×

กกร. ห่วงสงครามยืดเยื้อ-ปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต-เศรษฐกิจจีนชะลอ ฉุดส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี

01.06.2022
  • LOADING...
กกร.

กกร. กังวลสงครามยืดเยื้อ ปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตและเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ฉุดส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี มองท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวสดใสช่วยขับเคลื่อน GDP แนะภาครัฐชะลอใช้บทลงโทษกฎหมาย PDPA และเร่งประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น 

 

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ในวันนี้ (1 มิถุนายน) มีมุมมองว่าความเสี่ยงจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ, ปัญหาอาหารขาดแคลน, ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง, การขาดแคลนสินค้าสำคัญใน Supply Chain ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลายธนาคารกลาง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ GDP อาจจะขยายตัวเพียง 4.5% อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง และอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 

 

“แม้ว่าภาพรวมการส่งออกเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกยังเติบโตได้อยู่ในระดับ 9.9% แต่เราเริ่มเห็นสัญญาณเตือนจากตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่นที่หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเรามองว่าความไม่แน่นอนต่างๆ จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทย เช่น จีนและยุโรป มีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกไทยในช่วงหลังจากนี้คงไม่ได้เติบโตสูงเหมือนในช่วง 4 เดือนแรก” สนั่นกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แม้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะฉุดรั้งกำลังซื้อและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะได้รับแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นชัดเจน ซึ่งคาดว่าเป้าหมายนักท่องเที่ยวปีนี้ที่ตั้งไว้ 6-8 ล้านคน น่าจะเป็นไปได้ 

 

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศมีสัญญาณที่ดี โดยขณะนี้ฟื้นตัวได้แล้วถึงระดับ 80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 ดีกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 70% และในระยะข้างหน้ายังได้อานิสงส์จากการขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพิ่มเติม

 

“การท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของ GDP ในปีนี้ โดยมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นไปตามเป้าที่ 6-8 ล้านคน อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไทยควรให้ความสำคัญคือการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและกำลังซื้อสูงเข้ามา เช่น นักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียและตะวันออกกลางที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันโลก โดยเราคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจากซาอุเข้ามาในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน” สนั่นระบุ

 

สนั่นกล่าวว่า ปัจจัยข้างต้นทำให้ที่ประชุม กกร. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในกรอบเดิม โดยคงประมาณการ GDP ไทยปี 2565 ไว้ที่ 2.5-4.0% และคงประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะยังขยายตัวในกรอบ 3.0-5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.5-5.5%

 

นอกจากนี้ กกร. ยังประเมินว่า วิกฤตอาหารโลกที่รุนแรงขึ้นจนหลายประเทศระงับการส่งออกอาหารในขณะนี้ อาจทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มเติม โดยสงครามยูเครนและรัสเซียที่ยืดเยื้อทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของโลกในภาพรวมลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาอาหารโลกในเดือนเมษายน 2565 ปรับเพิ่มขึ้นถึง 29.8%YoY ทำให้หลายประเทศเริ่มเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร และทำให้กว่า 20 ประเทศใช้มาตรการห้ามส่งออกอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มข้าวสาลี น้ำตาล และน้ำมันพืช 

 

อย่างไรก็ดี โอกาสที่ประเทศไทยจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารมีน้อย เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารยังน้อยกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศ อีกทั้งในปี 2565 มีปริมาณสินค้าคงคลังสำหรับสินค้าอาหารสำคัญเทียบกับความต้องการในประเทศในระดับสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับในอดีต ดังนั้น การที่หลายประเทศตัดสินใจระงับการส่งออก จะเป็นโอกาสของการส่งออกสินค้าของไทย อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามและบริหารจัดการสต๊อกสินค้าเกษตรและอาหารที่ดี รวมทั้งบริหารจัดการไม่ให้เกิดการขาดแคลนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์

 

นอกจากนี้ กกร. ยังมีข้อเสนอแนะในประเด็นอื่นไปยังภาครัฐเพิ่มเติม ได้แก่ 

 

  1. ประเด็น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA ที่มีผลบังคับใช้ในวันนี้ (1 มิถุนายน 2565) ซึ่งหลายฝ่ายยังคงกังวลในแนวปฏิบัติของกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกลงโทษตามบทลงโทษที่รุนแรงตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันกฎหมายลำดับรองกว่า 20 ฉบับยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กกร. จึงได้เสนอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนการไม่ใช้บทลงโทษจนกว่าจะออกกฎหมายลำดับรองที่จำเป็นครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนในการปรับปรุงระบบที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ถูกต้อง

 

นอกจากนี้ ภาครัฐควรเน้นการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้ภาคเอกชนและประชาชนในการศึกษาเตรียมตัวในระยะเวลาที่เพียงพอเหมาะสม ซึ่งจะช่วยทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์และเป็นประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ

 

  1. ขอภาครัฐเดินหน้าประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป โดยเชื่อว่ายิ่งมีการประกาศเร็วก็จะยิ่งส่งผลทางจิตวิทยาให้ประชาชนกล้าเดินทางและจับจ่ายใช้สอยเร็วขึ้น    

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising