×

เปิดข้อมูล ‘สวนสาธารณะ-พื้นที่สีเขียว’ ใน กทม. พื้นที่คนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริงมีเท่าไรกันแน่

โดย THE STANDARD TEAM
21.04.2022
  • LOADING...
สวนสาธารณะ-พื้นที่สีเขียว

ปัจจุบันอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานคร (กทม.) คือ 7.49 ตารางเมตร (ตร.ม.)/คน และคาดว่าจะถึง 9 ตร.ม./คน ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นตัวเลขตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ทำไมเรายังรู้สึกว่า กทม. ยังไม่ได้มีพื้นที่สีเขียวขนาดนั้น 

 

THE STANDARD ชวนอ่านข้อมูลของ Rocket Media Lab ที่ได้รวบรวมข้อมูล งานวิจัย รวมถึงบทสัมภาษณ์ไว้ได้อย่างน่าสนใจในประเด็นเกี่ยวกับ ‘พื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ’ พร้อมหาคำตอบว่าเหตุใด ผู้ว่าฯ กทม. ทุกยุคทุกสมัยถึงมีนโยบายจะเพิ่มพื้นที่ แต่ก็ดูเหมือนยังมีไม่พอสักที ปัญหาของการสร้างสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ อยู่ตรงไหน และที่จริงเรามีพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะมากแค่ไหนกัน

 

ทำความเข้าใจ ‘พื้นที่สีเขียว’ ที่เรียกว่าเขียว นับตรงไหนบ้าง 

กทม. แบ่งสวนออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สวนเฉพาะทาง, สวนชุมชน, สวนถนน, สวนระดับเมือง, สวนระดับย่าน, สวนหมู่บ้าน และสวนหย่อมขนาดเล็ก แต่ความหมายของคำว่าสวน หรือ ‘สวนสาธารณะ’ ที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งหมายถึงการเข้าไปใช้งานพื้นที่ได้ จะอยู่ในบางประเภทเท่านั้น เช่น สวนชุมชน, สวนหมู่บ้าน, สวนระดับย่าน และสวนระดับเขต 

 

การแบ่งสวนออกเป็น 7 ประเภทของ กทม. นั้นก็เพื่อจะนำมานับคำนวณ ‘พื้นที่สีเขียว’ ทั้งหมดของ กทม. โดยรวมเอา ‘ทุกพื้นที่ที่มีสีเขียว’ มาจัดประเภทให้เป็นสวนประเภทต่างๆ เช่น สวนถนนอาจหมายถึงเกาะกลางหรือริมถนนที่ปลูกต้นไม้ หรือการปลูกไม้ประดับไม้เลื้อยเป็นสวนแนวตั้งบนกำแพงรั้ว สวนหย่อมขนาดเล็กอาจหมายถึงสวนหน้าบ้านของใครสักคน สวนเฉพาะทางก็อาจหมายถึงพื้นที่สวนบนโรงแรมหรือคอนโด หรือแม้กระทั่งสวนหมู่บ้านก็อาจหมายถึงสนามฟุตบอลในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง

 

ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกนำมานับรวมจนได้พื้นที่สีเขียวในอัตราส่วน 7.49 ตร.ม./คน ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่กำลังจะเข้าใกล้ 9 ตร.ม./คน ตามคำแนะนำของ WHO 

 

แต่ถึงอย่างนั้นในรายละเอียดของการรวบรวม ‘พื้นที่ที่มีสีเขียว’ โดยแบ่งเป็นสวน 7 ประเภทของ กทม. ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ทั้งการนับรวมแบบเหมาพื้นที่ ณ จุดใดจุดหนึ่งที่ไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่สีเขียว เช่น โรงเรียนบางแห่งที่นับรวมพื้นที่ทั้งโรงเรียนว่าเป็น ‘พื้นที่สีเขียว’ ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ นั้นสูงกว่าความเป็นจริง เช่นเดียวกันกับการนับรวมพื้นที่เอกชนซึ่งเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ที่ทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก ที่จริงๆ แล้วอาจจะต้องกล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลงานของผู้ว่าฯ กทม. ทั้งหมด 

 

มากไปกว่านั้นคือการนำเอาตัวเลขจำนวนรวมของสวนตามที่ กทม. นำเสนอ มาใช้รายงาน โดยไม่ได้พิจารณาถึงรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงส่วนอื่นประกอบ ซึ่งอาจจะทำให้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้องได้ เช่น เมื่อกล่าวถึงเขตที่มีจำนวนสวนมากที่สุด หากยึดตามข้อมูลของ กทม. ก็คือเขตพระโขนง แต่ในความเป็นจริงแล้วพระโขนงไม่มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในเชิงการใช้พื้นที่เลยแม้แต่สวนเดียว โดยสวนในเขตพระโขนงที่ถูกนับจำนวนโดยสำนักงานสวนสาธารณะ กทม. จนทำให้เขตพระโขนงเป็นเขตที่มี ‘จำนวนสวน’ มากที่สุดนั่นก็คือสวนหย่อมหน้าบ้าน 

 

จำนวนสวนที่สำนักการสวนสาธารณะรายงานจึงเป็นเพียงการแบ่งประเภทพื้นที่ที่จะนำมารวมกันเป็นพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ไม่ได้พิจารณาว่าสวนหรือพื้นที่สีเขียวในแต่ละจุดที่ถูกนำมานับนั้นเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ในเชิงการใช้พื้นที่แบบสวนสาธารณะหรือไม่ 

 

กรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้จริงเท่าไรกันแน่?

หากพิจารณาองค์ประกอบของสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในแง่การใช้พื้นที่ โดยพิจารณาจากการออกแบบพื้นที่ที่ไม่ใช่เพียงแค่การนำเอาพืชพรรณสีเขียวมาปลูกในพื้นที่ว่าง แต่ยังรวมไปถึงการออกแบบพื้นที่เพื่อการใช้สอยต่างๆ ทั้งการเดิน วิ่ง ออกกำลังกาย หรืออย่างน้อยที่สุดนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ มีการอำนวยความสะดวกในขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ แสงไฟ ห้องน้ำ ฯลฯ และไม่ใช่การออกแบบพื้นที่มาเพื่อใช้การอย่างหนึ่ง แต่ต้องมีพื้นที่ที่เรียกว่าสวนร่วมด้วย เช่น โรงเรียน หรือวัด 

 

จากการทำข้อมูลของ Rocket Media Lab โดยการพิจารณาสวนทั้ง 7 ประเภท จำนวน 8,918 สวนจากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ และแยกประเภทเฉพาะสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในแง่การใช้พื้นที่ดังที่กล่าวไปข้างต้น พบว่ากรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในแง่การใช้พื้นที่จำนวน 133 แห่ง 

 

หากพิจารณาในแง่จำนวนจะพบว่า เขตที่มีจำนวนสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้มากที่สุดก็คือ เขตพระนคร 11 แห่ง รองลงมาคือเขตจตุจักร 9 แห่ง และเขตประเวศ 7 แห่ง แต่หากพิจารณาในเชิงขนาดพื้นที่ต่อจำนวนประชากรจะพบว่าเขตที่มีพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดก็คือเขตปทุมวัน 14.78 ตร.ม./คน รองลงมาก็คือเขตประเวศ 11.36 ตร.ม./คน, เขตจตุจักร 7.93 ตร.ม./คน ในขณะที่เขตที่ไม่มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้เลยก็คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระโขนง และเขตภาษีเจริญ 

 

หากนำข้อมูลจากการสำรวจของ Rocket Media Lab มาเปรียบเทียบกับข้อมูลอัตราขนาดพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ก็จะพบว่ามีข้อสังเกตที่น่าสนใจในหลายๆ เขต เช่น เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายที่มีอัตราขนาดพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรตามข้อมูลของ กทม. อยู่ที่ 6.36 ตร.ม./คน ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่เมื่อพิจารณาอัตราพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากรจากข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่าเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายไม่มีสวนสาธารณะที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงได้เลย หรือเขตทวีวัฒนา มีอัตราขนาดพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรตามข้อมูลของ กทม. อยู่ที่ 22.83 ตร.ม./คน ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่เมื่อพิจารณาอัตราพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากรจากข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่ามีเพียง 3.72 ตร.ม./คน เท่านั้น

 

ที่จริงแล้วการจะนำอัตราขนาดพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรมาเปรียบเทียบกับอัตราพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากรอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้น การนำมาเปรียบเทียบก็จะทำให้เห็นว่าการที่มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมากไม่ได้หมายความว่ามีพื้นที่สีเขียวที่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ดังเช่นสวนสาธารณะมากไปด้วย 

 

การพิจารณาเรื่องอัตราพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากร หรือใช้คำว่าพื้นที่สีเขียวเพื่อการบริการ มีเกณฑ์ระดับสากลอยู่ที่ 4 ตร.ม./คน และหากใช้เกณฑ์นี้ในการพิจารณา (เหมือนดังเช่นที่ กทม. ใช้เกณฑ์อัตราขนาดพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร 9 ตร.ม./คน ตามคำแนะนำของ WHO) ก็จะพบว่า มีเพียง 4 เขตใน กทม. เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล นั่นก็คือ เขตปทุมวัน, เขตประเวศ, เขตจตุจักร และเขตพระนคร 

 

ไม่ใช่แค่มี แต่อยู่ใกล้บ้านในระยะทางที่เข้าถึงได้ไหม

การพิจารณาเรื่องสวนสาธารณะไม่ได้มีเพียงประเด็นเรื่องจำนวนของสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในเชิงการใช้พื้นที่และขนาดพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องการเข้าถึงได้ในเชิงระยะทางอีกด้วย โดย กทม. เองกำหนดเป้าหมายไว้ในโครงการ Green Bangkok 2030 นอกจากเรื่องอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรที่จะต้องเพิ่มขึ้นให้ได้ถึง 9 ตร.ม./คน ภายในปี 2030 แล้ว ยังมีเป้าหมายการเพิ่มสวนสาธารณะขนาดเล็ก (Pocket Park) ให้สามารถเข้าถึงได้ในระยะ 400-800 เมตรอีกด้วย 

 

ทาง Rocket Media Lab ได้นำเอาข้อมูลสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้จำนวน 133 สวน มาแบ่งประเภทตามขนาดของสวนสาธารณะ โดยแบ่งเป็น 4 ขนาดดังนี้

 

  • สวนขนาดเล็ก (S) พื้นที่ 0-16,000 ตร.ม. โดยกำหนดระยะการเข้าถึงไว้ที่ 500 เมตร 
  • สวนขนาดกลาง (M) พื้นที่ 16,001-80,000 ตร.ม. ระยะการเข้าถึง 1 กิโลเมตร
  • สวนขนาดใหญ่ (L) พื้นที่ 80,001-160,000 ตร.ม. ระยะการเข้าถึง 3 กิโลเมตร 
  • สวนขนาดใหญ่มาก (XL) พื้นที่ 160,001 ตร.ม. ขึ้นไป ระยะการเข้าถึง 5 กิโลเมตร

 

เมื่อนำเกณฑ์ดังกล่าวมาประกอบกับข้อมูลจุดที่ตั้งของสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ทั้ง 133 แห่ง จะพบว่าสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้และมีระยะการเข้าถึงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ชั้นในและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมด รวมไปถึงในส่วนของพื้นที่กรุงเทพใต้ ในขณะที่เขตรอบนอกกรุงเทพฯ ทั้งส่วนขอบของกรุงเทพเหนือ เช่น ลาดกระบัง หนองจอก คลองสามวา และในส่วนของกรุงธนเหนือและกรุงธนใต้ เช่น ตลิ่งชัน, หนองแขม, บางแค, บางขุนเทียน และทุ่งครุ เป็นเขตที่นอกจากจะมีจำนวนสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้น้อยแล้ว ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่และเข้าถึงได้ยากในเชิงความใกล้-ไกลของระยะทางอีกด้วย 

 

แต่ในขณะเดียวกันจากข้อมูลชุดนี้ก็ทำให้เราเห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า แม้ในเขตที่ไม่มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้เลยหรือมีน้อย ไม่ว่าจะเป็นเขตวัฒนา เขตสัมพันธวงศ์ หรือเขตบางรักที่มีเพียงแห่งเดียว หรือเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายที่ไม่มีเลย แต่ก็นับว่ายังมีสวนสาธารณะในเขตรอบข้างที่มีรัศมีอยู่ในระยะที่ผู้คนพอจะเข้าถึงได้ 

 

แต่นั่นก็นำมาซึ่งคำถามที่ว่า เขตแต่ละเขตควรจะมีทั้งจำนวนพื้นที่สีเขียว พื้นที่สีเขียวให้บริการ และการเข้าถึงเชิงระยะทาง ตามเกณฑ์มาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยไม่ใช้ระบบหารร่วมหรืออาศัยประโยชน์จากเขตพื้นที่ใกล้เคียง 

 

ชำแหละแผน-งบประมาณที่ใช้พัฒนาพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะของ กทม. คุ้มค่าหรือไม่?

เป้าหมายตามโครงการ Green Bangkok 2030 คือการเพิ่มอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรให้ได้ถึง 9 ตร.ม./คน ภายในปี 2030 โดยการสร้างสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น แต่เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายรวมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อจำนวนประชากร (ตามทะเบียนราษฎร์) ของ กทม. แต่หากพิจารณาตามข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เอง ก็จะพบว่ามีถึง 37 เขตที่ยังคงไม่ถึงเกณฑ์นี้อยู่ 

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะของ กทม. โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ในระยะที่ผ่านมาก็จะพบว่า กทม. ใช้งบฯ จำนวนมหาศาลกว่า 980 ล้านบาท ไปกับการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีให้เป็นสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ซึ่งจะว่าไปแล้วเขตสาทรไม่ใช่เขตที่มีพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้จำนวนน้อยเป็นอันดับท้ายๆ ของ กทม. โดยเขตสาทรมีทั้งสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (สาทร), สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง) และสวนหย่อมซอยอยู่ดี หรือแม้กระทั่งสวนสมาคมแต้จิ๋วที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการ 

 

ในขณะที่เขตบางรักซึ่งเพิ่งจะมีสวนสาธารณะเป็นสวนแรก คือ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ อันเป็นการผลักดันของกลุ่ม We!Park ซึ่งได้รับมอบที่ดินจาก หม่อมหลวงธิษัน ศรีธวัช และ กทม. มอบงบฯ ในการสร้างเป็นจำนวน 6,388,000 บาท หรือโครงการสวนลุมพินี 100 ปี ที่กำลังจะมีการรีโนเวต โดยเพียงค่าออกแบบนั้นก็ใช้งบฯ สูงถึง 50 ล้านบาท รวมไปถึงการสร้างสะพานเชื่อมสวน 2 สวน จากสวนลุมพินี-สวนเบญจกิติ หรือแม้กระทั่งโครงการสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 1 ที่แม้จะเป็นความร่วมมือของกรมธนารักษ์และให้กองทัพบกเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง (แต่งบฯ ในการดูแลรักษาคืองบฯ ของ กทม.) 

 

กรณีข้างต้นทำให้เห็นได้ว่าแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะ แม้จะมีหลักเกณฑ์การอ้างอิงอย่างอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร 9 ตร.ม./คน ตามคำแนะนำของ WHO แต่ในเชิงพื้นที่ในการพัฒนานั้นจะเห็นว่าใช้งบฯ จำนวนมากและกระจุกตัวอยู่แต่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อไปให้ถึงตัวเลขเป้าหมาย แต่ไม่ได้พิจารณาถึงความต้องการในระดับพื้นที่ว่ามีพื้นที่ใดที่มีจำนวนพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะที่น้อยหรือมีความต้องการมากกว่า เช่น พื้นที่เขตกรุงเทพฯ ชั้นนอกที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง

 

นอกจากนี้ ยังมีสวนสาธารณะในพื้นที่เขตอื่นๆ ที่ต้องการงบฯ มาพัฒนาเพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างดี เช่น สวนถนนบริเวณทางขึ้น-ลงทางด่วน ถนนพระราม 9 ตัดถนนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นสวนแห่งเดียวในเขตสวนหลวงที่มีพื้นที่กว้างถึง 130 ไร่ แต่กลับมีสภาพรกร้างไม่ได้รับการพัฒนาให้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างดี ซึ่งหากกรุงเทพฯ นำงบฯ มาพัฒนาสวนธารณะในเขตอื่นๆ นอกจากเขตพื้นที่ชั้นใน ก็จะทำให้ประชาชนในพื้นที่รอบนอกมีสวนสาธารณะที่ใช้งานได้ เข้าถึงได้ โดยไม่ต้องเดินทางไกลอีกด้วย 

 

ฟังก์ชันของสวนสาธารณะควรเป็นอย่างไร

นอกจากประเด็นเรื่องการนำเอาข้อมูลเชิงพื้นที่รายเขตมาเป็นตัวกำหนดในการพัฒนาเรื่องพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะแล้วนั้น ยังมีข้อเสนออื่นที่น่าสนใจจาก ดร.สินีนาถ ศุกลรัตนเมธี อาจารย์ประจำหลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เสนอว่าอาจจะต้องมองในประเด็นเรื่องผังเมืองและการวางแผนพื้นที่เปิดโล่ง (Open Space Planning) ร่วมด้วยในประเด็นนี้

 

“ณ จุดหนึ่ง การนำเอาข้อมูลว่าพื้นที่ไหนยังขาดพื้นที่สวนสาธารณะมาใช้เป็นตัวกำหนดในการเพิ่มจำนวนพื้นที่สวนสาธารณะก็เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนา แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรรู้และ กทม. ควรจะบอกหรือควรจะนำไปพิจารณาร่วมด้วยก็คือโครงการนั้นๆ มันจะไปผูกกับภาพใหญ่อย่างไร มันจะบรรลุได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องผังเมืองรวมและการใช้พื้นที่เปิดโล่ง การสร้างสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวมันไม่ใช่แค่การทำให้ได้อัตรา 9 ตร.ม./คน แต่ต้องมองไปถึงว่าสิ่งที่สร้างต้องเชื่อมต่อกับสิ่งอื่นๆ ของการใช้พื้นที่เปิดโล่งและผังเมืองรวมด้วย

 

“หนึ่งในการวางแผนสร้างพื้นที่เปิดโล่งหรือสวนสาธารณะ นอกจากประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม เราอาจจะต้องพิจารณาว่ามันเชื่อมต่อกับ Floodway (ทางระบายน้ำ) อย่างไรบ้าง ซึ่งอาจจะรวมถึงแผนป้องกันน้ำท่วมและเรื่องการรักษาคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะอย่างหลังที่ต้องคำนึงว่าตรงนั้นเป็นพื้นที่อากาศเสียหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นสูงในการวางแผนสร้างวิธีการระบายอากาศควบคู่ไปด้วย

 

“เพราะฉะนั้น การสร้างพื้นที่เหล่านี้มันอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลข 9 ตร.ม./คน เสียทีเดียว เราอาจจะต้องมองการสร้างสวนสาธารณะในฟังก์ชันอื่นที่มันเชื่อมโยงกันกับผังเมืองรวมด้วย สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือต้องมีการวางแผนการใช้พื้นที่เปิดโล่งร่วมกัน โดยเอาปัญหาของ กทม. มากางดูว่า กทม. มีปัญหาอะไรบ้าง แต่ละโซนเป็นอย่างไร โซนที่หนาแน่นที่สุดอาจจะต้องการเชิงปริมาณจริง แต่โซนอื่นที่เบาบางอาจจะต้องการอย่างอื่น” ดร.สินีนาถกล่าว

 

เมื่อ กทม. ต้องหาที่ดินมาทำสวนสาธารณะเพิ่ม 

ปัญหาการเพิ่มจำนวนสวนสาธารณะเป็นอีกหนึ่งปัญหาคลาสสิกของ กทม. มาตั้งแต่ยุคแรกๆ เนื่องด้วย กทม. ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และไม่มีงบฯ มากพอที่จะซื้อที่ดิน อย่างในสมัยของ ชํานาญ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนแรก ในการสร้างสวนพฤกษชาติคลองจั่นนั้นก็ได้รับเงินบริจาคมาจากพ่อค้ากลุ่มหนึ่งจํานวน 1,241,999 บาท เพื่อใช้เป็นทุนในการสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้ประชาชน

 

หรือในยุคของ ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าฯ กทม. จากการเลือกตั้งคนแรก ในการสร้างสวนสาธารณะสวนจตุจักรนั้น สร้างขึ้นมาได้ก็เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานที่ดินจํานวน 100 ไร่ ซึ่งได้มาจากการรถไฟทูลเกล้าถวายฯ ให้ กทม. มาสร้างสวนสาธารณะ พร้อมกับพระราชทานชื่อว่า ‘สวนจตุจักร’ 

 

กทม. ยังใช้วิธีเช่าที่ดินจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในการสร้างสวนสาธารณะอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสวนธนบุรีรมย์ ในสมัยชํานาญ ยุวบูรณ์, สวนสันติภาพ ในสมัย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ, สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบ บางบอน และสวนบางแคภิรมย์ ในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ

 

หรือในบางเขตที่มีจำนวนสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้และพื้นที่สีเขียวจำนวนสูงขึ้นก็มาจาการที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของหน่วยงานอื่นได้ เช่น สวนในพื้นที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ในเขตบางกะปิ, ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ในเขตดินแดง และอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ในเขตปทุมวัน 

 

นอกจากนี้ สวนสาธารณะส่วนมากใน กทม. ยังเกิดจากการร่วมมือในการให้ใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์, กรมทางหลวง, การเคหะแห่งชาติ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น อุทยานเบญจสิริ, สวนเฉลิมพระเกียรติเกียกกาย, สวนพุทธมณฑลสาย 2, สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา, สวนวัชราภิรมย์, สวนพญาไทภิรมย์ ฯลฯ โดยหากพิจารณาสวนสาธารณะหลักทั้ง 39 แห่งจะพบว่าเป็นการดำเนินการของ กทม. เองเพียง 10 แห่งเท่านั้น 

 

แนวทางส่วนมากที่ กทม. ใช้ในยุคหลังมานี้จะเป็นการประสานงานขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานอื่นเพื่อนำมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ โดยเฉพาะยุคอดีตผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เช่นเดียวกันกับ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อย่างสวนวิภาภิรมย์ หรือสวนสาธารณะบริเวณโครงการเชื่อมต่อถนนกาญจนาภิเษก-ถนนพุทธมณฑล สาย 2 ฯลฯ หรือการนำพื้นที่สาธารณะประโยชน์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ อย่างสวนสุขภาพอยู่เย็นเป็นสุข หรือพื้นที่ว่างจากการก่อสร้างทางลาดต่างระดับ เช่น สวนวนาภิรมย์ร่มเกล้า ซึ่งสามารถปลดล็อกปัญหา กทม. ไม่มีที่ดินและไม่มีงบฯ จัดซื้อที่ดินในการสร้างสวนสาธารณะได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะใน กทม. จึงไม่ใช่การไม่มีที่ดินเหมือนในยุคแรก แต่เป็นแนวทางในการพัฒนามากกว่าว่าตัว กทม. หรือผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะใช้แนวทางใดในการพัฒนา จะยึดอยู่กับตัวเลข 9 ตร.ม./คน และมุ่งพัฒนาแต่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในตามโครงการที่ได้ริเริ่มไว้ หรือจะสร้างการเข้าถึงที่เท่าเทียมของประชาชนทั่วทุกเขตของ กทม.

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising