×

กูรูชี้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อินเดียยัง ‘ห่างชั้น’ จากจีน ระบุแรงหนุนจากสหรัฐฯ อาจช่วยได้น้อย

15.03.2023
  • LOADING...
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

Global Times สื่อท้องถิ่นของทางการจีนรายงานความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถานการณ์ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ซึ่งโดนสกัดดาวรุ่งจากมาตรการของสหรัฐฯ ที่มีการจับมือกับพันธมิตรอย่างเนเธอร์แลนด์ ด้วยการควบคุมการส่งออกชิปมายังจีน แถมสหรัฐฯ ยังหันไปสนับสนุนประเทศอื่นๆ อย่างอินเดียในการผลิตชิปแทนจีน 

 

โดยล่าสุดมีรายงานว่า สหรัฐฯ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับอินเดียเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์ เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในความพยายามของสหรัฐฯ ที่ดึงอินเดียเข้าร่วมน่านน้ำนี้ เพื่อกีดกันจีนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และห่วงโซ่อุปทานระดับโลก 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ คือการสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมชิประดับโลกที่มีตัวเองเป็นแกนหลัก ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่ออินเดีย ขณะเดียวกันก็ยังเป็นหนทางอีกยาวไกลที่อินเดียจะต้องปรับปรุงกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้ทัดเทียมกับจีน เนื่องจากประเทศในเอเชียใต้มีฐานอุตสาหกรรมที่อ่อนแอ ขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ย่ำแย่

 

Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ที่ได้ลงนามใน MOU ระหว่างการเยือนอินเดียเป็นเวลา 4 วัน กล่าวว่า ความทะเยอทะยานของอินเดียในการขยายภาคส่วนเทคโนโลยีนั้น ‘สอดคล้องกับความปรารถนาและเป้าหมายของสหรัฐฯ’ ที่จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมเสริมว่า บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ เตรียมจะลงทุนจำนวนมากในอินเดีย 

 

Lou Chunhao ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันเอเชียใต้ศึกษาแห่งสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยแห่งประเทศจีน กล่าวว่า MOU เป็นส่วนขยายของแผนการของสหรัฐฯ ในการกระชับความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อขัดขวางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนและยับยั้งการผงาดขึ้นทางเทคโนโลยีของจีน 

 

กระนั้น Lou เห็นว่า ความร่วมมือกับสหรัฐฯ อาจเปิดโอกาสให้อินเดียขยายขนาดการผลิตชิป อย่างไรก็ตาม อินเดียไม่น่าจะสร้างความก้าวหน้าในเทคโนโลยีหลักในภาคส่วนนี้ เมื่อพิจารณาถึงขีดจำกัดของอินเดีย โดยเป็นหนทางอีกยาวไกลสำหรับอินเดีย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

 

รายงานระบุว่า อินเดียแทบไม่มีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้พูดถึงเลย นอกจากการออกแบบโดยใช้ซอฟต์แวร์ ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟนและยานพาหนะไฟฟ้า อินเดียจึงกระตือรือร้นที่จะรักษาส่วนแบ่งของตลาดขนาดใหญ่ และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

 

ก่อนหน้านี้ อินเดียได้นำเสนอมาตรการเชิงนโยบายเพื่อดึงดูดบริษัทชิปให้ลงทุนในการผลิตในอินเดีย โดยในเดือนธันวาคม 2021 รัฐบาลอินเดียได้เปิดตัวโครงการดึงดูดการลงทุนมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยให้การสนับสนุนสูงถึง 50% ของต้นทุนโครงการ เพื่อดึงดูดผู้ผลิตชิปให้เข้ามาตั้งฐานในอินเดีย

 

และต่อมาไม่นานก็มีรายงานว่าบริษัทเหมืองแร่ Vedanta และ Foxconn ของอินเดียจะลงทุน 1.95 หมื่นล้านดอลลาร์ในการจัดตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์และจอแสดงผลในรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญสำหรับความทะเยอทะยานของประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ความเคลื่อนไหวทั้งหมดไม่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก เพราะการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญระดับโลกซึ่งต้องการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และอินเดียจะไม่สามารถรักษาการเติบโตที่ดีได้หากสหรัฐฯ เคลื่อนไหวเพื่อกีดกันจีนและทำลายเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก 

 

Lou กล่าวว่า ข้อได้เปรียบของอินเดียคือ สภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ การสนับสนุนนโยบายภายในประเทศ และความสามารถด้านการออกแบบชิปอย่างล้นเหลือ หรือคิดเป็นประมาณ 20% ของทั้งหมดทั่วโลก และยังมีบริษัทออกแบบชิปชั้นนำ 25 อันดับแรกของโลกเกือบทั้งหมดมีศูนย์วิจัยในอินเดีย

 

แต่ความท้าทายก็คือ อินเดียต้องเผชิญความยากลำบากในการกระตุ้นการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เนื่องจากมีความต้องการเงินทุน เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานสูง โดย Lou ตั้งข้อสังเกตว่าการจัดหาน้ำ ไฟฟ้า และแรงงานฝีมือที่มีเสถียรภาพเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุด

 

“แม้ว่าอินเดียมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนสงครามเทคโนโลยีของสหรัฐฯ กับจีนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองเพื่อเร่งการพัฒนาการผลิตชิปในประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เป็นเรื่องยากสำหรับอินเดียที่จะแทนที่จีนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และห่วงโซ่อุปทานระดับโลก เนื่องจากความยืดหยุ่นของจีนที่มีตลาดขนาดใหญ่ อุปสงค์ ทุนที่เพียงพอ และการจัดหาผู้มีความสามารถ” Lou กล่าว 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising