×

รู้จัก Inverted Yield Curve คืออะไร เป็นสัญญาณเตือนภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงหรือไม่?

29.03.2022
  • LOADING...
Inverted Yield Curve

ไม่กี่วันที่ผ่านมาสถาบันการเงินระดับโลกอย่าง Goldman Sachs ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ณ สิ้นปีนี้เป็น 2.7% ขณะที่บอนด์ยีลด์อายุ 2 ปี ถูกปรับเพิ่มคาดการณ์เป็น 2.9% พร้อมเตือนว่าตลาดบอนด์สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่สภาวะ Inverted Yield Curve หรือการที่เส้นผลตอบแทนพันธบัตรกลับด้านจากปกติ  

 

ไม่เพียงแต่ Goldman Sachs เท่านั้น แต่นักวิเคราะห์และนักลงทุนใน Wall Street ต่างก็พากันปรับมุมมองต่อบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และเริ่มมีการพูดถึงภาวะ Inverted Yield Curve ผ่านหน้าสื่อต่างๆ ในช่วงนี้บ่อยและถี่ขึ้น ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดนักวิเคราะห์และนักลงทุนจึงให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ดังกล่าว บทความนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับปรากฏการณ์ Inverted Yield Curve ว่ามันคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร?

 

Inverted Yield Curve คืออะไร?

Inverted Yield Curve คือ ภาวะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้นสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว ซึ่งถือเป็นภาวะที่ผิดปกติ เนื่องจากโดยทั่วไปเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Yield Curve มักจะมีลักษณะเป็นทางชันขึ้น คือพันธบัตรรัฐบาลที่ระยะยาวกว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น เนื่องจากการลงทุนในระยะยาวมีความเสี่ยงโดยรวมมากกว่าจากระยะเวลาการถือครองพันธบัตรที่นานกว่า เช่น ความไม่แน่นอนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต 

 

อย่างไรก็ดี Inverted Yield Curve อาจเกิดขึ้นได้ในบางช่วงเวลา ในวงการตลาดการเงิน นักลงทุนมักจะติดตามเหตุการณ์นี้โดยดูส่วนต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และอายุ 2 ปี โดยหากมีค่าติดลบแสดงว่าเกิด Inverted Yield Curve ขึ้น

 

Inverted Yield Curve บ่งชี้อะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?

การเกิดขึ้นของ Inverted Yield Curve บ่งชี้ถึงภาวะที่นักลงทุนมีความต้องการลงทุนในพันธบัตรที่อายุยาวมากกว่าพันธบัตรอายุสั้น ส่งผลให้ยีลด์ของพันธบัตรระยะสั้นปรับสูงขึ้นเร็วกว่าพันธบัตรระยะยาว จากสถิติในอดีตที่ผ่านมา Inverted Yield Curve มักจะเกิดก่อนที่เศรษฐกิจจะเป็นขาลงหรือเศรษฐกิจถดถอย หรือเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นมากและสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ ทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นมาก เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และส่งผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับสูงขึ้น 

 

ทั้งนี้ หากนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในช่วงท้ายของวัฏจักรขาขึ้นแล้ว หรือมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอย นักลงทุนจะคาดการณ์ว่าในระยะต่อไปธนาคารกลางจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะย้ายการลงทุนไปเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงมากขึ้นโดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว เพื่อล็อกผลตอบแทนสูงไว้ให้นานที่สุดก่อนที่ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการที่นักลงทุนเน้นลงทุนในพันธบัตรระยะยาวจะกดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลง จนทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวน้อยกว่าระยะสั้นจนเกิด Inverted Yield Curve ได้  

 

Inverted Yield Curve จึงถือเป็นสัญญาณเตือนจากมุมมองของนักลงทุนที่ชี้ว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ได้ในอนาคต

 

Inverted Yield Curve เคยเกิดขึ้นมากี่ครั้งแล้ว?

หากดูสถิติย้อนหลังไปในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า Inverted Yield Curve เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 8 ครั้ง และแทบทุกครั้งก็จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาภายใน 1-2 ปี อย่างไรก็ดี Inverted Yield Curve ก็เคยส่งสัญญาณเตือนที่ผิดพลาดเช่นกัน (False Signal) เช่น ในปี 1982 และ 1998 ที่แม้จะเกิด Inverted Yield Curve แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยตามมาในช่วงนั้น 

 

ดังนั้น Inverted Yield Curve จึงถือเป็นสัญญาณที่ต้องจับตามอง แต่ภาวะดังกล่าวเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้เศรษฐกิจถดถอยเสมอไป นักลงทุนยังต้องพิจารณาตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจอื่นๆ ประกอบด้วย

 

แล้วตลาดบอนด์ไทยมีโอกาสเกิดภาวะ Inverted Yield Curve ตามสหรัฐฯ หรือไม่?

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) วิเคราะห์ว่า โอกาสที่บอนด์ยีลด์ไทยจะวิ่งตามสหรัฐฯ จนเข้าสู่ภาวะ Inverted Yield Curve ในขณะนี้ยังไม่มี เนื่องจากบอนด์ยีลด์ไทยที่วิ่งตามสหรัฐฯ จะเป็นตัวยาว 10 ปี ขณะที่ตัว 2 ปี และ 5 ปี จะวิ่งใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ ดังนั้นถึงแม้ว่าบอนด์ยีลด์ตัวสั้นของสหรัฐฯ จะวิ่งขึ้น ก็จะไม่ทำให้บอนด์ยีลด์ตัวสั้นของไทยวิ่งตาม เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยยังส่งสัญญาณชัดว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

 

ในทางตรงกันข้ามบอนด์ยีลด์ไทยอาจจะมีลักษณะชันขึ้น แต่ผลกระทบในแง่ต้นทุนการกู้ยืมที่ส่งผ่านมาคงมีไม่มาก เพราะภาคเอกชนไทยกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งดอกเบี้ย MLR ก็อ้างอิงกับดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนบริษัทที่ออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในระยะเวลา 3-5 ปี ต้นทุนอาจมีขึ้นตามไปบ้างแต่คงไม่มาก

 

อ้างอิง:

  • ธปท.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X