ผู้นำ IMF เตือนว่าปี 2023 จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่ เนื่องจากประเทศที่เป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตสำคัญๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ต่างกำลังประสบปัญหา
คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยในรายการ ‘Face the Nation’ ของช่อง CBS เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (1 มกราคม) ว่าปี 2023 น่าจะเป็นปีที่ลำบากมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะ 3 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่อย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ต่างก็ชะลอตัวพร้อมกัน
ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 ไปแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องมาจากความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องจากสงครามในยูเครน ตลอดจนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
แต่หลังจากนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง คือ การที่จีนเริ่มยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และเปิดเศรษฐกิจ โดยจอร์เจียวาระบุว่า ปี 2022 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่การเติบโตของจีนมีแนวโน้มจะเท่ากับหรือต่ำกว่าการเติบโตของ GDP ทั่วโลก
“ยิ่งไปกว่านั้น ‘ไฟป่า’ (Bushfire) ของโควิดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้ และฉุดการเติบโตทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก” จอร์เจียวากล่าว
ด้านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสปีใหม่ โดยได้ร้องขอให้ประชาชนมีความพยายามและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น ขณะที่จีนกำลังก้าวเข้าสู่ ‘ระยะใหม่’
ภายใต้คาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม IMF ประเมินว่า GDP จีนในปี 2022 น่าจะโต 3.2% ซึ่งเทียบเท่ากับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีเดียวกัน ก่อนจะขยายตัวเร่งเป็น 4.4% ในปี 2023 ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกน่าชะลอตัวลงอีก
โดยความคิดเห็นล่าสุดของจอร์เจียวาอาจบ่งชี้ว่า IMF อาจปรับลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งของจีนและทั่วโลกในปลายเดือนนี้ ระหว่างการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ขณะเดียวกันจอร์เจียวากล่าวอีกว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความยืดหยุ่นมากที่สุด และอาจหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ เนื่องจากมองว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม หากตลาดแรงงานยังแข็งแกร่งมาก Fed อาจต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานขึ้น เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง
ปีที่แล้ว Fed ได้คุมเข้มนโยบายการเงินมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 โดยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับใกล้ศูนย์ในเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ 4.25-4.50%
นอกจากนี้เมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่ Fed คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยอาจทะลุระดับ 5% ในปี 2023 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ปี 2007
ทั้งนี้ ตลาดงานในสหรัฐฯ ก็นับเป็นจุดสนใจหลักสำหรับเจ้าหน้าที่ Fed ที่ต้องการเห็นความต้องการแรงงานลดลง เพื่อช่วยลดแรงกดดันด้านราคา
โดยในสัปดาห์แรกของปีใหม่จะมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการจ้างงาน ซึ่งรวมถึงรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรรายเดือนในวันศุกร์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสร้างงานเพิ่มขึ้นอีก 200,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม และอัตราการว่างงานจะยังคงอยู่ที่ 3.7% ซึ่งใกล้เคียงกับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1960
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
อ้างอิง: