×

เจมส์ เว็บบ์ ถ่ายติดวัตถุคล้าย ‘เครื่องหมายคำถาม’ อยู่ในภาพดาวฤกษ์กำลังก่อตัว

31.07.2023
  • LOADING...
Herbig-Haro 46-47

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ บันทึกภาพพื้นที่ดาวฤกษ์กำลังก่อตัว Herbig-Haro 46/47 สุดคมชัดได้เป็นครั้งแรก แต่ถูกแย่งซีนด้วย ‘เครื่องหมายคำถาม’ ในจักรวาลที่ปรากฏอยู่เบื้องล่างของวัตถุดังกล่าว

 

Herbig-Haro 46/47 เป็นดาวฤกษ์อายุน้อยที่ถูกห้อมล้อมด้วยก๊าซและจานมวลวัตถุที่คอยเพิ่มมวลให้กับดาวฤกษ์อายุน้อยในช่วงของการก่อตัว ที่อยู่ห่างจากโลกไปราว 1,470 ปีแสง ซึ่งความใกล้ดังกล่าวกับความสามารถในการสำรวจช่วงคลื่นอินฟราเรดของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาวัตถุดังกล่าวได้แบบคมชัดกว่าเดิม

 

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดสำคัญที่ชวนให้ตั้งคำถามก็คือเจ้า ‘เครื่องหมายคำถาม’ ที่ปรากฏอยู่ในภาพดูแปลกตาจากวัตถุทางดาราศาสตร์ทั่วไป ราวกับว่ามีใครไปแต้มเติมลงในภายหลัง ทว่านี่คือภาพถ่ายจริงๆ จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศระดับเรือธงของ NASA, ESA และ CSA

 

STScI หรือ Space Telescope Science Institute หน่วยงานที่ดูแลด้านการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ได้เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า “วัตถุดังกล่าวอาจเป็นกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกล ซึ่งอาจมีปฏิสัมพันธ์กันจนบิดรูปของกาแล็กซีให้เกิดเป็นภาพดังกล่าว” พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า “สีแดงของวัตถุบอกให้รู้ว่ามันอยู่ห่างไปไกลมากหรือเต็มไปด้วยฝุ่น และอาจเป็นครั้งแรกที่เราได้มองเห็นวัตถุนี้ด้วย” 

 

นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าวัตถุดังกล่าวคืออะไร โดย STScI แจ้งกับ THE STANDARD ว่า กล้องเจมส์ เว็บบ์ อาจมีการศึกษาวัตถุนี้โดยละเอียดเพิ่มเติม โดย แมต แคปลัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ให้ความเห็นว่า “เมื่อพิจารณารายละเอียดโดยรอบแล้ว นี่อาจเป็นสองกาแล็กซีที่กำลังรวมตัวกันในเบื้องหลัง โดยส่วนบนเป็นดาราจักรที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งกำลังถูกแรงไทดัลจากอีกกาแล็กซีเข้าไปปั่นป่วนจนผิดรูป” โดยได้ตัดความน่าจะเป็นที่นี่คือภาพของดาวฤกษ์ออกไป เนื่องจากมันไม่ปรากฏเป็นรูป 8 แฉกเหมือนกับดาวฤกษ์ดวงอื่นที่เป็นผลจากตัวกระจกของกล้องเจมส์ เว็บบ์

 

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ได้เริ่มทำงานด้านวิทยาศาสตร์มานานกว่า 1 ปี พร้อมกับขยายขอบเขตความรู้ทางดาราศาสตร์ ทั้งการศึกษากาแล็กซียุคแรกเริ่ม ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เนบิวลา และระบบดาวฤกษ์ใกล้เคียง โดยใช้ประโยชน์จากการศึกษาในช่วงคลื่นอินฟราเรดในการช่วยนักดาราศาสตร์ศึกษาจักรวาล

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA, J. DePasquale (STScI)

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising