×

7-Eleven ญี่ปุ่นขาย ‘คราฟต์เบียร์’ 300 ยี่ห้อ ปรากฏการณ์สะท้อนสวรรค์-นรก ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แดนซามูไร

14.04.2022
  • LOADING...
คราฟต์เบียร์

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • หลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อสื่อญี่ปุ่นเผยแพร่ภาพร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในโยโกฮามา กำลังพยายามเป็นเหมือนสวรรค์ของคนรักคราฟต์เบียร์ ด้วยการทำสถิติเป็น ‘ร้านสะดวกซื้อที่จำหน่ายคราฟต์เบียร์มากที่สุดในญี่ปุ่น’ จึงเทพื้นที่ขายคราฟต์เบียร์มากกว่า 300-500 ยี่ห้อ เพื่อกระตุ้นตลาดในวันที่ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แดนซามูไรลดฮวบเพราะโควิด
  • ปรากฏการณ์นี้สามารถสะท้อนได้หลายมุม หนึ่งในมุมที่ชัดที่สุดคือการต่อสู้เพื่อขายเบียร์ กำลังทวีความอลวนขึ้นสุดขีดในญี่ปุ่น เพราะผู้ผลิตรายใหญ่ต่างเปลี่ยนเป้าหมายจากร้านอาหารมาเป็นคนที่ดื่มที่บ้าน ขณะที่รายเล็กก็ต้องพยายามอยู่รอดให้ได้ในวันที่การดื่มสังสรรค์และการออกไปเที่ยวช่วงเทศกาลวันหยุดยังคงซบเซา
  • ศึกชิงยอดขายเบียร์รอบนี้เต็มไปด้วยความกังวล รายงานมากมายชี้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในญี่ปุ่นมีความกังวลเกี่ยวกับมาตราการงดให้บริการแอลกอฮอล์และห้ามจัดงานขนาดใหญ่ที่ควรจะจบตั้งแต่มีนาคม แต่กลับต้องเพิ่มความเข้มงวดสูงสุดในเมษายน-พฤษภาคม 2022 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยงและไม่แน่นอน แม้แต่บริษัทเบียร์ดั้งเดิมรายใหญ่ยังหาทางหนีด้วยการขยายธุรกิจไปเซกเมนต์อื่น อย่างเช่น Kirin ที่ควักกระเป๋าตั้งบริษัทยา

เป็นเรื่องที่สามารถเล่าได้ยาวสำหรับกรณีของร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กับทางเข้าของอาคารท่าเรือโดยสาร Yokohama Hammerhead ร้าน 7-Eleven สาขานี้ตัดสินใจวางขายเบียร์คราฟต์ประมาณ 300-500 รายการจากทั่วประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น เพื่อปรับตัวในช่วงที่อาคารบนท่าเรือเงียบเหงาเพราะวิกฤตโควิด ทำให้การเทียบท่าของเรือสำราญหดหาย รวมถึงมาตรการปิดทำการชั่วคราว ซึ่งอาจทำให้ร้านอยู่ไม่รอด

 

เพื่อเอาชนะวิกฤตนี้ ไคทาโร นาคายามะ (Keitaro Nakayama) เจ้าของแฟรนไชส์วัย 41 ปีจึงตัดสินใจมุ่งขายเบียร์และ ‘ใช้ประโยชน์จากทัศนียภาพอันงดงามของท่าเรือ’ เพื่อสร้างร้านสะดวกซื้อที่ผู้ใหญ่สามารถเพลิดเพลินได้ โดยวางแผนเพิ่มจำนวนแบรนด์บนชั้นวางในร้านผ่านการเจรจากับผู้ผลิตและผู้ค้าส่ง 

 

และทำให้ร้าน 7-Eleven ของตัวเองเป็นร้านสะดวกซื้อที่จำหน่ายคราฟต์เบียร์มากที่สุดในญี่ปุ่น จนมีการกระจายข่าวแบบบอกปากต่อปากและทางออนไลน์ ส่งให้คราฟต์เบียร์กลายเป็นเสาหลักในธุรกิจของนาคายามะเรียบร้อย

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

ในข่าวของ Mainichi Shimbun ระบุว่าแฟนคราฟต์เบียร์มักเดินทางไปที่ร้านพร้อมแก้วของตัวเอง เมื่อเลือกซื้อเบียร์ที่ชอบได้แล้วก็จะปักหลักดื่มท่ามกลางลมทะเลที่ท่าเรือ โดยไม่ต้องกังวลกับมาตรการจำกัดการรับประทานอาหารในกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากการระบาดรอบใหม่ในญี่ปุ่น

 

คราฟต์เบียร์

 

ศึกชิงยอดขายเบียร์ญี่ปุ่น

สิ่งที่มองได้จากข่าวร้านสะดวกซื้อขายเบียร์มากกว่า 300 ยี่ห้อ คือความคืบหน้าของศึกชิงยอดขายเบียร์ญี่ปุ่น รายงานจากสำนักข่าว The Japan Times ชี้ว่า ความต้องการเบียร์สำหรับงานเลี้ยงสังสรรค์และการออกไปเที่ยวในวันหยุดนั้นยังคงซบเซาท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ยืดเยื้อ 

 

การต่อสู้เพื่อขายเบียร์ยังทวีความรุนแรงขึ้นอีก เมื่อราคาเบียร์ประเภทที่ 1 ปรับตัวลดลงหลังการปรับภาษีสุราในเดือนตุลาคม 2020 ท่ามกลางยอดขายเบียร์กระป๋องจากเซกเมนต์เบียร์ไร้มอลต์หรือเบียร์ประเภทที่ 3 ที่เพิ่มขึ้น จนมีการขึ้นอัตราภาษีตามความต้องการซื้อไปดื่มที่บ้านมากขึ้นในช่วงการระบาด

 

ความเคลื่อนไหวหลักในตลาดเบียร์ญี่ปุ่นช่วงปีนี้เกิดขึ้นเมื่อ Asahi Breweries Ltd. ได้เปิดตัวใหม่หรือรีนิวเบียร์ Super Dry เมื่อกุมภาพันธ์ 2022 

 

การรีนิวอย่างเต็มรูปแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่การเปิดตัวในปี 1987 ถือเป็นการสวนกระแสบริษัทหลายแห่งที่มักจะระมัดระวังไม่ปรับปรุงผลิตภัณฑ์เรือธงซึ่งมีแฟนคลับจำนวนมาก 

 

กระทั่งช่วงต้นมีนาคม 2022 บริษัท Asahi Breweries ยังตัดสินใจจัดตั้งพื้นที่ขายพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในโตเกียว ส่งให้ยอดขายเบียร์ Super Dry ที่หน้าร้านค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 50% เมื่อเทียบกับมีนาคม 2021

 

ฝั่ง Kirin Brewery Co. เลือกที่จะรีนิวเบียร์คราฟต์ Spring Valley Hojun 496 ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว โดยอธิบายว่าเป็นการเปิดโอกาสสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เบียร์กระป๋อง

 

คราฟต์เบียร์

 

เบื้องต้น ฮิเดกิ โฮริกุจิ (Hideki Horiguchi) ประธานบริษัท Kirin Brewery กล่าวว่า ตั้งเป้าให้ Spring Valley Hojun 496 ทำยอดขายเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบเป็นรายปี และจะเติบโตเป็นผลิตภัณฑ์หลักตัวใหม่ หลังจากเบียร์ Ichiban Shibori ได้รับความนิยม

 

ด้าน Suntory Beer Ltd. ก็เปิดตัวเบียร์พรีเมียมมอลต์หลากหลายเวอร์ชัน เพื่อตอบสนองรสนิยมที่หลากหลายของผู้บริโภค ขณะที่ Sapporo Breweries Ltd. ไม่ยอมน้อยหน้า ด้วยการประกาศปรับรสเบียร์แบล็กเลเบิลที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท คู่ไปกับความพยายามกระตุ้นยอดขายด้วยการปรับค่าบริการเว็บไซต์สมาชิกครั้งใหม่ เพื่อการสั่งซื้อเบียร์แบบต่อเนื่อง

 

โควิด ‘ฉุด’ ตลาดเบียร์

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเดียวของการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดเบียร์ญี่ปุ่น เห็นได้จากสื่อญี่ปุ่นที่ฟันธงว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แดนซามูไรกำลังเต็มไปด้วยความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการแก้ปัญหาโควิดรอบล่าสุดของประเทศที่มีต่อการเติบโตของภาคธุรกิจ 

 

โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศให้ 14 จังหวัดในญี่ปุ่นอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินช่วงต้นปี 2022 เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้มีการกำหนดช่วงเวลางดบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และห้ามจัดงานขนาดใหญ่ ทั้งที่มาตรการเหล่านี้ควรจะถูกยกเลิกในวันที่ 7 มีนาคม แต่กลับต้องขยายพื้นที่มาตรการสู่เมืองใหญ่ เช่น โตเกียว โอซาก้า และฮอกไกโด

 

สื่อญี่ปุ่นระบุว่าภาวะล็อกดาวน์รอบนี้หย่อนความเข้มงวดกว่ารอบปีที่แล้ว เนื่องจากมีการขยายจากการสั่งห้ามร้านอาหารและบาร์หยุดให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลา 20.00 น. มาเป็นเวลา 21.00 น. แทน 

 

คราฟต์เบียร์

 

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของอุตสาหกรรมยังคงคุกรุ่น ซึ่งไม่เพียงธุรกิจรายย่อยจำนวนมาก แต่แบรนด์เบียร์แบบดั้งเดิมรายใหญ่ก็ยังต้องขยายการลงทุนไปสู่เซกเตอร์อื่นที่กว้างขึ้น

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Kirin ที่เทเงิน 1 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.69 หมื่นล้านบาท ลงทุนตั้งบริษัทยาและเฮลท์แคร์ โดยสำนักข่าว Financial Times รายงานว่า การมองไกลไปนอกอาณาจักรเบียร์ครั้งนี้เป็นเพราะการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง

 

โยชิโนริ อิโซซากิ (Yoshinori Isozaki) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Kirin ยอมรับว่าหากธุรกิจกลุ่มเบียร์เติบโตตลอดไป คงจะดีกว่าที่ Kirin จะโฟกัสไปที่เซกเตอร์อื่น เนื่องจากการฝ่าความท้าทายในธุรกิจใหม่นั้นเป็นเรื่องยากมาก 

 

หันไปเติมพอร์ต ‘ธุรกิจอื่น’

สำหรับเงินลงทุน 1 แสนล้านเยน จะทยอยอัดฉีดธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพและเภสัชกรรมในช่วง 3 ปีข้างหน้า ถือเป็นการปฏิวัติครั้งที่ 2 ของ Kirin หลังจากที่เคยแยกตั้งแผนกเภสัชกรรมในช่วงทศวรรษ 1980 มาแล้ว

 

ซีอีโอ Kirin อธิบายเพิ่มว่า บริษัทจำเป็นต้องขยายธุรกิจใหม่ในขณะที่กลุ่มเบียร์ยังแข็งแรง โดยธุรกิจใหม่นั้นเลือกตามแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับสังคมประชากรสูงอายุที่ขยายตัวรวดเร็วในญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดเบียร์หดตัวราว 1 ใน 3 จากจุดสูงสุดในปี 1994 และการระบาดใหญ่ยังเร่งให้เกิดภาวะผู้คนดื่มแอลกอฮอล์น้อยลงไปอีก

 

ในส่วนของ Kirin ซีอีโอเสริมว่าการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน ได้เพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริษัทจึงต้องการเปลี่ยน Kirin ให้เป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้านการบ่มหมัก โดยต่อยอดจากเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตเบียร์ ซึ่งน้ำตาลจะถูกแปลงโดยยีสต์เป็นแอลกอฮอล์ 

 

คาดว่าธุรกิจด้านเทคโนโลยีสุขภาพจะสร้างรายได้ 2 แสนล้านเยนภายในปี 2027 โดยมีอัตรากำไรจากการดำเนินงาน 15% เพิ่มขึ้นจากรายได้ 9.8 หมื่นล้านเยน และกำไรจากการดำเนินงานน้อยกว่า 500 ล้านเยนที่ทำได้ในปี 2021

 

นอกจากนี้ Kirin ยังตั้งความหวังที่จะขยายธุรกิจจำหน่าย LC-Plasma ซึ่งเป็นส่วนผสมสำหรับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยวางแผนจำหน่ายแก่ผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารรายอื่น ล่าสุด Walmart และกลุ่มค้าปลีกในสหรัฐฯ กำลังเตรียมจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมดังกล่าวแล้ว 

 

คราฟต์เบียร์

 

ขณะเดียวกัน Kirin จะขยายการผลิต Citicoline ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เสริมเพื่อช่วยเรื่องความจำ โดยจะสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่เพื่อเปิดดำเนินการภายในปี 2023 สำหรับจำหน่ายในต่างประเทศ 

 

ไม่เพียงความสงสัยว่า Kirin จะสามารถพลิกจากผู้ผลิตเบียร์มาเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้หรือไม่ 

 

แต่นักสังเกตการณ์ยังคงสงสัยในศักยภาพของผู้เล่นทุกรายในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แดนซามูไร ว่าจะฟุบต่อหรือจะฟื้นตัวได้? ยังมีความสงสัยว่าภาพความอลวนเรื่องการดิ้นรนของแบรนด์เบียร์รายเล็กและรายใหญ่จะลงเอยในรูปแบบใด? 

 

ที่สำคัญคือภาวะนี้จะเหมือนตลาดเบียร์ไทยหรือไม่? ทั้งหมดยังเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาช่วยพิสูจน์

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising