‘อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ’ หรือ ‘ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน’ (Self-Reliance) เป็นหนึ่งในสัจธรรมของโลกที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย เพราะคนเราเกิดมาตัวคนเดียว ครั้นจะไปหวังพึ่งพาคนอื่นตลอดไปนั้นไม่ได้ แต่คำถามคือ ถ้าสุดท้ายเราพึ่งพาตัวเองมากเกินไปจนกลายเป็น ‘Hyper-Independence’ แบบนี้มันดีแล้วหรือ
เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในหมู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวสู่การเป็นวัยผู้ใหญ่ ไม่ต่างอะไรจากลูกนกที่เพิ่งได้โผบินออกจากรังเป็นครั้งแรก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีเรื่องมีราว มีปัญหาต่างๆ มากมายให้แบกรับและฝ่าฟัน ในช่วงแรกนั้นอาจเป็นความแปลกใหม่ของชีวิต และคำว่า ‘อิสระ’ ก็ทรงพลังอย่างมากต่อจิตใจ จนทำให้พยายามจัดการทุกอย่างให้ได้โดยลำพัง จนกลายเป็นภาวะ Hyper-Independence ซึ่งมีสัญญาณบอกเหตุให้สังเกตได้อยู่ เช่น
- ปฏิเสธที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะต้องพึ่งพาคนอื่น
- ลังเลที่จะแบ่งปันเรื่องส่วนตัวกับคนอื่น
- รู้สึกว่าไม่สามารถเชื่อใจใครได้เลย
- มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนจำนวนน้อยมากๆ
- ต่อให้เป็นคนใกล้ชิดก็ไม่คิดจะพึ่งพาใคร
- เคยประสบกับภาวะหมดไฟ (Burnout) หรือรู้สึกเครียดเมื่อต้องพึ่งพาคนอื่น
ปัญหาจะเกิดก็ต่อเมื่อเราเริ่มแบกรับมันไม่ไหวแล้ว แต่พยายามฝืนยืนหยัดอยู่ให้ได้ด้วยลำแข้งน้อยๆ ของตนเอง และปัญหานี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเรื่อง ตั้งแต่การใช้ชีวิต การทำงาน และเรื่องของความสัมพันธ์ด้วย
บทสรุปสุดท้ายอาจหมายถึงการแตกสลายของทุกสิ่ง ซึ่งแน่นอนว่ามันหมายถึงความเจ็บปวดอย่างมาก และที่เจ็บที่สุดคือ บางอย่างอาจเรียกกลับคืนมาไม่ได้ เช่น โปรเจกต์งานที่แบกรับไว้สุดท้ายพังคามือ หรือความสัมพันธ์กับครอบครัวที่แตกร้าวเพราะจุดยืนที่แข็งกร้าว ‘ไม่ต้องมายุ่งกับฉัน’
อย่างไรก็ดี Hyper-Independence ไม่ใช่เรื่องที่ถือว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเกิดจากสารเคมีในสมองสั่งการ แต่มักจะมาจาก ‘บทเรียนที่เจ็บปวด’ ที่เคยผ่านพบ ไม่ว่าจะตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น หรือแม้แต่ในวัยผู้ใหญ่เองก็ตาม
ความเข็ดหลาบจากความเจ็บปวดจะถูกเปลี่ยนเป็นกำแพงในใจ ที่ยิ่งเวลาผ่านไปก็จะยิ่งสูงและหนามากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้ มีโอกาสที่สักวันกำแพงนั้นจะถล่มลงมาทับตัวเองทำให้เจ็บหนักกว่าเดิม
สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองเข้าข่าย Hyper-Independence ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ได้ทำร้ายใคร แต่มันอาจจะดีกว่าหากเรามีความกล้าหาญมากพอที่จะยอมรับฟัง กล้าที่จะไว้ใจคนอื่น หรือกล้าที่จะยอมรับความช่วยเหลือที่มีคนหยิบยื่นให้ ซึ่งมันไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอหรือไม่ได้เรื่อง เพราะต่อให้วันนี้เราเป็นคนรับความช่วยเหลือ วันหน้าเราอาจจะ Pay It Forward ส่งต่อความช่วยเหลือให้แก่คนที่อยู่ในภาวะเดียวกันบ้างก็ได้
สำคัญที่สุดคือ โลกใบนี้ไม่ได้มีเราเพียงลำพัง ไม่มีใครเก่งพอจะแบกโลกได้ด้วยตัวคนเดียว และมันอาจทำให้เราค้นพบมิตรภาพที่งดงามที่สุดจากน้ำใจของคนที่เห็นกันในยามยากนี่แหละ 🙂
อ้างอิง: