การประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิระหว่างสถาบันการเงินระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่างธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เริ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยมีวาระการหารือแลกเปลี่ยนที่มุ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาวและทิศทางการระดมทุน ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังคงปกคลุมไปด้วยความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และเสถียรภาพทางการเงิน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการ IMF ระบุว่า แม้การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะฟื้นตัวได้อย่างน่าทึ่ง และจีนเองก็ส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง แต่การเติบโตทั่วโลกในปี 2023 จะยังคงต่ำกว่า 3%
นอกจากนี้ IMF ยังคาดว่าการเติบโตทั่วโลกจะยังคงอยู่ที่ระดับเกือบ 3% ยาวต่อเนื่องภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า ถือเป็นการคาดการณ์ระยะกลางที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990
ขณะเดียวกันยังชี้ว่า เกือบ 90% ของเศรษฐกิจขั้นสูงของโลกจะประสบกับการเติบโตที่ชะลอตัวในปีนี้ ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียคาดว่าจะมีผลผลิตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยอินเดียและจีนจะมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของการเติบโตทั้งหมดในปีนี้
ในส่วนของประเทศที่มีรายได้น้อย IMF คาดว่า จะได้รับผลกระทบสองเท่าจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นและอุปสงค์สำหรับการส่งออกที่ลดลง ทำให้ความยากจนและความอดอยากในประเทศกลุ่มยากจนนี้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
รายงานระบุว่า การคาดการณ์การเติบโตล่าสุดที่เผยแพร่ใน World Economic Outlook ของ IMF ในวันนี้ (11 เมษายน) ตามเวลาสหรัฐฯ จะให้ภาพรวมที่กว้างขึ้นว่าประเทศต่างๆ ควรรับมืออย่างไร พร้อมสิ่งพิมพ์เพิ่มเติมเพื่อดูรายละเอียดความท้าทายทางการคลังและการเงินต่อเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม IMF และธนาคารโลกยังคงเห็นตรงกันว่าการแก้ปัญหาเงินเฟ้อยังคงมีความสำคัญที่สุด แม้จะเริ่มมีความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับสุขภาพของภาคการธนาคารอย่างมาก หลังจากการล่มสลายของ Silicon Valley Bank
ก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จอร์เจียวากล่าวว่า ธนาคารกลางควรต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงต่อไปผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะมีความกังวลว่าอาจสร้างกระแสให้กับภาคธนาคารก็ตาม โดยเธอย้ำว่า ณ จุดนี้ IMF ไม่คิดว่าธนาคารกลางจะถอยจากการต่อสู้กับเงินเฟ้อ และธนาคารกลางยังคงต้องจัดลำดับความสำคัญในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ จากนั้นจึงสนับสนุนเสถียรภาพทางการเงินผ่านตราสารต่างๆ
ขณะเดียวกัน ในช่วงก่อนการประชุม IMF ธนาคารโลกยังได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวยกว่าช่วยอุดช่องโหว่มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ ในรูปแบบวงเงินให้กู้ยืมแบบผ่อนปรนสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย ที่มีการกู้ยืมไปใช้จ่ายอย่างหนักในช่วงการระบาดของโควิด
โดยขณะนี้ประเทศที่มีรายได้น้อยหลายประเทศกำลังเผชิญกับภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนจากหลายประเทศที่ต้องการการลงทุนมากที่สุด
เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลกคนปัจจุบัน กล่าวว่า บรรดาประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศดูเหมือนจะอยู่ในภาวะเงินทุนลดลงมากกว่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ทั้งมัลพาสส์และจอร์เจียวาจะใช้การประชุมในฤดูใบไม้ผลิปีนี้เพื่อพยายามสร้างความคืบหน้าในการปฏิรูปการปรับโครงสร้างหนี้ที่ชะงักงัน โดยมัลพาสส์กล่าวชัดเจนว่า เป้าหมายคือเดินหน้าแบ่งปันข้อมูลก่อนหน้านี้ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และจับมือร่วมทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแบ่งเบาภาระ
นอกจากนี้จะมีการประชุมในวันพุธเพื่อจัดการกับความต้องการในการฟื้นฟูและบูรณะประเทศยูเครนที่บอบช้ำจากสงคราม โดยธนาคารโลกประเมินว่าประเทศกำลังเผชิญกับการขาดแคลนเงินทุน ‘เพิ่มเติม’ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้
การประชุมในฤดูใบไม้ผลิยังเปิดโอกาสให้มีความคืบหน้าในแนวทางการรับมือกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและปัญหาในระยะยาว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการปฏิรูปธนาคารโลกดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
โดย เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้เปิดเผยกับทางสำนักข่าว AFP ว่า คาดหวังให้ประเทศสมาชิกเห็นพ้องที่จะปรับปรุงพันธกิจของธนาคารโลก โดยกำหนดให้รวมพันธกิจด้าน “การสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาด ความขัดแย้ง และความเปราะบาง” ไว้ในเป้าหมายหลัก ซึ่งจะขยายขีดความสามารถทางการเงินของธนาคารโลกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลให้มีความสามารถในการให้กู้ยืมเพิ่มเติมอีก 5 หมื่นล้านดอลลาร์ใน 10 ปีข้างหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้นำ IMF เตือนปี 2023 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับ ‘ความยากลำบาก’ มากขึ้น
- IMF เตือนการแยกส่วนของเศรษฐกิจโลก อาจสร้างความเสียหายมากถึง 7% ของ GDP โลก
- คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้นำ IMF ชี้ การเปิดประเทศของจีนจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
อ้างอิง: