ญี่ปุ่น ขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน แม้ว่าในเดือนกันยายนตัวเลขการขาดดุลลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.09 ล้านล้านเยน จากระดับ 2.82 ล้านล้านเยนในเดือนสิงหาคม แต่ก็ยังถือเป็นการขาดดุลที่สูงกว่าระดับ 2 ล้านล้านเยนเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
โดยในเดือนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 45.9% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซ LNG ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 28.9% จากอานิสงส์ของการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และชิปที่เพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ร้านโอมากาเสะทั่วโลกขาดแคลน ‘เชฟซูชิชาวญี่ปุ่น’ แย่งตัวกันอุตลุด ยิ่งได้ภาษาจะถูกเสนอค่าจ้างสูงถึง 2.2 ล้านบาทต่อปี
- ญี่ปุ่นแทรกแซงค่าเงินแล้ว! ครั้งแรกในรอบ 24 ปี หลังเยนอ่อนค่าหลุด 145 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
- โปรดเช็กราคาก่อนจะช็อกตอนจ่ายเงิน! ‘โอมากาเสะ’ ในนิวยอร์กดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 35,000 บาทต่อคน หลังค่าขนส่ง วัตถุดิบ และค่าแรงพุ่งสูงขึ้น
แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ จีน และยุโรปที่เติบโตขึ้น 45%, 17% และ 33% ตามลำดับจะดูเหมือนเป็นข่าวดีของญี่ปุ่น แต่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า การขาดดุลการค้าที่ลากยาวติดต่อกันหลายเดือนของญี่ปุ่นอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นจะฉุดรั้งการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกัน การขาดดุลยังจะเพิ่มแรงกดดันในฝั่งการอ่อนค่าให้กับค่าเงินเยนอีกด้วย
“การขาดดุลการค้าจะเพิ่มความตึงเครียดให้กับเศรษฐกิจ ไม่เฉพาะนโยบายการเงินของญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะเพิ่มแรงกดดันในฝั่งอ่อนค่าให้กับเงินเยน การขาดดุลการค้าก็มีส่วนเช่นกัน ยิ่งขาดดุลสูงขึ้นก็ยิ่งสะท้อนว่าอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังถดถอยลง” Takeshi Minami นักเศรษฐศาสตร์จาก Norinchukin Research Institute กล่าว
ญี่ปุ่นจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อต่อภาคครัวเรือน โดยนายกรัฐมนตรี Fumio Kishida ระบุว่า เขาขยายเวลามาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไปจนถึงเดือนมกราคมเป็นอย่างน้อย และจะออกมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า นอกจากนี้ จะมีการออกมาตรการอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติออกมาเพิ่มเติมอีกด้วย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะใช้เงินราว 1 หมื่นล้านเยนเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าของภาคเอกชนโดยอาศัยจังหวะที่เงินเยนอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบให้กับสินค้าญี่ปุ่น
อ้างอิง: