คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมากระตุ้นให้จีนเดินหน้าเปิดประเทศต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมองว่าการเปลี่ยนผ่านจากนโยบาย Zero-COVID กลับสู่ภาวะปกติของจีน จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการ IMF ยังเชื่อมั่นว่าภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ แม้ GDP โลกในปีที่ผ่านมาจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3.2% ก็ตาม เนื่องจากเธอประเมินว่าการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะไม่รุนแรง
จอร์เจียวากล่าวอีกว่า IMF อาจจะไม่ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.7% ในรายงานภาวะเศรษฐกิจฉบับใหม่ที่จะเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนนี้ เนื่องจากมองว่าการเติบโตทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะถึงจุดต่ำสุดในช่วงปลายปีและจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีหน้า
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจีนต้องเดินหน้าเปิดประเทศต่อเนื่องไม่หันหลังกลับกลางคัน ถ้าจีนดำเนินตามแผนที่วางไว้ ภายในกลางปีการเติบโตของจีนจะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัวได้ในภาพรวม” จอร์เจียวาระบุ
อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการ IMF ได้พูดถึงสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อว่าจะยังเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคในปีนี้ โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งมีโอกาสที่ผลกระทบจากสงครามจะลุกลามจนฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจแม้ว่าโอกาสดังกล่าวจะยังมีน้อยอยู่ก็ตาม
จอร์เจียวายังพูดถึงอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ คือผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อต่อของธนาคารกลางในหลายประเทศ ขณะที่รัฐบาลของชาติต่างๆ ก็จำเป็นต้องออกนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยข้อมูลของ IMF ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน 60% ของประเทศที่มีรายได้น้อยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตหนี้
ทั้งนี้ IMF ร่วมกับธนาคารโลกและกลุ่มประเทศ G20 จะมีการจัดประชุมโต๊ะกลมเพื่อพูดคุยในประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะทั่วโลกที่อินเดียในเดือนหน้า โดยในงานดังกล่าวจะมีตัวแทนจากรัฐบาล ประเทศที่กู้ยืม และผู้ให้กู้ รวมถึงภาคเอกชนมาหารือกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
อ้างอิง: