×

Influencer Marketing ยังคงทรงพลังในยุคดิจิทัล และยังไม่ถึง ‘วันตาย’ ในเร็วๆ นี้สำหรับเมืองไทย

23.04.2024
  • LOADING...
การตลาด อินฟลูเอ็นเซอร์

HIGHLIGHTS

  • แม้จะมีกระแสข่าวว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า การใช้ KOL หรือ Influencer ในการทำการตลาดจะไม่ได้ผลอีกต่อไป แต่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดในไทย เชื่อว่า KOL ไม่มีทางสูญพันธุ์ไปจากวงการการสื่อสารการตลาดแน่นอน เพราะผู้บริโภคยังคงมองว่า KOL และ Influencer เปรียบเสมือนเพื่อน และเชื่อถือพวกเขามากกว่าการดูโฆษณาทั่วไป
  • แนวโน้ม Influencer Marketing กำลังเปลี่ยนจากการสร้างการรับรู้ไปสู่ Affiliate Marketing มากขึ้น โดยที่ KOL จะทำหน้าที่รีวิวสินค้าและนำเสนอลิงก์ให้ผู้บริโภคซื้อโดยตรง ซึ่งแบรนด์เองก็พยายามหาวิธีใช้ประโยชน์จาก KOL ในรูปแบบนี้เพิ่มขึ้น เพื่อผลักดันยอดขายให้เพิ่มสูงขึ้น
  • หัวใจสำคัญของ Influencer Content คือ ต้องดูจริง เป็นธรรมชาติ และน่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้บริโภคเชื่อว่า KOL ได้ทดลองใช้สินค้าจริงๆ ไม่ใช่แค่พูดเพราะถูกจ้างมา ดังเช่นกรณีของ ลิซ่า BLACKPINK ที่เมื่อถือยาดมหรือลาบูบู้ก็ทำให้ยอดขายของสินค้าเหล่านั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะดูเป็นธรรมชาติ เหมือนเธอใช้ของเหล่านั้นจริงๆ
  • แม้วงการ Influencer จะมีการแข่งขันสูง แต่ KOL ที่พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นำเสนอคอนเทนต์ที่โดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมให้แบรนด์มาควบคุมเนื้อหาของตัวเองมากเกินไป ก็จะสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน เพราะแบรนด์ก็ยังคงต้องพึ่งพาพลังของ Influencer ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่ดี
  • แม้จะมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นในวงการ Influencer Marketing แต่แนวโน้มและข้อมูลต่างๆ ก็ชี้ให้เห็นว่า Influencer Marketing ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่แบรนด์ในไทยไม่มีทางมองข้ามได้ในยุคดิจิทัล หากแต่ต้องปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมและเลือกร่วมงานกับ Influencer ที่มีคุณภาพและตรงกับแบรนด์ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา มีหนึ่งโพสต์ใน Facebook ที่สร้างความสนใจให้กับผู้คนทั่วไปรวมถึงนักการตลาดจนมียอดแชร์นับหมื่นครั้งคือ โพสต์ของของ ‘นาฟิส อิสลาม’ ที่ได้ระบุว่า ‘อีก 2 ปี การใช้ KOL หรือ Influencer ในการทำแบรนด์จะไม่ไหวอีกแล้ว’ 

 

โพสต์ดังกล่าวเป็นการบอกเล่าผ่านมุมมองของนาฟิสที่ได้พูดคุยกับนักธุรกิจจีนถึงการใช้ Influencer ในแดนมังกรที่สามารถสรุปได้อย่างสั้นๆ ว่า อีกไม่นานเทรนด์นี้กำลังจะจางหายไปแล้ว

 

แน่นอนนี่ถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นที่มาของคำถามว่า แล้วในบ้านเรา Influencer จะหายไปหรือไม่ ท่ามกลางการประเมินถึงตัวเลขเม็ดเงินที่แบรนด์ต่างๆ หันมาใช้มากขึ้น เพื่อทดแทนสื่อในรูปแบบเดิมๆ ที่อาจไม่ได้ตอบโจทย์อีกแล้ว ทว่า Influencer นั้นกลับเป็นเครื่องมือโปรโมตสินค้าเจาะเข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดและครอบคลุมมากกว่า 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สำหรับนิยามของ KOL ย่อมาจาก Key Opinion Leader หรือเรียกง่ายๆ ว่าคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีความน่าเชื่อถือในด้านใดด้านหนึ่งในโลกออนไลน์ และมีผู้ติดตามบนแพลตฟอร์ม Facebook, Instagram, Twitter, YouTube จำนวนมาก ที่สำคัญ KOL จะมีผู้ติดตามเป็นกลุ่มที่มีความชอบเฉพาะเจาะจง แตกต่างจาก Influencer ที่มีกลุ่มเป้าหมายและผู้ติดตามที่หลากหลายมากกว่า 

 

เอเจนซีย้ำ KOL ไม่มีวันสูญพันธุ์แน่นอน!

 

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า KOL มีมานานตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันกำลังร้อนแรง ในมุมมองของเอเจนซีเองยังมองว่ายังไง KOL ก็ไม่มีวันสูญพันธุ์หรือหายไปจากการสื่อสารทางการตลาด 

 

 

เนื่องจากคนส่วนใหญ่มอง KOL หรือ Influencer เป็นเหมือนเพื่อน ไม่ใช่การดูโฆษณา และวันนี้ถ้าเรายังฟังเพื่อนอยู่ ทั้งสองก็ยังสำคัญที่แบรนด์จะใช้ทำการตลาด

 

พอย้อนกลับไปดูหลาย 10 ปี ที่ผ่านมา KOL เองก็อยู่ในรูปแบบของดารา และโฆษณาส่วนใหญ่ไปปรากฏอยู่ในสื่อดั้งเดิมมากกว่า แตกต่างจากปัจจุบัน ด้วยการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มต่างๆ โลกกลายเป็นดิจิทัล ทุกคนจึงสามารถสร้างตัวเองให้เป็น KOL ได้ง่ายผ่านการนำความชอบของตัวเองมาสร้างคอนเทนต์ สร้างรายได้ในช่องทางต่างๆ จนเกิดผู้ติดตามจำนวนมาก ที่ผ่านมาจะเห็นที่ฮอตมากก็คือ แพรี่พาย บิวตี้บล็อกเกอร์ ทุกวันนี้ก็ยังฮอตในกลุ่มความสวยความงามอยู่

 

ปัจจุบัน KOL แจ้งเกิดกันมากขึ้น

 

ด้วยเหตุนี้ในอนาคต ไม่มีทางที่ KOL จะล้มหายตายจากไป เพียงแค่อาจเปลี่ยนรูปแบบ เพราะวันนี้ KOL เกิดขึ้นเยอะมาก โดยประเภทของ Influencer ได้แก่

 

  1. Macro Influencer: Influencer ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน เหมาะสำหรับการเพิ่มการรับรู้แบรนด์
  2. Micro Influencer: Influencer ที่มีผู้ติดตามระหว่าง 10,000 ถึง 1 ล้านคน เหมาะสำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นการมีส่วนร่วม
  3. Nano Influencer: Influencer ที่มีผู้ติดตามน้อยกว่า 10,000 คน เหมาะสำหรับการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ

 

และยังรวมไปถึงดาราก็มาเป็น Influencer เพราะฉะนั้นจึงมีทุกระดับเลย 

 

แต่เทรนด์กำลังจะเปลี่ยนไปจากที่สร้างการรับรู้ไปสู่ ‘Affiliate Marketing’ แทน นั่นเพราะ “ทุกคนอยากหารายได้ โปรแกรมก็ทำง่าย เพียงแค่นำสินค้ามาติดตะกร้าแล้วรีวิวก็สามารถขายได้ มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ แต่ที่แน่ๆ แบรนด์มาร์เก็ตเตอร์ก็หาวิธีใช้ประโยชน์จาก KOL มากขึ้น”

 

เราจึงได้เห็น Affiliate Marketing ในทุกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ จนแม้แต่ 7-Eleven ยังอดไม่ได้ที่จะใช้หมากนี้เป็นเกมการตลาดของตัวเองด้วย 

 

 

กระนั้น ภวัตมองว่า อีกด้านหนึ่งก็เป็นความท้าทายให้กับแบรนด์เหมือนกัน เพราะคอนซูเมอร์รู้แล้วว่าคอนเทนต์ไหนคือโฆษณา ยกตัวอย่าง ญาญ่า อุรัสยา และ ณเดชน์ คูกิมิยะ โฆษณาสินค้าหนึ่งตัว แฟนคลับก็รู้ว่าคือโฆษณา ซึ่งไม่ใช่ว่าโฆษณาไม่ดี แต่ก็ได้แค่สร้างการรับรู้ ขณะที่ Influencer ดันทำหน้าที่ได้ดี ช่วยเรื่องความเชื่อ ความสนใจ หรือเรียกง่ายๆ ว่าทำให้ลูกค้าโดนป้ายยาได้ง่าย สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของ Influencer

 

การตลาดแบบ KOC จะเข้ามามีบทบาทมากกว่าหรือไม่?

 

หลังจากโพสต์เรื่อง Influencer แล้ว ต่อมาในมุมมองของนาฟิสได้ระบุอีกว่า การตลาดที่จะเข้ามาแทนที่ Influencer คือ ‘การตลาดแบบ KOC (Key Opinion Consumer)’ หรือพูดง่ายๆ คือ การขายแบบปากต่อปากจากลูกค้าด้วยกันเอง

 

ในเรื่องนี้ ภวัตฉายมุมมองว่า ในตลาดบ้านเราคนเป็น KOC ชัดเจนมานานแล้ว เพียงแต่เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว สมัยที่เราทำมือถือแบรนด์จีนที่เข้ามาทำในเมืองไทย คนจีนจะไม่เรียกว่า Influencer หรือ KOL เขาเรียกว่า KOC อยู่แล้ว ก็คือเขาจ้าง Influencer ที่อาจไม่ใช่ระดับดารามารีวิวสินค้า โดยนำตัวเองเข้าไปผูกกับแบรนด์ สื่อสารถึงกลุ่มลูกค้าว่าฉันใช้สินค้าดังกล่าวแล้ว แต่ในความเป็นจริงก็อาจใช้งานจริงหรือไม่ได้ใช้จริงก็ตาม

 

ทั้งนี้ในเมืองจีนมีการพูดกันมาหลายปี เพราะสมัยก่อนเขาเชื่อว่าดาราก็คือดารา ถ้าจะซื้อของที่มีดารามารีวิวคนจีนจะซื้อเพราะชอบดาราคนนั้น แต่เวลาคนจีนทำการตลาดไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ สมัยก่อนนอกจากจะใช้ดาราในการสร้างแบรนด์แล้วยังนำผู้บริโภคที่ใช้จริงมาพูดด้วย 

 

คนจีนเลยมีความเชื่อว่า ฉันรู้จักแบรนด์จากดาราหรือโฆษณาโดยแบรนด์ แต่หลังจากนี้จะมีการตัดสินใจซื้อหรือไม่นั้นก็จะพิจารณาจากเสียงของผู้บริโภคที่ใช้งานจริง 

 

นิยามของคำว่า KOC นั้นเป็นกระบอกเสียงของคอนซูเมอร์โดยตรง

 

ดังนั้นสรุปแล้ว KOC ก็คือ Influencer ในปัจจุบันของเรา ไม่มีความต่างกัน เพียงแต่ว่าที่ต่างกันเป็นเชิงคำพูดที่ชัดเจนว่า KOL เป็นผู้มีบทบาทและมีอิทธิพลทางความคิด เช่น ถ้าหมอมาบอกว่ายาตัวนี้ดีนะ เราจะเชื่อ เราจะวิ่งไปซื้อมากิน ถ้าหมอบอกว่าห้ามกินน้ำมันมะพร้าวนะ กินแล้วเดี๋ยวไขมันพอกตับ เราจะเชื่อและไม่กินน้ำมันมะพร้าว 

 

ขณะเดียวกันถ้ามีผู้บริโภคมาบอกว่าหยุดกินน้ำมันมะพร้าวแล้วค่าตับฉันดีขึ้น ชัดเจนเลยว่าผู้บริโภคคนนั้นก็คือ KOL แม้อาจไม่ได้กินจริงๆ แต่เป็นคนสูงวัยที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายพอดีที่ถูกจ้างมาพูด คือจะมีความเหลื่อมล้ำกัน ประเทศไทยเป็นสมรภูมิการปราบเซียนกันระหว่าง KOL กับ KOC จึงผสมและมั่วกันไปหมด 

 

หรือแม้แต่ทุกวันนี้ เราเปิดเข้าไปใน TikTok ทุกคนพยายามพูดว่าตัวเองเป็น KOC หมดเลย หรือแม้แต่ดาราออกมารีวิวสินค้า จริงๆ แล้วนั้นคือ KOC เพียงด้วยภาพลักษณ์คนไทยก็คิดว่าเขาเป็นดาราอยู่ดี

 

“เรียกได้ว่า KOC จริงๆ ก็คือกระบอกเสียงของคอนซูเมอร์ที่ออกมาสื่อสารว่าสินค้าที่ใช้อยู่ดี ซึ่งจะสามารถทำให้คนเชื่อได้” 

 

คอนเทนต์ต้องเรียลถึงจะชนะใจผู้บริโภค

 

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า หัวใจสำคัญของคอนเทนต์ต้องมีความเรียล ธรรมชาติ เพื่อให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะมาซื้อสินค้าเราเชื่อว่า KOL หรือ KOC ที่แบรนด์จ้างทดลองใช้สินค้าจริงมาแล้ว 

 

“ต้องยอมรับว่าเป็นความท้าทายของนักการตลาดมาก ตอนนี้ Influencer มารีวิวสินค้าเกลื่อนไปหมด แน่นอนว่าอิมแพ็กต์จะลดลง ซึ่งไม่ใช่ว่าตัวเขาแย่ลง แต่เพราะว่าผู้บริโภคเห็นจนเบื่อแล้ว และเข้าใจลึกซึ้งแล้วว่าเป็นการว่าจ้างให้มารีวิวสินค้า” 

 

ก่อนหน้านี้แบรนด์จะใช้วิธีเข้าไปแฝงตัวบนกลุ่มเฉพาะในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่รวมคนที่สนใจในเรื่องนั้นๆ เพื่อหาโอกาสแนะนำสินค้าอย่างเนียนๆ ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง เพราะว่าอะไร ถ้าไปแนะนำมาก แอดมินก็ดีดออกจากกลุ่มเพราะไม่อนุญาตให้โฆษณา 

 

นี่จึงยากมากๆ และเป็นงานละเอียดและศิลปะมากขึ้น เทียบให้เห็นภาพชัดเจนคือในช่วงที่ยาสีฟันเดนทิสเต้ดึง ลิซ่า BLACKPINK มาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาแบรนด์ ถามว่ายอดขายปังไหม เจ้าของแบรนด์อาจบอกว่ายอดขายดีขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งยอดขายดีขึ้นแน่นอน แต่ไม่รู้คุ้มหรือไม่ เพราะลิซ่ามีค่าตัวสูงมาก 

 

 

ที่สำคัญช่วงนั้นจะเห็นลิซ่าทุกสื่อเลย แต่ก็ไม่มีความเรียล เพราะลิซ่าเป็นที่รู้จักและโด่งดังในระดับแมสไปแล้ว แฟนคลับลิซ่ารู้อยู่แล้วว่าคือการโฆษณา

 

แตกต่างกับที่ลิซ่าหยิบยาดมหงส์ไทยออกมา ปรากฏว่ายอดขายดีมาก เพราะว่าคนที่เห็นลิซ่าถือยาดมหงส์ไทย เชื่อว่าแบรนด์ไม่ได้จ้างลิซ่า หรือแม้กระทั่งร้านน้ำเต้าหู้เจ๊วรรณ ถนนบรรทัดทอง ที่ลิซ่าเข้าไปกิน ทุกวันนี้ก็แจ้งเกิดในย่านนั้นไปเรียบร้อยแล้ว 

 

และล่าสุดก็มีการตั้งข้อสังเกตที่ลิซ่าถือ ลาบูบู้ ถ่ายรูปลงโซเชียลถึงสองครั้ง เกิดกระแสผู้คนหาซื้อจนทำให้ราคาของลาบูบู้ปรับตัวสูงขึ้น 

 

สิ่งเหล่านี้กำลังจะทำให้เห็นเลยว่า คนคนเดียวแต่ถูกมองว่าเป็นทั้งพรีเซนเตอร์และ KOL และสองมุมก็มียอดขายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะในขณะที่ยาสีฟันเดนทิสเต้ เราไม่รู้ว่ามียอดขายถล่มทลายเลยไหม แต่ลาบูบู้เป็นกระแสถึงขั้นที่มีการขายอัปราคามากกว่า 1 เท่าตัวเลยทีเดียว

 

“สุดท้ายแล้วการผลิตคอนเทนต์ให้น่าเชื่อถือ มีความเรียลและขายได้จริง แบรนด์จะต้องให้ผู้บริโภคตัวจริงเป็นคนพูดแทน เอาคอนซูเมอร์จริงๆ มาพูด แต่ถ้าคอนซูเมอร์จริงๆ ไม่มีปากมีเสียง หรือมียอดฟอลโลว์น้อย เสียงก็อาจไม่ดังเท่าคอนซูเมอร์จริงๆ ที่มียอดฟอลโลว์และมีคนติดตามจำนวนมาก” ภวัตย้ำ 

 

มองโอกาสที่ KOL จะล้มหายไปจากตลาดเกิดขึ้นได้ยาก

 

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองกับ THE STANDARD WEALTH ว่า โอกาสที่ KOL จะล้มหายไปจากตลาดเกิดขึ้นได้ยาก ด้วยการที่มีฐานแฟนคลับอยู่จำนวนมาก ก็ยังมีบทบาทสำคัญที่แบรนด์จะเลือกใช้ในการสร้างการรับรู้ไปถึงกลุ่มเป้าหมาย 

 

สิ่งสำคัญของแบรนด์ที่ควรจะทำคือใช้อิทธิพลของคนเหล่านี้มาผสมผสานกัน เพื่อที่จะสามารถจับกลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าแบรนด์ไม่ใช้ เกิดคู่แข่งเขาใช้ แล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า จะส่งผลกระทบต่อแบรนด์อย่างแน่นอน 

 

วงการ KOL แข่งขันสูง ใครจะอยู่จะไปขึ้นอยู่กับการเสนอคอนเทนต์

 

หากเจาะมาถึงบทบาทของ KOC และ KOL นั้นแตกต่างกัน เรามองว่า KOC จะเน้น Commercial ส่วน KOL จะเน้นเรื่องของการทำอย่างอื่นที่นอกจากประเด็น Commercial ผ่านมิติใหม่ๆ และมีการเสนอมุมมองไลฟ์สไตล์ชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

ปัจจุบันในแวดวงของ KOL ก็แข่งขันกันสูง ดังนั้น KOL ต้องสร้างภาพให้ตัวเองชัดเจน ว่าเราเป็น Key Opinion Leader ไม่ได้เป็นแค่คนขายของ แต่ยังให้ความสำคัญกับการนำความคิดของคนในมุมที่ดีและน่าสนใจมานำเสนอด้วย เปรียบเสมือนกับดารา นอกจากการแสดงแล้วดาราก็ต้องขายของได้ด้วย 

 

“โดยจะมีมุมที่น่าสนใจคือ ยกตัวอย่าง ฟาโรส บอกว่าแบรนด์สามารถจ้างเขาได้ แต่ไม่สามารถมาเปลี่ยนคำพูดเขาได้ เพราะเขามีสิ่งที่ต้องโฟกัส นั่นก็คือผู้ติดตาม และเขาจะพูดในมุมที่ตอบโจทย์ความต้องการของแฟนคลับควบคู่กับใส่สินค้าเข้าไป ถ้าแบรนด์รับได้ก็ได้ รับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แน่นอนว่าคนแบบนี้จะอยู่ได้นานเพราะเขาทำตัวเป็น KOL”

 

เม็ดเงินยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก 

 

อย่างไรก็ตามในยุคดิจิทัลที่ผู้คนใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้น Influencer กลายเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีบทบาทสำคัญต่อแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลก 

 

ผลการศึกษาล่าสุดจาก eMarketer ในปี 2566 ชี้ให้เห็นว่า 81% ของนักการตลาดใช้ Influencer Marketing ในแคมเปญของพวกเขา และคาดการณ์ว่าตลาด Influencer Marketing ทั่วโลกจะเติบโตแตะ 1.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.8 แสนล้านบาทในปี 2567

 

 

ขณะที่ของไทยนั้นอ้างอิงข้อมูลจาก DAAT ล่าสุดปี 2023 เม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาดในส่วนของ KOLs / Influencers จัดอยู่ในอันดับ 3 เป็นรองแค่เพียง Meta และ YouTube หรือประมาณ 2.3 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าตัวเลข 2.3 พันล้านบาทนี้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของเม็ดเงินว่าจ้าง KOLs / Influencers ซึ่งยังไม่สะท้อนตัวเลขจริงของ KOLs Economy ซึ่งคาดว่าจะสูงกว่านี้เกินเท่าตัว (หรือไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท)

 

ลึกลงไปเหตุผลที่ Influencer Marketing สำคัญสำหรับแบรนด์

 

  1. เพิ่มการรับรู้แบรนด์: Influencer ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ผลการศึกษาจาก HypeAuditor ในปี 2566 พบว่า 70% ของผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าใหม่จากการแนะนำของ Influencer
  2. สร้างความน่าเชื่อถือ: Influencer ที่มีชื่อเสียงและได้รับความไว้วางใจจากผู้ติดตาม สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ ผลการศึกษาจาก Nielsen ในปี 2565 พบว่า 92% ของผู้บริโภคเชื่อ Influencer มากกว่าโฆษณาแบบดั้งเดิม
  3. กระตุ้นการมีส่วนร่วม: Influencer สามารถดึงดูดความสนใจและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ติดตาม ผลการศึกษาจาก Socialbakers ในปี 2566 พบว่า โพสต์ของ Influencer มีอัตราการมีส่วนร่วมสูงกว่าโพสต์ของแบรนด์ถึง 22 เท่า
  4. ผลักดันยอดขาย: Influencer สามารถกระตุ้นให้ผู้ติดตามตัดสินใจซื้อสินค้า ผลการศึกษาจาก Influencer Marketing Hub ในปี 2566 พบว่า 73% ของผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหลังจากเห็น Influencer รีวิว

 

ด้วยเหตุนี้เองการกลยุทธ์ Influencer Marketing ที่มีประสิทธิภาพควรดูจาก

 

  1. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน: แบรนด์ควรระบุกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเข้าถึงก่อนเลือก Influencer ที่เหมาะสม
  2. เลือก Influencer ที่ตรงกับแบรนด์: Influencer ควรมีภาพลักษณ์และกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับแบรนด์
  3. สร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ: เนื้อหาที่ Influencer นำเสนอควรน่าสนใจ ดึงดูดความสนใจ และสื่อถึงกลุ่มเป้าหมาย
  4. ติดตามผลลัพธ์: แบรนด์ควรติดตามผลลัพธ์ของแคมเปญ Influencer Marketing เพื่อวัดประสิทธิภาพและปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม

 

บทสรุป: Influencer Marketing ยังคงทรงพลังในยุคดิจิทัล

 

จากข้อมูลและผลวิจัยข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า Influencer Marketing ยังคงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีพลังและประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล สำหรับประเทศไทยเอง Influencer Marketing ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อแบรนด์ต่างๆ และยังไม่มีทีท่าว่าจะเสื่อมความนิยมลงในเร็วๆ นี้

 

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้น ติดตาม Influencer ที่ชื่นชอบ และให้ความสำคัญกับรีวิวและคำแนะนำจาก Influencer มากกว่าโฆษณาแบบดั้งเดิม

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนการเติบโตของ Influencer Marketing ในประเทศไทย เช่น จำนวน Influencer ที่มีให้เลือกหลากหลาย ความหลากหลายของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น

 

ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงมั่นใจได้ว่า Influencer Marketing จะยังคงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญสำหรับแบรนด์ต่างๆ ในประเทศไทยต่อไป แบรนด์ที่ต้องการประสบความสำเร็จควรพิจารณาใช้ Influencer Marketing ในกลยุทธ์การตลาดของตน และควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับ Influencer ที่เหมาะสม เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X