×

เป็นรังแคหนักมากจนเสียความมั่นใจไปหมดแล้ว ทำอย่างไรจึงจะหายขาด

30.08.2019
  • LOADING...
รังแค

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สำหรับคนทั่วไป รังแคและอาการคันที่พบส่วนมากเป็นกลุ่มโรคของอาการหนังศีรษะอักเสบ สภาวะเชื้อโรคแบคทีเรีย และยีสต์ชนิดไม่ดีกำเริบบนหนังศีรษะ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อย ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร แต่มักเรื้อรังและน่ารำคาญ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสกปรกมากแต่อย่างใด
  • ปรับสมดุลร่างกายโดยการลดความเครียดและความวิตกกังวล รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ นอนแต่หัวค่ำ ตื่นเช้าดีกว่าตื่นสาย การมีชีวิตที่มีสมดุลมากขึ้นทำให้ร่างกายมีเวลาซ่อมแซมตนเอง ภูมิต้านทานที่ดีขึ้นจะช่วยควบคุมจำนวนเชื้อโรคและยีสต์ในร่างกาย รวมถึงบนหนังศีรษะ และช่วยให้รังแคลดลงได้

วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่องรังแคครับ โดยทั่วไปแล้วผิวหนังคนเราจะมีการผลัดเซลล์ผิวทุกๆ 28 วันหรือประมาณ 1 เดือนนั่นเองครับ การที่มีผิวหนังหลุดลอกบ้างถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามากเกินไปจนสังเกตได้ชัดและกระทบต่อการใช้ชีวิตจึงเรียกว่าเป็นโรค หรือทำให้คนอื่นทักได้ว่ามี ‘รังแค’ ปัญหาหนังศีรษะหลุดลอก มีขุย ในทางการแพทย์จะมีกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่มด้วยกันครับ ถ้าเป็นน้อยๆ ก็ยังพอดูแลตัวเองได้ แต่ถ้าเป็นมากแนะนำให้พบหมอ เพราะจะมีกลุ่มโรคบางอย่างที่ต้องใช้ยาพิเศษจำเพาะ เช่น บางคนเป็นโรคสะเก็ดเงินบนหนังศีรษะ (Scalp psoriasis) ก็ทำให้เกิดรังแคได้เช่นกัน ข้อสังเกตหนึ่งที่พอจะแยกได้และอาจทำให้คุณผู้อ่านสบายใจขึ้นนิดหน่อยก็คือโดยมากคนที่มีรังแคไม่ใช่โรคสะเก็ดเงิน และถ้าเป็นโรคสะเก็ดเงินมักจะไม่มีอาการคันครับ ในเด็กแรกเกิดเองก็มีภาวะรังแคได้เช่นกัน มักเป็นผื่นแพ้บนหนังศีรษะ (Pseudopityriasis amiantacea) หากเป็นเช่นนี้ก็แนะนำให้พบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม

 

ที่มาของรังแค

สำหรับคนทั่วไป รังแคและอาการคันที่พบส่วนมากเป็นกลุ่มโรคของอาการหนังศีรษะอักเสบ สภาวะเชื้อโรคแบคทีเรีย และยีสต์ชนิดไม่ดีกำเริบบนหนังศีรษะครับ เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อย ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร แต่มักเรื้อรังและน่ารำคาญครับ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสกปรกมากแต่อย่างใด เกิดจากเรื่องของภูมิต้านทานที่ร่างกายมีต่อเชื้อโรคเป็นหลัก โดยปกติหนังศีรษะและรูขุมขนก็จะมีเชื้อโรคบางประเภทและยีสต์อยู่แล้วจำนวนหนึ่ง แต่หากกำเริบก็ทำให้เกิดรังแคเพิ่มขึ้นมาได้ ซึ่งมักสัมพันธ์กับเรื่องการรับประทานอาหารและการดูแลร่างกายที่ไม่เหมาะสม

 

การมีรังแค ถ้ามองในแง่ดีคือสะท้อนให้เห็นว่าสมดุลของร่างกายมีปัญหาครับ ร่างกายใช้โอกาสนี้ในการตักเตือนให้เราปรับวิถีชีวิต เช่น หากเราใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผมและหนังศีรษะที่มีฤทธิ์ทำให้ระคายเคือง กัดกร่อนหนังศีรษะ ก็ทำให้เป็นรังแคได้ บางคนไปย้อมผมมา และหลังจากย้อมสักพักมีรังแค ก็สะท้อนได้ชัดว่าเกิดจากกระบวนการย้อมผมที่ใช้สารเคมีกัดกร่อนรุนแรง การสระผมบ่อยเกินไป โดยเฉพาะการสระโดยน้ำอุ่นจะทำให้ผิวหนังอักเสบ โดยหลักการแล้วผิวหนังที่มีสุขภาพดี ในรูขุมขนจะมีการสร้างน้ำมันตามธรรมชาติที่ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นอย่างพอดี แต่หากคุณผู้อ่านสระผมบ่อย หรือลวกผมบ่อย (สระด้วยน้ำอุ่น) มากเกินไปก็จะทำให้ความชุ่มชื้นตรงนี้เสียไป ทำให้หนังศีรษะแห้งและกลายเป็นผื่นแพ้ คัน มีสะเก็ดผิวหนังหลุดลอกออกมาได้ 

 

รังแค

 

การอดหลับอดนอน ภาวะเครียด และการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยยีสต์สะสมมากกว่าปกติ เช่น นมวัว นมเปรี้ยว ขนมปัง เบเกอรี ไอศกรีม ช็อกโกแลต ของหวาน เหล้า เบียร์ ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านี้เป็นอาหารให้กับยีสต์ ทำให้ยีสต์กำเริบ หากจะพูดให้ลึกลงไปแล้ว ยีสต์ก็มีสายพันธุ์ที่เป็นประโยชน์อยู่เช่นกัน เราจะเรียกว่ายีสต์ชนิดดี หากมีจำนวนที่เหมาะสมจะทำงานได้ดี ทำให้ระบบขับถ่ายดี ร่างกายสดใส เบิกบาน แต่หากบริโภคยีสต์มากเกินไปหรือใช้ชีวิตอย่างมีปัญหาก็ทำให้ยีสต์ชนิดไม่ดีเติบโตขึ้นในร่างกายตั้งแต่ลำไส้ หรือแม้แต่ยีสต์ชนิดดีบางประเภทที่มากเกินไปก็เกิดโรคได้ อันส่งผลไปยังระบบต่างๆ และที่เกี่ยวกับหัวข้อวันนี้ก็คือทำให้เกิดรังแคนั่นเอง

 

สำหรับเรื่องยีสต์นี้เป็นญาติๆ กับกลุ่มเชื้อรา ในบางรายนอกจากรังแคบริเวณหนังศีรษะแล้วจะมีขุยขาวๆ ผิวแดงๆ อักเสบตามข้างหู ข้างจมูก ข้างปาก หรือคิ้วได้อีกด้วยครับ โรคกลุ่มหลังนี้เรียกกันว่า เซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) ส่วนบางรายที่เป็นรังแคมากและมีผื่นผิวหนังขึ้นศีรษะด้วย และ/หรือหากมีประวัติเลี้ยงหมาแมวหรือพบสัตว์ป่าร่วมด้วยก็เป็นกลุ่มเชื้อราบนหนังศีรษะได้ (Tinea capitis) บางคนเป็นรังแคที่สัมผัสกับการดึงผม จิกผมตนเอง ซึ่งเป็นปัญหาความวิตกกังวล (Trichotillomania) ควรพบคุณหมอทางด้านจิตใจ (จิตแพทย์) และบางคนที่เห็นเป็นจุดขาวๆ บนเส้นผมอาจไม่ใช่รังแค แต่เป็นเหาหรือแมลงตระกูลหิดก็ได้ (Lice, Scabies)

 

รังแค

 

วิธีบอกลารังแคให้หายขาด

ดังที่ว่ามานี้จะเห็นว่ามีกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับรังแคได้หลากหลาย รวมทั้งหากคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ก็เป็นสาเหตุที่สัมพันธ์กับการมีรังแคที่มากขึ้น ดังนั้นหากมีโอกาสก็อย่าลืมตรวจร่างกายและตรวจเลือดประจำปีกันนะครับ เบื้องต้นหากคุณผู้อ่านสังเกตว่าตนเองเป็นรังแค คือมีขุยขาวขึ้นมากบริเวณผมหรือหล่นไปยังเสื้อผ้ามากกว่าปกติ และเพิ่งเป็นมาไม่นานเท่าไรนัก หมอมีคำแนะนำ 5 ข้อในการแก้ไขและดูแลสุขภาพตนเองดังนี้ครับ

 

1. ปรับสมดุลร่างกาย โดยการลดความเครียดและความวิตกกังวล รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ นอนแต่หัวค่ำ ตื่นเช้าดีกว่าตื่นสาย การมีชีวิตที่มีสมดุลมากขึ้นทำให้ร่างกายมีเวลาซ่อมแซมตนเอง ภูมิต้านทานที่ดีขึ้นช่วยควบคุมจำนวนเชื้อโรคและยีสต์ในร่างกาย รวมถึงบนหนังศีรษะ และช่วยให้รังแคลดลงได้

 

2. ไม่ต้องสระผมบ่อยจนเกินไป และเลือกใช้แชมพูที่อ่อนโยนต่อหนังศีรษะ การใช้แชมพูต้านเชื้อรา แชมพูที่มีส่วนผสมของทาร์ (Coal tar) แชมพูมะกรูด แชมพูสารสกัดจากชาเขียว การหมักผมโดยใช้ครีมนวดผม น้ำมันมะพร้าว น้ำนม อัญชัน น้ำผึ้ง เหล่านี้ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด ถือเป็นการบำรุงที่ดีที่ทำให้ผิวหนังศีรษะชุ่มชื้น แต่ก็ต้องระวังว่าหากความเข้มข้นมากหรือสัมผัสหนังศีรษะนานเกินไปอาจสร้างความระคายเคืองให้ผิวหนังศีรษะได้

 

3. รับประทานไขมันดี เช่น ไขมันจากปลาทะเลน้ำลึก น้ำมันมะกอก ฯลฯ ในปริมาณที่เหมาะสม บางคนไม่รับประทานไขมันเลย ทำให้การดูดซึมวิตามินประเภทที่ละลายกับไขมันแย่ลงไปด้วย (วิตามินเอ, ดี, อี, เค) รับประทานผักต้ม หมู ไก่ เนื้อ และปลาที่ผ่านกระบวนการต้มดีกว่าการรับประทานอาหารประเภททอด ปิ้ง ย่าง เพราะจำพวกหลังนี้จะมีสารอนุพันธ์ไฮโดรคาร์บอนที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย กระตุ้นการเกิดรังแคและปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้น อาหารอีกประเภทที่น่าสนใจหากปรุงให้สุกก็คือเครื่องในสัตว์ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนและวิตามินที่ดี รับประทานกุ้งฝอยและอาหารทะเลปรุงสุกนานๆ ครั้งเพื่อเสริมแคลเซียม และรับประทานเกลือไอโอดีนบ้าง

 

4. หากต้องการรับประทานอาหารเสริม เลือกวิตามินบีรวม ไบโอติน แร่ธาตุสังกะสี แคลเซียม หรือวิตามินรวมต่างๆ สามารถทำได้ ไม่เป็นข้อห้าม เพียงเลือกอาหารเสริมและวิตามินที่ได้เครื่องหมายรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้แน่ใจว่ารับประทานได้อย่างปลอดภัย โดยหลักการแล้ววิตามินที่ได้จากการรับประทานอาหารและผักผลไม้ตามธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องดีที่สุด แต่บางครั้งเราก็อาจรับประทานได้ไม่ครบ

 

5. มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว สร้างมิตรภาพกับบุคคลรอบข้าง งานวิจัยในช่วงหลังของโลกหลายๆ แขนงพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่ดีช่วยเยียวยาจิตใจและร่างกาย เรื่องรังแคก็เช่นกัน ช่วงที่เราเป็นรังแคอาจมีคนที่แสดงความไม่เข้าใจหรือรังเกียจบ้าง ซึ่งอาจทำให้เราวิตกกังวลยิ่งขึ้น หรือเผลอไปแกะเกา ทำให้มีอาการรังแคมากขึ้นได้ แต่หากเรายังมีคนที่รักและเข้าใจ ครอบครัวและคนใกล้ชิดก็เป็นแรงสนับสนุนที่ดีให้เรารักษาและแก้ไขโรคที่เกิดขึ้น

 

ท้ายที่สุดแล้วหากดูแลเบื้องต้นแล้วยังไม่หายหรือไม่มีใครเข้าใจเลยก็ตาม คุณหมอก็เป็นที่พึ่งหนึ่งที่พร้อมยินดีดูแลคุณด้วยความเห็นใจ เข้าใจ ด้วยเทคโนโลยี จริยธรรมวิชาชีพ และองค์ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อให้เรารักษาโรครังแคไปด้วยกันครับ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • How to treat dandruff Last updated Fri 1 December 2017 By Christian Nordqvist Reviewed by Alana Biggers, MD, MPH www.medicalnewstoday.com/articles/152844.php
  • Fitzpatrick’s Dermatology in General Medicine, 8e Lowell A. Goldsmith, Stephen I. Katz, Barbara A. Gilchrest, Amy S. Paller, David J. Leffell, Klaus Wolff
  • Xu, Zhijue; Wang, Zongxiu; Yuan, Chao; Liu, Xiaoping; Yang, Fang; Wang, Ting; Wang, Junling; Manabe, Kenji; Qin, Ou; Wang, Xuemin; Zhang, Yan; Zhang, Menghui (2016). “Dandruff is associated with the conjoined interactions between host and microorganisms”. Scientific Reports. 6: 24877. doi:10.1038/srep24877. PMC 4864613. PMID 27172459.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising