×

ญี่ปุ่นออกกฎเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ยกเว้นถุงชีวภาพ แต่ร้านขนาดเล็กกังวลค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า 2 เท่า

21.11.2019
  • LOADING...
ญี่ปุ่นออกกฎเก็บเงินค่าถุงพลาสติก

การที่ขยะพลาสติกมากกว่า 8 ล้านตัน คาดว่าจะไหลเข้าสู่มหาสมุทรทุกปี และก่อให้เกิดมลภาวะไมโครพลาสติก ซึ่งสามารถดูดซับสารเคมีที่เป็นอันตรายและสะสมอยู่ในปลา นก และสัตว์อื่นๆ อีกทั้งผู้บริโภคในยุคนี้ล้วนให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้หลายๆ ประเทศออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่จริงจัง รวมไปถึงญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราใช้ขยะพลาสติกต่อคนมากที่สุดรองจากสหรัฐอเมริกา แต่ได้ล้าหลังประเทศอื่นๆ ในการควบคุมการใช้พลาสติก 

 

ถึงญี่ปุ่นจะบอกว่า ขยะพลาสติก 86% ถูกรีไซเคิล แต่สิ่งที่ ‘รีไซเคิล’ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเผาพลาสติกเพียงเพื่อผลิตพลังงาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น หากจะแก้ปัญหานี้จึงต้องเริ่มแก้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการสร้างขยะพลาสติก

 

รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยจึงได้ออกกฎที่กำหนดให้ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ตลอดจนห้างสรรพสินค้าต่างๆ เก็บ ‘ค่าถุงพลาสติก’ แบบใช้ครั้งเดียว ไม่ให้แจกฟรีอีกต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อลดขยะจากพลาสติก แม้ว่า ‘ถุงพลาสติกจะไม่ใช่สัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในขยะพลาสติก แต่การเก็บเงินจะเป็นสัญลักษณ์’ ของการลุกขึ้นมาจัดการปัญหาอย่างจริงจัง และช่วยปลูกฝังนิสัยในพกถุงของตัวเอง

 

นอกจากนี้ญี่ปุ่นอยากสร้างสังคมผู้บริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ปรากฏขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว โดยการเก็บค่าถุงพลาสติกจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2020 หรือก่อนที่การแข่งขันโอลิมปิกจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน มาตรการนี้ไม่มีการกำหนดราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย ผู้ค้าปลีกแต่ละรายสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเรียกเก็บเงินจำนวนเท่าใด แต่เป้าหมายใหญ่คือ ต้องการลดการใช้ถุงพลาสติกลง 25% ภายในปี 2030

 

แต่ใช่ว่าเป็นถุงพลาสติกแล้วจะต้องจ่ายเหมือนกันหมด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะที่ปรึกษากระทรวงเศรษฐกิจและกระทรวงสิ่งแวดล้อมได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดเก็บถุงพลาสติก โดยได้รับการยกเว้น 3 ประเภท ได้แก่ 

 

  1. ถุงพลาสติกชีวมวลที่มีวัสดุที่ได้จากพืช 25%
  2. มีขนาดความหนา 0.05 มิลลิเมตรขึ้นไป
  3. ถุงพลาสติกย่อยสลายได้โดยแบคทีเรียหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

 

คณะที่ปรึกษาระบุว่า ข้อยกเว้นเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งเสริมทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกับพลาสติก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า ถุงหนามักใช้ซ้ำๆ และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า หากมาตรการนี้กำลังสร้างความแตกแยกในอุตสาหกรรมค้าปลีก เพราะแม้ร้านค้าสะดวกซื้อยินดีรับข้อยกเว้น แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าคัดค้าน อีกทั้งยังมองว่า เสี่ยงทำให้ธุรกิจขนาดเล็กเสียเปรียบจากการดำเนินงานมีความซับซ้อน 

 

คาโฮริ มิยาเกะ เจ้าหน้าที่บริหารของ Aeon เตือนว่า ข้อยกเว้นสำหรับถุงที่แตกต่างกันจะไม่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กและขนาดกลาง การเพิ่มประเภทของถุงที่ใช้จะทำให้เกิดความสับสนที่เคาน์เตอร์ชำระเงิน อีกทั้งห้างสรรพสินค้ามีเวลาไม่เพียงพอที่จะเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะขยายจากเดือนเมษายนเป็นเดือนกรกฎาคม เพื่อให้ผู้ค้าปลีกมีเวลามากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกฎใหม่ก็ตาม

 

นอกจากนี้การที่ระบบใหม่นี้จะกำหนดให้ผู้ค้าปลีกทั้งหมดต้องคิดค่าใช้จ่ายสำหรับถุงพลาสติกโดยไม่คำนึงถึงขนาดธุรกิจ กลายเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เพราะถุงพลาสติกชีวภาพมีราคาสูงกว่าถุงพลาสติกธรรมดาถึง 2 เท่า และเป็นการยากที่จะกำหนดว่าถุงพลาสติกชีวภาพมีจำนวนเท่าใด จึงทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับร้านค้าขนาดเล็กที่จะกำหนดความหนาของถุง

 

แม้สมาคมแฟรนไชส์ญี่ปุ่น ซึ่งนับรวมร้านสะดวกซื้อ จะยินดีในการได้รับการยกเว้น เพราะมีการใช้อยู่แล้ว เช่น 7-Eleven เองที่ใช้ถุงพลาสติกซึ่งทำจากวัสดุพลาสติกชีวภาพ 30% จึงได้รับการยกเว้น และก่อนหน้านี้ได้ประกาศแผนหยุดการใช้ถุงพลาสติกทุกสาขาทั้งหมดภายในปี 2030 ส่วน Lawson ก็กำลังหาทางพัฒนาถุงที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อให้ทันกับแนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อม

 

แต่อย่างไรก็ตาม ร้านสะดวกซื้อเรียกร้องสิทธิ์ในการเสนอถุงฟรี โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและสุขอนามัย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising