×
SCB Omnibus Fund 2024

ดอกเบี้ยชะลอขึ้นไม่กระทบหุ้นกู้ คาดปีนี้เอกชนออกอีกทะลุ 1.3 ล้านล้านบาท All Time High ต่อ เหตุภาคธุรกิจตุนเงินลงทุน-วงเงินกู้เต็มเพดาน

05.01.2023
  • LOADING...
หุ้นกู้

ThaiBMA จับตาแนวโน้มดอกเบี้ยปีนี้ชะลอการปรับขึ้น ขณะที่ซีไอเอ็มบีชี้ ไม่กระทบตลาดหุ้นกู้ คาดปีนี้ภาคธุรกิจออกหุ้นทะลุ 1.3 ล้านล้านบาท ทำ All Time High ต่อจากปี 2565 เหตุเอกชนเร่งตุนเงินใช้ขยายธุรกิจ อีกทั้งวงเงินแบงก์เต็มเพดานกู้

 

สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า แนวโน้มการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในปีนี้จะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตามทิศทางดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าแนวโน้มของดอกเบี้ยในปีนี้จะไม่ได้เร่งตัวปรับขึ้นเท่ากับปี 2565 หรืออาจปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา 

 

ส่วนในปี 2565 บริษัทเอกชนมีการออกหุ้นกู้ผ่านตลาดตราสารหนี้ มูลค่ารวมมากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ถือเป็นปีที่การออกหุ้นกู้มูลค่าสูงสุดทำ All Time High โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 

 

  1. บริษัทเอกชนมีการเร่งทยอยออกหุ้นกู้ เพื่อเป็นการล็อกต้นทุนทางการเงินจากทิศทางตลาดดอกเบี้ยที่กำลังเข้าสู่ทิศทางขาขึ้น และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องอีกในอนาคต 

 

  1. นักลงทุนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความสนใจในการลงทุนหุ้นกู้เอกชนที่เพิ่มมากขึ้น

 

ทั้งนี้ หลักการการจัดโครงสร้างทางการเงิน (Financial Structure) ในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนจะมาจากส่วนผสม 3 แหล่ง คือ 

 

  1. ส่วนทุน เช่น การออกหุ้นสามัญ
  2. การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 
  3. การใช้ตลาดตราสารหนี้ 

 

เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินทุนได้ สามารถเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีต้นทุนอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับโครงการลงทุน

 

จึงส่งผลให้มูลค่ารวมของตลาดตราสารหนี้ทยอยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีตลาดมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านล้านบาท ขณะที่ตลาดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์มีมูลค่ารวมประมาณ 18 ล้านล้านบาท และตลาดหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปรวมประมาณ 20 ล้านล้านบาท 

 

“ปี 2565 ที่ผ่านมา เอกชนออกหุ้นกู้รวมกันมีมูลค่ามากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ทำ All Time High ตั้งแต่ก่อตั้ง ThaiBMA มาเป็นเวลา 27 ปี เพราะปีที่แล้วเห็นชัดเจนว่าดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเอกชนเร่งออกหุ้นกู้ เพื่อจะล็อกต้นทุนการเงินให้ต่ำไว้ก่อน เป็นปัจจัยที่ทำให้มีการออกหุ้นมากเป็นพิเศษ”

 

กลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าการออกหุ้นกู้สูงสุด 3 อันดับแรกในปี 2565 ได้แก่

 

อันดับ 1 กลุ่มพลังงาน 

อันดับ 2 อสังหาริมทรัพย์ 

อันที่ 3 สถาบันการเงิน

 

ส่วนกรณีที่ล่าสุด บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้จำนวน 10.65 ล้านบาท เป็นประเด็นที่เกิดเฉพาะบริษัท ซึ่งได้ชี้แจงเหตุผลชัดเจนว่าเกิดจากปัญหาสภาพคล่อง ไม่ได้สะท้อนว่ามีปัญหาของบริษัทเอกชนอื่นๆ เกิดขึ้นตาม

 

กนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ วาณิชธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ประเมินทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปี 2566 จะเริ่มปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเหลือ 2 ครั้ง จากในปี 2565 ที่ผ่านมาที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันจำนวน 4 ครั้ง 

 

ขณะเดียวกันประเมินว่า ภาพรวมของการออกหุ้นกู้เอกชนในปีนี้มีโอกาสที่ออกมามากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ทำ All Time High ใหม่ต่อจากปี 2565 ที่เอกชนออกหุ้นกู้รวมกันมีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของธนาคารซีไอเอ็มบีนั้นคาดว่าจะช่วยลูกค้าบริษัทเอกชนระดมทุนในการออกหุ้นกู้มากกว่า 1 แสนล้านบาท 

 

ปัจจัยสนับสนุนการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนคือ การที่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ได้แก่ กลุ่มพลังงาน, อสังหาริมทรัพย์, สถาบันการเงิน และเทเลคอม จะเริ่มกลับมาเร่งขยายการลงทุนอีกครั้ง หลังชะลอการลงทุนในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด อีกทั้งกลุ่มบริษัทขนาดกลางก็เริ่มหันมาให้ความสนใจใช้ช่องทางการออกหุ้นกู้เพื่อระดมเงินทุนมากขึ้น 

 

ประกอบกับเพดานวงเงินกู้ยืมที่มีกับสถาบันการเงินบางส่วนเริ่มเต็ม ส่งผลให้ต้องหันมาใช้ช่องทางการออกหุ้นกู้แทน รวมถึงยอดการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบอายุ (Roll Over) ของกลุ่มบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งโดยปกติแล้ว บจ. ขนาดใหญ่จะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้เพื่อ Roll Over ไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาทต่อปี อีกทั้งตลาดในฝั่งผู้ลงทุนหุ้นยังขยายขึ้นจากเดิม โดยมีนักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีผู้ลงทุนที่เป็นสถาบัน

 

ด้าน เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า กรณี ALL แจ้งการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้จำนวน 10.65 ล้านบาท ประเมินว่าเป็นประเด็นเฉพาะตัวของบริษัท เนื่องจากหากดูข้อมูลภาพรวมบริษัทอสังหาขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย (Net Gearing Ratio) เฉลี่ยต่ำกว่า 1 เท่า

 

“ภาพรวมบริษัทธุรกิจอสังหาขนาดกลางและขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันถือว่ามีโครงสร้างทางการเงินที่มีความแข็งแรงมาก เพราะมี Net Gearing Ratio เฉลี่ยต่ำกว่า 1 เท่า”

 

ดังนั้นประเมินว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่น่ากังวลที่กลายเป็นโดมิโนลุกลามเป็นวิกฤตหนี้ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising