×

คนไทยชอบเที่ยวญี่ปุ่นควรรู้ ไม่ใช่ทุกอย่างที่ปรับ ‘ภาษีบริโภค’ เป็น 10%

02.10.2019
  • LOADING...

นับจากวันนี้เป็นต้นไป ‘ภาษีบริโภค’ หรือที่คนไทยรู้กันในชื่อ ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ ในประเทศญี่ปุ่นได้ถูกปรับเพิ่มจาก 8% เป็น 10% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การเพิ่มขึ้นนี้ครอบคลุมถึงสินค้าและบริการส่วนใหญ่ ตั้งแต่อาหาร เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการขนส่งและค่ารักษาพยาบาล 

 

แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดผลกระทบต่อคนญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนไทยที่นิยมไปเยี่ยมเยือนดินแดนซามูไรปีละนับล้านคน (แม้ส่วนใหญ่ของที่ช้อปมาจะได้สิทธิ์ ‘คืนภาษี’ อยู่แล้วก็ตาม) 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สินค้าทุกชนิดที่จะถูกคิด ‘ภาษีบริโภค’ ในอัตรา 10% ไปเสียหมด เพราะในขณะเดียวกัน สินค้าบางรายการจะใช้อัตราเดิม 8% โดยนำไปใช้กับสินค้าอุปโภคบริโภคที่เฉพาะเจาะจงในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ในชีวิตประจำวันบางประเภท 

 

ผลที่ได้คือ สินค้าบางชนิดจะถูกคิดอัตราภาษีที่แตกต่างกัน แม้จะอยู่บนชั้นวางสินค้าเดียวกันในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อก็ตาม แล้วอย่างนี้นักท่องเที่ยวอย่างเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อาหารและเครื่องดื่มแบบไหนถูกคิดภาษี 8% และอันไหนภาษี 10%

 

คำตอบคือ สำหรับอัตราภาษี 8% จะถูกนำไปใช้กับ ‘อาหาร’ ยกเว้น ‘การรับประทานแบบนอกบ้าน’ แล้วอะไรคือ ‘การรับประทานแบบนอกบ้าน’ ที่จะถูกคิดภาษีแพงขึ้นมาอีก 2% รัฐบาลญี่ปุ่นให้คำจำกัดความว่า เป็นการรับประทานหรือดื่มที่ร้านอาหารและร้านกาแฟ ซึ่งรวมถึงสถานประกอบการอื่นๆ ที่มีโต๊ะ เก้าอี้ บาร์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่คล้ายกัน สำหรับให้ลูกค้ากินอาหารที่ซื้อภายในร้าน

 

เทียบให้เห็นภาพ หากเราซื้อชุดอาหารกลางวัน หรือข้าวกล่องในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้า แล้วนำไปกินที่อื่น จะถูกคิดภาษี 8% แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่คุณนั่งกินในร้าน จะถูกคิดภาษี 10% ลักษณะนี้จะใช้กับทุกอย่างที่เป็นแบบ Take Away รวมไปถึงการกินข้าวในศูนย์อาหาร ซื้อกาแฟในร้าน Starbucks หรือซื้อแฮมเบอร์เกอร์ที่ McDonald’s

 

ในขณะที่เครื่องดื่ม แน่นอนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลายถูกคิดภาษีตามอัตราใหม่ ส่วนเครื่องดื่มที่มีรสชาติเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่มีแอลกอฮอล์ จะได้รับภาษี 8% รวมไปถึงบรรดาซอฟต์ดริงก์ เช่น น้ำเปล่าและน้ำอัดลม เป็นต้น

 

อีกอย่างที่นักท่องเที่ยวอย่างเราต้องรู้คือ อาหารและเครื่องดื่มที่สั่งในโรงแรม รวมถึงรูมเซอร์วิส และการใช้ร้านอาหารในโรงแรม จะต้องเสียภาษีอัตรา 10% ใหม่ ส่วนค่าห้องพักนั้นไม่ถือว่าเป็นการ ‘บริโภค’ จึงไม่เข้าข่ายเรื่องนี้

 

ส่วนการเดินทางที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟเพื่อเดินทาง อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษี 10% แต่ถ้าคุณซื้อก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2562 จะยังเป็นอัตราเดิม นี่ยังไม่รวมค่าบริการ ค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวในอัตราภาษีใหม่อีกด้วย

 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X