×

“การเปิดใจให้แจ๊ซก็เหมือนตอนกินปลาดิบครั้งแรก” คุยอุ่นเครื่องก่อนเริ่มต้น Hua Hin International Jazz Festival 2018

15.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS READ
  • Hua Hin International Jazz Festival 2018 ปีนี้มาในคอนเซปต์ Open to the New Shades ซึ่งศิลปินแจ๊ซระดับโลกที่ได้รับเชิญมาร่วมงานนั้นก็หลากเฉดหลายสไตล์ ทั้งสวิงแจ๊ซ, บิ๊กแบนด์, ฟิวชันแจ๊ซ, ฟังก์แจ๊ซ, คูลแจ๊ซ, บอสซาโนวา, ละตินแจ๊ซ, บราซิลเลียนแจ๊ซ ฯลฯ
  • ไลน์อัพศิลปินของ Hua Hin International Jazz Festival 2018 เต็มไปด้วยศิลปินแจ๊ซระดับเด็ดดวง หนึ่งในนั้นคือ นีนา ฟาน ฮอร์น นักร้องหญิงแจ๊ซ-บลูส์ที่เคยได้รางวัล Best Performance จากประเทศฝรั่งเศส บอกเลยว่าถ้าใครไปดูโชว์ของเธอแล้วจะเข้าใจว่าเพลงบลูส์ที่แท้นั้นเป็นอย่างไร
  • สำหรับคอเพลงแจ๊ซหน้าใหม่ วิชาติ จิราธิยุต ในฐานะเฟสติวัลไดเรกเตอร์ แนะนำอย่างน่ารักว่า “การเริ่มต้นฟังแจ๊ซคือโมเมนต์เดียวกับตอนที่เรากินปลาดิบครั้งแรก” นั่นคือต้องเปิดใจยอมรับกับประสบการณ์สดใหม่ที่อาจจะไม่คุ้นลิ้นคุ้นหูเสียก่อน

 

ท่ามกลางสายลมและเสียงคลื่น ชายหาด ‘หัวหิน’ กำลังจะกลับมาคึกคักอีกครั้งกับเทศกาลดนตรีแจ๊ซประจำปี Hua Hin International Jazz Festival 2018: Open To The New Shades ในระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคมนี้ บริเวณชายหาดหน้าโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์บีชรีสอร์ทแอนด์วิลล่า หัวหิน

 

งานนี้คอเพลงแจ๊ซจะพลาดไม่ได้ เพราะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ฮิตแมน จำกัด ผู้จัดงาน ได้เชื้อเชิญศิลปินแจ๊ซชื่อดังระดับโลก อีกทั้งนักดนตรีแจ๊ซแถวหน้าของเมืองไทยมาร่วมสร้างสีสันให้กับชายหาดหัวหิน เด็ดที่สุดคือเปิดให้ชมฟรีตั้งแต่ต้นจนจบ

 

แต่ก่อนจะถึงงานสำคัญ THE STANDARD นั่งลงคุยเรื่องแจ๊ซกับ วิชาติ จิราธิยุต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตแมน จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน และ โก้-เศกพล อุ่นสำราญ (โก้ มิสเตอร์แซกแมน) ที่เข้ามารับหน้าที่มิวสิกไดเรกเตอร์ เพื่อเป็นการอุ่นเครื่อง เตรียมเชื้อเพลิงให้กับทั้งคอเพลงตัวจริงและนักฟังเพลงแจ๊ซมือใหม่ได้เข้าใจและเปิดใจลองฟังได้อย่างสนุกมากยิ่งขึ้น

 

(จากซ้ายไปขวา) โก้-เศกพล อุ่นสำราญ, วิชาติ จิราธิยุต

 

Open to the New Shades เทศกาลดนตรีแจ๊ซที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย

โก้: อยากจะบอกเหลือเกินครับว่า Hua Hin International Jazz Festival ในปีนี้จะยิ่งอินเตอร์เนชันแนลมากขึ้น เพราะนอกจากประสบการณ์ของมิวสิกไดเรกเตอร์เองแล้ว การเข้ามามีบทบาทของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งแคมเปญล่าสุดมีคอนเซปต์ที่ชื่อว่า Open to the New Shades มันเป็นเหมือน key-working ที่ทำให้เราทำงานง่ายขึ้นในแง่ทิศทางของศิลปินที่เราจะนำมาโชว์ ซึ่งหลากหลายมาก ผมยกตัวอย่าง Shakatak วงดนตรีแจ๊ซ-ฟังก์จากประเทศอังกฤษ, อูล์ฟ เวเคนเนียส จากสวีเดน ซึ่งเป็นศิลปินเพลงระดับ Grammy Awards หรือนีนา ฟาน ฮอร์น นักร้องแจ๊ซ-บลูส์จากฝรั่งเศสที่เราเคยเห็นโชว์ของเขาแต่ในคลิปทางยูทูบ บนเวทีที่หัวหินปีนี้เราจะได้ดู

 

อีกคนที่พลาดไม่ได้เลยคือ จอห์น ดิ มาร์ติโน มือเปียโนที่ดังมากๆ จากนิวยอร์ก จะบินมาบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เราฟังที่ริมชายหาดหัวหิน (จอห์น ดิ มาร์ติโน คือมือเปียโน นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยสร้างผลงานการเรียบเรียงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในสไตล์อะคูสติกแจ๊ซเพื่อจัดทำเป็นอัลบั้ม A Tribute to King of Jazz 1-2)

มีวงดนตรีของผมที่ชื่อว่า The Sound of Siam ที่ผสมผสานดนตรีไทยกับดนตรีแจ๊ซเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งที่ผ่านมาเราออกเดินทางไปแสดงตามที่ต่างๆ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาตลอด

 

นอกจากนั้นเราจะได้เห็นเวทีที่เปิดโอกาสให้คนที่อยากเล่นดนตรีแจ๊ซหรืออยากทำวงดนตรีเข้ามาลงทะเบียนและจัดหาพื้นที่ให้พวกเขาได้เล่น ยังไม่หมดแค่นั้น ในเฟสติวัลปีนี้เรายังมีเวิร์กช็อประดับมาสเตอร์คลาสจากศิลปินอินเตอร์เนชันแนลที่จะมาสอนการร้องเพลงแจ๊ซ สอนการ improvisation ให้ฟรีๆ

 

สิ่งเหล่านี้ที่กำลังจะเกิดขึ้นล้วนแต่เป็นความภาคภูมิใจของชาวหัวหิน ชาวชะอำ ชาวประจวบคีรีขันธ์ แล้วนำพาคนกรุงเทพฯ เข้าไปรับรู้หัวใจของคนในพื้นที่ว่านี่คือเทศกาลดนตรีที่พวกเขาภาคภูมิใจ

เทศกาลดนตรีแห่ง ‘หัวหิน’ ที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

วิชาติ: เราอยากทำเทศกาลดนตรีที่ยั่งยืน ซึ่งการจะทำให้ได้แบบนั้นมันต้องเป็นเทศกาลที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับชุมชนในท้องถิ่นนั้น โจทย์ของเราคือการสร้างเฟสติวัลที่ดีเพื่อจะดึงคนจากพื้นที่อื่นเข้ามา แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้นั้น อันดับแรกคือต้องทำให้คนในท้องถิ่นรับทราบและรู้สึกมีส่วนร่วมว่านี่คือเฟสติวัลของบ้านฉัน ไม่ใช่ว่าจัดงานที่หัวหิน แต่คนในเมืองไม่รู้เรื่องอะไรเลยสักอย่าง แบบนั้นมันก็จะไม่เกิดประโยชน์

 

อย่างที่สอง การที่เราจะสร้างเฟสติวัลที่ดี มันควรมีองค์ประกอบจากการแสดงดนตรีที่ดี และเกิดการร่วมมือกันของศิลปินในท้องถิ่นกับศิลปินระดับอินเตอร์เนชันแนล เพราะศิลปินในโลกดนตรีจะเข้าใจดีว่าเน็ตเวิร์กเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนั่นจะตามมาซึ่งการต่อยอดพัฒนาการทางดนตรี

 

ต่อมาเราอยากทำให้นักดนตรีในท้องถิ่นมีแรงบันดาลใจ ฉะนั้นเราก็ต้องมีเวิร์กช็อปเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือความรู้ทางด้านดนตรี เพราะศิลปินระดับอินเตอร์เนชันแนลเหล่านี้ล้วนผ่านการเดินทางทั่วโลก ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากต่อศิลปินไทย เพราะการจะสร้างให้เฟสติวัลสามารถคงอยู่อย่างยั่งยืน มันต้องเริ่มต้นจากเนื้อข้างใน

 

อีกอย่างการที่เราทำมิวสิกเฟสติวัลเหล่านี้มันมาจากความตั้งใจที่ว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเรามีดนตรีดีๆ ที่หลากหลาย โลกนี้มันกว้างใหญ่ไพศาล เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เราได้จะเปิดหูเปิดตา ได้เห็นสิ่งต่างๆ ในโลกมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็ทำมิวสิกเฟสติวัลนี่แหละ ทำมันเข้าไป ทำให้คนเข้ามาดูฟรี

 

อย่างน้อยที่สุดสำหรับผมนะครับ ลองนึกถึงวันแรกที่คุณลองกินปลาดิบ มันเรื่องเดียวกัน แต่งานนี้เราบอกว่าปลาดิบอยู่ตรงนี้แล้ว มาลองกินดูสิว่าอร่อยไหม บางคนกลัวว่าแจ๊สจะฟังยาก ฟังไม่รู้เรื่อง ต้องปีนบันไดฟังหรือเปล่า แต่ลองดูหน่อย ของบางอย่างมันต้องลอง มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ เหมือนครั้งแรกที่คีบปลาดิบเข้าปากนั่นแหละครับ

 

 

ฟังแจ๊ซแบบไม่ต้องปีนบันไดฟัง ง่ายๆ แค่เปิดใจฟัง

โก้: เรื่องแรกนะครับ ที่บอกว่าดนตรีแจ๊ซหรือดนตรีคลาสสิกต้องปีนบันไดฟัง จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยเก็ตเลยนะ คือตอนเราเป็นเด็ก ตอนที่ยังไม่รู้จักบันได แต่รู้สึกว่าดนตรีมันดี เราก็ฟัง โอ้โห ดนตรีวงออร์เคสตราเพราะมากเลย พอเข้าไปนั่งฟังได้แป๊บหนึ่ง…หลับ แต่หลับก็ไม่เป็นไร เราถือว่าเป็นดนตรีที่ดี ไม่เห็นจะต้องปีนบันไดฟัง เพราะความจริงแล้วดนตรีที่ดีน่าฟังทั้งหมดเลย

 

อย่างดนตรีแจ๊ซที่บางคนบอกว่าทำไมฟังยากนัก จุดหนึ่งเป็นเพราะคนเล่นดนตรีกับคนฟังมันไม่เชื่อมโยงถึงกัน คือต่อให้ดนตรีฟังง่ายขนาดไหน แต่ไปเล่นให้กับคนที่ไม่ได้คลิกกัน เขาก็รู้สึกว่าไม่ได้สนใจ ฉะนั้นผู้เล่นดนตรีต้องเข้าใจจริงๆ ว่าดนตรีแจ๊ซเล่นให้ดีต้องเล่นอย่างไร คุณกำลังจะเล่าอะไรให้ฟัง เช่นเดียวกับคนฟังเองก็ต้องเปิดใจหน่อย ดนตรีจึงจะสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้สำเร็จ

 

วิชาติ: ในมุมมองผมนะ มันต้องย้อนดูไปถึงประวัติศาสตร์ของเรา ความจริงแล้วดนตรีแจ๊ซมันคือเพลงป๊อปในสหรัฐอเมริกาในช่วงยุค 30s-40s ยุคนั้นทุกคนฟังเพลงแจ๊ซ ฟังเพลงบิ๊กแบนด์หมดเลย มีเป็นแดนซ์ฟลอร์ด้วย

 

แต่ปัญหาของดนตรีแจ๊ซในบ้านเราคือวันที่ดนตรีแจ๊ซเดินทางมาถึงประเทศไทยนั้น เขาได้เดินทางมากับคนที่มีโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศ แล้วเดินทางกลับมาที่เมืองไทย ซึ่งการเล่นดนตรีแนวนี้เมื่อสักประมาณ 50 ปีที่แล้วก็มักจะเล่นตามสถานบันเทิงหรือตามโรงแรมต่างๆ ถามว่าคนที่จะมีโอกาสฟังเพลงตามโรงแรมได้ในช่วงเวลานั้นคือใคร ก็คือคนที่ค่อนข้างมีสตางค์ เพราะฉะนั้นแจ๊ซเลยถูกมองว่าเป็นว่าเป็นดนตรีไฮโซ คนฟังเพลงแจ๊ซแม่งโคตรไฮโซเลย แล้วพอคิดกันแบบนี้มันก็เกิดการแบ่งแยกขึ้นทันทีว่านี่คือดนตรีไฮโซ กูไม่ไฮโซ ถ้าอย่างนั้นกูไม่ฟัง

 

เหตุผลอีกข้อคือขึ้นอยู่ที่แบ็กกราวด์ของแต่ละคนด้วยว่าเขาชอบฟังดนตรีอะไร สมมติว่าที่ผ่านมาเขาชอบฟังดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งเมื่อสมัยก่อนโอกาสที่เขาจะได้ฟังเพลงแจ๊ซหรือดนตรีที่หลากหลายออกไปจากสื่อต่างๆ มันน้อยมาก พอเป็นแบบนี้มันก็ยิ่งทำให้เขาตามดนตรีแนวนี้ได้ลำบาก ฉะนั้นสำหรับผมมันคือเรื่องเดียวกับอารมณ์ตอนกินปลาดิบครั้งแรก คือต้องลองเอาปลาดิบเข้าปากดูว่าชิมแล้วจะชอบไหม

 

 

โก้: อีกอย่างจริงๆ แล้วในบ้านเรา College Jazz มีอยู่เยอะนะครับ นักดนตรีก็เล่นเก่ง แต่ส่วนใหญ่สร้างงานไม่เป็น เราเห็นวงดนตรีประกวดแจ๊ซได้ที่ 1 ปี 2557, 2558 2559, 2560, 2561 ตอนนี้ทุกคนไปอยู่ที่ไหน ส่วนใหญ่วงแตกหมดแล้ว มันไม่มีการสร้างงาน ไม่มีการเดินทาง จะมีสักกี่คนที่อยากจะเดินบนถนนเส้นนี้ ผมเชื่อว่านักดนตรีทุกวันมีความฝัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้พยายามทำมันอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นนักดนตรีที่เรียนจบจากสถาบันดนตรีออกมา ในท้ายที่สุดโอกาสที่จะเป็นศิลปินแจ๊ซจึงน้อยมาก ผมคิดว่าจบร้อยคนจะหาสักหนึ่งคนยังยากเลย  

 

ที่ผมกำลังพูดถึงคือสถานการณ์ในเมืองไทยนะครับ แต่ถ้าในระดับโลก มันมีทางให้เดินอีกหลายเปอร์เซ็นต์ถ้าเขาตั้งใจ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมทางดนตรีที่เขาทำสืบต่อกันมาตลอด เริ่มต้นจากการเป็นนักเรียนดนตรี จากนั้นออกอัลบั้ม เดินสายไปทัวร์คอนเสิร์ตตามประเทศโน้นประเทศนี้ จากนั้นกลับมาเวิร์กช็อป กลับมาแต่งเพลง กลับมาสอนดนตรีต่อ เพื่อเป็นการถ่ายทอดบอกต่อให้กับนักดนตรีรุ่นต่อไป

 

ย้อนกลับไปตั้งคำถามเรื่องความตั้งใจจริงต่อจิตวิญญาณของตัวเองว่าคุณอยากเป็นนักดนตรีจริงๆ หรือคุณอยากไปเรียนดนตรีเพราะไปเรียนแล้วแม่งเท่ดี ใช้เงินพ่อแม่เทอมละกี่บาทกี่สตางค์ก็ว่ากันไป นี่คือปัญหาจริงๆ ในบ้านเราเลยนะ เราสองคนอาจจะไม่ได้อยู่ในแวดวงการศึกษา เราไม่ได้เป็นครู แต่เราเป็นศิลปินที่ออกเดินทางแล้วมองเห็นถึงปัญหานี้จากอีกซีกโลกหนึ่งว่านักดนตรีในประเทศเรายังไม่มีความตั้งใจและแพสชันมากพอ ไม่ใช่ว่าไม่มีคนทำได้เลยนะครับ ตอนนี้เราเห็นวงดนตรีรุ่นน้องอย่าง Sanpond หรือ SaXPackGirl แต่เราอยากเห็นมากกว่านี้  

 

 

วิชาติ: จริงๆ แล้วทางที่สดใสของเมืองไทยมันมีนะ เปรียบเทียบเหมือนโลกของ ‘ศิลปะ’ ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคโบราณกาล ศิลปินที่จะจรรโลงศิลปะอย่างยั่งยืนได้มันต้องมีผู้อุปถัมภ์ที่ดีพอ เช่นเดียวกับสถานภาพของนักดนตรี ถามว่าจะทำอย่างไรให้นักดนตรีมีเวทีเล่นเยอะๆ มันก็ต้องมีผู้อุปถัมภ์เช่นเดียวกัน

 

ผมถามต่อว่าทุกวันนี้มีสนามบอลให้นักฟุตบอลเล่นอยู่กี่สนาม ผมคิดว่าตอนนี้น่าจะมีอยู่พันๆ สนาม เช่นกัน ผมถามว่ามีเวทีแสดงดนตรีในบ้านเรามีอยู่กี่ที่… น้อยมากนะครับ

 

สิ่งที่ทำได้และผมอยากเห็น สมมติว่าทุกจังหวัดในประเทศเรามีห้องสมุดดนตรีพร้อมกับไลฟ์เฮาส์อยู่ด้วยกัน ใครอยากเล่นดนตรี เล่นเพลงหมอลำ เล่นเพลงแจ๊ซ เล่นเพลงร็อก เล่นเพลงป๊อป ฯลฯ คุณมาลงทะเบียน มีกรรมการท้องถิ่นคอยดูแล

 

โก้: โอ้โห ผมอยากเห็นมากเลยนะครับ ย้อนกลับไปนิดหนึ่งเพื่อขยายแนวคิดของพี่วิชาติ วันก่อนผมไปตัดสินประกวดวงลูกทุ่งที่ภาคใต้ วันนั้นมีทั้งอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2536), อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) ปี 2559) และอดีตสมาชิกวงคาราบาว) เราดูการโชว์ของเด็กโรงเรียนมัธยมตามต่างจังหวัด สงขลา หาดใหญ่ ปัตตานี ฯลฯ แล้วน้ำตาจะไหลทุกคน มันเล่นกันดี เล่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

 

ดูโชว์เสร็จ อาจารย์เนาวรัตน์ก็พูดขึ้นมา ซึ่งเป็นมุมมองที่ดีมากว่าท่านไม่อยากเห็นเด็กประกวดอย่างนี้หรอก แต่ท่านอยากเห็นเด็กแต่ละจังหวัดมีพื้นที่ มีโอกาส และได้รับการสนับสนุนในการแสดงความสามารถทางดนตรี  

อุ่นเครื่องก่อนถึง Hua Hin International Jazz Festival 2018

โก้: พูดในฐานะที่เป็นมิวสิกไดเรกเตอร์ของ Hua Hin International Jazz Festival คือดนตรีแจ๊ซมีหลากหลายตัวตนมาก ทั้งสวิงแจ๊ส, บิ๊กแบนด์, ฟิวชัน, คูลแจ๊ส, บอสซาโนวา, ละตินแจ๊ซ หรือบราซิลเลียนแจ๊ส ฯลฯ ฉะนั้นฟังไปเลย แล้วถ้าใครมีเวลาก็ลองไปหาอ่านประวัติศาสตร์แจ๊ซ นี่ถือเป็นการเตรียมตัวก่อนจะไปพบประสบการณ์จริงๆ ที่หัวหิน เปรียบเหมือนก่อนจะคีบปลาฮามาจิเข้าปากก็ควรจะทำความรู้จักเนื้อและรสชาติของปลาฮามาจิก่อน

 

วิชาติ: แนะนำง่ายๆ สำหรับ Hua Hin International Jazz Festival โดยเฉพาะเลยนะครับ เริ่มต้นจากเช็กไลน์อัพว่ามีศิลปินคนไหนบ้าง จากนั้นคลิกเข้าไปดูในยูทูบว่าศิลปินเหล่านี้เขาเล่นเพลงแบบไหนกันบ้าง

 

ผมว่าการทำการบ้านมาก่อนมันเป็นสีสัน คล้ายๆ เวลาคุณไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วต้องหารีวิวมาอ่านก่อนว่าไปถึงแล้วร้านไหนห้ามพลาด

 

ผมเชื่อว่าทุกคนอยากมีประสบการณ์ ทุกคนอยากไปเที่ยว ทุกคนบอกว่าฉันอยากไปญี่ปุ่น อยากไปดูสวนดอกทิวลิปฮอลแลนด์ เช่นเดียวกัน เมื่อคุณมาเที่ยวหัวหิน พวกเราเองก็อยากให้ทุกคนได้ประสบการณ์ดนตรีแจ๊ซที่มีความหลากหลาย บางแง่มุมเหมือนที่เราคุยกันว่าบางคนอาจจะยังไม่สนใจ ไม่เข้าใจในดนตรีแจ๊ซ แต่การไปจะทำให้คุณได้เปิดประสบการณ์และพิสูจน์กับบรรยากาศของดนตรีด้วยตัวคุณเอง

 

มันคือความรู้สึกเดียวกับวันแรกที่คุณจะกินปลาดิบนี่แหละ เตรียมตะเกียบไว้ในมือ เขี่ยๆ ดูหน่อย ปลามันจะมีพยาธิหรือเปล่าวะ ก่อนเข้าปากต้องจิ้มอะไรสักหน่อยไหมวะ หรือเนื้อปลาแต่ละอย่างรสชาติเป็นอย่างไร ปลาฮามาจิ ปลาโอโทโร เอ็นกาวะ เราจะได้รู้ล่วงหน้าว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังจะไปเจอคืออะไร

 

FYI
  • Hua Hin International Jazz Festival 2018: Open To The New Shades ชมฟรีตลอดงาน ระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคมนี้ บริเวณชายหาดหน้าโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์บีชรีสอร์ทแอนด์วิลลา หัวหิน ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
  • ผู้สนใจสามารถเช็กไลน์อัพศิลปินได้ที่นี่
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising