×

สื่อคุ้ยประวัติเรือดำน้ำ Titan แฉหลายฝ่ายกังขาเกี่ยวกับความปลอดภัยมานาน

22.06.2023
  • LOADING...

วันนี้ (22 มิถุนายน) คือวันสุดท้ายที่ออกซิเจนของเรือดำน้ำ Titan กำลังจะหมดลง ขณะเจ้าหน้าที่ยังคงเร่งทำงานแข่งกับเวลาและทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดเพื่อค้นหาลูกเรือทั้ง 5 คนด้วยความหวังว่าพวกเขาจะยังคงรอดชีวิต รวมถึงกำลังใจจากคนทั่วโลกที่หวังให้มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในปฏิบัติการกู้ภัยที่มีเงื่อนไขสุดหฤโหด จนถึงขั้นที่มีคนกล่าวไว้ว่า ‘การค้นหาเรือดำน้ำที่หายไปที่ระดับความลึกกว่า 3,800 เมตร อาจไม่ต่างอะไรกับการค้นหานักบินที่หลุดไปในห้วงอวกาศ’

 

แม้กรอบของเวลาจะบีบแคบลงมาทุกขณะ แต่เจ้าหน้าที่กลับยังไม่เจอวี่แววของเรือดำน้ำลำดังกล่าวทั้งที่การค้นหาผ่านมา 5 วันแล้ว ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่าเรือดำน้ำ Titan ที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นเรือดำน้ำเพียง 1 ใน 10 ลำของโลกที่ไปได้ลึกกว่า 3,600 เมตรใต้ผิวน้ำทะเล แท้ที่จริงแล้วมันปลอดภัยแค่ไหน? 

 

สสารใดๆ อาจหายไปจากโลก… แต่ไม่ใช่ดิจิทัลฟุตพรินต์ เพราะเมื่อคำถามนี้ดังขึ้นเรื่อยๆ สื่อต่างๆ จึงพากันขุดคุ้ยหาประวัติของเรือ Titan รวมถึงเจ้าของเรืออย่างบริษัท OceanGate ผ่านข้อมูลต่างๆ ที่มีการบันทึกไว้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ของผู้ก่อตั้งบริษัท อดีตพนักงาน และผู้ที่มีประวัติเคยเกี่ยวข้องกับ OceanGate เพื่อตามหาความจริงให้โลกได้รับรู้ 

 

ซึ่งในประเด็นนี้สำนักข่าว CNN ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้อกังวลด้านความปลอดภัยต่างๆ ของเรือ Titan มาไว้อย่างน่าสนใจและครอบคลุม THE STANDARD จึงมัดรวมประเด็นทั้งหมดและสรุปมาให้ผู้อ่านในบทความนี้ 

พนักงานเองยังกังวล เรือปลอดภัยจริงหรือ!?

 

สำนักข่าว CNN เปิดเอกสารที่อดีตพนักงาน 2 คนของ OceanGate เคยยื่นต่อศาล ซึ่งพวกเขาได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับ ‘ความหนา’ ของตัวเรือดำน้ำ โดยอดีตพนักงานคนหนึ่งเปิดเผยกับ CNN ว่าโครงสร้างของ Titan หนาเพียงแค่ 5 นิ้วเท่านั้น ทั้งๆ ที่วิศวกรบริษัทเคยบอกเขาว่าจริงๆ แล้วโครงสร้างของ Titan ควรจะต้องหนากว่านี้อีก 2 นิ้ว

ผู้เชี่ยวชาญกังขามาตั้งแต่ 5 ปีก่อน

 

ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้นำในอุตสาหกรรมหลายคนเคยออกมาแสดงความไม่สบายใจเกี่ยวกับ ‘วิธีการทดลอง’ เรือ Titan ของ OceanGate เพื่อเดินทางไปชมซากเรือ Titanic ที่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก 

 

วิลล์ โคห์เนน (Will Kohnen) ประธานคณะกรรมการยานยนต์ใต้น้ำที่มีมนุษย์ควบคุม (Manned Underwater Vehicles committee) จากสมาคม Marine Technology Society เคยได้ร่างจดหมายไปถึง สต็อกตัน รัช (Stockton Rush) ผู้ก่อตั้ง OceanGate ในปี 2018 และแสดงความกังวลต่อกรณีที่ OceanGate ปฏิเสธที่จะนำเรือ Titan เข้ารับการตรวจสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดโดยสมัครใจ หรือการประเมินความเสี่ยงทางทะเลที่เรียกว่า DNV-GL

 

โคห์เนนกล่าวว่า “มีเรือดำน้ำ 10 ลำในโลกที่สามารถดำน้ำได้ลึกกว่า 12,000 ฟุต (ประมาณ 3,600 เมตร) เรือทั้งหมดผ่านการรับรองดังกล่าว ยกเว้นเรือดำน้ำของ OceanGate” 

เรือไม่ได้ถูกจัดประเภท

 

ข้อมูลจาก CNN ระบุว่า เรือเช่าเหมาลำส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเรือบรรทุกน้ำมันหรือเรือพาณิชย์จะถูก ‘จัดประเภท’ ตามกลุ่มอิสระที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย แต่ Titan ไม่ได้รับการจัดประเภทดังกล่าว โดยข้อมูลจากบล็อกของบริษัทที่โพสต์เอาไว้เมื่อปี 2019 ระบุว่า การจัดประเภทสำหรับเรือที่มีนวัตกรรมสุดล้ำนี้จะต้องใช้กระบวนการอนุมัติหลายปี ซึ่งมันจะขัดขวางการพัฒนานวัตกรรมอย่างรวดเร็วของ OceanGate

ทัวร์ Titanic มีประวัติดีเลย์ แถมเกิดปัญหาด้านกลไกหลายอย่าง

 

Henry Cookson Adventures บริษัทท่องเที่ยวในลอนดอน เป็นหนึ่งในบริษัทที่เคยมีข้อพิพาทกับ OceanGate โดยทางบริษัทกล่าวหาว่า OceanGate ไม่มี ‘เรือที่ปลอดภัยพอที่จะออกทะเลได้’ 

 

ต้องเล่าเท้าความกลับไปก่อนว่า เมื่อปี 2016 ทั้งสองบริษัทเคยทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อเตรียมพาผู้โดยสารสูงสุด 9 คนไปชมซากเรือ Titanic ในปี 2018 แต่เมื่อข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นไปดั่งที่วางแผนไว้ จึงมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นตามมา 

 

ทั้งนี้ CNN ระบุว่า คดีแพ่งที่มีการยื่นฟ้องเมื่อปี 2021 (ซึ่งถูกยกฟ้องไปในภายหลัง) ได้มีการตั้งคำถามว่า ที่ทริปดำน้ำล่าช้าออกไปกว่ากำหนด ‘เป็นเพราะเรือดำน้ำไม่สามารถผ่านการรับรองด้านปลอดภัยได้ในขณะนั้น’ แต่ในปี 2018 OceanGate ได้โพสต์ข้อความลงบนเว็บไซต์ว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นผลจากสภาพอากาศและฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถทดสอบการดำน้ำได้ตามที่วางแผนไว้

 

นอกจากนี้ก็มีคู่สามีภรรยาในฟลอริดาที่อ้างว่าพวกเขาไม่สามารถรีฟันด์เงินคืนได้ หลังจากที่ OceanGate ประกาศเลื่อนทริปทัวร์ Titanic ในปี 2018 ของพวกเขาไปหลายครั้ง

ซีอีโอรับต้องสร้างตัวเรือใหม่หลายรอบ

 

รัช ผู้ก่อตั้ง OceanGate เคยให้สัมภาษณ์กับ GeekWire ในปี 2020 ว่า ในบางครั้งที่ทริปทัวร์ชม Titanic ล่าช้าออกไป เพราะทางบริษัทจำเป็นต้องสร้างตัวเรือ (Hull) ของ Titan ขึ้นใหม่ เนื่องจากเกิดปัญหาความล้าจากการหมุนรอบ (Cyclic Fatigue) และไม่สามารถลงไปได้ลึกถึงจุดที่ซากเรือ Titanic จมอยู่ได้

Titan เคยขาดการติดต่อกับเรือแม่มาแล้ว

 

เมื่อปีที่ผ่านมา OceanGate เคยพา เดวิด โพก์ (David Pogue) จากสำนักข่าว CBS News ลงไปดำน้ำชม Titanic แต่ยกเลิกภารกิจไปเนื่องจากอุปกรณ์ทำงานผิดพลาดหลังจากลงไปเพียง 37 ฟุตเท่านั้น และหลังจากนั้นก็มีกรณีที่เรือดำน้ำขาดการติดต่อกับเรือแม่ที่อยู่บนผิวน้ำ และไม่สามารถไปถึงซากเรือ Titanic ได้ “เราหลงทางอยู่ 2 ชั่วโมงครึ่ง” อดีตลูกเรือคนหนึ่งบอกกับ CBS

 

ภาพ: OceanGate

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising