“ปีนี้จะกินอาหารสุขภาพมากขึ้น”
“จะออกกำลังกายให้มากขึ้น”
“จะเลิกสูบบุหรี่” หรือ “ลดน้ำหนักให้ได้!”
ไม่ว่าปณิธานปีนี้ของคุณจะเป็นอะไร ทุกความสำเร็จย่อมมีก้าวแรกเสมอ แต่นอกจากความเชื่อมั่นที่เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้ปณิธานบนสมุดของคุณเป็นจริงได้ไม่ยาก แต่มีอะไรอีกบ้างที่ช่วยผลักให้เราไปถึงเป้าหมาย และจะทำอย่างไรให้ความตั้งใจแรงกล้านั้นไม่หายไปเสียก่อน เรามีคำตอบ
จอห์น ซี. นอร์ครอสส์ (John C. Norcross) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแครนตันในเพนซิลเวเนีย เผยว่า “ถ้าคุณเชื่อว่าทำไม่ได้ คุณมาถูกทางแล้ว เพราะคุณจะพิสูจน์ตัวเองจนทำสำเร็จในที่สุด”
จากการศึกษางานวิจัยหลายๆ ชิ้น เผยว่าร้อยละ 40 ของชาวอเมริกันที่กำหนดปณิธานในปีใหม่นั้น มีคนจำนวนร้อยละ 40-44 ทำได้สัมฤทธิ์ผลภายในเวลาเพียงเเค่ครึ่งปี (และคุณอาจเป็นหนึ่งในนั้น)
ฉะนั้น เรามาตั้งเป้า เชื่อมั่น เเล้วพุ่งชน เพราะคุณทำได้แน่นอน เเต่จะมีเคล็ดลับไหนช่วยเข็นให้เป้าหมายนั้นถึงเส้นชัยกันบ้าง ศาสตราจารย์ฝากไว้ดังนี้
เจาะจง
มีประโยคหนึ่งในหนังสือของ เจมส์ เคลียร์ (James Clear) ที่ว่า ‘ผู้ซึ่งไร้แรงจูงใจในการทำสิ่งใด เป็นเพราะเขาเหล่านั้นไม่ระบุถึงเป้าหมายที่ชัดเจน’ ฟังดูดี เเต่คุณลองเปลี่ยนจากการตั้งเป้าว่าจะลดการกินของหวาน ในขณะที่ของหวานในโลกนี้มีประมาณล้านชนิด ลองระบุไปเลยเช่น จะกินชาไข่มุกเหลือแค่ 2 เดือนครั้ง กินเค้กเหลืออาทิตย์ละครั้งเท่านั้น โดยสร้างประโยคที่ต้องการทำ บ่งบอกเวลาหรือสถานที่ เท่านี้ เป้าหมายของคุณก็จะมีความเป็นไปได้ และสามารถทำตามได้ง่ายมากขึ้น
คนจริง ต้องมาพร้อมกับความเป็นไปได้
ตั้งปณิธานที่ฟังเเล้วเป็นไปได้ แบบที่ไม่ขัดกับพฤติกรรมหรือกิจวัตรของคุณมากเกินไป เขาแนะนำให้ท้าทายตนเองด้วยวิธีที่ประนีประนอม เช่น ถ้าคุณอยากวิ่งทุกวันเเต่ไม่สามารถตื่นเช้าได้ ลองเปลี่ยนเป็นวิ่งตอนกลางคืนก็ไม่เสียหาย หรือกินผักทุกมื้อ ซึ่งถ้าคุณไม่ชอบกินผัก ก็ลองเปลี่ยนเป็นผลไม้ (แต่ก็อย่างลืมเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ไม่หวานมากก็จะดี) ถ้าตั้งเป้าว่าอยากไปวิ่งมาราธอน ก็ให้เริ่มแบบฟันรัน (Fun Run) เสียก่อนเเล้วค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ จนถึงมาราธอนในที่สุด
ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องน่าอาย
ยอมให้ตัวเองล้มเหลวถ้าจำเป็น ให้การล้มเป็นบทเรียนเเละเเรงกระตุ้นให้คุณไปออกกำลังกายตอนเย็น ถึงเเม้คุณจะพึ่งซัดชานมไข่มุกหวานระดับ 150% ก็ตามเเต่ จอห์น ซี นอร์ครอสส์ บอกว่า ผู้พิชิตปณิธานทั้งหลายก็อาจพลาดพลั้งกันได้ในช่วงแรก แต่มันยิ่งทำให้ตระหนักรู้เเละเพิ่มความพยายามที่แรงกล้ามากขึ้นไปอีก เเละเมื่อคุณพลาดแล้ว อย่าปล่อยให้ความล้มเหลวตีตราคุณตลอดไป จงกลับเข้าสู่หนทางที่ตั้งไว้ให้ทันท่วงที
ตั้งเวลาความสำเร็จ
ตื่นเช้าด้วยนาฬิกาปลุก (ไม่ใช่แอปพลิเคชันนาฬิกาปลุก) ลองเปลี่ยนจากการปลุกด้วยโทรศัพท์มือถือเป็นนาฬิกาปลุกจริงๆ เหตุเพราะช่วยให้คุณไม่หยิบโทรศัพท์มาเล่นต่อจนกว่าจะทำกิจวัตรตอนเช้าเสร็จ นอกจากจะตั้งเวลาตื่น อย่าลืมตั้งเวลาหนีขนมหวานทั้งหลาย เพราะช่วงปีใหม่แบบนี้ ขนมสวัสดีปีใหม่ช่างล่อตา ล่อใจ ล้อมตัวไปเสียหมด เราจึงแนะนำให้อยู่ห่างๆ ไม่นำมาไว้ใกล้ตัว หรือใกล้โต๊ะทำงาน (เรื่องนี้ไม่ได้พูดจากประสบการณ์ตรงที่ออฟฟิศ THE STANDARD แต่อย่างใด)
รู้จักตัวเอง
ก่อนจะเริ่มทำอะไรหรือตั้งเป้าอะไร ให้ถามตัวเองก่อนว่า ‘อยากเป็นอะไร’ เช่นอยากเป็นคนที่รูปร่างดี อยากเป็นนักเขียน อยากเป็นนักดนตรี เมื่อเลือกได้เเล้วว่าอยากเป็นอะไรหรือลองอะไรใหม่ๆ เขาแนะนำให้เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ก่อน เช่น อยากหุ่นดี ลองใช้บันไดแทนลิฟต์ เข้าคลาสออกกำลังกาย ลองยกน้ำหนัก หรือถ้าอยากเป็นนักดนตรี ก็ทดลองหาข้อมูลเข้าเรียน แล้วพาตัวไปให้ถึง ซึ่งเมื่อคุณเริ่มจากสิ่งเล็กๆ คุณจะเข้าใกล้ความเป็นจริงอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น เเละอย่าลืมสะกดจิตตัวเองด้วยว่า ‘จะต้องทำให้ได้’
ป่าวประกาศให้โลกรู้
ถ้าคุณห้อมล้อมไปด้วยเพื่อนเเละครอบครัวที่คอยสนันสนุนคุณอย่างเต็มเปี่ยม ลองบอกเจตจำนงในปีนี้ของคุณให้พวกเขาทราบ พร้อมขอความช่วยเหลือและกำลังใจ เช่น ไปออกกำลังกายเป็นเพื่อนคุณ หรือให้เพื่อนคอยเป็นนักสืบแคลอรี คอยสอดส่อง ตีมือไม่ให้คุณเผลอกินเยอะจนเกินไป หรือคุณอาจจะหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์เพื่อให้เส้นทางของคุณสนุกยิ่งขึ้นก็ได้
ทำให้เด็กๆ ดูเป็นตัวอย่าง
หากคุณมีลูก จะบอกลูกๆ ให้เลิกอยู่กับหน้าจอมือถือได้อย่างไร ถ้าคุณเองยังไม่สามารถเลิกได้ พ่อเเม่สามารถเปิดใจกับลูกเรื่องปณิธานของคุณได้ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่สอนให้เด็กๆ รู้ถึงการตั้งเป้าหมายในชีวิต ถึงเเม้บางเรื่องจะเป็นเรื่องยาก เเต่อย่างน้อย เราก็มีจุดมุ่งหมาย ซึ่งเยาวชนที่อายุไม่เกิน 10 ปีนั้นสามารถที่จะเรียนรู้ และเปิดรับ ถ้าผู้ใหญ่ทำเป็นตัวอย่างเเล้ว นอกจากคุณจะบรรลุเป้าหมายเเล้ว ยังส่งผลดีต่อพวกเขาอีกด้วย
เปลี่ยนปีเป็นเดือน
ถ้าใครรู้สึกว่าการทำอะไร 1 ปี มันนานเกินไป ลองเปลี่ยนเป็น 1 เดือนดูก่อนไหม เเต่เป็นเดือนที่เต็มไปด้วยกิจกรรมหรือการท้าทายใหม่ๆ ทุกเดือน เเบบนี้อาจจะทำให้คุณรู้สึกว่าบททดสอบเหล่านี้ดูมีความเป็นไปได้มากขึ้น เช่น บอกเลิกบุหรี่ไป 1 เดือน เผลอๆ เดือนต่อๆ ไปคุณอาจจะเลิกมันได้อย่างเด็ดขาดก็เป็นได้
เราเชื่อว่าทุกคนคงอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่ดีกว่า แต่กระนั้นก็อย่าหักโหมจนเกินไป ทำทุกอย่างด้วยความพอดี ค่อยเป็นค่อยไป ทว่าต้องมีระเบียบเเละที่สำคัญที่สุดคือ ‘เชื่อว่าตัวเองทำได้’ แล้วเรามาดูกันว่า วันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ คุณมาไกลเเค่ไหน
อ่านเรื่อง ออกกำลัง 100: วิธีพาร่างไปออกกำลังกายครั้งแรก ฉบับมนุษย์ตัวเตื้องไม่เคยเข้ายิมที่ง่ายกว่า 101 ได้ที่นี่
ภาพ: Courtesy of Miramax Films, Giphy
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: