จอห์น ลี (หลี่เจียเชา) เตรียมเข้ารับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของฮ่องกงในวันอาทิตย์นี้ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการลงคะแนนเสียงแบบปิด ซึ่งมีเขาเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียว
การแต่งตั้งลีเป็นผู้บริหารสูงสุดของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงต่อจาก แคร์รี ลัม ที่กำลังจะหมดวาระ ถูกมองในวงกว้างว่าเป็นการเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนในการกระชับอำนาจควบคุมเกาะฮ่องกง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ลีจงรักภักดีต่อรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งบทบาทหนึ่งที่โดดเด่นของเขาคือ การดูแลการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงชาวฮ่องกงที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2019 ซึ่งบางครั้งเป็นการปราบปรามด้วยความรุนแรง
ผู้นำของฮ่องกงได้รับการแต่งตั้งผ่านกระบวนการลงคะแนนแบบปิดโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 1,500 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ภักดีต่อปักกิ่ง
ลี ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าเลขานุการและเจ้าหน้าที่สูงสุดอันดับสองของฮ่องกง ถูกมองมาโดยตลอดว่าเป็นตัวเต็งที่จะเข้ามารับตำแหน่งแทนที่ แคร์รี ลัม ซึ่งประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ลงชิงตำแหน่งในสมัยที่ 2
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลีจะได้รับการสนับสนุนจากปักกิ่ง แต่เขาไม่เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ชาวฮ่องกง สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่เขาดูแลการปราบปรามผู้ประท้วงที่ออกมาชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในปี 2019 โดยลียังคงเดินหน้าสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ต่อไป แม้จะเกิดการประท้วงจนลุกลามกลายเป็นเหตุจลาจล และเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากการสนับสนุนตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และกระสุนจริงเป็นครั้งคราว เพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุม
นอกจากนี้ในปี 2020 เขายังสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่เป็นประเด็นขัดแย้ง โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดให้การประท้วงและความขัดแย้งทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เกือบทุกรูปแบบถือเป็นอาชญากรรม
โดยในขณะที่กฎหมายความมั่นคงถูกมองว่าเป็นการลิดรอนเอกราชของฮ่องกง แต่ลียืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพจากความไร้ระเบียบ แม้การเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายจะเป็นเหตุให้เขาและเจ้าหน้าที่อีกนับสิบคนถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร นอกจากนี้แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งปี 2022 ของลีบน YouTube ถูกบล็อกด้วยเช่นกัน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ลีได้รับการเลื่อนตำแหน่งสู่ระดับผู้บริหารในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความตั้งใจของปักกิ่งที่จะเน้นย้ำความสำคัญเรื่องความมั่นคงในฮ่องกง
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับจีนในปี 1997 ภายใต้ข้อตกลงว่าปักกิ่งจะยังคงให้สิทธิต่างๆ แก่ฮ่องกง เช่น เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการพูด
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์กล่าวว่า สิทธิเหล่านี้ถูกกัดกร่อนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเห็นได้จากการที่ทางการฮ่องกงปราบปรามประชาชนที่เห็นต่าง และการที่ จอห์น ลี สนับสนุนนโยบายของปักกิ่งอย่างแข็งขัน ทำให้เกิดความหวาดวิตกว่าการขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดในฮ่องกงของเขาจะเปิดทางสะดวกให้จีนเข้ามากำกับดูแลดินแดนกึ่งปกครองตนเองแห่งนี้อย่างเข้มงวดมากขึ้นไปอีก
ภาพ: Anthony Kwan / Getty Images
อ้างอิง: