ทั้งที่ Work Life Balance หรือการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานเป็นเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ แต่ดูเหมือนว่ามหาเศรษฐีด้านเทคของอินเดียจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะเขาต้องการให้คนรุ่นใหม่ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 14 ชั่วโมงต่อวัน หากพวกเขาต้องการเห็นประเทศกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก
เอ็น.อาร์. นารายานา เมอร์ธี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Infosys ซึ่งปัจจุบันมีความมั่งคั่งมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.43 แสนล้านบาท กล่าวว่า อินเดียต้องการเด็กรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่น มีระเบียบวินัย และทำงานหนัก ซึ่งควรทำงานสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมง
“เยาวชนของเราชอบเอานิสัยที่ไม่พึงประสงค์จากตะวันตกแล้วไม่ช่วยเหลือประเทศ” เมอร์ธีกล่าว “ประสิทธิภาพการทำงานของอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ต่ำที่สุดในโลก”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เหตุใด Gen Z จึงให้ความสำคัญกับค่านิยมมากกว่าเงินเดือน จนเข้ามารื้อแนวคิด ‘อาชีพอันทรงเกียรติ’ แบบเดิมๆ ทิ้งไป
- พนักงานชาวเอเชียมักต้องทำตัวให้ ‘ยุ่ง’ เข้าไว้ มากกว่าได้ทำงานจริงที่มีประสิทธิภาพ เพราะถูก ‘เจ้านาย’ จับตาดูอยู่จากสิ่งที่เห็น ไม่ใช่ผลลัพธ์!
- คนหนุ่มสาวในจีนโหยหาการถูก ‘ไล่ออก’ เพื่อเอาชนะความเครียดจากการทำงาน รับเงินชดเชย และหลีกหนีจากตลาดงานอันดุเดือด
แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้คนเตือนถึงสภาพแวดล้อมที่ ‘ไม่เหมาะสมและเป็นพิษ’ ซึ่งไม่มีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั่วโมงการทำงานที่นานขึ้นไม่ได้ส่งผลให้ความ Productivity ดีขึ้นเลย การวิจัยชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานลดลงหลังจาก 50 ชั่วโมง และลดลงอย่างอิสระหลังจาก 55 ชั่วโมง
การทำงานนานเกินไปก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายเช่นกัน เมื่อบุคคลทำงานอย่างต่อเนื่อง 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้น 35% และ 17% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการทำงานโดยเฉลี่ย 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก
กระนั้นการส่งเสริมให้ชาวอินเดียทำงานนานขึ้นเมอร์ธีอ้างถึงตัวอย่างว่า “คุณรู้ไหมว่านี่คือสิ่งที่ชาวเยอรมนีและญี่ปุ่นทำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง” ซึ่งแม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นเรื่องจริงเพียงช่วงสั้นๆ แต่นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน และเป็นเพียงเรื่องในอดีตเท่านั้น
ปัจจุบันกฎหมายในเยอรมนีไม่อนุญาตให้คนทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมถึงการทำงานล่วงเวลาด้วย และได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการพักผ่อนในบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 15 คน พนักงานสามารถขอลดชั่วโมงทำงานรายสัปดาห์ของตนได้หลังจากทำงานเป็นเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ผู้จัดการจะถูกขอให้งดเว้นการโทรและส่งอีเมลถึงพนักงานหลังเวลาทำการ
ในปี 2018 ญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรทำงานหนักเกินไปที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้วางนโยบายเพื่อต่อสู้กับ ‘คาโรชิ’ หรือการเสียชีวิตจากการทำงานหนัก โดยกำหนดขีดจำกัดที่คล้ายกันในการทำงานปกติและการทำงานล่วงเวลา
นอกจากนี้ความคิดเห็นของเมอร์ธีเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่วิธีคิดของผู้คนเกี่ยวกับการทำงานในตะวันตกและจีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
คนหนุ่มสาวจำนวนมากในประเทศจีนได้ยอมรับปรัชญาใหม่ที่พวกเขาเรียกว่า Lying Flat เพื่อต่อสู้กับวัฒนธรรมการทำงานที่มากเกินไป 996 ของประเทศ หรือแนวปฏิบัติในการทำงานตั้งแต่ 09.00-21.00 น. หกวันต่อสัปดาห์ ส่วนในสหรัฐอเมริกาได้เกิดเทรนด์ในที่ทำงานเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งผู้คนตัดสินใจหยุดทำงานที่นอกเหนือไปจากที่พวกเขาถูกจ้างให้ทำ
ความคิดเห็นของเมอร์ธีถูกโจมตีบนโซเชียลมีเดีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการสำรวจหลายครั้งแสดงให้เห็นว่าชาวอินเดียรู้สึกว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ทำงานหนักเกินไปและได้รับค่าตอบแทนน้อยที่สุดในโลก
มากไปกว่านั้น การเคลื่อนไหวประเภทนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้หญิง ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องแบกรับภาระงานบ้านอย่างหนัก เช่น ทำความสะอาด ล้างจาน ซักผ้า เตรียมอาหาร ดูแลเด็กและญาติผู้สูงอายุ และอื่นๆ
การศึกษาชิ้นหนึ่งระบุเวลาที่ผู้หญิงใช้ในการทำงานดังกล่าวโดยเฉลี่ย 7.2 ชั่วโมงต่อวัน (เทียบกับผู้ชายเพียง 2.8 ชั่วโมง) ตามคำแนะนำของเมอร์ธีย์หลังจากทำงาน 14 ชั่วโมงต่อวัน และทำงานบ้าน 7 ชั่วโมง ผู้หญิงจะมีเวลาเหลือประมาณ 3 ชั่วโมงในการกิน นอน และพักผ่อน
“ผู้ชายจะไม่มีวันแบ่งภาระงานบ้าน การดูแล และการเลี้ยงดูลูกอีกต่อไป ด้วยการทำงานสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมง ผู้หญิงจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องลาออก” ผู้ใช้ X รายหนึ่งกล่าวอย่างไม่พอใจ
ภาพ: Pradeep Gaur / Mint via Getty Images
อ้างอิง: