×

จัดการโควิด-19 อัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ: เปิดนโยบายเร่งด่วน 100 วันแรกของรัฐบาลไบเดน สิ่งที่น่าจับตาในปี 2021

28.12.2020
  • LOADING...
โจ ไบเดน

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • โดยทั่วไปแล้ว 100 วันแรกในการทำหน้าที่ประธานาธิบดีจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะผลักดันนโยบายที่ตนต้องการ เพราะการชนะการเลือกตั้งถือเป็นฉันทามติว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่ต้องการการบริหารประเทศแบบที่ประธานาธิบดีคนนั้นได้หาเสียงไว้ 
  • เขาให้สัญญา เขาจะแจกจ่ายวัคซีนทั้งสองตัวที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในคนจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ให้ชาวอเมริกัน 100 ล้านคนภายใน 100 วันแรกของการเป็นประธานาธิบดี
  • แต่การที่ไบเดนและเดโมแครตไม่ได้กุมเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภาสูง ทำให้รัฐบาลของเขาไม่น่าจะสามารถผลักดันนโยบายหลายๆ อย่างที่เป็นความฝันของฝ่ายซ้ายในพรรคอย่างการให้สถานะมลรัฐแก่กรุงวอชิงตันดี.ซี. การปฏิรูปศาลสูง หรือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Green New Deal ได้

เหลือเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนแล้วที่ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตจะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จะยังไม่ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ แต่การต่อสู้ทางกฎหมายนั้นได้จบลงไปเป็นที่เรียบร้อย เมื่อศาลสูงสุดประกาศว่าไม่มีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งกันอย่างที่ทรัมป์และพรรครีพับลิกันกล่าวหา และที่สำคัญคณะผู้เลือกตั้งก็ได้ลงคะแนนเสียงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นการยืนยันว่าไบเดนชนะการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

100 วันแรกคือโอกาสที่ดีที่สุดที่จะผลักดันนโยบาย
โดยทั่วไปแล้ว 100 วันแรกในการทำหน้าที่ประธานาธิบดีจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะผลักดันนโยบายที่ตนต้องการ เพราะการชนะการเลือกตั้งถือเป็นฉันทามติว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่ต้องการการบริหารประเทศแบบที่ประธานาธิบดีคนนั้นได้หาเสียงไว้ ซึ่งธรรมเนียมการพยายามผลักดันนโยบายในช่วง 100 วันแรกนี้ เริ่มมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีแฟรงคลิน เดลานอร์ รูสเวลต์ ที่เขาได้ใช้โอกาสช่วง 100 วันแรกผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า New Deal มาต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจ (The Great Depression)

 

โจ ไบเดน



แต่ 100 วันแรกของไบเดนอาจจะแตกต่างจากประธานาธิบดีคนอื่น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไบเดนแตกต่างไปจากประธานาธิบดีคนอื่นๆ เพราะทรัมป์กล่าวหามาตลอดว่าเขาทุจริตการเลือกตั้ง และชัยชนะของไบเดนเป็นชัยชนะที่ไม่ขาวสะอาด ซึ่งฐานเสียงของพรรครีพับลิกันจำนวนมากเชื่อในสิ่งที่ทรัมป์กล่าวหา และไม่ยอมรับว่าไบเดนเป็นประธานาธิบดีของพวกเขา ซึ่งก็แปลว่าไบเดนจะไม่ได้ฉันทามติเหมือนที่ประธานาธิบดีคนอื่นๆ เคยได้

นอกจากนี้ไบเดนก็ยังไม่สามารถพาพรรคเดโมแครตของเขาชนะที่สภาสูงได้อย่างเด็ดขาด ซึ่ง ณ ขณะนี้พรรคเดโมแครตมีที่นั่งในวุฒิสภา 48 ที่นั่ง ในขณะที่รีพับลิกันมีอยู่ 50 ที่นั่ง และยังเหลือการเลือกที่มลรัฐจอร์เจียอีก 2 ที่นั่งที่จะเลือกตั้งกันในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ ถ้าเดโมแครตชนะทั้ง 2 ที่นั่ง พวกเขาจะมีที่นั่งในวุฒิสภา 50 ที่นั่ง และจะถือว่าเป็นเสียงข้างมากในสภาสูง เพราะในกรณีที่ผลโหวตเสมอกันที่ 50 ต่อ 50 เสียง รองประธานาธิบดีอย่าง คามาลา แฮร์ริส จะเป็นเสียงโหวตตัดสิน (ซึ่งก็แน่นอนว่าแฮร์ริสย่อมตัดสินเข้าข้างเดโมแครต)

ผลโพลตอนนี้ระบุว่า คะแนนเสียงของผู้สมัครจากทั้งรีพับลิกันและโดเมแครตนั้นใกล้เคียงกันมาก ซึ่งก็แปลว่ามีโอกาสที่ทั้งสองพรรคจะชนะ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้เดโมแครตจะชนะการเลือกตั้งที่จอร์เจียทั้ง 2 ที่นั่ง ไบเดนก็ยังไม่สามารถควบคุมสภาสูงได้อย่างเด็ดขาดอยู่ดี เพราะเขาต้องบังคับสมาชิกวุฒิสภาของเดโมแครตทั้ง 50 คนให้โหวตไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในพรรคเดโมแครตก็มีสมาชิกวุฒิสภาที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมอย่างเช่น โจ แมนชิน จากมลรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย และ คริสติน ซินีมา จากมลรัฐแอริโซนา ซึ่งโอกาสที่ทั้งสองคนจะยอมโหวตผ่านร่างกฎหมายที่เสรีนิยมมากๆ นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ผลจากการที่ไบเดนไม่ได้ฉันทามติจากการเลือกตั้งและไม่ได้กุมเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภาสูง ทำให้รัฐบาลของเขาไม่น่าจะสามารถผลักดันนโยบายหลายๆ อย่างที่เป็นความฝันของฝ่ายซ้ายในพรรคอย่างการให้สถานะมลรัฐแก่กรุงวอชิงตันดี.ซี. การปฏิรูปศาลสูง หรือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Green New Deal ได้



โควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ปัญหาหลักของสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ที่ไบเดนจะต้องเข้ามาแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการระบาดของไวรัส ซึ่งก็อาจจะยังเป็นโชคดีของไบเดนอยู่ ที่นโยบายส่วนใหญ่ที่จะนำมาใช้ต่อสู้กับการระบาดสามารถทำได้โดยอาศัยคำสั่งของประธานาธิบดี (Executive Order) โดยที่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ทำให้ความคล่องตัวในการดำเนินนโยบายยังมีอยู่ค่อนข้างสูง

ไบเดนให้สัญญาว่าเขาจะเร่งให้มีการแจกจ่ายวัคซีนไวรัสโควิด-19 ไปสู่ชาวอเมริกันให้เร็วที่สุด โดยเขาให้สัญญาว่าจะแจกจ่ายวัคซีนทั้งสองตัวที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในคนจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ให้ชาวอเมริกัน 100 ล้านคนภายใน 100 วันแรกของการเป็นประธานาธิบดี

นอกจากนี้เขายังจะออกคำสั่งให้ชาวอเมริกันทุกคนสวมหน้ากาก (National Mandate) เป็นเวลา 100 วัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเพิ่มเติมในระหว่างที่มีการแจกจ่ายวัคซีนกันอยู่ (แต่ในทางปฏิบัติหลายคนก็ยังสงสัยว่าไบเดนจะสามารถออกมาตรการบังคับให้ชาวอเมริกันใส่หน้ากากได้อย่างไร) และเขาจะพาสหรัฐอเมริกากลับไปเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกันวางแผนจำกัดการระบาดของโควิด-19 ในระดับนานาชาติ (หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกด้วยเหตุที่ทรัมป์ไม่พอใจที่ผู้อำนวยการขององค์กรมีแนวโน้มจะออกนโยบายตามใจจีน)

อีกหนึ่งนโยบายเร่งด่วนที่ไบเดนสัญญาว่าจะดำเนินการคือการอัดฉีดเงินงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งนโยบายนี้รัฐบาลของทรัมป์ก็ได้ดำเนินการไปแล้วหนึ่งครั้งตั้งแต่มีการระบาดของโรคใหม่ๆ แต่ดูเหมือนว่าการพยายามจะอัดฉีดงบประมาณรอบสองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดจะมีปัญหาจากการเจรจาต่อรองที่ไม่ลงตัวระหว่างเดโมแครตและรีพับลิกัน

ไบเดนจะต้องรับบทบาทเป็นตัวช่วยเจรจาต่อรองระหว่างสองพรรคหลังจากเขาได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งเขาเคยได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเงินช่วยเหลือมูลค่า 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อชาวอเมริกัน 1 คนที่สภาคองเกรสเคยเสนอ (แต่ทรัมป์ไม่เห็นด้วย) เป็นจำนวนที่น้อยเกินไป ซึ่งเราคงจะต้องดูกันต่อไปว่า หลังจากที่ไบเดนได้เป็นประธานาธิบดีเต็มตัวแล้ว เขาจะสามารถเจรจาให้สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาสูงเห็นด้วยกับเงินช่วยเหลือก้อนที่ใหญ่กว่านี้ได้หรือไม่ รวมถึงการช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อม หน่วยงานปกครองท้องถิ่น ค่าเช่าบ้านของผู้มีรายได้น้อย และโครงการประกันการว่างงาน

ในระยะกลาง ไบเดนเคยนำเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า Buy Americans ซึ่งเขาเสนอให้รัฐบาลกลางอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐลงไปในระบบ โดยเขาจะใช้เงินก้อนใหญ่ก้อนนี้ไปลงทุนกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ถนน สะพาน ขนส่งมวลชน พลังงานสะอาด ฯลฯ) โดยมีข้อกำหนดว่าอุปกรณ์ วัตถุดิบ และแรงงานที่ใช้ทั้งหมดต้องจัดซื้อจัดจ้างภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้มีการจ้างงานและเงินสะพัดในประเทศ โดยที่เขาวางแผนที่จะขึ้นภาษีของบริษัทในอเมริกาจาก 21% กลับไปที่ 28% เหมือนเดิม (เหมือนก่อนที่ทรัมป์จะออกกฎหมายลดภาษี) เพื่อที่จะเอาภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นมาใช้จ่ายกับโครงการนี้

แต่ด้วยความที่ไบเดนไม่ได้ครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภาคองเกรส ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าเขาจะต้องเจรจาและประนีประนอมกับพรรครีพับลิกัน เป็นไปได้ว่าวงเงินที่เขาผลักดันออกมาได้น่าจะเป็นก้อนที่เล็กกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพื่อที่จะได้ไม่ต้องขึ้นภาษีมากขนาดกลับไปเท่าอัตราเดิม) และรีพับลิกันน่าจะห้ามไม่ให้เขานำเงินก้อนนี้ไปลงทุนกับพลังงานสะอาด

 



นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
ด้วยเสียงที่จำกัดของเดโมแครต นักวิเคราะห์ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าฝ่ายซ้ายจัดในพรรคไม่น่าจะสามารถผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่อย่าง Green New Deal ได้ (ซึ่งไบเดนเองก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับนโยบายที่อาจจะทำร้ายอุตสาหกรรมคาร์บอนแบบนี้แต่แรก) ไบเดนน่าจะผลักดันได้แค่นโยบายเล็กๆ อย่างการกลับเข้าสู่ความตกลงปารีส (Paris Climate Agreement) เพื่อให้สัญญากับประชาคมโลกว่าสหรัฐอเมริกาจะเอาจริงเอาจรังกับการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งถูกยกเลิกไปในสมัยทรัมป์) รวมทั้งกวดขันให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (Environmental Protection Agency) เอาจริงเอาจังกับการตรวจจับผู้ที่ทำการละเมิดกฎหมายรักษาสิ่งแวดล้อม หลังจากสำนักงานฯ ถูกลดงบประมาณและถูกส่งสัญญาณให้ใส่เกียร์ว่างในช่วงรัฐบาลของทรัมป์

นโยบายด้านการอพยพ
นโยบายด้านการอพยพน่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ไบเดนสามารถทำอะไรได้มากพอสมควร เพราะนโยบายที่ออกมาในสมัยทรัมป์นั้นเป็นนโยบายที่ออกมาในรูปแบบของ Executive Order แทบทั้งสิ้น ไม่มีนโยบายใดที่ออกมาเป็นกฎหมายผ่านสภาคองเกรสเลย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแบนการเดินทางเข้าประเทศของพลเมืองของประเทศมุสลิมบางประเทศ นโยบายการแยกครอบครัวของผู้อพยพที่ชายแดน และนโยบายการสร้างกำแพงกั้นเขตแดนประเทศเม็กซิโกโดยอาศัยงบฉุกเฉินของกองทัพ ทำให้นโยบายเหล่านี้สามารถถูกล้มล้างได้โดยง่ายด้วยคำสั่งของประธานาธิบดีคนใหม่

นโยบายที่เป็นประเด็นร้อนที่สุดน่าจะไม่พ้นเรื่องการยินยอมให้ผู้อพยพเข้าเมืองผิดอย่างกฎหมายตั้งแต่ยังเป็นผู้เยาว์ สามารถขอสิทธิพำนักในประเทศและสิทธิในการทำงานได้ ถ้าหากพวกเขาเหล่านั้นไม่มีประวัติอาชญากรรม ซึ่งนโยบายนี้ออกมาในรูปแบบของ Executive Order ในสมัยของ บารัก โอบามา ซึ่งรัฐบาลของทรัมป์ที่มีแนวคิดต่อต้านการอพยพ มีแนวคิดที่จะยกคำสั่งนี้ของโอบามา เพียงแต่ว่าขั้นตอนการออกคำสั่งของทรัมป์ติดขัดปัญหาในทางเทคนิคของกฎหมายบางประการ ทำให้ศาลสูงสุดได้ชะลอคำสั่งนี้ไว้ก่อน ซึ่งแน่นอนว่าพอไบเดนได้มาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่เขาก็จะยกเลิกคำสั่งของทรัมป์เสีย ทำให้ผู้เยาว์เหล่านี้ยังสามารถพำนักอยู่ในประเทศได้ ไม่ถูกเนรเทศกลับไปประเทศของบิดามารดา

ไบเดนยังให้สัมภาษณ์ไว้อีกด้วยว่า เขาจะพยายามจับเข่าคุยกับสมาชิกวุฒิสภาของพรรครีพับลิกันเพื่อดูว่ามีแนวทางใดบางที่พรรครีพับลิกันจะยอมรับร่างกฎหมายที่ยอมให้คนกลุ่มนี้พำนักในสหรัฐอเมริกาได้อย่างถาวร ไบเดนบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขายินดีอย่างมากที่จะประนีประนอมกับรีพับลิกัน เพราะการที่จะเนรเทศคนที่อยู่อเมริกามาตั้งแต่เด็กๆ ที่แทบจะไม่รู้จักประเทศของบิดามารดาตัวเองเลย เป็นเรื่องที่โหดร้ายมาก

และนี่คือนโยบายเด่นๆ ที่ไบเดนเตรียมจะผลักดันในช่วง 100 วันแรก หรือตลอด 1 ปีข้างหน้าหลังเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งเราจะต้องจับตาดูกันต่อว่าจะมีนโยบายไหนบ้างที่ผลักดันได้สำเร็จตามที่หาเสียงไว้

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising