×

ญี่ปุ่นผลักดัน ‘เซมิคอนดักเตอร์’ สุดทาง หวังกู้บทบาทหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเทคโนโลยีโลก ท่ามกลางความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ

24.07.2023
  • LOADING...
ชิป

ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งลามไปยังการส่งออกชิปทั่วโลก ญี่ปุ่นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เล็งเห็นโอกาสในวิกฤต และกำลังผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยการส่งเสริมของภาครัฐจนถึงการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ห่วงโซ่อุปทาน ญี่ปุ่นมุ่งมั่นที่จะสร้างเรื่องราวใหม่ และยึดตำแหน่งในฐานะหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง

 

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษปี 1980 ญี่ปุ่นเคยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยความสามารถของ Akio Morita ผู้ร่วมก่อตั้ง Sony และบุคคลอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญได้นำพาให้ญี่ปุ่นสามารถผลิตชิปในรูปแบบของตนเอง ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เช่น นวัตกรรมการจ่ายไฟฟ้าให้แก่เครื่องคิดเลข Casio เครื่องเล่นเกมของ Nintendo และเครื่องเล่นเพลงพกพาระดับตำนานอย่าง Sony Walkman

 

ชิปซึ่งเป็นหน่วยประมวลผล (Processor) ขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนทุกอย่างตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะในยามที่เกิดปัญหาการขาดแคลนทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ชิปมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทต่างๆ พึ่งพาการสนับสนุนจากต่างชาติเป็นอย่างมากเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศไปอีกขั้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

จากตัวอย่างการลงทุนมหาศาลของสหรัฐฯ และจีน ทำให้ญี่ปุ่นตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากชิปภายในประเทศ 3 เท่า ภายในปี 2030 และอัดฉีดงบลงทุนจำนวน 6.8 พันล้านดอลลาร์ เพื่อผลักดันเป้าหมายดังกล่าว พร้อมด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าแผนที่วางไว้จะลุล่วงไปด้วย

 

สำรวจห่วงโซ่อุปทานและตลาดของญี่ปุ่น แม้ไม่ใช่ผู้นำแต่อยู่ในทุกส่วนของเซมิคอนดักเตอร์

 

แม้ปัจจุบันญี่ปุ่นจะไม่ใช่ผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อีกต่อไปแล้ว แต่ยังคงเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอยู่เสมอ โดยเป็นประเทศที่ผลิตอุปกรณ์พิเศษมากกว่า 1 ใน 3 ที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก และยังผลิตวัตถุดิบมากกว่าครึ่งที่ผลผลิตโลกต้องการ ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญมากมายในอุตสาหกรรมชิป ทั้งเป็นฝ่ายผลิตและลูกค้าคนสำคัญ 

 

หากพิจารณาจากบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรกของประเทศ นั่นคือ Toyota, Sony และ Keyence ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหล่านี้ล้วนถูกสร้างขึ้นโดยใช้ชิปทั้งสิ้น 

 

Keyence ผลิตอุปกรณ์ตรวจสอบ (Censor) และระบบวิชัน (Vision System) สำหรับโรงงาน ขณะที่ผลิตภัณฑ์หลักของ Sony คือเครื่องเล่น PlayStation 5 และเซ็นเซอร์ภาพ ส่วน Toyota ไม่สามารถจัดส่งรถยนต์รุ่นล่าสุดได้ หากไม่มีเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ต้องอาศัยการทำงานของเซมิคอนดักเตอร์

 

นอกจากแบรนด์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกแล้ว ญี่ปุ่นยังมีกลุ่มซัพพลายเออร์ที่ขาดไม่ได้สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ได้แก่ Ushio คิดค้นเลเซอร์ในการผลิตแสงที่มีความยาวคลื่นใกล้เคียงกับรังสีเอ็กซ์ ซึ่งผู้ผลิตชิปพึ่งพาในการตรวจหาข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้น Lasertec เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์รายเดียวในโลกที่ทดสอบสเตนซิลสำหรับการออกแบบชิปขั้นสูงสุด เครื่องจักรของ Disco สามารถบดเวเฟอร์ซิลิคอนให้บางจนเกือบโปร่งใส JSR จัดหาสารเคมีที่จำเป็นสำหรับการผลิตชิปด้วยเกณฑ์ความบริสุทธิ์ที่สูง

 

SoftBank เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่โดดเด่นในวงการเซมิคอนดักเตอร์ทางอ้อมเนื่องจากเป็นเจ้าของบริษัทที่ชื่อว่า Arm ผู้ออกแบบชิปในสหราชอาณาจักร นับเป็นเพชรเม็ดงามและครองตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดเพียงตำแหน่งเดียว 

 

Arm ก่อตั้งขึ้นในปี 1990 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง Acorn, Apple และ VLSI ก่อนที่ SoftBank จะเข้าซื้อกิจการในปี 2016 ด้วยมูลค่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน Arm เป็นผู้นำตลาดในการให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ทั่วโลก ได้แก่

 

95% ของสมาร์ทโฟน

63% ของอุปกรณ์ Internet of Things

24% ของรถยนต์

5% ของเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์คลาวด์

 

แม้ไต้หวันและเกาหลีใต้จะครองแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญทั้งหมด แต่การดำเนินการจะยากขึ้นหากไม่มีญี่ปุ่น เนื่องจากการจัดหาวัสดุและเครื่องมือที่จำเป็น รวมถึงความต้องการชิปและเงินทุนล้วนมาจากญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงยังไม่กล้าที่จะแสดงท่าทีอึกทึกครึกโครมในเวทีการค้าโลกมากนัก นอกจากนี้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เน้นตลาดในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้วยประชากรถึง 125 ล้านคน และถือว่ายังเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก

 

เปิดแผนรัฐบาลญี่ปุ่น พร้อมผลักดันเต็มกำลังเพื่อให้ชิปเป็นดาวเด่นของตนอีกครั้ง

 

เห็นได้ชัดว่า ญี่ปุ่นยังคงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ทำให้รัฐบาลมีความกระตือรือร้นที่จะกระตุ้นอุตสาหกรรมชิปอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าอุปทานมีเสถียรภาพ ดังที่เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของทางการญี่ปุ่นภายใต้นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ 

 

ตัวอย่างเช่น การหารือกับบริษัทชิปชั้นนำทั่วโลกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเกิดการลงทุนมากกว่า 2 ล้านล้านเยน (1.4 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นแผนของบางบริษัทที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2021 หลังจากญี่ปุ่นตั้งเป้าว่าจะมีการจัดหาส่วนประกอบที่สำคัญอย่างมีเสถียรภาพโดยไม่ต้องพึ่งพาจีน และหนุนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

 

บริษัทชิปทั่วโลกส่งสัญญาณพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่น Micron Technology กล่าวว่า บริษัทวางแผนลงทุนสูงถึง 5 แสนล้านเยนในญี่ปุ่นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รวมถึงการสร้างสายการผลิตชิปหน่วยความจำล้ำสมัยที่โรงงานฮิโรชิมา Applied Materials มีแผนจ้างวิศวกร 800 คนที่ญี่ปุ่น และเพิ่มจำนวนพนักงานในท้องถิ่นโดยรวมประมาณ 60% และ IMEC ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกกล่าวว่า บริษัทตั้งใจที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยในฮอกไกโด

 

แผนเหล่านี้คาดว่าจะไม่เพียงช่วยญี่ปุ่นในการจัดหาชิปที่มั่นคงเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกด้วย จังหวัดคุมาโมโตะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ TSMC กำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่ คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.3 ล้านล้านเยนในช่วง 10 ปีข้างหน้า ตามการประมาณการของภาคเอกชนรายหนึ่ง

 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นประกาศว่าจะแบกรับส่วนหนึ่งของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์เพื่อแลกกับการรับประกัน 10 ปีที่จะต้องทำการผลิตภายในญี่ปุ่น นับเป็นการขยายแรงจูงใจสำหรับการผลิตชิปในประเทศนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย

 

การหยุดชะงักของการจัดหาเซมิคอนดักเตอร์จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยอย่างร้ายแรง ชิปเหล่านี้มีความสำคัญต่อการลดคาร์บอนทั่วโลก และความพยายามในการผลักดันให้เข้าสู่โลกแห่งดิจิทัล เช่นเดียวกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคอมพิวเตอร์ควอนตัม

 

สงครามทางเทคโนโลยีเริ่มก่อตัวรุนแรงมากขึ้น สหรัฐฯ ได้จำกัดการส่งออกที่เกี่ยวข้องกับชิปอย่างเข้มงวดไปยังจีน ส่วนญี่ปุ่นและยุโรปก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ขณะที่จีนตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการเล็งจำกัดการส่งออกแร่หายากที่ใช้ในการผลิตชิป 

 

ในช่วงที่สหรัฐฯ พยายามควบคุมการพัฒนาอุตสาหกรรมชิปของจีน ขณะเดียวกันสร้างห่วงโซ่อุปทานร่วมกับพันธมิตรที่มีคุณค่าร่วมกัน เพื่อหวังลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งหรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ การลงทุนของ Samsung ในญี่ปุ่นนับจากการตกลงทางการทูตกับเกาหลีใต้เมื่อเร็วๆ นี้ ถือว่าได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ปัญหาชิปขาดแคลนจะอยู่กับโลกไปอีกหลายปี ท่ามกลางวิกฤต ประเทศใดจะกอบโกยประโยชน์ได้มากที่สุด ซึ่งดูเหมือนว่าญี่ปุ่นกำลังจะคว้าโอกาสนั้นอย่างสุดความสามารถ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising