×

ไม่มี อีชาง ใน Kingdom ก็ต้องสวดมนต์ไล่ ทำไมเมื่อเกิดวิกฤตเรามักหันหน้าไปพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

03.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ช่วงนี้สังคมไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตจากโรคระบาดโควิด-19 จะเห็นได้ว่ามีปรากฏการณ์ 2 อย่างที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์แรก การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ ปรากฏการณ์ที่สองคือ ภาวะการโหยหาอดีต 
  • สาเหตุที่คนเราเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาตินั้นก็เพราะต้องการใช้อำนาจนั้นให้มาช่วยควบคุมสถานการณ์อันไม่ปกติ ทั้งนี้ก็เพื่อทั้งแก้ไข ผ่อนคลายความตึงเครียดของสังคมในช่วงชีวิตอันเป็นวิกฤต

ในขณะที่ ซอบี หมอหญิงในเรื่อง Kingdom พยายามหาทางรักษาโรคด้วยความรู้ทางการแพทย์ ทว่าตัดภาพไปอีกฉาก ชาวเมืองฮันยางกำลังเอาเลือดวัว เอาดินขาว แขวนยันต์ พรมน้ำมนต์ เพื่อป้องกันโรคระบาด 

 

ผมว่าฉากทั้งสองนี้มันเป็นอะไรที่แตกต่างกันมาก มันชี้ให้เราเห็นถึงโลกทางความคิดที่มีความแตกต่างกันระหว่างมนุษย์ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ กับมนุษย์ที่หวังพึ่งอำนาจที่มองไม่เห็นเพื่อมาชนะโรคร้าย เรื่องนี้คงไม่ต่างจากสังคมไทยตอนนี้ที่คนบางกลุ่มกระทั่งรัฐ ที่ต้องหันไปพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 

เอาเป็นว่าในช่วงนี้ที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตจากโรคระบาดโควิด-19 นี้จะเห็นได้ว่ามีปรากฏการณ์ 2 อย่างที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์แรก การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ ปรากฏการณ์ที่สองคือ ภาวะการโหยหาอดีต 

 

พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจเหนือธรรมชาติ 

การไลฟ์ของกาละแมร์ที่เป็นกระแสก็สะท้อนความคิดเช่นนั้น กาละแมร์พูดกับทุกคนว่า ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีพระโพธิสัตว์ มีเทพยดาคุ้มครอง อะไรก็สุดแล้วแต่จะอาราธนามานั้น จะทำให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เหมือนทุกครั้งที่เกิดวิกฤตที่ผ่านมาได้ 

 

คราวนี้ถ้าสมมติว่ากาละแมร์เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย การชักจูงประชาชนให้เชื่อว่าประเทศไทยจะรอดวิกฤตครั้งนี้ไปเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นอาจจะช่วยให้คนบางกลุ่มรู้สึกบรรเทาความสิ้นหวังไปได้บ้างก็จริง แต่ถึงเวลานั้น เราคงจะถูกซอมบี้กัดคอกันหมด ใช่ครับ เดี๋ยวปัญหาต่างๆ มันก็ผ่านไป เพราะเวลาไม่เคยหยุดอยู่กับที่ แต่เราจะผ่านไปแบบไหน ผ่านไปแบบรอคอยฟ้าฝนหรือเทพยดา

 

แต่สิ่งที่ผมว่าดาราหรือไลฟ์โค้ชทั้งหลายควรตระหนักนั้น ไม่ใช่แค่ออกมาบอกว่าให้ดูแลตัวเองให้ดี (พูดอีกแบบคือพึ่งตนเอง) หรือให้ภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สู้ๆ หรือด้วยคำสวยหรูใดก็แล้วแต่ของมนุษย์ที่อยู่บนยอดพีระมิด แต่ต้องพยายามมองให้ลึกลงไปถึงปัญหาในระดับโครงสร้างและตั้งคำถามแบบมนุษย์ มิใช่ศาสดา เช่น ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพต่อการจัดการโรคระบาดที่เกิดขึ้นนี้มันสัมพันธ์กับระบอบการเมืองที่นำไปสู่การได้คนไร้ความสามารถมานั่งในตำแหน่งสำคัญหรือไม่ การตัดสินใจแก้ปัญหาโดยอิงกับการเมืองนั้นมันสร้างความเสียหายมากแค่ไหน ถ้ารัฐบริหารจัดการดี เราจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองดิ้นรนหาหน้ากาก หาแอลกอฮอล์กันเช่นนี้หรือไม่ หรือถ้ารัฐบริหารจัดการดี เราจำเป็นต้องพึ่งอำนาจของสิ่งที่เรามองไม่เห็น  หรือถึงจะมีตัวตนอยู่ราวกับเทพ แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรให้ต้องระลึกถึงหรือไม่ อย่าทำให้ปัญหาโรคภัยครั้งนี้ถูกผลักไปว่าเป็นปัญหาในระดับปัจเจก ที่ชีวิตของคนระดับปัจเจกต้องประสบเคราะห์กรรมครั้งนี้มันเป็นปัญหาในระดับโครงสร้าง พูดง่ายๆ คือรัฐหรือสังคมนั่นแหละครับ

 

ความจริงแล้วค่อนข้างเป็นเรื่องปกติทีเดียวในหลายสังคมที่เมื่อการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางโลกไม่สามารถใช้ได้ผล คนก็มักจะหันไปพึ่งพาอำนาจที่เหนือกว่า ในหนังสือเรื่อง Ancient Chamorro Society เขียนโดย ลอว์เรนซ์ คันนิงแฮม (Lawrence J. Cunningham) ได้อธิบายว่า สาเหตุที่คนเราเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาตินั้นก็เพราะต้องการใช้อำนาจนั้นให้มาช่วยควบคุมสถานการณ์อันไม่ปกติ ทั้งนี้ก็เพื่อทั้งแก้ไข ผ่อนคลายความตึงเครียดของสังคมในช่วงชีวิตอันเป็นวิกฤต (Life Crisis) ในขั้นตอนนี้หมอผีจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติ และถ้าหากพิธีกรรมไม่สำเร็จก็จะอธิบายว่าเพราะอำนาจของสิ่งชั่วร้ายนั้นมีมากกว่า 

เมื่อหลายปีก่อน สังคมไทยก็เผชิญวิกฤตเช่นกัน จนต้องพึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติ ถ้ายังจำกันได้ หลังรัฐประหารได้เกิดปรากฏการณ์ร่างทรง มีทั้งที่ทรงแบบปกติ เช่น ทรงเทพฮินดู ทรงพระนเรศวร ทรงพระเจ้าตาก และที่ทรงแบบแหวกแนวหน่อย เช่น ผีเสื้อสมุทร ขุนช้าง ไจแอนด์จากการ์ตูนโดราเอมอน เป็นต้น 

 

 

Photo: Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม / Facebook

 

ต่อประเด็นเรื่องนี้ผมเคยเขียนบทความเรื่อง ‘รัฐประหาร ร่างทรง ถึงวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ไทย’ ลงในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม เมื่อปี 2559 ซึ่งปรากฏการณ์ร่างทรงในครั้งนั้นสะท้อนถึงภาวะที่สังคมรู้สึกถึงการขาดความมั่นใจต่ออนาคต เพราะไม่รู้ว่าการเมืองในอนาคตหรือประเทศจะเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจในเวลานั้นก็ย่ำแย่ด้วย เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลทหาร มีนายทุนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์ และยังถูกกระหน่ำด้วยภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอีกด้วย ทั้งหมดนี้เองทำให้ผู้ที่ศรัทธาต่อร่างทรงมักมาขอหวย ขอเลขเด็ด และขอคำทำนายต่อหน้าที่การงานในอนาคต 

 

ในช่วงนั้นจึงมีการลงทุนกับความเชื่อกันมากในหมู่ดาราและคนมีฐานะ เช่น การบูชาตุ๊กตาลูกเทพ ที่ราคาต่อตัวไม่ใช่น้อย เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้ตัวเองมีเงินทองเพิ่มขึ้น ถ้าย้อนกลับไปไกลขึ้นอีก ก็จะเห็นได้จากปรากฏการณ์การบูชาจตุคามรามเทพหลังการรัฐประหารปี 2549 เช่นกัน ซึ่งสาเหตุที่บูชากันมากก็เพราะความรู้สึกขาดความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและชีวิต 

 

การบูชาพระเครื่องพระพิมพ์ก็เป็นปรากฏการณ์แบบเดียวกันนี้ ซึ่งเริ่มต้นเกิดขึ้นอย่างจริงจังนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือยุคสงครามเย็นเป็นต้นมาเช่นกัน เพราะโจรและอาวุธนั้นหาง่ายเสียเหลือเกิน ในเมื่อประชาชนไม่อาจพึ่งพิงเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหารได้ พวกเขาก็ต้องหาวัตถุมงคลมาบูชา พื้นที่ไหนโจรชุมจึงเกิดเกจิขึ้นมากมาย เพื่อจะได้มีอะไรสักอย่าง (คืออำนาจ) มาคุ้มครองชีวิต

 

ปรากฏการณ์ของความไม่มั่นคงในชีวิตนี้ยังเห็นได้จากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่คนกรุงเทพฯ ใส่สร้อยข้อมือนำโชคที่เรียกว่า ‘ไลลา’ ซึ่งมีให้เลือกหลายรูปแบบหลายเป้าหมาย เช่น ให้ร่ำรวยเงินทอง ประสบความเร็จในหน้าที่การงาน ให้สุขภาพแข็งแรง เพิ่มเสน่ห์ เป็นต้น ไลลานี้ก็คือเครื่องรางที่ทำให้สวยเพื่อเหมาะกับคนเมืองที่มักแสดงท่าทีปฏิเสธไสยศาสตร์แต่เชื่ออย่างสุดใจ เพราะพวกเขาล้วนรู้สึกถึงความไม่มั่นใจ หรือไม่ก็คือต้องการควบคุมให้อนาคตมาอยู่ในมือของตนเองด้วยพลังเหนือธรรมชาติ

 

การบรรเทาวิกฤตและความไม่มั่นคงทำนองนี้เห็นได้จากการสวดมนต์ไล่โควิด-19 แน่นอนมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ความจริงเรื่องการสวดมนต์ไล่โรคระบาดนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น มีหลายคนอ้างถึงการสวดมนต์แบบนี้ที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล สมัยอยุธยา เรื่อยมาจนในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ทรงประกอบพิธีอาพาธพินาศ แต่แทนที่โรคระบาดจะหายไป แต่คนที่ร่วมกระบวนแห่นั้นกลับป่วยเพิ่มขึ้น จนเป็นอันทำให้พิธีนี้เลิกไป 

 

ด้วยการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของสังคมไทย เพื่อจัดการกับโรคระบาด ทำให้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พัฒนาระบบสาธารณสุขสมัยใหม่ขึ้นแทน ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนผ่านของสังคมจากระบบความคิดต่อการรักษาโรคจากสังคมแบบจารีต หรือสังคมโบราณมาสู่สังคมสมัยใหม่ ดังนั้นการย้อนกลับไปสวดมนต์เพื่อเป้าหมายของอาพาธพินาศนั้น ด้านหนึ่งอาจทำให้ความรู้สึกสิ้นหวังนั้นบรรเทาลง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ชวนคิดด้วยว่ากระบวนทัศน์ของสังคมไทยนั้นเป็นเช่นไร 

 

หวนหาอดีตอันเคยสงบสุขเมื่อคราวที่พ่ออยู่

ช่วงหลายวันมานี้ ผมมักเห็นข้อความใน LINE กลุ่ม เห็นโพสต์ใน Facebook ที่เขียนว่า “ถ้าเป็นเมื่อก่อน…” หลายครั้งมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตเรื่องการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ พร้อมกับประเด็นที่นักการเมืองถูกกล่าวหาว่ากักตุนหน้ากากอนามัย 

ความรู้สึกที่หวนรำลึกถึงความช่วยเหลือจากรัชกาลที่ 9 นี้จัดได้ว่าเป็นปรากฏการณ์โหยหาอดีต (Nostalgia) ความรู้สึกของการโหยหาอดีตนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราเกิดความรู้สึกว่าไม่มีความสุขหรือทนทุกข์กับปัจจุบัน ทำให้อยากย้อนเวลาหรือสถานที่กลับไปสู่อดีต ซึ่งเราจะเข้าใจความหมายของคำว่า ‘Nostalgia’ ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อดูจากรากศัพท์นี้ในภาษากรีกนั้นมาจากคำว่า ‘Homecoming’ (nóstos) และ ‘Pain’ (álgos) คือการกลับบ้าน ซึ่งก็คือพื้นที่ที่เรารู้สึกมีความสุขและปลอดภัย เพื่อหลีกเร้นจากความเจ็บปวด อันจะนำเราไปสู่วันคืนอันแสนสุข หรือความรู้สึกอันอบอุ่นครั้งวัยเด็ก 

แน่นอนด้วยสถานการณ์โรคระบาดนี้มันทำให้เกิดความรู้สึกว่าปัจจุบันไม่น่าพิสมัย อนาคตเองก็มืดมน นักวิชาการบางคนอาจมองว่าคนกลุ่มนี้ถูกวาทกรรมหรือสังคมหล่อหลอม แต่มันก็คงเป็นพื้นที่เดียวและห้วงเวลาเดียว ณ ตอนนี้สามารถหลบไปพักอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย 

 

นักจิตวิทยาบางคนมองว่า ภาวะการโหยหาอดีตนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่มันช่วยทำให้คนที่โหยหาอดีตนี้กลับไปเติมพลังทางด้านบวก เพื่อมาสู้กับโลกในปัจจุบัน และทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยมากขึ้นถ้าพวกเขาพบว่ามีคนที่คิดถึงบ้านหลังเดียวกัน เสริมความมั่นใจในตัวเอง และบรรเทาความรู้สึกเครียดและกดดัน อย่างไรก็ตาม บางครั้งอดีตที่โหยหานี้ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของ ‘นักการเมือง’ ที่นำมาใช้เพื่อชักจูงให้ประชาชนรู้สึกว่า ถ้าอยากมีอดีตที่มีความสุขนั้น (พวก) เขาคือต้นแบบของอดีตนั้น ตัวอย่างเช่นที่จอมพลสฤษดิ์เปรียบตัวเองเป็นพ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น หรือบางครั้งก็อ้างอดีตของบรรพชนเพื่อให้สำนึกถึงบุญคุณต่อตนเอง ทั้งๆ ที่ความดีและความสุขนั้นไม่อาจถ่ายทอดผ่านสายเลือดลงมาได้ เพราะความสุขปัจจุบันย่อมไม่ใช่ของอดีต 

 

Photo: www.ch3thailand.com

 

ปรากฏการณ์โหยหาอดีตอันแสนหวานนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมไทย ทุกครั้งที่สังคมเกิดวิกฤต เราก็มักจะเห็นปรากฏการณ์ทำนองนี้อยู่เสมอ อย่างเช่นในปีที่ผ่านมา ละคร บุพเพสันนิวาส ได้กลายเป็นละครที่ดังอย่างมากในไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครเรื่องนี้มีความสนุกและความน่ารัก แต่ถ้าเราดูวิธีการเล่าอดีตของละครแล้วก็จะพบว่า นางเอกเป็นคนในปัจจุบันที่ย้อนกลับไปในอดีตและเกิดหลงรักกับพระเอก ซึ่งนั่นก็คือความหลงใหลต่ออดีต หรือหลงใหลความสุขแบบหนึ่ง ถึงแม้ว่าละครเรื่องนี้จะนำเสนอเรื่องความขัดแย้งในสังคมสมัยอยุธยาด้วยก็ตาม แต่จะมีประโยชน์อันใดเมื่อความสุขต่อความรักนั้นสำคัญกว่า มันจึงทำให้คนจำนวนมากที่ไปเที่ยวอยุธยาต้องการจำแลงตนเองด้วยการใส่ชุดไทยโบราณ เพื่อไปอยู่กับอดีตอันแสนหวานนั้น ในช่วงที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

 

ผมมักเชื่อเสมอว่า ในสังคมที่มองไม่เห็นอนาคตที่ชัดเจนนั้นมักจะต้องพึ่งเครื่องมือในการทำนายอนาคต ต้องหวังพึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็น หรือไม่ก็คือใช้วิธีการย้อนกลับไปในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของอดีตที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองปลอดภัยและมีความสุข เพราะการอยู่กับปัจจุบันนั้นมันลำบากและเจ็บปวด 

 

แน่นอนว่าพวกเราจะต้องพยายามอยู่กับปัจจุบันไปให้ได้ แต่ในเมื่อชีวิตของพวกเรานั้นจะต้องมีอนาคตอีกยาวไกล ผมอยากให้ลองหวนมองอดีต (เรียกว่าประวัติศาสตร์) ในทุกแง่มุม ทั้งดีและร้าย แล้วประมวลผลกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อมองต่อไปในอนาคตว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว พวกเราจะกำหนดอนาคตอย่างไร เพราะ อีชาง ไม่มีอยู่ในโลกความเป็นจริง 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising