×

ย้อนรอย ‘กลบท’ และ ‘กลอักษร’ กลวิธีประกาศอารยะสยามผ่านรหัสลับที่ซ้อนทับในตัวหนังสือ

21.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • กลบท และกลอักษร จำนวนมากถูกบันทึกไว้บนจารึกวัดโพธิ์ ซึ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็นมรดกแห่งความทรงจำโลกที่คนไทยควรได้เข้ามาชมสักครั้ง
  • หลังจากครั้งที่รัชกาลที่ 3 ทรงให้รวบรวมกลบทและกลอักษร จารไว้ในจารึกวัดโพธิ์ รัตนโกสินทร์ก็แทบจะไม่มีกวีคนใดแต่งกลบทและกลอักษร ที่สลับซับซ้อนขึ้นมาใหม่อีกเลย จะมีให้เห็นก็แต่กลบทที่เน้นสัมผัสแพรวพราวที่ใช้ในบทร้อยกรอง

ท่ามกลางกระแสที่ออกมาย้ำว่าคนไทยยุค 4.0 อ่านหนังสือน้อยลงจนเหลือเพียงไม่กี่บรรทัดต่อวัน การนำบทประพันธ์ที่ใช้หลักการแต่งร้อยกรองโบราณในการดำเนินเรื่องมาสร้างเป็นละครภาคค่ำนับเป็นความสุ่มเสี่ยงมากนัก แต่ก็ต้องขอบคุณความสุ่มเสี่ยงที่ทำให้วงการภาษาไทยได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะชมรมกวี นักเลงกลอน ที่ต่างตั้งวงถกเรื่องรหัสลับจาก ‘กลบท’ และ ‘กลอักษร’ กันในวงกว้าง ซึ่งกลบทและกลอักษรดังกล่าวเป็นกลด้านภาษาที่มีก่อนกรุงศรีอยุธยา และกลับมาสู่หน้าประวัติศาสตร์อีกครั้งผ่านละคร ‘กาหลมหรทึก’ (อ่านสกู๊ปตามรอยสถานที่จริงกาหลมหรทึกได้ที่นี่) และ ‘หนึ่งด้าวฟ้าเดียว’ ซึ่งต่างก็ใช้การแปลงอักษร บอกใบ้รหัสลงในคำกลอนเชื่อมโยงไปสู่ความลับที่ตัวละครได้ซ่อนไว้

 

จากละครสู่การตามหากลภาษาที่ใกล้สูญหาย

ใน กาหลมหรทึก นั้น ปราปต์ ผู้ประพันธ์เลือกใช้ กลโคลงพรหมภักตร์ ในการบอกใบ้เหตุฆาตรกรรมต่อเนื่อง และใช้การถอน* กลอนเป็นเครื่องนำทางการสืบสวนหาตัวผู้ร้าย ส่วนใน หนึ่งด้าวฟ้าเดียว ได้ดำเนินเรื่องย้อนไปในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดย วรรณวรรธน์ ผู้ประพันธ์ได้ใช้กลอักษรเขียนเป็นสารลับที่คนไทยผู้ทรยศชาติใช้ส่งข่าวแก่อังวะ พร้อมกันนั้นยังได้ขนกระบวนกลอักษรและกลบทสุดพิสดารมาให้ผู้ชมได้ตื่นเต้นไปกับความอัจฉริยะของกวีไทยในอดีต ไม่ว่าจะเป็น ไทหลง ไทนับ 3 ตะเข็บไต่ขอน กบเต้นกลางสะบัว งูกลืนหาง ดาวล้อมเดือน ฯลฯ

 

กลบทและกลอักษรที่กล่าวมาเป็นพัฒนาการด้านภาษาที่ถูกเขียนผ่านบทร้อยกรอง ไม่ว่าจะเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย โดยกลบทและกลอักษรส่วนหนึ่งถูกบันทึกอยู่ในสมุดไทยเรื่อง จินดามณี และ สิริวิบุลกิติ ซึ่งแต่งขึ้นตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา แบบที่อ่านง่ายและถอนรหัสง่ายที่สุดเห็นจะเป็นประเภทใส่สัมผัสในอันแพรวพราวแบบที่สุนทรภู่ชอบใช้ ขยับขั้นความยากขึ้นมาเป็นการซ้ำคำ ซ่อนคำ ซ่อนเงื่อนไข ซ่อนวิธีการอ่าน บ้างแปลงสาร บ้างก็ซ่อนอยู่ในรูปภาพในสมุดไทยดำ ไม่รวมอักษรเลขที่ใช้เลขแทนตัวอักษร ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารลับยามศึกสงคราม

 

ตัวอย่างกลโคลงซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของกลอักษร

 

ดร.เสาวณิต วิงวอน ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีไทย ได้ให้ความเห็นถึงรากแห่งกลบท กลอักษรว่าสามารถเชื่อมโยงได้ถึงกรุงสุโขทัย เพราะสิ่งใดก็ตามที่ถูกบันทึกอยู่ในจินดามณีแปลว่าต้องมีก่อนหน้านั้นอีกทั้ง ลิลิตยวนพ่าย ที่แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้นนั้น ก็พบกวีนิพนธ์ประเภทกลบทถึง 7 ประเภทด้วยกัน

                

จินดามณี คือการรวบรวมสิ่งที่ใช้ สิ่งที่สอน หรือเห็นอยู่เป็นประจำ และหนึ่งในนั้นก็คือ กลบท กลอักษร ถามว่าต่างกันอย่างไร กลบทเป็นเพียงการเล่นเสียง พลิกแพลงคำ มีสัมผัสแพรวพราว ซ้ำคำหน้า ซ้ำคำกลาง เพิ่มการบังคับในคำกลอนให้มากกว่าเอก 7 โท 4 แต่ไม่ได้ซ่อนอะไรไว้ ส่วนกลอักษรจะมีการซ่อนกล ซ่อนคำ ซ่อนวิธีอ่าน ใช้รหัสแทนกัน วางคำไว้ในภาพวาด บางทีผู้แต่งก็มีคีย์ให้ถอน หลายครั้งก็ไม่ได้บอกไว้ต้องเดาจากชื่อ เช่น พรหมภักตร์ ก็พอเดาได้ว่าต้องอ่านเป็น 4 ทิศ ตะเข็บไต่ขอนก็ต้องสังเกตเท้าตะเข็บว่าเดินอย่างไร แต่ถ้าถอนไม่ได้จริงๆ การจำผังคำบังคับ ครุ ลหุ ของกลอนแต่ละประเภทก็เป็นสิ่งที่พอจะช่วยได้”

 

แผ่นจารึกเรื่องกลบท กลอักษร ภายในพระระเบียงรอบพระอุโบสถวัดโพธิ์ ซึ่งมีให้ชมทั้งพระระเบียงชั้นในและชั้นนอก

 

เปิดกรุกลบทวัดโพธิ์ หนึ่งในมรดกความทรงจำโลกที่ต้องชม      

เมื่อถามถึงกลบทสุดพิสดารที่เคยเจอมา ดร.เสาวณิต บอกว่ายกให้กับเรื่อง กามนิต ในบท 5 ที่กามนิตเขียนกลอนถึงวาสิฏฐี ซึ่งในหนึ่งบทสามารถอ่านได้หลายแบบ แต่ละแบบให้ความหมายต่างกัน เช่น เมื่ออ่านเรียงจากบนลงล่างแปลว่า ‘ใจไปอยู่กับนาง’ แต่ถ้าอ่านจากล่างขึ้นบนแปลว่า ‘ข้าพเจ้าน่าจะมีความหวัง’

 

นอกจากนี้ยังมีท่อนหนึ่งจาก กุลาตีไม้ ที่บทเดียวกันสามารถแบ่งวรรคการอ่านได้ทั้งกาพย์และโคลงอย่างถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ส่วนกลอักษรที่ใส่กลการเขียนและการอ่านลงไปนั้น ปัจจุบันมีบันทึกไว้บนศิลาจารึกวัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้ประชุมจารึกวัดโพธิ์เหล่านี้เป็น 1 ใน 5 มรดกแห่งความทรงจำโลกบนผืนแผ่นดินไทย

 

(รูปบนและล่าง) กลอักษรที่จารึกไว้ในวัดโพธิ์

 

“นับว่าเป็นพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมกลบท กลอักษรเหล่านี้ ซึ่งที่วัดโพธิ์มีมากถึง 50 ชนิด ไม่รวมที่อาจสูญหายไปในแต่ละยุคสมัยที่มีการซ่อมแซมวัด ต้องย้อนไปก่อนว่ากลบท กลอักษรเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง กวีทั่วไปก็แต่งไม่ได้ ต้องเป็นปราชญ์ คนที่มีภูมิซึ่งเขาแต่งขึ้นเพื่อมาลองภูมิกัน ซึ่งการที่ผู้คนจะคิดกลอักษร กลบทได้ มีนัยว่าบ้านเมืองนั้นๆ ต้องสงบสุข ผู้คนมีกินมีใช้จนมีเวลาเหลือเฟือที่จะใส่ใจในวรรณศิลป์ คล้ายกับเป็นการประกาศศักดาอารยะอย่างหนึ่งว่า ประเทศเราเหลือกินเหลือใช้ เลยมีเวลาแสดงสิ่งสุนทรีย์อย่างนี้ได้ ดังนั้นจารึกเหล่านี้แม้จะเป็นร้อยกรองแต่เป็นการปูรากฐานอย่างมั่นคงไปสู่นโยบายการต่างประเทศในรัชกาลต่อมา”

 

ตัวอย่างกลโคลงจักรราษี

 

กลโคลงจาตุรทิศที่แยกแต่ละวรรคของกลอนไปตามทิศต่างๆ

 

กลโคลงดาวล้อมเดือนที่ซ้ำคำว่า ‘ผล’ เป็นคำต้น คล้ายเดือนที่ล้อมด้วยหมู่ดาว ถอนความได้ว่า

ผลบุญบุญเกื้อกอบ     ยศศักดิ์

ผลบาปบาปคงชัก     ชั่วให้

ผลสัตย์สัตย์ประจักษ์     คุณแน่ นาพ่อ

ผลเท็จเท็จโทษได้     เที่ยงแท้แก่ตน

 

กลโคลงประดิดนักเลงที่ต้องถอนโดยใช้ตาราง ดวด* 2 ตารางมาทับซ้อนกันแล้วนำคำที่อยู่ตรงกลางมาเสริม ถอนความได้ว่า

ตรีขึ้นหนึ่งแต้ม     ตามหงาย

ทแกล้วนายหนึ่งนั่งนาย     หนึ่งข้าม

ดวดไต่ล่างแดนกราย     หนึ่งเท้ นานา

ปากซังหนึ่งพาดผานห้าม     ฝ่ายหนึ่งคุมซัง

 

ดร.เสาวณิต ย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านภาษาที่มีผลต่อการเมืองอย่างแยบยล และถ้าใครอยากรู้ว่ากลบท และกลอักษรที่จารึกไว้ที่วัดโพธิ์มีความสลับซ้อนเพียงใด สามารถไปชมได้บริเวณพระระเบียงทั้ง 4 ทิศรอบพระอุโบสถ โดยจารึกทั้งหมดถูกฝังไว้บนเสาระเบียงทุกต้น แน่นอนว่ากลโคลงพรหมภักตร์ที่จุดประกายให้เกิดนิยายกาหลมหรทึก รวมทั้งกลอักษรในหนึ่งด้าวฟ้าเดียวก็ปรากฏอยู่ที่นี่เช่นกัน

 

ปัจจุบันผู้ที่สามารถถอนกลภาษาบนจารึกวัดโพธิ์ได้มีเพียงไม่กี่คนในประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร นักสถิติและผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกวัย 99 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ เคยเขียนไว้ในหนังสือ จารึกกับประวัติศาสตร์ศิลป์ ถึงเคล็ดลับในการอ่านกลบท กลอักษรว่าจะต้องใช้ระบบสมมาตร ถ้าอ่านเวียนขวาเป็นหอยก็ต้องอ่านเวียนขวาทั้งหมด บางบทต้องเดินเป็นหมากรุก ซึ่งแปลได้ว่าคนที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์จะสามารถถอดกลบท กลอักษรเหล่านี้ได้รวดเร็วกว่านักภาษาศาสตร์เสียอีก

 

 

นอกจากจารึกวัดโพธิ์แล้ว กลบท กลอักษร ของไทยยังไปไกลถึงต่างแดน เช่นที่ห้องสมุดแห่งรัฐบาวาเรียประเทศเยอรมนี ได้เก็บรักษาสมุดไทยดำที่มีกลโคลงภาพที่สวยงามและซับซ้อน ประกอบด้วยกลโคลงภาพ 54 โคลง และกลโคลงอักษร 31 โคลง ซึ่งถอดความได้ยากนัก แต่ที่ยากไปกว่าการถอดกลโคลงภาพทั้งหมดให้ได้ใจความครบสมบูรณ์ก็คือการตามหากวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ที่จะเป็นผู้ชุบชีวิตให้ภูมิปัญญาด้านอักษรศาสตร์ของไทยอย่างกลบท กลอักษร กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

 

กลอักษรที่เก็บไว้ในห้องสมุดแห่งรัฐบาวาเรีย

Photo: World Digital Library

FYI
  • ถอน: ในแวดวงกลอน การเขียนกลบท กลอักษร แล้วให้อีกฝ่ายถอดรหัส หรืออ่านให้ได้นั้นนิยมเรียกว่า ถอน
  • ดวด: ตารางที่ใช้เล่มเกมของคนไทยมาแต่โบราณ โดยใช้การเดินแต้มตามเบี้ยที่ทอดลงในตาราง
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising