กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้โพสต์บทความลงในบล็อกว่า ธนาคารกลางในเอเชียอาจต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องหากเงินเฟ้อพื้นฐานของแต่ละประเทศยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก
ในบทความดังกล่าว IMF ระบุว่า แม้เงินเฟ้อทั่วไปในเอเชียในช่วงที่ผ่านมาจะทยอยปรับลดลงตามการแข็งค่าของสกุลเงินท้องถิ่น และการคลายตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนการขนส่ง แต่เมื่อพิจารณาไปที่เงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งตัดราคาอาหารและพลังงานออกจากการคำนวณ จะพบว่าตัวเลขในหลายประเทศยังไม่ได้ลดต่ำลงมาตามคาด นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่การเปิดประเทศของจีนอาจทำให้เงินเฟ้อในหลายประเทศกลับไปเร่งตัวสูงขึ้นอีกครั้ง
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียต้องระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคา พวกเขาอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อหากเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่กลับสู่ระดับเป้าหมาย” บทความของ IMF ระบุ
คำเตือนของ IMF เกิดขึ้นในช่วงที่ธนาคารกลางหลักของโลกเริ่มกลับมามีจุดยืนเป็นสายเหยียวเพื่อดูแลเงินเฟ้อที่ยังมีความหนืดและปรับลดลงค่อนข้างช้า โดยเมื่อไม่นานนี้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่มีขนาดใหญ่ยังมีความเป็นไปได้ หลังตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดออกมาร้อนแรงกว่าคาด
ด้านธนาคารกลางออสเตรเลียก็เพิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี หลังตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาพุ่งขึ้นแตะ 6.9% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานของอินเดียก็อยู่ในระดับสูงกว่า 6% เป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน
เงินเฟ้อที่ค้างอยู่ในระดับสูงจะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียในปีนี้ โดย IMF คาดการณ์ว่า GDP เอเชียในปีนี้จะขยายตัวที่ 4.7% เพิ่มขึ้นจาก 3.8% ในปีก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้นำ IMF เตือนปี 2023 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับ ‘ความยากลำบาก’ มากขึ้น
- IMF เตือนการแยกส่วนของเศรษฐกิจโลก อาจสร้างความเสียหายมากถึง 7% ของ GDP โลก
- คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้นำ IMF ชี้ การเปิดประเทศของจีนจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
อ้างอิง: