหน่งไหนก็ได้ และไม่ใช่ว่าได้ฝ่ายบริหารแล้ว จะไม่ให้พรรคอื่นไปดำรงตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ถอยเรื่องตำแหน่งประธานสภา พรรคเพื่อไทยก็ไม่ถอย โดยเสนอให้ไปโหวตกันในสภา มติสภาว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

 

ก้าวไกล โต้กลับ ย้ำจุดยืน ต้องเป็นประธานสภา

 

ในวันเดียวกันนั้น พรรคก้าวไกลออกมาโต้ด้วยการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึง 3 วาระที่พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันในฐานะ ‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ 

 

  • วาระแรก เพื่อผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้าอย่างน้อย 45 ฉบับ ที่เคยเข้าสู่การพิจารณาของสภาและถูกปัดตกไป 
  • วาระที่สอง เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น
  • วาระที่สาม ก้าวไกลจะผลักดันหลักการ ‘รัฐสภาโปร่งใส’ และ ‘ประชาชนมีส่วนร่วม’ ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

 

และตอกย้ำความต้องการตำแหน่งด้วยการออกมาให้สัมภาษณ์ของคนในพรรค เริ่มตั้งแต่ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล 

 

“มีการพูดคุยกัน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นใคร ในก้าวไกลมี ส.ส. หลายคนที่มีความเหมาะสม ไม่ใช่แค่เรื่องการควบคุมการประชุม แต่ยังมีประเด็นในการขับเคลื่อนฟื้นฟูประชาธิปไตยในฐานะประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ กำกับดูแลสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เราก็ต้องยืนยันว่าในอดีตมีประธานสภาที่มีอายุน้อย ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็น แต่ต้องให้โอกาส ไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นยาก ถ้าคิดแต่เรื่องอาวุโส”

 

รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ให้เหตุผลว่า ตำแหน่งนี้ควรเป็นของพรรคก้าวไกล เพราะต้องรักษาประเพณีที่ตำแหน่งนี้จะมาจากพรรคอันดับหนึ่งเสมอ 

 

เช่นเดียวกับ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล แกนนำพรรคก้าวไกล ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ‘ประธานสภา’ กระดุมเม็ดแรกของพรรคก้าวไกลเพื่อผลักดันกฎหมายก้าวหน้า 

 

สงครามยังไม่จบ โลกโซเชียลยังระอุ 

 

ในคืนวันเดียวกันนั้น จากสงครามการสัมภาษณ์ ย้ายมาสู่โลกโซเชียล ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยก็ออกมาย้ำแล้วย้ำอีกและย้ำต่อไป

 

พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กถึงการเดินหน้าผลักดันกฎหมายทั้ง 45 ฉบับอีกครั้ง พร้อมระบุว่า “ในสัญญาประชาคมที่พรรคก้าวไกลให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เรายืนยันว่าหากได้เป็นรัฐบาล จะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกลให้สำเร็จ เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้มีการเมืองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีสังคมที่เท่าเทียม เศรษฐกิจเติบโตอย่างเป็นธรรม มีระบบการบริหารราชการที่โปร่งใส มีนิติรัฐ นิติธรรม”

 

ทางฝั่งพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาตอบโต้ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ทางการของพรรคว่า ประธานสภาควรเปิดทางผลักดันทุกนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลให้สำเร็จ ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น รัฐบาลผสมมีหน้าที่ทำภารกิจร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย 

 

พิธาแตะเบรกสงคราม พรรคร่วมต้องจับมือให้มั่น แนะพูดคุยผ่านวงเจรจา

 

ปมนี้อาจจะยืดเยื้อต่อไป หาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กแตะเบรกให้ทั้งสองพรรคยุติสงคราม และหันไปพูดคุยผ่านวงเจรจา

 

“เรื่อง #ประธานสภา ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เป็นเรื่องความเห็นไม่ตรงกันของพรรคร่วมรัฐบาลที่เล็กมาก ถ้าหากเทียบกับภารกิจที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้พวกเรามา 

 

“ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลต้องจับมือเกี่ยวแขนกันไว้ให้มั่นคง ทำภารกิจยุติสืบทอดอำนาจรัฐประหาร พาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยให้สำเร็จจงได้ พวกเราต่างก็รับทราบวิธีคิด หลักการ เหตุผล ของทุกฝ่ายชัดเจนแจ่มแจ้งในประเด็นนี้กันแล้ว

 

“ดังนั้น ผมขอให้เรื่องตำแหน่งประธานสภานี้ ให้พรรคร่วมรัฐบาลกลับไปพูดคุยกันผ่านตัวแทนแต่ละพรรคในวงเจรจาจะดีที่สุด ตอนนี้ขอให้ทุกพรรคเดินหน้าทำงานปรับจูนนโยบายร่วมกัน ตั้งรัฐบาลให้สำเร็จตามความคาดหวังของประชาชนครับ”

 

ในรอบ 20 ปี ประธานสภามาจากพรรคอันดับ 1 

 

ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ประธานสภาล้วนมาจากพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งในสภา มีเพียงปี 2562 เท่านั้นที่ประธานสภามาจากพรรคการเมืองอันดับ 4 นั่นก็คือ ชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์

 

  • 2535 มารุต บุนนาค พรรคประชาธิปัตย์
    จากพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงสุดในสภา 79 ที่นั่ง
  • 2538 พล.ต. บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ พรรคชาติไทย
    จากพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงสุดในสภา 92 ที่นั่ง
  • 2539 วันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคความหวังใหม่
    จากพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงสุดในสภา 125 ที่นั่ง
  • 2543 พิชัย รัตตกุล พรรคประชาธิปัตย์
    จาก ‘รัฐบาลชวน 2’ โดยที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลจากการดึง ส.ส. พรรคประชากรไทยร่วมตั้งรัฐบาล
  • 2544 อุทัย พิมพ์ใจชน พรรคไทยรักไทย
    จากพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงสุดในสภา 248 ที่นั่ง
  • 2548 โภคิน พลกุล พรรคไทยรักไทย
    จากพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงสุดในสภา 377 ที่นั่ง
  • 2551 ยงยุทธ ติยะไพรัช พรรคพลังประชาชน
    จากพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงสุดในสภา 233 ที่นั่ง
  • 2551 ชัย ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย (ก่อนหน้านั้นระหว่างดำรงตำแหน่งสังกัดพรรคพลังประชาชน) สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากมีการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ได้แก่ พลังประชาชน, ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย ชัย ชิดชอบ ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเปลี่ยนขั้วมาเข้าร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์
  • 2554 สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พรรคเพื่อไทย
    จากพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงสุดในสภา 265 ที่นั่ง
  • 2557 พรเพชร วิชิตชลชัย
    จากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
  • 2562 ชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์
    (พรรคประชาธิปัตย์มีที่นั่งในสภา 52 เสียง เป็นพรรคอันดับ 4 )
    ถือเป็นประธานสภาคนแรก ที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับ 1  

 

อำนาจของประธานสภา 

 

ประธานสภา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมาก

 

การเสนอญัตติโดยสมาชิกสภา ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานสภา และต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 5 คน 

 

ส่วนของญัตติด่วน ประธานสภาจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเป็นญัตติด่วนหรือไม่ และต้องแจ้งผลต่อผู้ยื่นภายใน 5 วัน สำหรับญัตติอื่น ประธานสภาต้องบรรจุญัตติเข้าระเบียบวาระการประชุมภายใน 7 วัน ตามลำดับก่อนหลัง 

 

ในสภาชุดที่ผ่านมา มีญัตติหลายประเด็นที่ไม่ได้ถูกนำเข้าสภา เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นต้น

 

ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทย ต้องการให้คนของพรรคตัวเองนั่งตำแหน่งประธานสภา ก็เพื่อกุมความได้เปรียบในการผลักดันวาระและความต้องการต่างๆ เข้าสู่การพิจารณา

 

เป็นกลาง ประนีประนอม แม่นข้อกฎหมาย 

 

ในการดำรงตำแหน่งประธานสภา ไม่เพียงแต่ผ่านการเลือกจากที่ประชุมสภา แต่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนี้ได้จะต้องเป็นคนมีความสามารถ วางตัวเป็นกลาง ควบคุมดำเนินกิจการของรัฐสภา รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุม และเป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าต่อพระมหากษัตริย์

 

ซึ่งอดีตประธานสภาหลายท่านได้ให้ความเห็นผ่านสื่อในเรื่องนี้

 

อุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภา 3 สมัย ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งประธานสภา เมื่ออายุ 38 ปี ระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าประธานสภาต้องวางตัวเป็นกลางในทางหลักการ แต่ในทางปฏิบัติต้องเป็นคนของรัฐบาล ต้องวางตัวเป็นผู้ใหญ่ ส่วนตัวไม่อยากให้กังวลในเรื่องของอายุผู้มาทำหน้าที่ เพราะคนอายุน้อยทำตัวเป็นผู้ใหญ่ก็มี ทั้งนี้ ตนฝากถึงประธานสภารุ่นต่อไป อย่าคิดว่าบ้านเมืองต้องเป็นของเรา เพราะบ้านเมืองเป็นของประชาชน ยึดประชาชนเป็นหลัก ฟังเสียงข้างมากที่มาจากประชาชน

 

“ผู้ที่ทำหน้าที่บนบัลลังก์ควรจะเหมือนคอนดักเตอร์ การควบคุมอยู่ที่ไม้ในมือ หากผู้ฟังฟังจนจบได้ดีก็ประทับใจ ประธานสภาก็เช่นกัน หากควบคุมสมาชิกให้บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ควรมีความเป็นอิสระขาดจากพรรคการเมือง และโดยมารยาทไม่ไปเข้าร่วมประชุมกับพรรค” 

 

ด้าน ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภา ให้สัมภาษณ์ผ่าน Thai PBS ว่า “เราให้ความเคารพสมาชิกแล้วก็รับฟังหลายๆ ฝ่าย แล้วก็จะได้รับความร่วมมือที่ดีด้วย ถ้าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การให้เกิดความเชื่อใจ อย่างผมนี่ไม่มีบารมี แต่ต้องเชื่อใจว่าเป็นคนที่ไม่เข้าข้างพรรคพวก เอากิจการของการประชุมเป็นหลัก เอาภาพลักษณ์ของสภาเป็นหลัก ก็มีความเชื่อมั่นแล้ว ผมเชื่อว่าความเชื่อใจและเชื่อมั่นสำคัญกว่าบารมี ถ้ามีบารมีแต่เขาไม่เชื่อ เขาก็ไม่ให้ความร่วมมือ”

 

ขณะที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภา ซึ่งมีการเสนอให้เป็นหนึ่งในรายชื่อประธานสภาทางเลือกที่ 3 หากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลตกลงกันไม่ได้ 

 

วันมูหะมัดนอร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “คนที่จะมาเป็นประธานสภา ต้องประนีประนอมแล้วก็ทันคน รู้จักนิสัยใจคอของแต่ละคน เพราะว่าสมาชิกแต่ละคนก็เป็นคนเก่งทั้งนั้น สำคัญคือต้องแม่นข้อบังคับ ใช้ให้เป็น เข้าใจความเกี่ยวข้องของกฎหมายต่างๆ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ”

 

ประธานสภามาจากไหน

 

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 กำหนดให้การเลือกประธานสภา มีวิธีการดังนี้

 

  • การเลือกประธานสภาและรองประธานสภาครั้งแรก ให้เลขาธิการเชิญสมาชิก ผู้ที่อายุสูงสุดในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราว ซึ่งในครั้งนี้ก็คือ พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ จากพรรคเพื่อไทย 
  • สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้ 1 ชื่อ
  • โดยที่การเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน
  • ผู้ถูกเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม
  • ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก
  • ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

 

ว่าที่ประธานสภา

 

จากการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย มาดูกันว่าแต่ละพรรค ใครที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานสภาบ้าง 

 

พรรคก้าวไกล 

 

  • พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบายพรรค และว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ อายุ 30 ปี จบปริญญาตรีในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด  
  • ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรค และว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อายุ 46 ปี จบปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต คหกรรมศาสตรบัณฑิต รัฐศาสตรบัณฑิต รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และจบปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง 
  • ธีรัจชัย พันธุมาศ ว่าที่ ส.ส. กทม. อายุ 58 ปี จบปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมและศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท การจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต (NIDA)
  • ปดิพัทธ์ สันติภาดา อายุ 41 ปี ว่าที่ ส.ส. พิษณุโลก และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล จบปริญญาตรี สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

พรรคเพื่อไทย 

 

  • ชลน่าน ศรีแก้ว อายุ 61 ปี หัวหน้าพรรค และว่าที่ ส.ส. เขต จังหวัดน่าน และเป็น ส.ส. 4 สมัย จบแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และอดีตผู้นำฝ่ายค้าน
  • สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 2 อายุ 81 ปี อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และจบรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์-การเมืองการปกครอง) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
  • สุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อายุ 65 ปี จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม สหรัฐอเมริกา และจบปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม สหรัฐอเมริกา อดีตรองประธานสภา และอดีต ส.ส. จังหวัดฉะเชิงเทรา 9 สมัย เคยสังกัดพรรคการเมืองหลายพรรค ปี 2535 เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตรองประธานสภาในปี 2548

 

แม้ว่ารายชื่อว่าที่ประธานสภาของพรรคเพื่อไทย จะมีผู้ที่ผ่านงานการเมืองและมีอายุมากกว่า ซึ่งในจุดนี้พรรคก้าวไกลก็ชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงคงเกิดขึ้นยากหากยังคงยึดติดกับความอาวุโสมากเกินไป คงต้องรอดูท่าทีของทั้งสองพรรคร่วมต่อไปว่า วงเจรจาจะสำเร็จหรือไม่ แล้วพรรคใดจะได้ครองตำแหน่งประธานสภาอย่างที่มุ่งหวัง 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising