×
SCB Omnibus Fund 2024

ถึงเวลา JD Central แก้เกม! ตัดสินใจรีแบรนด์ครั้งใหญ่ หวังขึ้นชกกับ Shopee และ Lazada ได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยงมากขึ้น

11.06.2021
  • LOADING...
JD Central

เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่ JD Central กระโดดเข้าสู่สังเวียนอีคอมเมิร์ซ แม้ในไตรมาส 1/64 JD Central จะมียอดดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชันโต 94% ยอดขายพุ่ง 80% ยอดการซื้อต่อครั้งโต 40% โดยปีก่อนนั้นมีตัวเลขอยู่ที่ 2,400-2,500 บาทต่อบิล ซึ่งนับว่าสูงมาก

 

ตัวเลขนี้ไม่นับว่าแปลกใจเมื่อสินค้ายอดนิยมมาจากสินค้าที่ล้วนแล้วแต่มีราคาสูงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มียอดขายมากที่สุด ตามด้วยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ส่วนในปีที่ผ่านมา สินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนสุขภาพและความงาม เป็นกลุ่มที่มียอดขายตีตื้นขึ้นมา 

 

ทว่าการเข้ามาทีหลังนักชกที่เป็นเจ้าสังเวียนอยู่แล้วทั้ง Shopee และ Lazada ทำให้วันนี้ JD Central ที่แม้จะมีเบื้องหลังเป็นอีคอมเมิร์ซเบอร์ 2 ของแดนมังกรอย่าง JD.com และเซ็นทรัลกรุ๊ป ซึ่งเป็นยักษ์ค้าปลีกของไทย แต่ JD Central ก็ยังตามหลัง 2 ผู้มาก่อนอยู่มากโข

 

ข้อมูลจาก Ipricethailand ระบุว่า ในไตรมาส 1/64 Shopee เป็นเว็บอีคอมเมิร์ซที่มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ต่อเดือนสูงที่สุดด้วยตัวเลข 51,246,700 ครั้ง ตามด้วย Lazada ที่มีตัวเลข 33,240,000 ครั้ง ขณะที่ JD Central นั้นมีตัวเลขอยู่เพียง 1,853,300 ล้านครั้ง

 

ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดนั้นแม้จะยังไม่มีตัวเลขที่ออกมาอย่างชัดเจน แต่ข้อมูลที่ Priceza ให้ไว้ในช่วงกลางปี 2563 คือ ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 183,300 ล้านบาท โดยส่วนที่ใหญ่สุดคือกลุ่ม E-Marketplace ที่มี Lazada และ Shopee อยู่ในกลุ่มนี้ มีสัดส่วน 47% เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนเพียง 35%

 

และหากนับเฉพาะ E-Marketplace พบว่า Shopee เป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่ง 54% ขณะที่ Lazada มีสัดส่วน 46% หากวัดจากข้อมูลนี้ หมายความว่า JD Central ยังมีส่วนแบ่งที่น้อยมาก 

 

กระนั้น JD Central มองว่า ตัวเองยังมีโอกาสอีกมากในสังเวียนอีคอมเมิร์ซ เพราะจากผลสำรวจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า แม้ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 20% ต่อปี โดยข้อมูลจาก Priceza ระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2563 เติบโตแรงกว่า 81% ด้วยมูลค่า 2.94 แสนล้านบาท สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.2 แสนล้านบาท ส่วนปี 2564 อาจมีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน ตลาดยังคงมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดรีเทลทั้งหมด โดยมีสัดส่วนเพียงแค่ 2.3% ซึ่งนับว่าห่างไกลจากจีนที่มีตัวเลขสัดส่วน 41.2% เกาหลีใต้ 26.2% ญี่ปุ่น 10.1% ขณะที่เพื่อบ้านในอาเซียนด้วยกันอย่างอินโดนีเซียยังมีสัดส่วน 5.3% ส่วนมาเลเซียอยู่ที่ 3.8% 

 

นอกจากนี้ คนไทยที่ช้อปออนไลน์ยังมีสัดส่วนเพียง 8% จากประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีตัวเลข 27.3% ในปี 2563 

 

ถึงจะมีโอกาสอยู่มาก แต่ด้วยตัวเลขที่ยังนับว่าห่างไกลจาก 2 ยักษ์ Shopee และ Lazada ทำให้ JD Central รู้ดีว่าหากจะทำให้ตัวเองนั้นพอฟัดพอเหวี่ยงจำต้องยกเครื่องครั้งใหญ่ ซึ่งได้ก่อลาภ สุวัชรังกูรที่มีประสบการณ์อย่างโชกโชนจาก LINE MAN และ Gojek เข้ามาเสริมทัพ 

 

เดิมทีนั้นกลยุทธ์ของ JD Central จะเน้นทำตลาดด้วยการชูสินค้าเป็นหลัก เห็นได้จากสโลแกน ‘ช้อปของดี การันตีของแท้’ ซึ่งโฟกัสลูกค้าในกรุงเทพฯ และหัวเมืองเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง การชูเรื่องสินค้าอย่างเดียวยังไม่อาจมัดใจผู้บริโภคได้ และหากต้องการได้ลูกค้ามากขึ้นจำต้องขยายไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัดด้วย 

 

ก่อลาภ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด JD Central กล่าวว่า โอกาสของผู้เล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซที่จะทำให้ตลาดนั้นเติบโตมาจากการดึงนักช้อปที่ยังคงช้อปที่หน้าร้านค้าเป็นหลัก หรือที่เราเรียกว่ากลุ่มออฟไลน์ (ช้อปหน้าร้านเท่านั้น) และนักช้อปกลุ่มไฮบริด (ช้อปออนไลน์บ้างแต่ไม่บ่อย และช้อปเฉพาะเว็บไซต์ทางการของแบรนด์) ให้มาซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

 

“การจะเข้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักช้อปนั้นเป็นหน้าที่ของแพลตฟอร์มที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมของนักช้อป ทั้งออฟไลน์ ไฮบริด และออนไลน์ให้รอบด้าน”

 

จากผลสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยกว่า 1,000 คน พบว่า นักช้อปมีความกังวล ‘เรื่องความไว้วางใจ’ เป็นหลัก โดยสิ่งที่นักช้อปกังวล 5 อันดับแรกเมื่อต้องซื้อสินค้าออนไลน์ ได้แก่ 1. สินค้าไม่ตรงปก 79% 2. สินค้าเสียหาย 56% 3. สินค้าปลอม 38% 4. การขนส่งล่าช้า 35% และ 5. การคืนสินค้า 25% 

 

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเผยถึงปัจจัยหลักที่ช่วยในการตัดสินใจซื้อของบรรดานักช้อปกลุ่มออฟไลน์และไฮบริดว่า 1. ดูความนิยมของร้านค้าหรือไปดูสินค้าที่หน้าร้านจริง 2. หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าและบริการ และ 3. ปัจจัยซื้อหลักจากยอดผู้ติดตาม หรือรีวิวจากผู้ใช้งานจริงบนโซเชียลมีเดีย

 

ด้านสถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจรีเทลและอีคอมเมิร์ซในยุคนี้พบว่ามีการแข่งขันกันใน 3 แง่มุม ได้แก่ 1. การแข่งขันด้านความครบครันของสินค้า 2. การสร้างความบันเทิงต่างๆ รวมไปถึง 3. การแข่งขันด้านราคาที่ค่อนข้างดุเดือด

 

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่จะช่วยให้ JD Central เข้ามาแก้เกมของตัวเองได้ จึงเป็นที่มาของการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ใน 3 เรื่องหลักคือ เปลี่ยนสโลแกนมาเป็น ‘จอยชัวร์ ตัวจริง’, ปรับโลโก้ให้ดูร่วมสมัยขึ้น และโปรโมต ‘JOY’ ซึ่งเป็นการ์ตูนที่พัฒนามาจากโลโก้ของ JD Central ให้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ เพื่อสร้างการจดจำเกี่ยวกับแบรนด์ และสร้าง Brand Recall ให้ชัดเจนมากขึ้น 

 

“การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในครั้งนี้เราต้องการเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักช้อปที่ยังติดกับการไปซื้อสินค้าที่หน้าร้าน รวมถึงกลุ่มที่ซื้อสินค้าออนไลน์เฉพาะเว็บไซต์หรือร้านค้าทางการของแบรนด์เท่านั้น”

 

แม่ทัพการตลาดเชื่อว่า การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้จะทำให้ JD Central สามารถสู่กับคู่แข่งได้อย่างแน่นอน และจะทำให้ผู้ใช้งานเติบโตในระดับตัวเลข 3 หลัก โดยที่ไม่ขอเปิดเผยว่าจำนวนผู้ใช้งานในปัจจุบันของ JD Central มีอยู่เท่าไร 

 

สิ่งที่น่าจับตาคือ JD Central วางเป้าหมายที่จะเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุดจากผู้บริโภคผ่านการปรับเกมของตัวเอง ทั้งพัฒนาการขนส่งที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และบริการหลังการขาย ตลอดจนกิจกรรมความบันเทิงที่ดึงเอาดาราและศิลปินชื่อดัง เช่น กลัฟ คณาวุฒิ, เก้า นพเก้า, อัพ ภูมิพัฒน์, อ้น ศรีพรรณ และเหล่าเซเลบชื่อดังที่จะมารวมสร้างสีสันในการไลฟ์ 

 

โดยการไลฟ์นั้นเป็นกลยุทธ์ที่ทั้ง Shopee และ Lazada ต่างทำมาก่อนแล้ว ดังนั้น การปรับกลยุทธ์นี้มาใช้ของ JD Central จะช่วยให้เติบโตได้อย่างใจหวัง แต่ขยับเข้ามาใกล้ยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ได้หรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ก่อลาภกล่าวว่า แม้ JD Central จะมีการศึกษาเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้กับร้านก็จริง แต่ยังไม่สนใจที่จะกระโดดเข้าสู่ธุรกิจการเงินในวันนี้เร็วๆ นี้ ส่วนจะเป็นเมื่อไรนั้นต้องรอดูช่วงเวลาที่เหมาะสมก่อน 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising