×

ขายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ-บุกอีคอมเมิร์ซ ทางออกของผู้ผลิตเบียร์ญี่ปุ่น เพื่อชดเชยความเสียหายจากโควิด-19

21.09.2020
  • LOADING...

ผู้ผลิตเบียร์ของญี่ปุ่นพยายามปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมที่ถูกทำลายจากการระบาดของโควิด-19 โดยการพัฒนาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสนับสนุนร้านอาหารผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งหวังว่าจะเป็นอีกช่องทางที่หารายได้เพิ่มเข้ามาชดเชยที่เสียไปในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา

 

Euromonitor International ประเมินยอดขายเบียร์ทั้งหมดในญี่ปุ่น รวมถึงช่องทางค้าปลีกและอุตสาหกรรมบริการอาหาร คาดว่าจะมีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.7 แสนล้านบาท จะลดลง 20% ใน 2020 เมื่อเทียบกับปี 2019 และแม้จะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 แต่ในปี 2019 ตลาดเบียร์ได้หดตัวลงเป็นปีที่ 15 ติดต่อกัน

 

ขณะนี้ด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่บังคับให้ร้านอาหารและบาร์ต้องปิดหรือลดเวลาเปิดทำการลง ทำให้แนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมเบียร์ 

 

ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม Kirin Holdings ได้ปรับลดประมาณการกำไรจากการดำเนินงานสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันเป็น 1.4 แสนล้านเยน หรือ 4.2 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 1.91 แสนล้านเยน หรือ 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยการเกิดขึ้นของวิกฤตสุขภาพทำให้กำไรสุทธิจากการดำเนินงานรายไตรมาสประจำเมษายนถึงมิถุนายนลดลง 23.1% เหลือ 6.99 หมื่นล้านเยน หรือราว 2 หมื่นล้านบาท

 

“เราจะมุ่งเน้นไปที่หมวดสุขภาพ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ” โนริยะ โยโกตะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Kirin กล่าวในระหว่างการแถลงข่าว เพื่อประกาศผลประกอบการของบริษัทในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งการที่มุ่งไปยังสินค้าที่ดูขัดกับธุรกิจหลักเกิดขึ้นหลังจากการขายสินค้าที่มีส่วนประกอบเป็นแลคโตคอคคัสแลคทิส หรือเชื้อแบคทีเรียที่มีชีวิต ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เท่าในไตรมาสเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ขณะเดียวกันการที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้ Kirin วางแผนที่จะเปิดตัว ‘เบียร์ไร้น้ำตาล (Sugar-Free Beer)’ ในเดือนตุลาคม ภายใต้แบรนด์เบียร์ Ichiban Shibori โดยชูว่าเป็นครั้งแรกของแดนซามูไรที่มีเบียร์ลักษณะนี้ออกมา ซึ่งแม้จะมีอุปสรรคทางเทคนิคครั้งใหญ่ในการพัฒนาเบียร์ที่ปราศจากน้ำตาล แต่ Kirin ก็ย้ำว่าจะใช้เทคโนโลยีที่มีอย่างเต็มที่เพื่อขยายตลาดเบียร์ โดยตั้งเป้าขายให้ได้ 1.2 ล้านกล่องภายในปีนี้ 

 

นอกจากนี้ในเดือนตุลาคมยังเตรียมเปิดตัว ‘ชูไฮ (Chuhai)’ หรือค็อกเทลกระป๋องที่ผสมโชจูกับน้ำผลไม้หรือน้ำเชื่อม โดยชูไฮที่ว่านี้จะปราศจากแอลกอฮอล์ ซึ่งได้พัฒนาร่วมกับ Fancl ผู้ผลิตอาหารเสริมเพื่อสุขภาพซึ่ง Kirin ถือหุ้น 33%

 

ด้านคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่าง Asahi Group Holdings ก็ได้รับแรงกดดันด้านรายได้ เนื่องจากยอดขายจากร้านอาหารและบาร์ร่วงลงเช่นกัน ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นกล่าวว่า กำไรสุทธิจากการดำเนินงานในไตรมาสสิ้นสุดเดือนมิถุนายนลดลง 40.4% สู่ระดับ 5.34 หมื่นล้านเยน หรือ 1.6 หมื่นล้านบาท สำหรับทั้งปี Asahi ประเมินกำไรจากการดำเนินงานลดลง 30.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน

 

“จนถึงปัจจุบันช่องทางบริการอาหาร (เช่น ร้านอาหารหรือร้านกินดื่ม) มีบทบาทสำคัญในการสร้างเทรนด์และการสร้างแบรนด์” โทโมมิ ฟูจิคาวะ นักวิเคราะห์จาก Euromonitor International กล่าว ทว่า วิธีกินอาหารและเครื่องดื่มในร้านแบบเดิมๆ ได้พังทลายลง บริษัทต่างๆ จึงต้องรับมือกับความท้าทายในการเข้าถึงผู้บริโภค โดยที่พวกเขาไม่ได้สัมผัสกับสิ่งใหม่ๆ

 

Asahi ระบุว่า มีแผนที่จะขยายแคมเปญการตลาดบนโซเชียลมีเดีย เพื่อนำเสนอตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์และเบียร์มอลต์ต่ำ (Low-Malt Beer)

 

ขณะที่อีกหนึ่งผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมเบียร์ของแดนซามูไร Sapporo Holdings คาดการณ์ผลกำไรจากการดำเนินงานในปีงบประมาณปัจจุบันจะอยู่ที่ 1 พันล้านเยน หรือราว 297 ล้านบาท ลดลง 91.5% จากปีก่อน เพราะแม้ว่าความต้องการเบียร์และอาหารสำหรับบริโภคในบ้านจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคอยู่บ้าน ทว่า ยอดขายจากร้านอาหารและตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติกลับลดลง

 

เพื่อชดเชยรายได้จากร้านอาหารที่ลดลง Sapporo ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเปิดให้ผู้บริโภคสามารถสั่งอาหารในร้านที่ขายเบียร์ซัปโปโรเพื่อนำมาส่งที่บ้านพร้อมกันได้ ขณะนี้มีร้านอาหารมากกว่า 80 แห่งเข้าร่วม และผู้ผลิตเบียร์หวังว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 100 แห่ง

 

ด้าน Suntory Holdings ซึ่งเป็นผู้ผลิตวิสกี้ พยายามที่จะสนับสนุนร้านอาหารด้วยการเปิดตัวการขาย ‘วอเชอร์ส (vouchers)’ ให้กับผู้บริโภค ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ในอนาคต เพื่อให้ร้านอาหารเหล่านี้มีกระแสเงินสดเพียงพอในระหว่างประคับประคองธุรกิจในช่วงนี้ โดยมีร้านอาหารมากกว่า 11,000 แห่งเข้าร่วม และได้ขายไปแล้วกว่า 143 ล้านเยนในช่วงต้นเดือนสิงหาคม

 

ในช่วง 6 เดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ผู้ผลิตวิสกี้รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีทั้งยอดขายและรายได้จากการดำเนินงานลดลง 10.2% และ 19.7% ตามลำดับ โดย Suntory ยังไม่เปิดเผยถึงการคาดการณ์ผลประกอบการสำหรับทั้งปี 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising