กระแสการไดเอตเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกปีไม่ต่างกับเทรนด์แฟชั่นบนรันเวย์ ไม่ว่าจะน้ำผลไม้สูตรพิเศษ (Juice Diet), ปาลิโอ ไดเอต (Paleo Diet) หรือแอตกินส์ ไดเอต (Atkins Diet) ฯลฯ แต่มีการไดเอตแบบหนึ่งที่น่าสนใจและผู้เขียนมองว่ากำลังถูกกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในวงกว้าง จนว่ากันว่าจะเป็นเทรนด์การกินแบบใหม่ของปี 2018 นั่นคือ คีโตเจนิก ไดเอต (Ketogenic Diet) หรือที่เรียกกันว่า คีโต ไดเอต (Keto Diet) ก็เพราะนี่คือการกินที่ยิ่งกินไขมันเท่าไร น้ำหนักก็ยิ่งลด!
ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิดหรอก เมื่อปี 2017 นักแสดงสาวคนดังอย่างฮัลลี เบอร์รี ทำให้คนฮือฮาเมื่อเธอประกาศในรายการ Live! with Kelly and Ryan ว่าเธอรักษาหุ่นให้ฟิตและแลดูดีขนาดนี้ในวัย 51 ด้วยการกินแบบคีโตเจนิก ที่ช่วยปรับระบบในร่างกายของเธอให้กลายเป็นเครื่องเบิร์นไขมันชั้นยอด และเมื่อเร็วๆ นี้ หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นอีกคนที่บอกว่าเขาลดน้ำหนักด้วยวิธีเดียวกันนี้ในรายการ นารีกระจ่าง ช่องไทยพีบีเอส ตลอดจนกลายเป็นเทรนด์ที่ถูกพูกถึงในหมู่คนทำงานในเทคฮับของโลกอย่างซิลิคอนแวลลีย์
แต่การกินแบบนี้คืออะไร ไขมันจะไปช่วยเบิร์นไขมันกันเองได้อย่างไร ช่วยให้น้ำหนักลงอย่างรวดเร็วเพราะอะไร? ผู้เขียนในฐานะผู้กินอาหารแบบคีโตเข้าๆ ออกๆ มา 3 ปีที่ได้เห็นคนรอบตัวเริ่มหันมาทดลองและสนใจกันมากขึ้นเลยสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ขั้นต้นสำหรับผู้อยากลองไดเอตแบบกินหมูสามชั้นจนปากมันย่องก็ไม่รู้สึกผิดไว้ให้ดังนี้
ไข่ต้องมา ถั่วก็ได้
อะไรคือคีโตเจนิก ไดเอต
การกินอาหารแบบ คีโตเจนิก ไดเอต คือการกินที่เน้นไขมันสูง รองมาด้วยโปรตีน โดยลดคาร์โบไฮเดรตให้เหลือในปริมาณที่น้อยมากๆ โดยมีความคล้ายกับแอตกินส์ ไดเอต หรือโลว์-คาร์บ ไดเอต (Low-carb Diet) ตรงที่ลดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลให้น้อย แต่ให้แทนที่ด้วยไขมันทั้งจากพืชและสัตว์แทน
หลักการทำงานของการกินแบบคีโตเจนิกเบื้องต้น
กินไขมัน แต่จะช่วยลดน้ำหนักอย่างไรล่ะ
กินจนปากมันแผล็บแล้วจะไปเบิร์นไขมันได้อย่างไรกัน นี่มั่วหรือเปล่า!? คำตอบคือเมื่อเราลดปริมาณการกินคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลลงอย่างมาก ร่างกายอันน่าอัศจรรย์ของเราเรียกง่ายๆ ว่าจะเกิดอาการ ‘กลัวตาย’ ซึ่งจากเดิมที่เคยนำกลูโคสในเลือดที่มาจากอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเอย น้ำตาลเอย มาใช้เป็นพลังงาน ร่างกายจำต้องหาแหล่งพลังงานมาแทนที่ นั่นคือมาจากไขมันนั่นเอง กระบวนการนี้ก่อให้เกิดสภาวะการเผาผลาญที่เรียกว่า คีโตสิส (Ketosis) ทำให้เกิดสารที่เรียกว่า คีโตน (Ketone) ในตับ ซึ่งนำมาใช้เป็นพลังงาน หลังจากเริ่มการกินแบบคีโตเจนิกไปหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ร่างกายและสมองอาจรู้สึกล้า เหนื่อยง่าย มีกลิ่นปาก แต่จะค่อยๆ ปรับจนสามารถนำไขมันและคีโตนมาใช้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแทนที่คาร์โบไฮเดรตนั่นเอง หรือว่าง่ายๆ คือภาวะนี้เปลี่ยนให้ร่างกายกลายเป็นเครื่องจักรเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงานในตัวเองนั่นเอง!
เบคอนต้องมา…นี่คือมื้ออาหารแบบคีโตเจนิก
ต้องกินอย่างไร
หากคุณอยากเริ่มต้นการกินแบบคีโตเจนิก สิ่งสำคัญที่ควรรู้คือการจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้ต่ำมากๆ นั่นหมายความว่าเราสามารถเน้นรับประทานอาหารเหล่านี้แทนที่ข้าวแกงร้านป้า หรือข้าวกะเพราไก่สุดอร่อย
ไขมันและน้ำมัน
ข่าวดีของคนชอบกินมัน เพราะการกินคีโตอนุโลมให้กินจนปากมันแผล็บเป็นหลัก แต่ต้องเป็นไขมันที่มาจากธรรมชาติ ทั้งพืชและสัตว์ โดยพยายามกินไขมันต่างชนิดควบคู่กันไป เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ จากพืช อาหารจำพวกถั่วโดยพยายามเน้นไขมันดี เป็นต้น และรับประทานอาหารทอดได้หากไม่ได้ชุบแป้งทอด และคุณรู้ว่าสิ่งนั้นทอดด้วยน้ำมันที่ดีต่อร่างกาย ดังนั้นการกินนี้ไฟเขียวให้กับเนื้อติดมัน อะโวคาโด เนย ชีส น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก (สวัสดีหมูสามชั้น…ฮัลโหลกากหมู!)
โปรตีน
เน้นเนื้อสัตว์ออร์แกนิก ซึ่งโดยมากเนื้อสัตว์มักไม่มีการใส่สารให้ความหวานเพิ่ม (งดความหวานหมู หมูหวานไปก่อนนะ) ดังนั้นเราสามารถเลือกกินเนื้อสัตว์และไข่ได้ แต่ในปริมาณที่เหมาะสม ทีนี้คุณสามารถเดินเข้าร้านสเต๊กได้อย่างสบายใจ แต่อย่าได้แตะเฟรนช์ฟรายส์เสียก่อนล่ะ…
พืชผัก
เน้นการกินผักที่โตบนดิน โดยเฉพาะจำพวกผักใบเขียว ดังนั้นเลี่ยงจำพวกเผือกมันไว้ก่อน แม้เราจะรู้ว่าคุณโหยเผือกทอดมากเพียงใดก็ตาม…
อาหารจากนม
สามารถรับประทานอาหารที่ทำจากนม (แต่ควรเลี่ยงนม) โดยเน้นจำพวกที่ไม่พร่องมันเนย ดังนั้นเราสามารถสั่งกาแฟใส่ครีมแท้ (ครีมจริงๆ ที่ไม่ใช่คอฟฟีเมตนะ) หรือหม่ำชีสอย่างพาร์เมซานกับสลัดจานโตจนอิ่มหนำได้อย่างไม่รู้สึกผิด แต่ที่ว่ามานี้ไม่รวมชีสเค้ก ชานมไข่มุก ชาเย็น หรืออะแฮ่ม… ชากุหลาบยอดฮิตหรอกนะ
ถั่วและธัญพืช
สามารถรับประทานได้ในปริมาณที่พอเหมาะ และยิ่งอร่อยเด็ดเมื่อใส่เข้าไปในครีมหรือสลัดราดน้ำมันมะกอกและเบคอน แนะให้เน้นถั่วจำพวกที่ความหวานมันอย่างแมคคาเดเมีย หรืออัลมอนด์ ทั้งมัน ทั้งอร่อย #มันดีจริงๆ
เครื่องดื่ม
โบกมือลาแอลกอฮอล์แก้วโปรดไปเสียก่อนหากคุณต้องการลดน้ำหนัก แล้วหันมาดื่มน้ำเปล่าเป็นดีที่สุด สามารถเป็นน้ำมะนาว (ที่ไม่ใส่น้ำตาล) หรือน้ำโซดาเปล่าๆ ที่ไม่มีความหวานใดๆ ส่วนใครที่โหยหาความหวาน สามารถใช้หญ้าหวาน หรือความหวานจากสตีเวีย (Stevia) แทนได้
ของโปรดจ๋า ฉันลาก่อน
เลี่ยงอะไร
เลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูงเป็นหลัก เรารู้ว่าไม่ใช่เรื่องหมูเลยที่จะตัดใจไม่สั่งผัดกะเพรามื้อเที่ยง หรือก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่เจ้าเด็ด กระทั่งกาแฟปั่นใส่นมข้นเจ้าประจำ แต่หากเลี่ยงอาหารคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูงได้ แค่นี้คุณก็ขยับเข้าใกล้การเปลี่ยนให้ร่างกายกลายเป็นเครื่องจักรเผาผลาญไขมันขึ้นแล้ว
อาหารจากเมล็ดพืช
หมายถึงอาหารจำพวกข้าวและแป้งต่างๆ ไม่ว่าจะข้าวบาร์เลย์, ข้าวสาลี, ข้าวไรย์, ข้าวโพด, ข้าวโอ๊ต ฯลฯ รวมไปถึงข้าวเจ้าที่เรากินกันอยู่ทุกวันเช่นกัน (รวมข้าวต้มและโจ๊กด้วยนะ) และผลิตภัณฑ์จากข้าวต่างๆ ทั้งพาสต้า, พิซซ่า, คุกกี้, ขนมปัง, เค้ก ฯลฯ เลี่ยงได้เป็นดีเพราะอย่าลืมว่าเรากำลังลดคาร์โบไฮเดรตอยู่
อาหารแปรรูป
เลี่ยงอาหารแปรรูปจำพวกไส้กรอก หมูยอ ลูกชิ้น เนื่องจากมักมีสารสังเคราะห์ เช่น สารคาร์ราจีแนน, ผงชูรส, ซัลไฟต์ ฯลฯ ไปจนถึงแป้งที่มักเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการผลิต (เราเลี่ยงแป้งอยู่เช่นกัน จำได้ไหม)
สารให้ความหวานสังเคราะห์
เลี่ยงสารให้ความหวานสังเคราะห์ เช่น Splenda, Equal, Aspartame, Acesulfame, Sucralose, Saccharin ฯลฯ แนะให้แทนที่ด้วยสารให้ความหวานจากธรรมชาติอย่างหญ้าหวาน
ไขมันทรานส์
หลีกเลี่ยงไขมันหรือน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเคมีสังเคราะห์อย่างน้ำมันพืชบางชนิด หรือมาการีน ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจได้ และหันมาเน้นไขมันธรรมชาติ (หรือว่าง่ายๆ คือคุณรู้ว่าไขมันที่มาจากไหนนั่นเอง) เช่น ไขมันสัตว์ หรือพืชอย่างอะโวคาโด
ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ คาร์โบไฮเดรตต่ำ หรือเป็นศูนย์
เป็นเพราะอาหารจำพวกน้ำอัดลมไดเอต หรือโลว์-แฟต อาจมีสารให้ความหวานหรือสารสังเคราะห์แฝงอยู่ ดังนั้นทางที่ดีให้เลี่ยงไปก่อนเพื่อความชัวร์และสบายใจ
นม
จริงอยู่ที่นมมีโปรตีน แต่ในกรณีที่คุณกำลังเน้นการกินด้วยไขมันสูง การแทนที่นมด้วยครีม หรือนมแบบ Full-fat ที่มีไขมันเยอะ จึงดีกว่าเป็นไหนๆ นอกจากนั้นในนมยังมีคาร์โบไฮเดรต (4-5 กรัมของคาร์โบไฮเดรตต่อ 100 มิลลิลิตร) ดังนั้นหากคุณเป็นคนที่ติดใส่นมในกาแฟ เราขอแนะให้แทนที่ด้วยครีม (Heavy Cream / Full Cream / Half Cream) จะดีกว่า (มีขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต และมักอยู่ใกล้ๆ กับหมวดชีส) แถมยังหวานมัน อร่อย และหนักท้องอีกด้วยนะ
ผลไม้
“อ้าว…ห้ามดื่มน้ำหวาน แล้วน้ำผลไม้ก็ไม่ได้รึ” เรารู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผลไม้และน้ำผลไม้มักมีน้ำตาลสูง โดยเฉพาะน้ำสับปะรด แตงโม กล้วย หรือมะม่วงสุก นอกจากนี้ยังรวมถึงผลไม้อบแห้ง แช่อิ่ม และดองต่างๆ นานาที่ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะหรือน้อยมากๆ เป็นดี
แอลกอฮอล์
สายดื่มต้องทำใจ เพราะต้องจากน้องน้ำชวนยิ้มไปอีกสักพัก ไม่ว่าจะเบียร์ ไวน์ (โดยเฉพาะไวน์หวาน) หรือค็อกเทลตัวร้ายที่มักมีน้ำตาลอยู่มหาศาล นี่ยังไม่รวมความเป็นไปได้ว่าหลังดื่ม คุณมีแนวโน้มที่จะเดินโฉบเข้า 7-11 หาอะไรกินแก้หิวยามดึกอีกด้วย….
แบบนี้ก็กินอาหารของพี่ Salt Bae ได้สินะ
เหมาะกับใคร
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่กินคีโตเจนิก (แบบเข้าๆ ออกๆ ตามความสะดวกของชีวิต) บวกกับออกกำลังกายแบบเวตเทรนนิ่งมาเป็นเวลา 3 ปี พบว่าน้ำหนักลดลงไปเกือบ 10 กิโลกรัม (2 กิโลกรัมในนั้นเปลี่ยนเป็นมวลกล้ามเนื้อ) แม้จะค้นพบว่าหาใช่เรื่องง่ายในการปรับมุมมองความคิดที่ว่า ‘กินข้าวจึงจะหนักท้อง’ เพราะสลัดจานโตกับเนื้อสัตว์ หรือหมูกรอบและไข่ 2 ฟองยามเช้ากลับช่วยให้ผู้เขียนรู้สึกอิ่มไม่แพ้กินข้าวเลยด้วยซ้ำ แม้ตอนแรกจะเหนื่อยง่ายและมีอาการข้างเคียงที่ไม่คุ้นเคยตอนแรกเริ่ม แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับรู้สึกสดชื่น ไม่เหนื่อยง่าย มีพลังมากกว่าเก่า
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาอาหารทั่วไปกินโดยเลี่ยงข้าวหรือก๋วยเตี๋ยวอันเป็นอาหารหลักหากินง่ายของบ้านเราได้ตลอดเวลา ดังนั้นคนทำอาหารเองที่บ้านจึงได้เปรียบ เพราะนอกจากจะควบคุมตัวแปรการกินแต่ละมื้อได้แล้วยังสามารถสร้างสรรค์อาหารเมนูอร่อยใหม่ๆ ที่เลี่ยงน้ำตาลและแป้งได้อย่างสนุกพอตัว (ลาบคอหมูย่าง, เบอร์เกอร์ไม่มีขนมปัง, เค้กไร้แป้ง ฯลฯ)
นอกจากนั้นผู้เขียนยังพบว่าการกินแบบคีโตเจนิกนั้นอาจเหมาะกับมนุษย์ผู้รักการกินมันอย่างเอร็ดอร่อยเสียมากกว่าสายคลีน (คุณเป็นคนประเภทเขี่ยหนังไก่ออกจากข้าวมันไก่หรือเปล่า) เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเอ็นจอยการต้องกินมันในปริมาณเยอะพอตัวในแต่ละวัน หรือเหยาะน้ำมันมะกอก น้ำมันอะโวคาโดใส่อาหารแทบทุกมื้อ เพราะหาใช่ทุกคนที่จะชอบการกินวิธีเดียวกันเสียเมื่อไหร่
และที่สำคัญที่สุดการกินคีโตเจนิกเองก็มีข้อเสีย นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นควรมั่นใจเสียก่อนว่าร่างกายของคุณสมบูรณ์แข็งแรง จึงควรไปตรวจสุขภาพ ตลอดจนปรึกษาแพทย์ และคำแนะนำจากนักโภชนาการเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย
บทความเรื่องการรักษาผู้ป่วยน้ำหนักเกินของ ดร.จอร์จ แอล. ธอร์ป
นี่คือเทรนด์ใหม่จริงหรือ
ที่น่าสนใจคือการกินแบบนี้หาใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนบรรพบุรุษของเราจะเรียนรู้วิธีการทำให้เกิดขนมปังหรือนำเมล็ดข้าวมาหุง มนุษย์คุ้นเคยกับกินอาหารที่เน้นเนื้อสัตว์ ไขมัน และพืชมาก่อน นอกจากนี้ในแง่ทางการแพทย์แล้ว หากมองย้อนกลับไป นี่ไม่ใช่เรื่องสดใหม่อะไรเลย เพราะมีการนำการกินแบบคีโตเจนิกมาใช้รักษาโรคลมชักมาก่อน โดยเฉพาะในเด็ก รวมถึงภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) ไปจนโรคเบาหวาน ขณะที่ ดร.โรเบิร์ต แอตกินส์ ได้แนะนำให้โลกรู้จักการลดน้ำหนักผ่านการกินแบบลดคาร์โบไฮเดรตเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในช่วงปี 1970 ซึ่งการกินแบบแอตกินส์นั้น ในช่วง 2 สัปดาห์แรกจะเน้นการกินแบบคีโตเจนิกอย่างเคร่งครัดจนมีการนำการกินนี้ไปปรับใช้ในการไดเอตวิธีอื่นๆ ในปัจจุบัน
รวมไปถึงบทความของ ดร.จอร์จ แอล. ธอร์ป เรื่องการรักษาคนไข้น้ำหนักเกินที่กล่าวว่า “วิธีที่ง่ายที่สุดในการลดน้ำหนักโดยปราศจากความหิว ความอ่อนล้า อิดโรย และท้องผูก คือการกินที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ไขมัน และน้ำ ด้วยอาหารที่มีไขมันและโปรตีนสูง แต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งปริมาณการกินนั้นไม่สำคัญ แต่สำคัญที่สัดส่วนสั้ง 3 ที่ต้องคงเอาไว้” บทความนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน (The Journal of the American Medical Association หรือ JAMA) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1957
ขณะที่ ดร.จอห์น รอลโล รายงานผลการรักษานายทหารที่เป็นโรคเบาหวานว่าใช้วิธีการให้กินอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำควบคู่ไปกับยารักษา จนทำให้การกินแบบคีโตเจนิกกลายเป็นวิธีรักษาผู้ป่วยเบาหวานทั่วไปในศตวรรษที่ 19 และรายงานของเขาถูกตีพิมพ์ย้อนไปในปี 1797
แม้ผู้เชี่ยวชาญจะยังถกเถียงกันอยู่ถึงความเหมาะสมในการกินแบบคีโตเจนิกว่าเป็น “การไดเอ็ตแบบสุดกู่” และ “อาจเป็นหายนะต่อร่างกาย” ไปจนถึงงานวิจัยที่ว่าการกินเช่นนี้ไม่แตกต่างจากการกินแบบจำกัดไขมัน เมื่อวันที่ 16 เดือนมกราคม ปี 2018 ที่ผ่านมา วารสารทางการแพทย์สหรัฐอเมริกา หรือ Journal of the American Medical Association (JAMA) ตีพิมพ์บทความที่กล่าวถึงการกินแบบคีโตเจนิกว่า หากทำตามการกินแบบคีโตเจนิกอย่างถูกต้องและปลอดภัย สามารถช่วยปรับสภาพร่างกายได้อย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังอันเกิดจากโรคอ้วน ซึ่งมีจำนวนผู้ใหญ่ถึง 1 ใน 3 ในอเมริกาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยจากงานวิจัย 13 ชิ้นที่ต่างกันออกไป พบว่าผู้ที่ยึดการกินแบบคีโตเจนิก ไม่เพียงแต่สามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าผู้ที่กินแบบจำกัดไขมัน (low-fat) แต่ยังสามารถรักษาน้ำหนักให้คงที่โดยไม่กลับมาโยโย่ได้นานกว่า โดยผู้เชี่ยวชาญบอกกับวารสารว่าอัตราที่ได้นี้น่าจะเป็นผลมาจากความรู้สึกหิวที่ลดลงนั่นเอง
สุดท้ายแล้ว การลดน้ำหนักที่ได้ผลดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับว่าแบบใดที่เหมาะกับคุณ และคุณยินดีที่ได้ทำเสียมากกว่า บวกกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพควบคู่ไปด้วย และอย่าลืมว่าไม่มีวิธีลดน้ำหนักแบบไหนที่ดีที่สุด หรือง่ายที่สุด
ดังนั้นหากคุณมีใจอยากจะเริ่ม ไม่ว่าจะวิธีใด เราลุ้นให้สำเร็จแบบสุดใจ
อ่านเรื่องออกกำลัง 100: วิธีพาร่างไปออกกำลังกายครั้งแรกฉบับมนุษย์ตัวเตื้องไม่เคยเข้ายิมที่ง่ายกว่า 101 ได้ที่นี่
อ้างอิง
- www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2716748
- www.health.harvard.edu/blog/ketogenic-diet-is-the-ultimate-low-carb-diet-good-for-you-2017072712089
- health.clevelandclinic.org/2018/01/weight-loss-what-30-days-on-the-keto-diet-felt-like
- en.wikipedia.org/wiki/Low-carbohydrate_diet#History
- www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1871402116303137?via=ihub#!
- https://jamanetwork.com/journals/jama/article-abstract/321847?redirect=true
- www.businessinsider.com/what-is-keto-diet-beginners-2017-12
- https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2669724
- www.nytimes.com/2017/09/08/well/new-study-favors-fat-over-carbs.html
- https://www.yahoo.com/lifestyle/science-now-says-keto-diet-isnt-bad-222026496.html
- www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(17)32252-3/fulltext
- www.healthline.com/nutrition/ketogenic-diet-and-weight-loss
- www.honestdocs.co/what-is-a-ketogenic-diet
- www.hellomagazine.com/healthandbeauty/health-and-fitness/2017080441244/halle-berry-adopted-ketogenic-diet-to-help-control-diabetes
- www.healthline.com/nutrition/ketogenic-diet-101
- program.thaipbs.or.th/NaReeKraJang/episodes/50611
- www.thaiketopal.com/basicketogenic
- www.businessinsider.com/what-is-keto-diet-ketosis-2017-3
- www.nature.com/articles/ejcn2013116
- Treating Overweight Patients by George L. Thorpe, M.D. JAMA. 1957;165(11):1361-1365.doi:10.1001/jama.1957.02980290001001
- อาหารคีโตเจนิกเริ่มมาเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้น้ำหนักลดในเวลาอันสั้นหากทำอย่างถูกต้องและปลอดภัยแล้ว ยังพบว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการรักษาและป้องกันโรคและอาการต่างๆ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ในการรักษาโรคลมชัก นอกจากนั้นวารสารโภชนาการทางคลินิกยุโรป (European Journal of Clinical Nutrition – Nature) ฉบับเดือนเมษายน ปี 2014 ยังได้รวบรวมอาการที่อาหารคีโตเจนิกเข้ามาช่วยได้ กลุ่มที่มีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจน เช่น ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน, โรคเบาหวานชนิดที่ 2, ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคทางหลอดเลือดหัวใจ (โดยเฉพาะการปรับระดับไตรกลีเซอไรด์, HDL และคอเลสเตอรอลให้ดีขึ้น รวมถึงกลุ่มอาการที่เกี่ยวกับ LDL จำพวกหลอดเลือดแดงอุดตัน)
- งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิก (Diabetes & Metabolic Syndrome: Clinical Research) จากเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 พบว่าผู้ใหญ่ที่มีปัญหาจากกลุ่มอาการเมตาบอลิก (โรคเบาหวานขั้นต้น) ที่รับประทานอาหารแบบคีโตเจนิก มีอัตราการเผาผลาญที่สูงกว่า 10 เท่าของผู้ที่กินอาหารมาตรฐาน
- สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือหาเมนูอาหารคีโตอร่อยๆ ไปจนถึงแบ่งปันเรื่องราวการผจญภัยของมนุษย์สายคีโตได้ในเพจอย่าง Thai Keto Pal หรือ Thai Keto Friends
- *ควรรับประทานไขมันจากเนื้อแดงในปริมาณที่พอเหมาะ ควบคู่ไปกับไขมันจากปลา และพืช คู่กับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หมายเหตุ 1 บทความนี้นำเสนอการทำความเข้าใจการกินแบบคีโตเจนิกขั้นพื้นฐานเท่านั้น ดังนั้นจึงควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น
- หมายเหตุ 2 การกินอาหารแบบคีโตเจนิกทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่นเดียวกับระดับอินซูลินในร่างกาย ดังนั้นควรศึกษาอย่างละเอียดเพิ่มเติม และปรึกษาแพทย์และตรวจสุขภาพก่อนเริ่มต้นการกินแบบคีโตเจนิก
- หมายเหตุ 3 ระบบร่างกายและการเผาผลาญของแต่ละคนมีตัวแปรที่แตกต่างกัน ดังนั้นการกินสูตรเดียวกันอาจได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล