×

‘Long COVID’ มีอาการอย่างไรและป้องกันได้หรือไม่

15.04.2022
  • LOADING...
Long COVID

ผู้ติดโควิดส่วนใหญ่จะไม่แพร่เชื้อหลังจากเริ่มมีอาการ 10 วัน และปัจจุบันบางประเทศลดวันแยกกักตัวอยู่บ้านเหลือ 5 วัน แต่ข้อมูลก่อนการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนพบว่า ผู้ติดเชื้อประมาณ 1 ใน 4 ราย มีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือน และ 1 ใน 10 ราย ยังคงมีอาการไม่สบาย เช่น อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ไอ นอนไม่หลับ หลังจากผ่านไป 3 เดือน หรือที่เรียกว่า ‘Long COVID’

 

นานแค่ไหนถึงเรียกว่า ‘Long’ 

คำว่า Long COVID ถ้าแปลตรงตัวคือ อาการโควิดที่เป็น ‘นาน’ (Long) ซึ่งปกติผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายในสัปดาห์แรกและไม่แพร่เชื้อหลังจากเริ่มมีอาการ 10 วัน โดยผู้ติดเชื้อประมาณ 1 ใน 2 ราย จะยังตรวจ ATK พบผลบวกหลังในช่วง 5-9 วัน (การตรวจ ATK พบผลบวกสัมพันธ์กับระยะแพร่เชื้อ) แต่บางอาการอาจหลงเหลืออยู่หลังจากนั้น แล้วเป็นยาวนานแค่ไหนถึงเรียกว่า ‘Long’

 

ระยะพักฟื้นหลังจากติดเชื้อโควิดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

 

  • การติดเชื้อโควิดเฉียบพลัน (Acute COVID-19) หลังจากเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยอาจมีอาการต่อเนื่องนานถึง 4 สัปดาห์ ซึ่งคล้ายกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและไม่มีไข้แล้ว แต่อาจมีอาการอ่อนเพลียหรือไออยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู
  • Long COVID หรืออาการผิดปกติหลังการป่วยเป็นโควิด (Post-COVID Condition) เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่อง ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือนหลังการติดเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการดังกล่าวไม่สามารถอธิบายด้วยสาเหตุอื่น

 

ภาวะ Long COVID มีทั้งอาการทางร่างกายและจิตใจ โดยอาการทางร่างกายที่พบบ่อย ได้แก่

 

  • อ่อนเพลีย 15-87% ประมาณ 3 เดือนหรือนานกว่า
  • หอบเหนื่อย 10-71% ประมาณ 2-3 เดือนหรือนานกว่า
  • แน่นหน้าอก 12-44% ประมาณ 2-3 เดือน
  • ไอ 17-34% ประมาณ 2-3 เดือนหรือนานกว่า
  • ไม่ได้กลิ่น 10-13% ประมาณ 1 เดือน

 

อาการทางร่างกายที่พบไม่บ่อย ได้แก่ ปวดข้อ, ปวดศีรษะ, ตาแห้ง, ปากแห้ง, จมูกอักเสบ, ลิ้นไม่รับรส, เบื่ออาหาร, เวียนศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อ, นอนไม่หลับ, ผมร่วง, เหงื่อออก และถ่ายเหลว พบน้อยกว่า 10% 

 

ส่วนอาการทางจิตใจ ซึ่งอาจพบนานหลายสัปดาห์-เดือน ได้แก่

 

  • ภาวะเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) 7-24% 
  • ความจำลดลง 18-21% 
  • สมาธิลดลง 16% 
  • ความวิตกกังวล / ซึมเศร้า 22-23% 

 

อาการเหล่านี้อาจดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาตัวในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) อาจมี ‘กลุ่มอาการหลังเข้ารักษาในหอผู้ป่วยหนัก’ (Post-Intensive Care Syndrome: PICS) ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทั้งร่างกายและจิตใจต่อมาถึงระยะพักฟื้น เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง การรู้คิดเปลี่ยนแปลง ทำให้มีคุณภาพชีวิตลดลงได้

 

ทำไมถึงเกิด ‘Long COVID’ 

ภาวะ Long COVID ถูกพูดถึงมามากกว่า 1 ปี แต่ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกการเกิดที่แน่ชัด มีเพียงสมมติฐานว่าอาจเกิดจากโปรตีนของไวรัสที่หลงเหลืออยู่ (Viral Persistence) ซึ่งไม่ส่งผลต่อการติดเชื้อแล้ว แต่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบต่อเนื่อง (Persistent Inflammation) และภาวะภูมิต้านตนเอง (Autoimmunity) ส่งผลให้เนื้อเยื่อปอด หัวใจ และสมอง มีความเสียหายในระยะยาว

 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะ Long COVID ยังไม่ทราบแน่ชัดเช่นกัน มีเพียงข้อสังเกตว่ามีปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะนี้ ได้แก่ เพศหญิง อายุมาก (ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบภาวะ Long COVID มากที่สุดในช่วงอายุ 35-69 ปี) โรคประจำตัว อาการมากกว่า 5 อาการในช่วงสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย ปริมาณไวรัส การติดเชื้อไวรัสกลุ่มเฮอร์ปีส์ เช่น EBV มาก่อน ทำให้อาการกำเริบ

 

การรักษาภาวะ Long COVID

ในระยะพักฟื้น ผู้ป่วยโควิดสามารถทำกิจวัตรและกิจกรรมประจำวันได้ หากมีอาการผิดปกติภายหลังจากป่วยเป็นโควิดควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะประเมินอาการด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เนื่องจากภาวะ Long COVID มีความหลากหลายและแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์จะวางแผนและให้การรักษาตามกลุ่มอาการที่พบ เช่น

 

  • การฝึกการหายใจ เพื่อรักษาอาการหายใจลำบาก / หอบเหนื่อย 
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น การทำกายภาพบำบัด การฝึกพูดและภาษา 
  • การจัดการความเครียด เช่น การลดการติดตามข่าวสาร การฝึกสมาธิ การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การออกกำลังกาย การนอนหลับให้เพียงพอ การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) การพูดคุยเพื่อระบายความรู้สึก

 

Long COVID ป้องกันได้หรือไม่

การป้องกันภาวะ Long COVID ที่ดีที่สุดคือ การป้องกันการติดเชื้อ ผู้มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด วัคซีนลดการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับหนึ่ง (ถึงแม้จะไม่สูงเท่ากับสายพันธุ์ก่อนหน้า) ลดอาการรุนแรงได้มากกว่า 90% งานวิจัยในสหราชอาณาจักรพบว่า การฉีดวัคซีนลดอาการในช่วง 1 เดือนแรกได้ประมาณ 50% และที่สำคัญวัคซีนลดภาวะ Long COVID ได้

 

การสวมหน้ากากที่กระชับใบหน้า การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและบริเวณภายในอาคารที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก การตรวจหาเชื้อเมื่อมีความเสี่ยง การเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรจากผู้อื่น (ไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมกัน) และล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์เจล ยังเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อที่ใช้ได้กับไวรัสโควิดทุกสายพันธุ์ รวมถึงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising