×

เปิดปมบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ถูกใจประชาชน

06.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • โครงการบ้านพักตุลาการ บริเวณเชิงดอยสุเทพ มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องความเหมาะสม เนื่องจากมีการก่อสร้างในบริเวณพื้นที่ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์
  • นายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า โครงการดังกล่าวเป็นการใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2549 ตามมาตรา 5 พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ ปี 2518
  • ดร.ทนง ทองภูเบศร์ เจ้าของแคมเปญรณรงค์ ขอให้ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 143 ไร่ 3 งาน 41 ตร.ว. ใน change.org ระบุว่าโครงการนี้สะท้อนให้เห็นกลไกของรัฐที่ผิดเพี้ยน และแสดงความกังวลถึงระบบนิเวศที่อาจจะถูกทำลาย จนทำให้สิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่เลวร้ายลงในอนาคต

ถือเป็นกระแสที่กำลังร้อนแรงอย่างมากในโลกออนไลน์ เมื่อปรากฏภาพอาคารและสิ่งปลูกสร้างเรียงรายขณะกำลังก่อสร้าง ดูขัดแย้งกับผืนป่าสีเขียวที่รายรอบอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ทำให้หลายคนที่เห็นภาพเป็นครั้งแรกเกิดคำถามในใจคล้ายกันว่า อาคารและสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้เป็นของใคร แล้วเหตุใดต้องมาสร้างในป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์

 

เมื่อได้อ่านรายละเอียดจนได้รู้ว่าเป็นโครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการ จังหวัดเชียงใหม่ ยิ่งทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับโครงการนี้ขยายวงกว้างออกไป จนสุดท้ายกลายเป็นแคมเปญรณรงค์เรียกร้องใน change.org ที่มีผู้เข้าร่วมสนับสนุนมากกว่า 19,000 คน (6 มีนาคม 2561)

 

Photo: Watchdog.ACT / facebook

Photo: Watchdog.ACT / facebook

 

เปิดข้อมูลบ้านพักตุลาการ 4 โครงการมูลค่า 1,017 ล้านบาท

สำหรับโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วย โครงการแรกการสร้างบ้านพักระดับประธานศาล จำนวน 9 หลัง คือ บ้านพักประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักรองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 บ้านพักประธานแผนกคดีเยาวชนฯ บ้านพักประธานแผนกคดีผู้บริโภค บ้านพักประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม บ้านพักประธานแผนกคดีเลือกตั้งบ้านพักอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 5 บ้านพักผู้พิพากษาหัวหน้าศาล 2 หน่วย (ศาลจังหวัดเชียงใหม่ 1 หน่วย ศาลแขวงเชียงใหม่ 1 หน่วย) และอาคารชุดข้าราชการตุลาการ 64 หน่วย ประกาศประกวดราคาในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และทำสัญญาก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2556 วงเงิน 342,900,000 บาท

 

โครงการที่สอง บ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง บ้านพักผู้อำนวยการ 1 หลัง อาคารชุดข้าราชการตุลาการ 16 หน่วย และอาคารชุดข้าราชการศาลยุติธรม 36 หน่วย ประกาศประกวดราคาเดือนกันยายน 2556 ทำสัญญาวงเงิน 321,670,000 บาท

 

โครงการที่สาม อาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ประกาศประกวดราคาเดือนมกราคม 2557 ทำสัญญาวงเงิน 290,885,000 บาท และโครงการที่สี่ อาคารที่ทำการสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 วงเงินสัญญา 61,900,000 บาท รวมทั้ง 4 โครงการเป็นวงเงินรวม 1,017,355,000 บาท

 

ทั้งนี้โครงการทั้งหมดกินพื้นที่ประมาณ 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา หากแล้วเสร็จ โครงการดังกล่าวจะเป็นที่พักของข้าราชการตุลาการกว่า 200 คน จาก 7 หน่วยงาน โดยคาดว่าจะสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ในเดือนพฤษภาคมนี้

 

Photo: Watchdog.ACT / facebook

Photo: Watchdog.ACT / facebook

 

ประธานศาลฯ ยืนยัน ใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง ไม่รุกล้ำป่า

ก่อนหน้านี้โครงการดังกล่าวได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วในเรื่องความโปร่งใสของการก่อสร้างโครงการ แต่ครั้งนี้โครงการบ้านพักตุลาการกำลังถูกจับตามองอีกครั้ง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียวที่เชื่อมต่อกับผืนป่าดอยสุเทพ จนทำให้นายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า โครงการดังกล่าวเป็นการใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2549 ตามมาตรา 5 พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ ปี 2518

 

สภาพพื้นที่ที่ผ่านมา แม้จะเป็นป่า แต่ก็เป็นที่ราชพัสดุในความครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพบก ก่อนจะมีประกาศ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 ซึ่งไม่ได้กระทบสิทธิของหน่วยทหารแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังเน้นย้ำกับผู้รับเหมาว่าให้เลือกตัดต้นไม้เท่าที่จำเป็น พร้อมเว้นพื้นที่ 58 ไร่ ให้คงสภาพพื้นที่ที่มีต้นไม้อยู่เดิม และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะทำการปรับภูมิทัศน์เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อไป

 

Photo: Watchdog.ACT / facebook

 

นอกจากนี้ยังให้เหตุผลในการเลือกใช้พื้นที่ดังกล่าวว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ของทางราชการ ทำให้ไม่ต้องเสียงบประมาณในการจัดซื้อที่ดินซึ่งปัจจุบันมีราคาสูง เป็นการประหยัดงบประมาณ พร้อมแสดงความคิดเห็นกรณีที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมว่า เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากบริบทในด้านใด

 

Photo: ungsrit.kanjanavanit / facebook

Photo: rungsrit.kanjanavanit / facebook

 

ไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ถูกใจ ที่มาแคมเปญทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ

แม้จะมีคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลต่อการรณรงค์ ขอให้ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 143 ไร่ 3 งาน 41 ตร.ว. แคมเปญใน change.org ที่สร้างขึ้นโดย ดร.ทนง ทองภูเบศร์ นักวิชาการอิสระ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนับสนุนแล้วกว่า 19,000 คน

 

THE STANDARD สอบถามถึงที่มาที่ไปของการรณรงค์ครั้งนี้ ซึ่ง ดร.ทนง เล่าว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เคยใช้พื้นที่ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่เชียงใหม่ เริ่มติดตามโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นภาพถ่ายดาวเทียมที่มีการก่อสร้างอาคารในพื้นที่ป่าบริเวณเชิงดอยสุเทพ แม้จะเป็นการขออนุญาตใช้พื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ส่วนตัวมองนิยามของป่าในเชิงนิเวศวิทยามากกว่าจะมองในมุมกฎหมาย ทำให้รู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปสร้างที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นโครงการของหน่วยงานรัฐที่น่าจะมีพื้นที่ในการสร้างอาคารบ้านพักอีกมากมาย

 

Photo: Watchdog.ACT / facebook

 

“ประเด็นที่ผมเรียกร้องมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือผมตั้งข้อสังเกตว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐออกมายืนยันว่าเป็นการใช้พื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตราย เพราะหากกลไกของรัฐบอกว่าหน่วยงานรัฐสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ตามธรรมชาติแบบนี้ได้ ต่อไปอาจจะมีหน่วยงานอื่นที่มีความคิดเช่นนี้ หรือหน่วยงานเดิมอาจจะขยายพื้นที่ออกไปได้อีก โดยอ้างว่าไม่ได้อยู่ในเขตอุทยาน โดยที่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้เลย เพราะมีบรรทัดฐานจากกรณีนี้แล้วว่าสามารถทำได้ จึงจำเป็นต้องส่งเสียงเรียกร้องให้คนรู้ว่ากลไกแบบนี้มีปัญหา หรืออาจจะล้าสมัยไปแล้ว

 

“อีกประเด็นคือการเข้าไปสร้างโครงการ มีการแผ้วถางป่า เปิดหน้าดิน โค่นต้นไม้แล้ว เมื่อมีคนเข้าไปอยู่อาศัยจำนวนมาก มันไม่มีทางที่จะสงบเรียบร้อยเหมือนที่ท่านสัญญาไว้หรอก ต้องลองนึกภาพชุมชนขนาดใหญ่ ที่พอมีคนเข้าไปอยู่อาศัยก็จะต้องมีระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เกิดของเสีย เกิดมลพิษตามมา ซึ่งอาจจะทำลายระบบนิเวศเดิมที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้วได้

 

“ดังนั้นการที่ทำอย่างนี้มันไม่สมควรอย่างยิ่งในพื้นที่นี้ เพราะตามหลักวิชาการเขาบอกไว้แล้วว่าเชียงใหม่เป็นพื้นที่แอ่งกระทะ เป็นธารน้ำโบราณตามธรณีสัณฐาน มีที่สูงทางทิศตะวันตกและตะวันออก แล้วมีงานวิชาการที่เผยแพร่หลายชิ้นว่าเชียงใหม่เป็น heat island คือเป็นโดมความร้อน เมื่อมีความกดอากาศสูง คาร์บอนที่เกิดจากในเมืองมันก็จะลอยขึ้นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นพื้นที่ป่าทุกจุดในเชียงใหม่เป็นปอดที่สำคัญมาก สำคัญกว่าเมืองอื่นในประเทศไทยที่เป็นที่ราบหรือที่เนิน เพราะเชียงใหม่เป็นแอ่งกระทะ เหมือนมีกระทะใบหนึ่งแล้วเอาฝาซึ้งไปครอบไว้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เก็บรักษาไว้ มันจะมีผลกระทบมาก”

 

Photo: Watchdog.ACT / facebook

Photo: Watchdog.ACT / facebook

 

นอกจากนี้ ดร.ทนง ยังยืนยันว่า ส่วนตัวไม่ได้มีเจตนาจะสู้รบปรบมือกับใคร โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่รับเหมาก่อสร้าง ที่ดำเนินธุรกิจด้วยความชอบธรรม แต่เจตนาที่แท้จริงคือการสร้างความตื่นตัวให้กับคนในพื้นที่ แม้สุดท้ายแล้วจะไม่สามารถยุติโครงการดังกล่าวได้ แต่อย่างน้อยเมื่อสังคมจับตามอง ก็หวังว่าในอนาคตจะดำเนินโครงการด้วยความระมัดระวังมากขึ้น

 

“ปัจจุบันมีสื่อ หรือแม้แต่เยาวชนในพื้นที่พยายามรณรงค์บนท้องถนนโดยการทำสัญลักษณ์ต่อต้านการฆ่าเสือดำ ผมเลยรู้สึกว่า เอ๊ะ จริงๆ แล้วคนเชียงใหม่ก็เหมือนคนทั่วๆ ไปในประเทศ ที่ไม่เฉยเมยกับเรื่องที่มันไม่ถูกต้อง แต่ผมกลับคิดว่าแทนที่จะไปรณรงค์ หรือเอาพลังไปพูดเรื่องเสือดำก่อน เขาควรจะพูดเรื่องป่าเชิงดอยสุเทพก่อน เพราะมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเขามากกว่า เพราะความกังวลมันไม่ใช่แปลงป่าผืนนี้ผืนเดียว แต่กลไกมันมีปัญหา เรากลัวว่ามันจะขยายออกไป หรือเกรงว่าพื้นที่อื่นจะเอาเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดก็แล้วแต่ เข้าใจว่ากรณีเสือดำมันสะเทือนใจคน เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ แต่การไปโค่นป่าร้อยกว่าไร่ มันน่าจะยิ่งกว่าเสือดำหลายเท่า” ดร.ทนง ให้ความเห็น

 

Photo: Watchdog.ACT / facebook

 

โดยขั้นตอนหลังจากนี้หากสามารถรวบรวมรายชื่อได้ครบ 25,000 รายชื่อ ดร.ทนง และองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ยังเตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเคลื่อนไหวเรื่องนี้ต่อไปด้วย

 

นอกจากประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว โครงการนี้ยังถูกจับตามองในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ทางโครงการหมาเฝ้าบ้าน ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โดยตั้งข้อสังเกตว่าเอกชนที่เป็นผู้รับเหมาโครงการทั้ง 4 คือบริษัทเดียวกันทั้งหมด และมีนามสกุลเกี่ยวพันกับนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งเอกสารเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีการแจกแจงรายละเอียดการก่อสร้างที่ชัดเจน ว่าอาคารแต่ละหลังมีมูลค่าการก่อสร้างเท่าไร ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้รับคำชี้แจงจากหน่วยงานเจ้าของโครงการแต่อย่างใด

 

Cover Photo: rungsrit.kanjanavanit / facebook

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising