อากิระ อิริทานิ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นวัย 90 ปี เดินหน้าพยายามฟื้นคืนชีพสัตว์ดึกดำบรรพ์อย่างแมมมอธขนดกตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป้าหมายที่ดูเหมือนจะไม่มีวันเป็นจริงถูกจุดไฟแห่งความหวังขึ้นอีกครั้ง หลังมีการค้นพบซากลูกแมมมอธเพศเมียอายุ 28,000 ปี ที่ใต้ผิวดินที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งแถบไซบีเรีย เมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา ก่อนจะตั้งชื่อให้กับลูกแมมมอธตัวนี้ว่า ‘ยูกะ’
จากงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports เมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า นายอิริทานิและทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการทดลองเบื้องต้นเพื่อกระตุ้นและชุบชีวิตเซลล์ของ ‘ยูกะ’ แล้ว ก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายเซลล์ดังกล่าวด้วยวิธีการถ่ายฝากนิวเคลียส (Nuclear Transfer) ไปยังเซลล์ไข่ของหนูและดูการตอบสนองของเซลล์ต่อไป
ถึงแม้วงการวิทยาศาสตร์จะประสบความสำเร็จไปอีกขั้น แต่การโคลนนิ่งแมมมอธยังถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากเซลล์ของยูกะเองอาจจะไม่ได้แข็งแรงสมบูรณ์พร้อมตามกาลเวลา อีกทั้งยังไม่เคยทำการทดลองนี้ในเซลล์ไข่ของช้างแต่อย่างใด เนื่องจากทีมวิจัยคำนึงถึงจริยธรรมในการทดลอง แต่อย่างไรก็ตาม นายอิริทานิและทีมของเขาจะเดินหน้าทำความเข้าใจเซลล์ของเจ้าสัตว์ขนาดมหึมานี้ต่อไป โดยหวังว่าการเรียนรู้จากอดีตจะช่วยทำให้เราปกป้องสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้นได้
โดยแมมมอธขนดกเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ราวๆ กับช้างแอฟริกันในปัจจุบัน สูญพันธ์ุไปเมื่อราวๆ 4,000 ปีก่อน
“ผมค่อนข้างมีความสุขกับผลการทดลองของเราล่าสุด ราวกับว่ายูกะกำลังรอให้ผมได้ค้นหาเธอให้พบอีกครั้ง”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.nature.com/articles/s41598-019-40546-1
- bgr.com/2019/03/18/woolly-mammoth-cloning-research-japan
- canadianhomesteading.ca/science/scientists-work-on-reviving-a-28000-year-old-woolly-mammoth/8951
- amp.cnn.com/cnn/2019/03/18/health/japan-woolly-mammoth-resurrection-intl/index.html?__twitter_impression=true