ครั้งก่อนๆ เราเรียนรู้เรื่องการเลือกแก้วไวน์ที่ถูกต้องกันไปแล้ว แต่ก่อนจะได้ลิ้มลองรสอันเย้ายวนของไวน์ มาตรวจเช็กกันเสียหน่อยว่าคุณเสิร์ฟไวน์ถูกต้องหรือยัง รินเต็มแก้วไม่ดีตรงไหน ต้องเทอย่างระวังแบบเบียร์หรือไม่ แล้วต้องทำอย่างไรล่ะ? เรามีคำตอบให้แล้ว
แก้วเสริมรสไวน์
กาลครั้งหนึ่งในปลายยุค 80s ชายผู้ผลิตแก้วชาวออสเตรียนามว่า จอร์จ รีเดล (Georg Riedel) ได้ทำการปฏิวัติเรื่องการจิบไวน์ขึ้น โดยเขาค้นพบว่าแก้วไวน์แบบเดียวกันนั้นใช้ไม่ได้กับไวน์ทุกประเภท เขาเลยจัดไวน์เทสติ้งที่เจาะจงเฉพาะไปที่การใช้แก้วไวน์ที่แตกต่างกันขึ้นมา และเขาก็พูดถูก เพราะทุกวันนี้เราได้เห็นขนาดแก้วไวน์ที่แตกต่างกันออกไป สิบปีให้หลัง จอร์จได้รับรางวัล Decanter Man of the Year ในสิ่งที่เขาได้เปลี่ยนแปลงโลกของไวน์ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องไปไล่ซื้อแก้วไวน์ต่างชนิดมายกเซต ขอเพียงเลือกแก้วไวน์ที่เหมาะสมกับไวน์ที่คุณจะเสิร์ฟก็เพียงพอ โดยสามารถเปิดอ่านได้จากบทความนี้
เย็นไว้เป็นดี
จำตอนคุณจิบกาแฟที่คิดว่าร้อน แต่กลับเย็นชืดได้ไหม หรือตอนที่โค้กอยู่กลางแดดเกินไปจนอุ่น ไร้ความน่าจิบ? การเสิร์ฟไวน์ก็ไม่ต่างกัน เพราะความสำคัญอยู่ที่อุณหภูมิด้วย และรู้ไหมว่ากลิ่นหอมยวนใจของดอกไม้ที่อยู่ในไวน์นั้นอาจเหือดหายเมื่อไวน์อยู่ในอุณหภูมิที่อุ่นเกินไปอีกด้วย ดังนั้นก่อนเสิร์ฟไวน์ให้หัวหน้าคราวหน้า เช็กก่อนซิว่าอุณหภูมิโอเคไหม
- สปาร์กลิงไวน์ ไวน์รับแขกหรือไวน์เปิดฉลองแสนซ่านี้ควรเสิร์ฟเย็นๆ ที่อุณหภูมิ 4-7 องศาเซลเซียส (ยกเว้นแชมเปญบางชนิดที่ผลิตอย่างดีจนเสิร์ฟได้ในอุณหภูมิเดียวกับไวน์ขาว)
- ไวน์ขาว ควรเก็บและเสิร์ฟในอุณหภูมิราวๆ 6-14 องศาเซลเซียส โดยไวน์ขาวที่เก็บในถังไม้โอ๊กที่มีอายุ ควรจะเก็บในอุณภูมิที่อุ่นกว่าไวน์ขาวที่มีความเป็นเปลือกผลไม้
- ไวน์แดง อร่อยกว่าแน่นอนเมื่อเสิร์ฟเย็นๆ (นี่ไม่ใช่คริสต์มาส ใครต้องการไวน์อุ่นที่ไม่ใส่เครื่องเทศกันเล่า?) แต่ความเย็นที่ว่าไม่ได้หมายถึงเย็นยะเยือก แต่เป็นอุณหภูมิกำลังดีที่ 11-20 องศาเซลเซียส เช่น ไวน์แดงอย่างปิโนต์ นัวร์ หากเสิร์ฟเย็นๆ จะอร่อยกว่า และเหตุผลที่เราไม่เรียก ‘อุณหภูมิห้อง’ ก็เพราะอุณหภูมิห้องในกรุงเทพฯ กับห้องที่สวีเดนย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน ดังนั้นให้ลืมคำว่าอุณหภูมิห้องออกไปเสีย แล้วกำหนดตัวเลขไปเลยเป็นดี
*เคล็ดลับ หากคุณมักเลือกดื่มไวน์ที่ราคาเอื้อมถึงเป็นส่วนใหญ่ แนะนำให้เสิร์ฟแบบเย็นนิดๆ เพื่อความสุนทรีย์ในการดื่ม เนื่องจากสามารถกลบกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่บางคนอาจไม่ชอบได้ และไวน์ที่เก็บจนอุ่นเกิน 21 องศาเซลเซียสอาจเริ่มมีกลิ่นแอลกอฮอล์ชัดขึ้น เนื่องด้วยระดับเอทานอลที่เพิ่มขึ้นภายในขวดเมื่ออยู่ในอุณหภูมิอุ่น ดังนั้นจำไว้ว่า ‘เย็นไว้ก่อนเป็นดี’
เปิดขวดอย่างพิถีพิถัน
แท้จริงแล้วมีที่เปิดขวดไวน์หลายรูปแบบ (แม้คุณจะชอบอันที่พนักงานเสิร์ฟถืออยู่ที่สุดก็เถอะ) แต่เมื่อต้องเปิดเอง เรามักจิ้มปลายแหลมลงไปในหัวจุกแล้วใช้แรงจากแขนดึงออกมา ถูกต้องไหม?
- ควรตัดกระดาษฟอยล์ด้านบนหรือล่างก่อน ซอมเมอลิเยร์มักตัดกระดาษฟอยล์ที่ห่อด้านบนขวดเวลาซื้อโดยไม่ต้องเสียเวลาแกะกระดาษฟอยล์ที่ห่อทั้งหมดออกก่อน อีกทั้งวิธีนี้ยังช่วยไม่ให้ไวน์หกเลอะเทอะตอนที่รินเสิร์ฟด้วย และเราสามารถใช้อุปกรณ์ตัดฟอยล์ด้านบนออกก่อนที่ทำให้ง่ายขึ้น ลองสังเกตตามงานไวน์เทสติ้งดูสิ
- จิ้มที่เปิดตรงไหน พยายามเล็งใกล้ๆ ตรงกลางเพื่อจิกที่เปิดโดยไม่ดันให้ฝาจุกลึกลงไปอีก และอย่ากดลงไปบริเวณขอบจุกนัก เนื่องจากตัวจุกบางส่วนอาจหลุดออกมาจนทำให้เปิดยากขึ้นได้
- ระวังจุกขวดชำรุด ว่ากันว่าโดยปกติมักหมุน 7 รอบจนถึงจุดที่พอจะดึงจุกเปิดออกมาได้ ทั้งนี้ควรระวังการหมุนที่เปิดเข้าไปลึกเกินจนทำให้จุกชำรุดและดึงออกยากขึ้น ไวน์บางประเภทจึงทำจุกปิดที่ยาวกว่าปกติ ทำให้สามารถสอดที่เปิดได้จนสุด
ดีแคนเตอร์ = เพื่อนสนิทไวน์แดง
รู้จัก ‘ดีแคนเตอร์’ กันหรือยัง? ดีแคนเตอร์เป็นเพื่อนสนิทที่เสริมรสของไวน์แดงให้เด็ดสะระตี่ขึ้นอีก กระนั้นเรามักหลงลืมอยู่เรื่อย โดยวิธีเสิร์ฟแบบคลาสสิกดั้งเดิมคือเทไวน์แดงใส่เหยือกแก้วหรือดีแคนเตอร์แล้วปล่อยไว้ 30-45 นาที จากนั้นจึงรินใส่แก้วสำหรับดื่ม แต่ต่อมาเริ่มมีคนตั้งคำถามว่า แล้วเทคนิคนี้เวิร์กกับไวน์ขาวหรือสปาร์กลิงไวน์หรือไม่? คำตอบง่ายมาก อยากรู้ต้องลอง
ทั้งนี้หากไวน์ของคุณเป็นไวน์ราคาไม่สูงที่หาซื้อได้ง่าย การจะเลี่ยงกลิ่นไข่อ่อนๆ หรือกระเทียมสุกอาจเป็นเรื่องยากสักหน่อย (ซึ่งเกิดขึ้นได้กับไวน์หรูเช่นกัน) ซึ่งกลิ่นกำมะถันเล็กๆ อาจไม่ได้แย่เท่าที่คิด เพราะเกิดขึ้นได้เมื่อบีสต์ที่อยู่ในไวน์ไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอในกระบวนการหมักไวน์ที่ทำในปริมาณมาก ซึ่งดีแคนเตอร์เป็นภาชนะที่ช่วยดึงกลิ่นออกมา ทำให้สามารถเปลี่ยนสถานะทางเคมีของกลิ่นเหล่านี้ และทำให้ไวน์นั้นอร่อยยิ่งขึ้นอีกด้วย!
*เคล็ดลับ ลองกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ว่าในไวน์โดยคนเบาๆ ด้วยช้อนเงิน หรือถ้าไวน์ของคุณอยู่ในจอก ลองใส่เครื่องเงินลงไปก็อาจช่วยได้เช่นกัน เก๋ดีไหมล่ะ…
รินแต่พอดี
ไวน์นะ ไม่ใช่เบียร์ ไม่จำต้องรินจนปริ่มแก้ว ควรรินแต่พอดี พอดีที่ว่าคือควรกะปริมาณว่าขวดหนึ่งรินได้ 6-7 แก้ว ดังนั้นก่อนถึงครึ่งแก้วกำลังพอเหมาะ แถมยังเหมาะสำหรับไว้แชร์กับเพื่อนและครอบครัวได้อย่างดี โดยเฉพาะช่วงเทศกาลด้วย
จับที่ก้านแก้ว
เรามักชินการถือแก้วน้ำแบบเต็มๆ มือ แต่แก้วไวน์นั้นแตกต่างออกไป จำได้ไหมที่เราบอกว่าไวน์นั้นอร่อยกว่าเมื่อเสิร์ฟเย็นๆ ดังนั้นการจับแก้วไวน์ควรเน้นจับที่ก้านแก้วเป็นหลัก เพราะถูกออกแบบมาให้อยู่ห่างจากเนื้อไวน์เพื่อการจับที่อุณหภูมิจากมือไปถึงไวน์ได้ยากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นอย่าเป็นคนคนนั้นในงานไวน์เทสติ้งที่ถือแก้วไวน์ด้านบนอย่างกระอักกระอ่วน จับก้านแก้วไว้เสมอเป็นดี
เก็บได้ แต่อย่านาน
โดยมากไวน์จะเสียรสหากเปิดทิ้งไว้ข้ามคืนโดยไม่ปิดฝา แต่เราสามารถเก็บไวน์ที่ดื่มไม่หมดเอาไว้ได้ง่ายๆ เบื้องต้นดังนี้
- ใส่เอาไว้ในตู้เย็น เพื่อให้ความเย็นเก็บสภาพไวน์เอาไว้ให้คงที่ รักษาความสดใหม่ของไวน์เอาไว้เพื่อความอร่อย
- เก็บให้ห่างแสงแดดหรืออากาศอุ่น ดังนั้นการตั้งไว้บนชั้นที่บ้านหรือออฟฟิศอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก (รวมถึงหลังตู้เย็นด้วย…)
แค่นี้คุณก็รู้เรื่องไวน์ขึ้นอีกหน่อย อย่าลืมติดไปใช้ที่งานปาร์ตี้ครั้งหน้าล่ะ ไหนใครอยากได้ไวน์บ้าง?
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan