×

อินโดฯ หวังตั้งกลุ่มพันธมิตรคล้าย ‘OPEC’ คุมวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ EV ฟาก Tesla จ่อลงทุนธุรกิจเหมืองแร่

01.11.2022
  • LOADING...

อินโดนีเซียอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตนิกเกิลและวัตถุดิบสำคัญอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยอาจจะมีลักษณะคล้ายกับพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมัน 13 ประเทศอย่าง OPEC 

 

Bahlil Lahadalia รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อินโดนีเซียกำลังพิจารณาเกี่ยวกับกลไกที่คล้ายคลึงกับที่ OPEC ใช้ ซึ่งจะปรับใช้กับการควบคุมอุปทานของแร่เหล็กที่สำคัญสำหรับช่วยเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานของโลก 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


“ผมมองเห็นประโยชน์ของการตั้งกลุ่ม OPEC เพื่อบริหารจัดการการซื้อขายน้ำมัน เพื่อช่วยให้นักลงทุนและผู้บริโภคสามารถประเมินข้อมูลต่างๆ ได้ อินโดนีเซียอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการจัดตั้งโครงสร้างที่คล้ายกันสำหรับแร่เหล็กที่เรามี ทั้งนิกเกิล โคบอลต์ และแมงกานีส” 

 

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 38% ของอุปทานทั้งโลก ขณะเดียวกันยังเป็นประเทศที่มีแร่เหล็กสำรองราว 25% ของทั่วทั้งโลก 

 

Lahadalia กล่าวว่า อินโดนีเซียยังอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้าง ก่อนที่จะเสนอไปยังประเทศผู้ผลิตแร่เหล็กอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อควบคุมราคาโลกอาจจะไม่ได้ง่ายนัก เพราะยังมีประเทศผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อีกหลายราย เช่น รัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตนิกเกิลความบริสุทธิ์สูงราว 1 ใน 5 ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ขณะที่แคนาดาและออสเตรเลียก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่เช่นกัน 

 

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ อินโดนีเซียต้องพึ่งพิงบริษัทต่างชาติ อย่าง Tsingshan ของจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตสเตนเลสที่ใหญ่ที่สุดของโลก รวมถึง Vale ของบราซิล เพื่อช่วยสกัดนิกเกิลออกมา แตกต่างจากประเทศอย่างซาอุดีอาระเบียที่เป็นผู้นำกลุ่ม OPEC และสามารถผลิตน้ำมันได้ด้วยบริษัทที่ควบคุมโดยรัฐบาล 

 

อินโดนีเซียเคยเป็นสมาชิกกลุ่ม OPEC ก่อนจะระงับการเป็นสมาชิกของตัวเองตั้งแต่ปี 2016 เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายปรับลดกำลังการผลิตของ OPEC ทั้งนี้อินโดนีเซียกลายเป็นผู้ที่นำเข้าน้ำมันสุทธิตั้งแต่ปี 2004 

 

อีกประเด็นที่ยังมีความไม่ชัดเจนคือ ความสามารถในการผลิตนิกเกิลบริสุทธิ์ เพราะที่ผ่านมานิกเกิลที่อินโดนีเซียผลิตได้ส่วนใหญ่จะเป็นระดับความบริสุทธิ์ต่ำซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมสเตนเลส ทำให้อินโดนีเซียยังจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ 

 

ตั้งแต่ปี 2020 อินโดนีเซียตัดสินใจแบนการส่งออกแร่นิกเกิล หลังจากความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มสูง นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีแผนที่จะจัดเก็บภาษีสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์จากนิกเกิลเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งในปีนี้ก็เริ่มเห็นสองบริษัทอย่าง Hyundai ของเกาหลีใต้ และ Wuling Motors ของจีน เริ่มผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียแล้ว

 

Lahadalia กล่าวต่อว่า อินโดนีเซียจะไม่ผ่อนปรนการแบนการส่งออก แม้ว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นประเด็นโต้เถียงกับทางกลุ่มประเทศในยุโรป 

 

Frank Fannon กรรมการผู้จัดการของ Fannon Global Advisors มองว่า ความพยายามจัดตั้งกลุ่มพันธมัตรที่คล้ายกับ OPEC สำหรับแร่นิกเกิลอาจไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับชาติตะวันตกเท่าใดนัก 

 

ก่อนหน้านี้ ชิลี อาร์เจนตินา และโบลิเวีย ซึ่งถูกเรียกว่า Lithium Triangle ก็ได้จับมือกันคล้ายกับ OPEC เพื่อควบคุมอุปทานและราคาของแร่เหล็กสำหรับผลิตแบตเตอรี่

 

‘Tesla’ จ่อลงทุนธุรกิจเหมืองแร่ 

ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่า Tesla หนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าลงทุนกับ Glencore บริษัททำเหมืองแร่สัญชาติสวิส ในสัดส่วน 20% หลังจากที่มีข่าวเกี่ยวกับการเจรจาตั้งแต่ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ดีลดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปก่อนหน้านี้ เนื่องจาก Tesla กังวลเกี่ยวกับการที่ Glencore อาจจะขยายธุรกิจถ่านหินต่อไป ซึ่งขัดกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของ Tesla 

 

อย่างไรก็ดี ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้บริษัทต่างๆ กังวลเกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ เช่น โคบอลต์ ลิเธียม และนิกเกิล ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ 

 

ในขณะที่ Glencore เป็นบริษัทเทรดดิ้งและผู้ผลิตโคบอลต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากเหมืองในคองโก ออสเตรเลีย และแคนาดา 

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Elon Musk เคยโพสต์ผ่านทวิตเตอร์ว่า Tesla อาจต้องเข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วต้นทุนอาจจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ราคาของลิเธียมเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า จากต้นปี 2021 

 

ปัจจุบัน Glencore เป็นผู้ผลิตแร่อย่างโคบอลต์ นิกเกิล ทองแดง และสินแร่อื่นๆ รวมทั้งการเป็นผู้รีไซเคิลแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดของโลก ส่วนลิเธียมที่บริษัทอาจจะไม่ได้ผลิต แต่ก็เริ่มซื้อขายบ้างแล้ว 

 

EA ไม่หวั่นราคาวัตถุดิบถูกควบคุม

ด้าน อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า แม้ความต้องการแร่เหล็กเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นมาก แต่เชื่อว่าเฉพาะแค่อุปสงค์จากยานยนต์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลน

 

“จริงๆ แล้วแร่เหล็กเหล่านี้ไม่ได้เป็นแร่หายาก หากจะเกิดภาวะขาดแคลน ดีมานด์จะต้องเยอะมากๆ แค่รถยนต์ไฟฟ้าไม่น่าจะทำให้ขาดแคลน จะต้องมีความต้องการจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เข้ามาด้วย ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร” 

 

ส่วนผลกระทบจากราคาของแร่เหล็กต่างๆ ที่ปรับสูงขึ้น ส่วนตัวมองว่าอาจเป็นเพียงระยะสั้น เพราะความต้องการใช้ที่กระโดดขึ้นมาเร็ว แต่หลังจากนี้จะเริ่มเห็นการเปิดเมืองใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และจะทำให้ราคาแร่เหล็กต่างๆ เริ่มลดลง

 

ในมุมของ EA ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่เช่นกัน แต่การผลิตของบริษัทจะใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นสารตั้งต้นจากบริษัทอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง โดยสารตั้งต้นเหล่านี้จะเกิดจากการนำแร่เหล็กต่างๆ มาผสมกัน 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising