×

JPMorgan คาด ตลาดหุ้นอาเซียนรวมทั้งหุ้นไทยจะแกว่งเหมือน ‘บันจี้จัมป์’ ในปีหน้า ‘ดิ่งลงครึ่งแรก ฟื้นแรงครึ่งหลัง’

12.12.2022
  • LOADING...

JPMorgan มองว่าตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวขึ้นลงคล้ายกับ ‘บันจี้จัมป์’ ในปี 2023 โดยอาจจะดิ่งลงในครึ่งปีแรก ก่อนจะพุ่งขึ้นในครึ่งปีหลัง

 

Rajiv Batra นักวิเคราะห์ของ JPMorgan ระบุว่า ตลาดหุ้นในภูมิภาคดังกล่าวมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวโดยดิ่งลงแรงก่อนจะตามมาด้วยการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และตามมาด้วยการดิ่งลงอีกครั้ง ก่อนที่ท้ายที่สุดตลาดจะผ่านจุดต่ำสุดไปได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากกำลังซื้อที่อ่อนแอลงภายใต้นโยบายการเงินที่ตึงตัว เงินออมที่ต่ำลง และต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น

 

JPMorgan คาดว่า ดัชนี MSCI ASEAN ในช่วงครึ่งปีแรกมีโอกาสจะดิ่งลงไปทดสอบจุดต่ำสุดเดิม และอาจจะหลุดลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ได้ หลังจากที่ดีมานด์ของแต่ละประเทศอ่อนแอลง

 

นับแต่จุดสูงสุดของดัชนี MSCI ASEAN ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้นดัชนีดิ่งลง 22% สู่จุดต่ำสุดในเดือนตุลาคม ก่อนที่ดัชนีจะฟื้นตัวได้ราว 10% จากความหวังว่าจีนจะกลับมาเปิดประเทศ และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

 

ดัชนีดังกล่าวคำนวณจากหุ้นขนาดใหญ่และขนาดกลางของ 6 ประเทศ รวม 170 บริษัท ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

 

ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ถูกคาดหวังว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายพุ่งขึ้นไปถึง 5% ในเดือนพฤษภาคม 2023 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี

 

อย่างไรก็ดี รายงานของ JPMorgan มองว่า ตลาดหุ้นอาจจะสวนทางกับความเชื่อของนักลงทุน โดยตลาดมีโอกาสจะดิ่งลง สะท้อนต่อความเสี่ยง Recession และเมื่อ Recession เกิดขึ้นจริงก็จะเริ่มเห็นการฟื้นตัว

 

เศรษฐกิจที่พึ่งพิงการค้าเป็นสำคัญอย่างสิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตที่ชะลอตัวทั่วโลก รวมทั้งดีมานด์ต่อสินค้าอุปโภคบริโภคที่อ่อนแอลง มากไปกว่านั้น การผ่อนคลายมาตรการด้านโควิดดูเหมือนว่าจะไม่สามารถชดเชยการหดตัวนี้ได้

 

อย่างกรณีของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการหดตัวของการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทำให้นักวิเคราะห์ของ JPMorgan ปรับคาดการณ์ GDP ของไทยลงจาก 3.3% มาเหลือ 2.7% ขณะที่สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่จะเผชิญกับความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก และยังถูกกดดันจากการตัดสินใจขึ้นภาษีสินค้าและบริการจาก 7% เป็น 8%

 

อีกปัจจัยสำคัญที่หลายคนจับตามองคือการกลับมาเปิดประเทศของจีน หลังจากที่รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดหลายด้านก่อนหน้านี้

 

“ผลบวกจากการเปิดประเทศของจีนจะหักล้างไปกับ Recession ที่เกิดขึ้นในตลาดพัฒนาแล้ว” นักวิเคราะห์ของ JPMorgan กล่าว

 

แต่การเปิดประเทศของจีนจะเป็นปัจจัยหนุนต่อการท่องเที่ยวในหลายประเทศ ถือเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศอย่างสิงคโปร์ ซึ่งในปี 2019 นักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวไทยที่มีโอกาสจะเติบโตได้ดีกว่าที่คาดหากจีนกลับมาเปิดประเทศจริง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising